ขับถ่ายอุจจาระแบบไหน เข้าข่าย "ท้องผูก"

ท้องผูกไม่ใช่แค่อึไม่ออก มาตรวจสอบกันดีกว่า ลักษณะการขับถ่ายแบบไหนเรียกอาการท้องผูก หลายต่อหลายคนเชื่อว่า การที่ไม่ได้ขับถ่ายอุจจาระทุกวัน เรียกว่า ท้องผูก แต่ในทางการแพทย์ หนังสือสุขภาพดีหมอจุฬาฯ เผยว่า แพทย์จะใช้เกณฑ์ของ Rome III Criteria วินิจฉัยว่าท้องผูกหรือไม่โดยหลักวินิจฉัยประกอบด้วย ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์, ต้องเบ่งมากกว่าปกติ, อุจจาระเป็นก้อนแข็ง รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด, รู้สึกถ่ายไม่ออกเนื่องจากมีสิ่งอุดกั้นบริเวณทวารหนัก, และต้องใช้นิ้วมือช่วยในการถ่ายอุจจาระหากมีอาการเข้าเกณฑ์ทุกข้อ หรือมี 2 ข้อขึ้นไป โดยเป็นมานานกว่า 3 เดือน หรือกรณีที่เริ่มมีอาการครั้งแรก แต่นานกว่า 6 เดือน ถือว่าเข้าข่ายท้องผูกแล้ว

สำหรับการแก้ไขปัญหาท้องผูกในเบื้องต้น สามารถทำได้ด้วยตนเอง เช่น ถ้ารู้สึกอยากถ่ายท้องอย่ากลั้น อย่าเบ่งอุจจาระรุนแรง ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ ส่งผลให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวไปด้วย เลือกรับประทานอาหารที่ช่วยให้ขับถ่ายง่าย อย่าง ดื่มน้ำสะอาดไม่ต่ำกว่า 10-12 แก้วต่อวัน รับประทานผัก-ผลไม้เพื่อเพิ่มกากใย อาทิ กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก สับปะรด ลูกพรุน ธัญพืช เมล็ดแฟลกซ์ โยเกิร์ต หรืออาจหาไฟเบอร์แบบผงชงกับน้ำก็ช่วยเพิ่มกากใยได้อีกทางหนึ่ง

ทว่า ลองเยียวยาอาการด้วยตนเองแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด เริ่มมีริดสีดวงทวารหนัก มีอาการซีดจากการขาดธาตุเหล็ก น้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี คนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และท้องผูกจนลำไส้อุดตัน โดยอึดอัดแน่นท้อง ปวดท้องมาก คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งประโยชน์ของการพบแพทย์นั้นอาจช่วยให้ทราบปัญหาที่แท้จริงว่า ท้องผูกเพราะลักษณะนิสัย เช่น เคลื่อนไหวน้อย รับประทานอาหารที่กากใยน้อย มีนิสัยขับถ่ายไม่ได้ หรือเกิดจากปัญหาที่ซับซ้อนกันแน่.


ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์


เซื้อซาติแฮ้งอย่าเหม็นสาบกุยกัน
เกิดเป็นคนอีสานให้ฮักแพงกันไว้
ไผเฮ็ดดีให้ซ่อยยู้ ซอยซูอย่าย่านเหลิน
ไผเฮ็ดผิดให้ซอยเว้า ไขแก้ดอกซอยกัน ซันดอกหวา