กำลังแสดงผล 1 ถึง 5 จากทั้งหมด 5

หัวข้อ: ประวัติหลวงปู่สาม สาย อาจารย์มั่น

  1. #1
    ศิลปิน นักเขียน สัญลักษณ์ของ maanoy
    วันที่สมัคร
    Jul 2006
    กระทู้
    2,271

    ประวัติหลวงปู่สาม สาย อาจารย์มั่น

    ประวัติหลวงปู่สาม    สาย อาจารย์มั่น
    ประวัติและปฏิปทา
    หลวงปู่สาม อกิญฺจโน

    วัดป่าไตรวิเวก
    ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์



    จากหนังสืออนุสรณ์ เนื่องในงานฉลองอายุครบ ๘๐ ปี
    และฉลองครบรอบ ๑๐ ปี วัดป่าไตรวิเวก มีนาคม ๒๕๒๒


    คำนำ

    ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๒ นี้ ท่านอาจารย์สาม อกิญฺจโน ได้เจริญอายุกาลครบ ๘๐ ปี พอดีที่วัดป่าไตรวิเวกก็ได้สร้างครบ ๑๐ ปี ด้วย ศิษยานุศิษย์และสาธุชนทั้งหลายต่างมีความปลื้มปิติยินดี พร้อมใจกันจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นในวันที่ ๙-๑๐-๑๑ มีนาคม ๒๕๒๒ นี้เป็นการแสดงกตัญญูกตเวทีต่อท่าน และเป็นโอกาสที่ได้บำเพ็ญบุญญกิริยาอื่นๆ อีกพร้อมกันไปด้วย

    ในงานมหามงคลครั้งนี้ ท่านอาจารย์สาม มีปรารภใคร่จะพิมพ์ประวัติและธรรมเทศนาของท่าน เพื่อเป็นเครื่องสมณาคุณแด่ผู้ที่มาร่วมงาน และได้ขอร้องให้อาตมาช่วยเรียบเรียงจากบันทึกของท่าน แต่โดยเหตุที่บันทึกของท่านได้กระทำไว้ตามสะดวก กล่าวคือ เมื่อมีโอกาสก็บันทึกไว้ เมื่อไร้โอกาสก็มิได้บันทึกไว้ ทั้งวัน เดือน ปี ที่จำพรรษาในที่ต่างๆ ก็มิได้บันทึกไว้อีกเล่า ผู้ใคร่รู้จึงแน่นอนที่ต้องพลาดโอกาสที่จะสอบทวนเอาความให้ชัดเจนได้ พึงถือเอาประโยชน์โดยประการอื่นๆ อันมีอยู่ในประวัติของท่านเถิด

    สำหรับอาตมาผู้เรียบเรียง ได้รับความอัศจรรย์ใจประการหนึ่ง คือ ในบรรดาพระธุดงค์กรรมฐาน ท่านอาจารย์สามองค์นี้ นับว่า เป็นผู้เจริญด้วยธุดงควัตร เที่ยวธุดงค์จำพรรษาได้มากแห่งที่สุดเท่าที่ได้ทราบมา องค์อื่นๆ ได้ปักหลักสร้างวัดเป็นเจ้าอาวาสประจำวัดนั้นๆ มานานแล้ว ตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ ส่วนท่านอาจารย์สาม เพิ่งจะมาสำนักประจำที่วัดป่าไตรวิเวกนี้ ต่อเมื่ออายุกาลล่วง ๗๐ ปีแล้ว ชนชาวจังหวัดสุรินทร์ถิ่นกำเนิดของท่านเอง ยังรู้จักท่านน้อยกว่าชนชาวเมืองอื่น เพราะท่านออกธุดงค์จากจังหวัดสุรินทร์ไปนานกว่า ๓๐ ปี นับว่าคนสุรินทร์อายุ ๓๐-๔๐ ปีลงมา จะไม่รู้จักท่านเลยก็ว่าได้ เมื่อท่านกลับมาสร้างวัดป่าไตรวิเวกเป็นที่อยู่ในบั้นปลายชีวิต สิ้นเงินค่าก่อสร้างไปหลายล้านบาท ทั้งโบสถ์ ศาลา กุฏิ กำแพง และถนนรอบวัดเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งสิ้น ก็ได้ทุนทรัพย์อันเกิดจากศรัทธามาแต่แดนไกลเกือบทั่วประเทศไทยแทบทั้งนั้น จึงน่าจะเรียกได้ว่า ท่านเป็นยอดพระธุดงค์ที่หาได้ยากจริงๆ สามารถอดทนและอดกลั้นฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ซึ่งจะต้องเกิดมีแก่พระธุดงค์มากมายกว่าพระบ้านอย่างแน่นอน โดยมิได้ท้อถอยหมดมานะลงจากการถือธุดงค์เสียแต่สมัยหนุ่ม อย่างองค์อื่นๆ

