วีรบุรุษสว่างแดนดิน "ครูครอง จันดาวงศ์"

นอกจาก "ขุนพลภูพาน" เตียง ศิริขันธ์ แห่งสกลนครแล้ว ยังมีนักสู้แดนอีสานที่มีวีรกรรมอยู่ในยุคเดียวกัน ผู้มุ่งมั่นให้เกิดสังคมอุดมคติ เท่าเทียมและเสมอภาค จนกลายเป็นตำนานนักสู้อีกคน ที่มีหน้าประวัติศาสตร์ไล่เรียงกับเตียง คือ "ครอง จันดาวงศ์" ผู้ได้รับการขนานนามว่า "วีรบุรุษสว่างแดนดิน"

ด.ช.ครอง จันดาวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2451 ในครอบครัวชาวนามีฐานะ ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่คุ้มวัดศรีสะเกษ ต.ธาตุเชิงชุม อ.ธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร บิดาชื่อนายกี จันดาวงษ์ ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็นหมื่นศรีภักดี มารดาชื่อแม่เชียงวัน มีเชื้อสายไทยย้อ มีบุตรด้วยกัน 9 คน เขาเป็นคนสุดท้อง
หลังจากเรียนสำเร็จวิชาฝึกหัดครู ที่โรงเรียนครูมูลประจำมณฑลอุดรแล้ว ครอง จันดาวงศ์ ได้สมัครเป็นครูประชาบาลที่อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ตลอดเวลาหลายปี ครูครองเอาใจใส่หน้าที่ดียิ่ง จนเป็นที่เคารพรักของนักเรียนและผู้ปกครองทุกคน นักเรียนพอใจวิธีการสอนที่เป็นประชาธิปไตยของเขา

ชีวิตการแต่งงาน ครูครอง จันดาวงศ์ แต่งงานครั้งแรกกับลูกสาวกำนัน แต่ความสัมพันธ์ไปไม่รอด หย่าขาดจากกันไป ต่อมาแต่งงานใหม่กับ น.ส.แตงอ่อน แซ่เต็ง ในปี 2480
กับครอบครัว บุตร-ภรรยา ครอง จันดาวงศ์ ก็ใช้วิธีประชาธิปไตย ให้ทุกคนมีสิทธิเสนอความคิดเห็น กระทั่งวิจารณ์เพื่อแก้ปัญหา ข้อบกพร่อง หรือปรับปรุงความสัมพันธ์ในครอบครัวได้เต็มที่และเป็นประจำ นอกจากนี้ครูครองยังสนใจความคิดประชาธิปไตย และร่วมมือกับอดีต รมต. เตียง ศิริขันธ์ และบุคคลอื่นๆ ต่อสู้เผด็จการ พิทักษ์ประชาธิปไตยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ครูครองได้เข้าร่วมเป็นพลพรรคเสรีไทย ต่อต้านญี่ปุ่นที่บุกรุกเข้ามา โดยได้เป็นหัวหน้าหน่วยในหน่วยเสรีไทยของนายเตียง ภายหลังที่ได้ชัยครูครองสมัครและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดสกลนคร ครูครองได้ใช้เวลาคลุกคลีใกล้ชิดศึกษา และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนยากจนของชาวนา ไม่เพียงแต่จังหวัดสกลนครเท่านั้น หากยังในเขตข้างเคียงในภาคอีสาน ชาวบ้านล้วนรักนับถือ และสนับสนุนเขาเป็นอย่างมาก

เมื่อเกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน ครูครองได้จับกุมในข้อหา "กบฏแบ่งแยกดินแดน" แต่ไม่สามารถเอาความผิดได้ จึงถูกปล่อยตัว

วีรบุรุษสว่างแดนดิน "ครูครอง จันดาวงศ์"

เมื่อครั้งมวลชนผู้รักสันติภาพทั่วโลก เคลื่อนไหวสนับสนุนสันติภาพ ต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกาอย่างกว้างขวาง ครูครองก็เป็นผู้หนึ่ง ได้คัดค้านการส่งทหารไปรบเกาหลี และสนับสนุนให้ประเทศไทยดำเนินนโยบายสันติภาพเป็นกลาง และยังได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญคนหนึ่งในองค์การสันติภาพแห่งประเทศไทย

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 ด้วยแนวทางทางการเมืองที่ค้านรัฐ ครูครองถูกรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จับกุม สังเวย พรบ. ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ 2495 (ฉบับแรก) และถูกขังอย่างไม่มีความผิดที่บางขวาง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2500 จึงได้ออกจากคุกมาสมัครเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดสกลนคร พี่น้องประชาชนชาวสกลนครต้อนรับเขาให้เป็นผู้แทนของตน เพื่อต่อสู้ให้ประเทศไทยเป็นเอกราช และดำเนินนโยบายสันติภาพเป็นกลาง พร้อมกันนี้ครูครองก็ได้ยืนหยัดพิทักษ์สิทธิผลประโยชน์ของชาวนา และยังได้รับหน้าที่เป็นมรรคทายก หาเงินบำรุงศาสนาอีกด้วย

วันที่ 20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนรัตน์ ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจปกครองเผด็จการ กดขี่ประชาชน ครูครองจึงจำต้องหลบซ่อนตัว ต่อยังเคลื่อนทางการเมืองอย่างลับๆ โดยความช่วยเหลือ สนับสนุนจากชาวนาและมวลชน แต่ก็มิอาจรอดพ้นจากอำนาจรัฐได้ โดยเขาถูกตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2504 ครูครองถูกส่งเข้าที่คุมขังอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ด้วยท่าทีที่ไม่ประหวั่นพรั่นพรึงคุกตะรางแม้แต่น้อย

