และในที่สุดสินไซก็ยอมรับที่จะครองเมืองเป็งจาลเพื่อสร้างกุศลบำเพ็ญบุญบารมีเพื่อสัมมาสัมโพธิญาณในอนาคตกาล โดยสินไซได้สั่งสอนให้สัตว์ทั้งหลายเลิกเบียดเบียนกันและกัน แล้วทั้งหมดเดินทางกลับเข้าเมืองและมีการอภิเษกให้สินไซขึ้นครองราชย์และมีการเฉลิมฉลอง ได้พระนามใหม่ ดังนี้

“สินไซ” ชื่อ “สังข์สินไซมหาจักร”

“สังข์” ชื่อ “สังขาระจักร”

ส่วน “สีโห” ชื่อ “สีหะจักร”

เมื่อสินไซได้ครองเมืองแล้ว ก็ได้ไปขอนางเจียงคำมาเป็นมเหสีต่อมาได้นามว่า “พระนางศรีสุพรรณ” ฝ่าย “เมืองอุดรกุรุทวีป”ก็ได้ส่งราชธิดานามว่า “พระนางอุสา” และ “เมืองอมรโคยาน” ได้ส่งราชธิดานามว่า “พระนางบุษบา”มาให้เป็นคู่ครองของสินไซอีกด้วย พระเจ้าสังข์สินไซมหาจักรได้ปกครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรม ทำให้ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข พืชภัณฑ์อาหารอุดมสมบูรณ์ สัตว์ที่เคยเป็นศัตรูกันก็เลิกเป็นศัตรู ครุฑไม่ข่มเหงนาค พังพอนไม่สู้กับงู งูไม่กินกบเขียด แมวไม่กินหนู สุนัขไม่ไล่กัดแมว ทุกสรรพสิ่งและสรรพสัตว์ต่างคนก็ต่างอยู่กันอย่างสงบสุขและสันติ ประชาชนและสัตว์ต่างอยู่อย่างสงบมีศีลธรรมไม่เบียดเบียนกันและกัน

ฝ่ายท้าววรุณนาคกลับไปเมืองนาคแล้ว คิดถึงสีดาจันมากจนล้มป่วย ชาวเมืองจึงลงความเห็นให้มาขอนางสีดาจันคืนไปเป็นมเหสีดังเดิม สินไซก็อนุญาต สีดาจันจึงกลับไปครองเมืองกับวรุณนาคอย่างมีความสุข

กล่าวถึงท้าวเวสสุวรรณ เวลาผ่านไปเจ็ดปี ไม่เห็นยักษ์กุมภันฑ์ไปส่งบรรณาการ จึงลงมาถามตรวจดู จึงพบว่าวันนุราครองเมืองอโนราชอยู่และเล่าเรื่องราวให้ฟัง ท้าวเวสสุวรรณจึงรดน้ำชุบชีวิตยักษ์กุมภัณฑ์คืนมาแล้วสั่งสอนให้เป็นคนดีมีศีลธรรม แต่ยักษ์ไม่เชื่อเหาะไปแปลงเป็นแมลงวันเขียวอุ้มเอานางสุมนทาและเอาสินไซไปขังไว้ในคอกเหล็กจะต้มกิน สีโหและสังข์ทราบจึงตามไปช่วย สีโหแปลงเป็นยักษ์เข้าไปปะปนกับทหารยักษ์ สังข์แปลงกายเป็นเขียดอีโม้ไปอยู่ในถังน้ำของนางยักษ์ที่ตักไปจะต้มสินไซกินเป็นอาหาร แล้วกระโดดลงไปในกระทะนั้น ขณะที่น้ำกำลังร้อนขึ้นจึงทำให้กระทะคว่ำลง หมู่ยักษ์ต่างกระโดดหนีไป ฝ่ายสีโหได้โอกาสจึงยื่นดาบและศรให้สินไซในกรงขัง สินไซก็ใช้ตัดกรงขังออกมาได้ แล้วต่อสู้กับยักษ์เป็นสงครามใหญ่ครั้งที่สอง สินไซไม่อยากรบจึงขอเจรจายุติศึกเพราะไม่ได้โกรธแค้นใคร ฝ่ายยักษ์กลับยิ่งโกรธจึงยกภูเขาขว้างใส่แทน สินไซจึงแผลงศรไปต้าน ฝ่ายสังข์กระโดดกัดยักษ์ และสีโหคำรามก้องเสียงดังไปถึงชั้นพรหมเลยทีเดียว ยักษ์นั้นยิ่งตายมากยิ่งเกิดใหม่มากขึ้น พระอินทร์จึงต้องลงมาเรียกทั้งสองฝ่ายมาเจรจาโดยใช้ “หลักการแบบเจ้าโคตร” คือ หนึ่งไม่ชี้ว่าฝ่ายใดผิดฝ่ายใดถูก สอง ทุกชีวิตก็รักชีวิตตน ดังนั้นไม่ควรเบียดเบียนชีวิตของผู้อื่น ให้ระงับการจองเวรกันและกัน อย่าใช้ความเก่งกล้าสามารถไปก่อเวร และสาม ควรประนีประนอมสมานฉันท์ เพราะทุกฝ่ายล้วนเป็นญาติพี่น้องกัน ให้รักษาความเป็นญาติพี่น้องต่อไป รักษาประเพณีอันดีงามนี้ต่อไป ทั้งสองฝ่ายตกลงตามนี้ จากนั้น ยักษ์กุมภัณฑ์ก็กลับเมืองพร้อมกับนำทรัพย์สินเงินทองมาสู่ขอนางสุมนทาตามประเพณี ท้าวกุดสะราดยินดียกให้แล้วทั้งสองนครก็จะมีความสุขสงบต่อไป

ก่อนแยกย้ายกันกลับเมืองสินไซได้ประทานโอวาทเรื่องทศพิธราชธรรมแก่นักปกครองทั้งหลาย ต่อมาสีโห ขอลาไปอยู่ป่าตามธรรมชาติของตน

ฝ่ายนางอุดรกุรุทวีปได้โอรสชื่อว่า “สังขราชกุมาร” ส่วนนางศรีสุพรรณได้ลูกสาวชื่อ “สุรสากุมารี” ต่อมาทั้งคู่ได้อภิเษกสมรสกัน และได้ครองเมืองต่อจากสินไซผู้เป็นพระราชบิดา นครเป็งจาลจึงร่มเย็นเป็นสุขสืบไป



..................................................................................





เรื่องราวฉบับของท้าวปางคำจบลง โดยบอกว่า

“สินไซ”คือ “พระพุทธองค์”

“ ท้าวทั้งหก”คือ “พระเทวทัต”

“สังข์” คือ “พระสารีบุตร”

“สีโห”คือ “พระโมคคัลลานะ”

“ ยักษ์กุมภัณฑ์”คือ “พญามาร”ที่ขี่ช้างมารบกวนพระพุทธองค์นั่นเอง



credit:www.sujipuli.com