    เหตุการณ์ประหลาดที่น่าแปลกใจอีกตอนหนึ่ง คือ เมื่อท่านกลับคืนถิ่นกำเนิด ชาวบ้านที่มีความเลื่อมใส ได้นิมนต์ให้ท่านสำนักอยู่ที่ละเมาะไม้ชายบ้านรำเบอะ ต.นาบัว อ.ปราสาท ชาวบ้านก็มีอีกพวกหนึ่งไปฟ้องร้องต่อเจ้าหน้าที่หาว่าบุกรุกที่อันกำหนดเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ ท่านจึงเคลื่อนย้ายเดินทางมาจำพรรษาที่ป่าใกล้บ้านสกร็อม ต.เฉนียง อ.เมือง ก็ถูกขับไล่อีกว่า เป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์อีกเช่นเดียวกัน สุดท้าย จึงมีญาติโยมถวายที่ดินเสียเองสร้างเป็นวัดในปัจจุบันนี้ ห่างจากที่ที่ถูกขับไล่ประมาณ ๒ กิโลเมตร ส่วนที่ที่ว่าเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์นั้น ปัจจุบันมีเจ้าของที่ครอบครองไปหมดแล้ว ที่ว่าเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ก็ไม่ทราบว่าเพิกถอนกันเมื่อใด จึงเป็นที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่ง

    ปฏิปทาของท่านอาจารย์สามนั้น คล้ายคลึงกับปฏิปทาของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล กล่าวคือ มาด้วย ขันติ โสรัจจะ อดทน สงบเสงี่ยม เยือกเย็น ไม่แสดงกิริยาอันเคลื่อนคลายจากสมณสารูป แม้มีภาระหนัก ก็ไม่เคยละจากธุดงควัตรที่เคยปฏิบัติมามากด้วยเมตตาธรรม ไม่เคยขัดอัธยาศัยของญาติโยม แม้อายุกาลผ่านเข้า ๘๐ ปี ก็ยังแข็งแรงกระฉับกระเฉง ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ สามารถช่วยสงเคราะห์ญาติโยมและวัดวาต่างๆ ที่เลื่อมใสอาราธนาท่านไปร่วมพิธีต่างๆ เสมอมา

    ศิษยานุศิษย์และท่านสาธุชนทั้งปลาย จึงมีความปลื้มเปรมอิ่มเอมใจ ช่วยกันจัดงานถวายท่านในครั้งนี้ ที่น่าสรรเสริญให้ปรากฏก็คือ ศิษย์ใกล้ชิดทางกรุงเทพฯ คือท่านเจ้าของเกษมการพิมพ์ เป็นผู้เสียสละเป็นพิเศษ โดยได้พิมพ์หนังสือเล่มนี้โดยมิได้คิดมูลค่าแต่ประการใด หวังให้เป็นธรรมทานอันบริสุทธิ์แต่ประการเดียว ด้วยอำนาจบุญกุศลใดที่ท่านอาจารย์สามได้บำเพ็ญมาแล้ว และบุญกุศลใดที่ศิษยานุศิษย์ได้พากันบำเพ็ญในครั้งนี้ จงรวมกันเป็นพลังปัจจัย ให้ท่านและผู้ขวนขวายในการนี้ ประสพความสำเร็จดังมโนมัยปรารถนาทุกประการเทอญ