วีรบุรุษสว่างแดนดิน "ครูครอง จันดาวงศ์"

ในการจับกุมครั้งที่ 3 นี้ ครูครองได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า : "ผมไม่ถือโกรธตำรวจแต่อย่างไร เพราะต่างคนต่างมีหน้าที่ ขอแต่ให้ดำเนินคดีไปตามตัวบทกฎหมายก็แล้วกัน ผมไม่รู้สึกหวาดหวั่นเลย เพราะถูกจับเสียจนชินแล้ว"
ครูครองยังได้กล่าวต่อหน้าจอมเผด็จการสฤษดิ์ อย่างอาจหาญ ชาญชัยว่า "ผมรู้ดีว่าท่านต้องยิงเป้าผมแน่ แต่อย่าคิดว่าผมกลัวนะ ยิงเดี๋ยวนี้เลยก็ได้ ที่ผมกลัวน่ะ ไม่ใช่กลัวจะถูกยิงเป้า แต่กลัวว่าท่านจะหนีไปได้ เมื่อประชาชนลุกขึ้นมา ผมภาวนาขออย่าให้ท่านหนีไปได้ ขอให้ประชาชนเอาเลือดของท่านมาล้างตีนให้ได้" ผลก็คือคำสั่งประหารชีวิตครูครอง ตามคำสั่ง ม. 17

วันที่ 31 พฤษภาคม 2504 ตำรวจนำตัว ครูครอง จันดาวงศ์ กับพรรคพวกที่ถูกจับกุมในข้อหาเดียวกัน ไปยังสนามบิน อำเภอสว่างแดนดิน ซึ่งใช้เป็นแดนประหาร เขาไม่มีกิริยาสะทกสะท้าน กลับเดินเข้าสู่แดนประหารอย่างองอาจ ยิ้มเยาะและไม่แยแสต่อคำสั่งเผด็จการ แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลฉบับหนึ่ง ก็ยังยอมรับว่า "เมื่อเจ้าหน้าที่นำตัวครูครองและนายทองพันธ์เข้าสู่ที่ประหารนั้น ปรากฎว่าเดินไปอย่างทรนง ไม่หวาดหวั่นแต่อย่างใด โดยเฉพาะนายครองนั้น ยังคงยิ้มอยู่เช่นเดิม"
ยิ่งกว่านั้นก่อนถึงเวลาประหาร 12.13 น. นายแพทย์ได้เข้าไปจะจับชีพจรเขา เขาได้ร้องบอกอย่างไม่ครั่นคร้ามว่า "ชีพจรผมยังปกติอยู่ จะยิงก็ยิงเร็วเถอะ"

ในขณะที่เวทีประหารดำเนินไป แตงอ่อนคู่ชีวิตครูครองกำลังทำนาอยู่ เธอไม่ได้รู้ตัวล่วงหน้ามาก่อน เมื่อมีคนไปแจ้งให้ทราบจึงรีบวิ่งมายังหลักประหาร พบเพียงร่างที่แหลกเละด้วยคมกระสุนปืน เลือดไหลนองพื้นดิน ท่ามกลางผู้คนที่ยืนมุงดูอยู่ห่างๆ ท่าทางหวาดผวาระคนตื่นกลัว ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วยจัดการกับร่างไร้วิญญาณที่ทอดร่างอยู่ ณ ลานกว้างนั้น เพราะกลัวจะถูกดึงเข้าไปพัวพันนำภัยมาถึงตัว แม้กระทั่งพ่อค้าโลงศพหลายรายยังปฏิเสธที่จะขายโลงให้ ยิ่งกว่านั้นด้วยความเกรงพลังประชาชน รัฐบาลได้ระดมกำลังทหารกว่า 200 คน กับกำลังตำรวจอีกไม่น้อย ยืนแถวเรียงรายล้อมรอบสนามบินราวกับจะเตรียมรับศึกใหญ่

วีรบุรุษสว่างแดนดิน "ครูครอง จันดาวงศ์"

ครูครอง เป็น ครู นักการเมือง และนักต่อสู้ของประชาชน ผู้ยืนหยัดคัดค้านเผด็จการ คัดค้านการขายชาติให้จักรพรรดินิยม แม้กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต โดยที่มือยังอยู่ในกุญแจและขายังอยู่ในตรวน ก็มิได้หวั่นไหว

แม้ปัจจุบันน้อยคนนักที่รู้จักชื่อ ครูครอง จันดาวงศ์ แต่ตลอด 53 ปีในชีวิต ครูครองได้สร้างคุณูปการแก่การต่อสู้ภาคประชาชน ที่ซึมลึกลงไปทั่วผืนแผ่นดิน และแตกหน่อเป็นพืชพันธุ์เสรี

เพราะท่านไม่สยบหัวให้อธรรม เขาจึงเคียดแค้น
เพราะท่านเข้มแข็งมั่นคง เขาจึงหวาดกลัว
เพราะท่านยืนอยู่กับประชาชน เขาจึงประหาร


ที่มา : หนังสือประวัติศาสตร์ประชาชน พรรคสัจธรรม ม.รามคำแหง และ คมชัดลึก ออนไลย์


เซื้อซาติแฮ้งอย่าเหม็นสาบกุยกัน
เกิดเป็นคนอีสานให้ฮักแพงกันไว้
ไผเฮ็ดดีให้ซ่อยยู้ ซอยซูอย่าย่านเหลิน
ไผเฮ็ดผิดให้ซอยเว้า ไขแก้ดอกซอยกัน ซันดอกหวา