    ประวัติหลวงปู่สาม    สาย อาจารย์มั่น หลวงตามหาบัว มาเยี่ยม ตอน หลวงปู่สาม อาพาธ
    พระครูนันทบญญาภรณ์
    วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์
    ๑ มีนาคม ๒๕๒๒
    “พระอาจารย์สาม อกิญฺจโน” มีนามเดิมว่า สาม นามสกุล เกษแก้วสี เกิดที่บ้านนาสาม ตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ บิดาชื่อ นายปวม มารดาชื่อ นางกึง เมื่อวันอาทิตย์ เดือนสิบ ปีชวด ตรงกับเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๔๓ มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๑๑ คน

    ท่านเล่าว่า เมื่ออยู่ในวัยเด็กนั้น ได้รับความทุกข์ยากลำบากมาก เนื่องจากในบ้านไม่มีผู้หญิง มีแต่ผู้ชาย และท่านเป็นลูกชายคนโต ดังนั้น นองจากท่านจะต้องทำงานนอกบ้าน เช่นเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย และทำไร่ไถนาแล้ว ยังต้องทำงานในบ้านอีกด้วย เช่น ตำข้าว หุงต้มอาหาร และเลี้ยงดูน้องๆ อีกหลายคน คือทำงานเหมือนผู้หญิงทุกอย่าง จนอายุย่างเข้าสู่วัยหนุ่มแล้ว ก็อยากที่จะมีโอกาสได้เที่ยวเตร่เหมือนผู้อื่นเขา ประกอบกับท่านมีอัธยาศัยชอบสงบตั้งแต่เด็ก ไม่เคยเกะกะระรานหาเรื่องกับใครเลย รู้จักการทำบุญ บริจาคทาน ฟังเทศน์ฟังธรรมตั้งแต่อายุได้ ๑๔ ปี จึงเป็นที่รักใคร่เอ็นดูของบิดามารดา และผู้แก่ผู้เฒ่าเป็นอย่างยิ่ง

    ครั้นอายุได้ ๑๙ ปี ก็คิดอยากบวช จึงขออนุญาตบิดามารดา ท่านก็อนุญาต ได้บวชเป็นสามเณรที่วัดนาสาม อันเป็นวัดใกล้บ้านเกิดของท่าน บวชเณรได้ ๒ พรรษา ก็บวชพระต่อเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ โดยมีพระครูวิมลศีลพรต เป็นอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเอี่ยม และพระอาจารย์สาม เป็นพระคู่สวด

    ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดนาสามได้ ๓ พรรษา ก็คิดอยากจะไปเรียนปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ กับเขาบ้าง จึงได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ และขอพำนักอยู่ที่วัดสัมพันธวงศ์ แต่ก็มีอุปสรรคอย่างยิ่ง คือทางวัดบอกขัดข้องว่า ไม่มีกุฏิอยู่ให้จำพรรษา ครั้นจะกลับมาวัดเดิมก็นึกอายเขา จึงหาวัดจำพรรษาที่จังหวัดอยุธยา ๑ พรรษา โดยไม่มีการเรียนปริยัติธรรมแต่ประการใด เมื่อออกพรรษาแล้ว จึงมาอยู่ที่วัดนาสามตามเดิม

    คงจะเป็นด้วยบุญบันดาลให้หันวิถีชีวิตแห่งบรรพชิตเพศของท่านให้มาทางวิปัสนากรรมฐานนั้นเอง เมื่อกลับมาอยู่วัดนาสามตามเดิมได้เพียง ๓ เดือนเท่านั้น ก็ได้รับทราบกิติศัพท์ข่าวดีว่า ท่านอาจารย์ดูลย์ (หลวงปู่ดูลย์ วัดบูรพาราม ปัจจุบัน) ได้กลับมาจากธุดงค์และสำนักอยู่ที่ ป่าหนองเสม็ด ตำบลเฉลียง อำเภอเมืองสุรินทร์ ท่านจึงไปพบท่านอาจารย์ดูลย์ ณ ที่นั้น ถวายตนเป็นลูกศิษย์เพื่อจะอบรมทางกัมมัฏฐาน ท่านอาจารย์ดูลย์ก็มีความยินดี และแนะนำสั่งสอนเรื่องการนั่งสมาธิภาวนา เมื่อตั้งใจปฏิบัติก็เกิดนิมิตต่างๆ แล้วก็ยิ่งเกิดความเชื่อ ความศรัทธาเลื่อมใสอย่างแท้จริง จึงอยู่จำพรรษา ณ ที่นั้น ๑ พรรษา ส่วนท่านอาจารย์ดูลย์ มาจำพรรษาที่วัดนาสาม

    เมื่อออกพรรษาแล้ว ก็ได้เริ่มออกเที่ยวธุดงค์ในบริเวณใกล้ๆ ในจังหวัดสุรินทร์ โดยไปทางเขาสวาย พำนักอยู่ที่นั่นเป็นเวลานามพอสมควร มีญาติโยมเลื่อมใสศรัทธามานั่งสมาธิภาวนา บางคนก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก ท่านออกจากที่นั่นแล้ว ก็ไปตั้งสำนักปฏิบัติอยู่ใกล้บ้านถนน ตำบลเฉลียง ยู่ประมาณ ๒ เดือน ท่านอาจารย์ดูลย์ได้ทราบว่า อาจารย์สาม พร้อมกับพรรคพวกมีศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะปฏิบัติธุดงค์กรรมฐานอย่างจริงจัง จึงแนะนำให้ท่านไปหาท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งขณะนั้นท่านอาจารย์มั่นกำลังพักอยู่ที่วัดป่าสัมพงศ์ ทางจังหวัดสกลนคร อาจารย์สามก็ได้ชักชวนหมู่พวกเดินทางไปพบพระอาจารย์มั่น

    ในการเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์ครั้งแรกนี้ มีท่านสกุยเป็นเพื่อนไปด้วย รวม ๒ องค์ เดินทางครั้งนี้ใช้เวลาถึง ๑๕ วัน จึงถึงจังหวัดนครพนม และพักอยู่ที่นั่น ๓ เดือน แล้วเดินทางต่อไปอีก ๕ วัน ก็ถึงวัดป่าสัมพงศ์ ที่ท่านพระอาจารย์มั่นพักอยู่ นมัสการให้ท่านทราบว่า มาจากจังหวัดสุรินทร์ เพื่อปฏิบัติกัมมัฏฐาน แล้วพักอยู่ ๓ เดือน เพื่อรับการอบรมและฟังเทศน์จากท่านอาจารย์มั่น

    ท่านอาจารย์มั่นทราบว่า ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นผู้คุ้นเคย ต้อนรับพระมาจากจังหวัดสุรินทร์ เพราะท่านอาจารย์ดูลย์ก็เป็นผู้คุ้นเคยกันกับท่านอาจารย์สิงห์ จึงแนะนำท่านอาจารย์สามให้ไปหาท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ท่านอาจารย์สามจึงต้องเดินทางไปพบท่านอาจารย์สิงห์ เดินทาง ๑ วัน ๑ คืน จึงไปถึงอำเภออากาศอำนวย ท่านอาจารย์ทราบว่ามาจากสำนักอาจารย์ดูลย์ จังหวัดสุรินทร์ก็แสดงความยินดี จึงต้นรับและจัดให้พักอยู่ในที่นั้น

    ครั้นพอจวนจะเข้าพรรษา ก็จัดให้ไปอยู่แห่งหนึ่งต่างหาก ไม่ห่างจากกันเท่าไรนัก ท่านอาจารย์สามเล่าว่า ในปีนั้นท่านป่วยเป็นไข้ป่าหนัก จวนเจียนจะถึงตาย ร่างกายผอมเหลือหนังกับกระดูก ขณะนั้นในหมู่บ้านมีโรคอหิวาต์ระบาดด้วย เมื่อค่อยหายจากป่วยแล้วก็ต้องหัดเดิ่นเป็นเดือนจึงเดินได้บ้าง และต้องใช้ไม้เท้าช่วยจึงพอเดินไปมาได้บ้าง

    เมื่อออกพรรษาแล้วก็ออกจากกิ่งอำเภออากาศอำนวย เที่ยวธุดงค์ไปทางจังหวัดอุบลฯ พร้อมกับท่านอาจารย์สิงห์ ครั้งนี้ไปกันเป็นหมู่มากประมาณ ๑๐๐ กว่าองค์ เมื่อถึงอุบลฯ หาสำนักพักเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็แนะนำสั่งสอนญาติโยมให้ได้รับความรู้และความเข้าใจในการปฏิบัติภาวนา มีประชาชนเข้ามาฟังเทศน์ฟังธรรมและนั่งภาวนาเป็นจำนวนมาก

    เมื่อจวนจะเข้าพรรษาปีนั้น ก็ตั้งใจจะจำพรรษาอยู่ที่อุบลฯ แค่ท่านเจ้าคุณมณี เจ้ากรมมณฑลอีสานในสมัยนั้น ไม่ให้อยู่วัดป่า ให้ไปอยู่ที่วัดสุทัศน์ในเมืองอุบลฯ ท่านอาจารย์สิงห์และมหาปิ่นจึงแนะนำให้ท่านอาจารย์สามกลับสำนักเดิมที่สุรินทร์เสียก่อน ท่านจึงต้องกลับมาเข้าพรรษาหลังเดือน ๙ ที่บ้านถนน ตำบลเฉลียง จังหวัดสุรินทร์

    เมื่อออกพรรษาแล้ว ก็ไปหาท่านอาจารย์สิงห์ที่จังหวัดอุบลฯ อีก ท่านอาจารย์สิงห์ก็พาธุดงค์ไปที่อำเภอยโสธร พร้อมทั้งให้ท่านอาจารย์สามและท่านสกุย ญัตติเป็นธรรมยุติที่อำเภอยโสธร มีพระครูจิตวิโส เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านอาจารย์สิงห์และท่านมหาปิ่นเป็นพระคู่สวด

    เที่ยวธุดงค์แวะวนอยู่แถวนั้นเป็นเวลานาน จนจวนจะเข้าพรรษา ก็กลับไปจำพรรษาที่อุบลฯ ณ สำนักสงฆ์ท่าวงหัน เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์พาเดินธุดงค์ต่อ พร้อมกับแนะนำธรรมสั่งสอนญาติโยมแถวอำเภออำนาจเจริญ อำเภอม่วงสามสิบ เป็นต้น พอจวนจะเข้าพรรษา ท่านพระครูพิศาลอรัญเขต มานิมนต์ให้คณะของท่านไปจำพรรษาที่ขอนแก่นและได้ตั้งสำนักอยู่ที่เลางา ส่วนท่านอาจารย์สามไปอยู่สำนักบ้านโนนวัง พอออกพรรษาแล้วก็ออกมาพบกันอีกได้เพียง ๕ - ๖ วัน ก็ลาไปหาที่วิเวกตามถ้ำตามป่า สถานที่สงัด เพื่อบำเพ็ญธรรม ประกอบความเพียรโดยไม่เลือกกาลเวลา เว้นไว้แต่พักผ่อนหรือมีคนมาถามธรรมปฏิบัติ ท่านก็แนะนำสั่งสอนเขาเหล่านั้นตามสติปัญญา นอกจากนั้นก็เร่งทำความเพียรพยายามด้วยตนของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้เสียประโยชน์ตน

    เมื่ออกพรรษาแล้วก็มาพบท่านอาจารย์สิงห์ ออกจากโนนรังก็ไปจำพรรษาที่ป่าหนองบัวพรรษาหนึ่ง ออกจากหนองบัวไปจำพรรษาที่อำเภอพลพรรษาหนึ่ง แล้วก็ย้อนมาจำพรรษาที่หนองบัวอีก ถึง ๒ พรรษา ตอนนี้จึงลาท่านอาจารย์สิงห์ไปเที่ยวธุดงค์ที่จังหวัดชัยภูมิพร้อมกับพระบุญธรรม เมื่อไปถึงชัยภูมิ พักอยู่ที่นั่น ๓ คืน ก็ไปเที่ยวสระหงษ์แล้วพักที่นั่นประมาณครึ่งเดือน ก็ชักชวนโยมชาวบ้านแถวนั้นขอร้องให้พาไปถ้ำวัวแดง โยมก็ส่งไป เพราะโยมเหล่านั้นก็มานั่งสมาธิภาวนาด้วยทุกวัน มีสามเณรองค์หนึ่งกับพระอีกสององค์ รวมกับท่านเลยไปถึงบ้านเข พักอยู่ที่นั่นคืนหนึ่ง มีโยมชาวบ้านแถวนั้นสองคนไปด้วย

    หลังจากที่ฉันเสร็จแล้ว ก็เดินไปจนถึงถ้ำพระ พักนอนที่นั่นคืนหนึ่งก็ยังไม่พบถ้ำวัวแดง สำหรับในถ้ำนั้น ดูข้างในนั้นไม่มีที่สิ้นสุดเลย จะออกมาหาน้ำดื่มก็ไม่มี พยายามขึ้นไปหา ข้างบนนั้นสูงมาก ต้องขึ้นไปด้วยความยากลำบาก จึงได้ดื่มน้ำ แล้วก็พักนอนที่นั่นคืนหนึ่ง รุ่งเช้าก็เที่ยวไปหาถ้ำวัวแดง เดินเที่ยวหาตั้งแต่เช้าจนเย็น ได้ความลำบากมาก จึงได้นอนพักค้างคืนหนึ่ง นอนห่างๆ กัน

    กล่าวว่าที่ตรงนั้นเป็นที่ลาดชัน เช้าขึ้นมา ปรากฏว่าท่านเมียนที่ไปด้วยนอนหลับ กลิ้งตกไปติดกับต้นไม้ จึงลงไปดู เห็นท่านเมียน ทั้งที่ตกไปติดกับต้นไม้แล้ว ยังนอนหลับอยู่โดยไม่รู้ตัว คงได้รับความเหน็ดเหนื่อยมากกระมัง ก็เลยปลุกให้ตื่น พากันออกจากถ้ำนั้น ก็ไปถึงถ้ำประทุนแล้วพากันพักนอนอยู่คืนหนึ่ง เพราะค่ำมากแล้ว

    เมื่อตกดึกเงียบสงัดวังเวงยิ่งนัก ได้ยินเสียงสัตว์อะไรก็ไม่รู้ ร้องดังลงมาหา ตรงที่นอนนั้นเอง ท่านเมียนก็นอนไม่หลับ สำหรับท่านนั้น ตั้งสติแน่วแน่ นั่งสมาธิอยู่ ไม่รู้สึกกลัว นั่งอยู่ด้วยความสงบ พอออกจากตรงนั้นไปแล้ว ปรากฏว่าหลงทาง เดินวกเวียนวนไปจนอยู่อยู่ในภูเขานั้น จนอดข้าว คิดว่าคงไม่รอด ไม่ได้ฉันข้าวน้ำเป็นเวลา ๓ วัน พอถึงวันที่ ๔ จึงพบน้ำ ได้ดื่มน้ำแล้วก็ตกเย็นพอดี จึงต้องพักนอนอยู่ตรงนั้นอีก

    พอเช้าขึ้นมาก็พากันเอาเมล็ดไผ่มาต้มฉันกันแทนข้าว พอประทังชีวิตเพื่อให้มีกำลัง เดินทางต่อมา เดินทางพบบ้านโยมแห่งหนึ่ง แล้วพักอยู่บริเวณนั้นคืนหนึ่ง เช้าขึ้นมาพอได้ฉันอาหารบ้าง แล้วก็เดินทางมาที่สระหงษ์ พอมาถึงสระหงษ์ พักอยู่ที่นั้นนานพอสมควรแล้ว ก็ได้รับจดหมายของท่านอาจารย์สิงห์ บอกให้มาประชุมกันที่นครราชสีมา จึงพากันเดินทางมา ๔ วัน ๔ คืน จึงถึงนครราชสีมา แล้วท่านอาจารย์สิงห์ก็ยังรอพระบางองค์มายังไม่ถึง

    เมื่อทุกองค์มาพร้อมกันแล้วก็ประชุมปรึกษากันเพื่อตั้งสำนักกรรมฐานขึ้นที่ป่าใกล้หอรถนครราชสีมา ให้ชื่อว่า วัดป่าสาลวัน จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ได้จำพรรษาที่นั้นพรรษาหนึ่ง ปีต่อมาไปอยู่ที่เขาเม้งกับท่านคำดีที่ขอนแก่น ออกพรรษาแล้วพากันกลับมานครราชสีมา อยู่ประมาณเดือนกว่าๆ ก็ออกไปเที่ยวหาที่วิเวก แสวงหาความสงบจิตใจของตน เพื่อเป็นผลประโยชน์ของตนให้บริสุทธิ์ขาวสะอาด และปีต่อมาได้เที่ยวธุดงค์ไปทางลพบุรี ไปจำพรรษาที่วัดเขาพระงาม จำอยู่ในถ้ำนั้นได้ ๓ ปี ออกจากเขาพระงามก็มานครราชสีมาอีก ท่านอาจารย์สิงห์จึงให้ไปอยู่ดงขมิ้น ก็เลยไปและอบรมจิตใจของญาติโยมที่มานั่งสมาธิภาวนา แนะนำในการทำบุญบริจาคทาน พอให้รู้เข้าใจในการทำบุญให้ทาน

    ออกจากดงขมิ้นก็เลยมาจังหวัดสุรินทร์ ในขณะนั้น ท่านอาจารย์ดูลย์ได้รับคำสั่งจากเจ้าคณะมณฑล ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบูรพาราม บูรณะปฏิสังขรณ์วัดบูรพาราม และได้เริ่มสร้างพระอุโบสถหลังใหญ่ขึ้นมายังไม่เสร็จเรียบร้อยดี จึงจำพรรษาอยู่ที่วัดบูรพาราม เพื่อช่วยร่วมมือร่วมกำลังกับท่านอาจารย์ดูลย์สร้างพระอุโบสถ เป็นเวลานานเกือบ ๑๐ ปี เมื่อพระอุโบสถเสร็จแล้ว ก็กลับไปอยู่ที่จังหวัดลพบุรี ประจำอยู่ที่วัดพระงามอีกพรรษาหนึ่ง ก็ออกจากลพบุรีกลับไปอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ที่เขาน้อย ท่าแฉลบ ออกจากท่าแฉลบไปอยู่ทางเกาะหมาก และเที่ยวธุดงค์ตามเกาะ ได้เลยดู เกาะแม่ชี เกาะกูด และเกาะสีชังเป็นต้น เมื่อจวนเข้าพรรษา ก็จำพรรษาอยู่เกาะหมากผู้เดียว แต่พอออกพรรษาแล้ว ก็ไปเที่ยวธุดงค์ถึงจังหวัดตราด พักอยู่ตามสวนเงาะ สวนทุเรียน เมื่อมีญาติโยมไปหา ก็พานั่งสมาธิภาวนา ฝึกหัดจิตใจของตนให้สะอาดปราศจากมลทิน

    เพราะว่าคนเรามีใจเจือด้วยกิเลส ถูกกิเลสครอบงำ ทุกคนต้องอาศัยการสั่งสมคุณงามความดีเอาไว้ เพื่อกำจัดสิ่งที่ไม่ดีให้เบาบางลงไป หรือทำให้หมดสิ้นไปได้ยิ่งดี

    จากจังหวัดตราดไปจังหวัดระยอง จากระยองไปจันทบุรี พักอยู่ที่วัดป่าคลองกุ้ง และออกไปตามแถวนั้น มีอำเภอขลุง ได้แสดงธรรมอบรมพวกญาติโยมทางจิตใจ เพื่อเป็นประโยชน์ในทางดีทางชอบ เพื่อความบริสุทธิ์ดีงามของตน พอจวนเข้าพรรษา ได้ย้อนกลับไปหาท่านอาจารย์มั่นอีกครั้งหนึ่งที่สกลนคร ในปีนั้นได้ร่วมพิธีวิสาขบูชากับพระอาจารย์มั่น เมื่อพระเถระและญาติโยมเวียนเทียนเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์มั่นได้แสดงธรรมเทศนาตั้งแต่ ๒ ทุ่ม จนเลย ๖ ทุ่ม พระบางรูปง่วงนอน นั่งสับปะหงกเอียงไปเอียงมา ท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์ว่า ผู้ไม่มีศรัทธา ฟังเทศน์เพียงแค่นี้ก็ง่วงนอนแล้ว ท่านจึงหยุดเทศน์เพียงแค่นั้นก่อน แล้วอนุญาตไปพักผ่อนตามอัธยาศัย
    ประวัติหลวงปู่สาม    สาย อาจารย์มั่น
    หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่สาม หลวงปู่ศรี มหาวิโร

  2. #2
    Banned

    วันที่สมัคร
    Jul 2008
    ที่อยู่
    Oil Field เพชรบูรณ์/กำแพงแสน
    กระทู้
    469
    หลวงปู่สาม หลวงปู่ดุลย์ พระธรรมยุติสายหลวงปู่มั่น คนสุรินทร์เขารู้กันดีในนามพระ พระธุดงค์กรรมฐาน สายปฏิบัติชั้นบรมครู.....

  3. #3
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63
    เคยได้ยินแต่ชื่อท่านหลวงปู่สามไม่เคยทราบว่าท่านจำวัดอยู่ที่สุรินทร์

  4. #4
    เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สัญลักษณ์ของ บ่าววิทย์
    วันที่สมัคร
    Jun 2006
    กระทู้
    754
    ขอบคุณครับสำหรับข้อมูลดีๆ
    [*] สื่อบันเทิงที่นำมาให้รับชม รับฟังเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น หากท่านชื่นชอบ สื่อใด โปรดซื้อสินค้าลิขสิทธิ์
    [*] เกี่ยวกับลิขสิทธิ์
    [*] ทำเนียบกองทุนเว็บไซต์ บ้านมหา

  5. #5
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ กานต์ กาฬสินธุ์
    วันที่สมัคร
    Jun 2012
    กระทู้
    39
    ใกล้เข้าพรรษาแล้วหันหน้าหาพระหาเจ้ากะดีคับ
    แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย กานต์ กาฬสินธุ์; 23-07-2012 at 05:26.

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •