กำลังแสดงผล 1 ถึง 6 จากทั้งหมด 6

หัวข้อ: ตายไม่มี โดย ปิยโสภณ

Threaded View

คำตอบที่แล้วมา คำตอบที่แล้วมา   คำตอบถัดไป คำตอบถัดไป
  1. #1
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ บ่าวบ้านแวง
    วันที่สมัคร
    Jul 2012
    ที่อยู่
    กบินทร์บุรี ปราจีนบุรี
    กระทู้
    5

    ตายไม่มี โดย ปิยโสภณ

    ตายไม่มี

    “สัตว์ทุกชนิดกลัวตาย เพราะคิดว่าความตายเป็นภัยร้ายแรงของชีวิต ผวาว่าความตายใครๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้ เกิดความสิ้นหวังท้อแท้ว่าความตายไม่อาจรักษาด้วยการเยียวยาใดๆ แต่ความจริงแล้วความตายนี้แลคือทิพยโอสถชนิดเลิศ ที่ธรรมชาติใช้รักษาโรคร้ายทุกชนิดของธาตุขันธ์ ความตายจึงมิใช่สิ่งที่น่ากลัวเพราะความตายเป็นทิพยโอสถของชีวิต”

    สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนให้พิจารณามรณสติเพื่อบรรเทาความมัวเมาในชีวิต ในเวลา ในความประมาท ก็เพราะต้องการให้คนมีสติตื่นตัว ให้รู้ว่า ความตายอยู่แค่ปลายจมูกเท่านั้น เรารู้วันเวลาเกิดได้ แต่เวลาตายเราไม่รู้ และไม่มีทางจะรู้ด้วยหากไม่เจริญมรณสติเป็นประจำ

    การเจริญมรณสติ คือนึกถึงความตายบ่อยๆ อย่างนี้ จะสอนใจให้กล้าเผชิญความจริงได้ไม่ยาก

    เมื่อพิจารณาความจริงอีกขั้นหนึ่ง เหนือจากสมมติสัจจะคือ พิจารณาให้เห็นความจริงตามหลักธรรมชาติ มองทุกอย่างให้เห็นเป็น อนัตตา ปราศจากตัวตนที่ควรเข้าไปยึดมั่น อย่างที่ตรัสแสดงใน อนัตตลักขณสูตร เราก็จะเข้าใจได้ว่า ความตายไม่มี และไม่มีอะไรตาย สิ่งที่เราเรียกว่าตายเป็นแต่เพียงการปรับตัว และเปลี่ยนสภาพของธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ กับวิญญาณของธาตุเท่านั้น

    ตามธรรมดาของร่างกายเป็นทุกข์และอยู่ได้ยาก ต้องมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เราเห็นกันทุกคน แต่มีน้อยที่ใส่ใจ

    ขอให้พิจารณาง่ายๆ ดังนี้ จากเล็กสุดในท้องแม่ เลือดก้อนหนึ่งค่อยเจริญเติบโตมาเป็นตัวคน เมื่อโตมากก็จำต้องออกมาอยู่นอกท้องแม่ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหา เราสมมติเรียกว่า “เกิด” แท้จริงการเกิดก็คือวิธีเปลี่ยนแปลงสภาวะที่ทนได้ยากอย่างหนึ่งของธรรมชาตินั่นเอง จากนั้นก็เป็นก้อนเลือดมีชีวิต นอนแบเบาะ หัดกิน หัดพูด หัดคลาน หัดรับสัมผัสจากโลกใบใหญ่นอกครรภ์แม่ การพึ่งตัวเองมีมากขึ้นตามลำดับ

    เขาต้องกินเอง ดื่มเอง หัดเดินเอง และการที่ได้คิดเอง ทำเองนี่แล เป็นความปรารถนาสุดยอดของชีวิต

    ความยิ่งใหญ่ของชีวิตอยู่ที่ได้รับอิสรภาพตามลำดับ เป็นอิสระทั้งกายและใจตามที่พระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่องวิมุติ ความหลุดพ้น แท้จริงแล้วก็คืออิสรภาพนั่นเอง เพราะหลุดพ้นจากบ่วงจึงเป็นอิสระแล้ว อะไรคือบ่วงคล้องชีวิต

    ต่อมาเมื่อโตขึ้นอีกหน่อย เขาก็หัดเดินเอง วิ่งเอง วินาทีแรกที่เขาเกินเองได้โดยที่ไม่มีคุณแม่คอยประคอง เป็นวินาทีแห่งความสุข เมื่อเขายืนด้วยลำแข้งของตนเองได้เป็นอิสระไม่เป็นภาระของใคร เป็นตัวของตัวเองแล้ว ความภูมิใจจะเกิดขึ้นทันที

    เขาจะรู้สึกมั่นใจในชีวิต แต่ก็มั่นใจเพราะมีคุณพ่อคุณแม่ยืนเคียงข้าง เพราะภายในจิตลึกๆ ก็ยังต้องการที่พึ่งอยู่ ใจยังต้องมีที่พักพิงที่มั่นคง นั่นคือที่พึ่งอันอบอุ่นจากคุณพ่อคุณแม่

    วัยเด็กนี้เอง เป็นวันที่หนูน้อยต้องได้รับการอบรมบ่มเพาะปลูกฝังจริต นิสัย ใจคอ เรียนรู้ดีชั่ว ควรมิควร เรียนรู้ ถูกกับผิด จากคุณพ่อคุณแม่ ก่อนที่จะออกไปสู่โลกกว้าง ทางไกล

    การเรียนรู้ถูกกับผิดนั้น เรียนได้จากทุกสถานที่ เพราะเป็นขาวกับดำชัดเจน และมีกฎเกณฑ์ตายตัว ส่วนการจะรู้ว่าอะไร ควรไม่ควร นั้นยาก ต้องใช้ใจต่อใจ ใช้จิตสำนึกแทนตัวอักษร ซึ่งคุณพ่อคุณแม่เท่านั้นจะให้เราได้ดีกว่าใครๆ ในข้อนี้

    บางครั้งสิ่งที่ว่าถูกต้องนั่นเองกลับเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ควรพูด ไม่ควรคิด เรื่องละเอียดอ่อนเช่นนี้ คนที่จะกล้าบอกเรา ก็มีแต่คนที่รักเราจริงๆ เท่านั้น แล้วใครเล่าจะรักเราบริสุทธิ์ มีความเมตตาอาทร และอ่อนโยนเท่ากับพ่อแม่

    โตมาหน่อย เราก็ต้องเรียนรู้โลกกว้าง มีการศึกษา มีงานทำ มีครอบครัว แล้วชีวิตใหม่ต้วน้อยก็ถือกำเนิดมาดูโลกกับเราอีก เจ้าหนูน้อยก็เป็นอย่างที่เราเคยเป็น เขาเริ่มต้นชีวิตอย่างที่เราเคยเริ่มต้นมา วันผ่านไป วัยก็ตามมา แต่สิ่งที่ผ่านมามิใช่เพียงกาลเวลาที่ผ่านไป ทุกอย่างได้จารึกปรัชญาชีวิตเอาไว้ให้เราได้รำลึกถึงทุกเหตุการณ์ณ์เสมอ แม้ความจำจะลืมบางอย่างไปแต่ใจยังจดจำ

    ขณะที่ลูกเจริญไปข้างหน้า ความชราตามหาเรา วัยเราเจริญลง วัยลูกเจริญขึ้น ก็มาถึงช่วงวัยแก่เฒ่า เราอาจคิดว่าตัวเองแก่ เพราะเห็นหน้าตาเหี่ยวย่น ผมหงอก ฟันหลุด เจ็บปวด ป่วยไข้ไม่สบาย เรี่ยวแรงหมด นั่งโอย แม้นอนก็ยังโอย เราคิดว่านี่คือวัยชรา

    ความเป็นจริงเราชรามาตั้งแต่เกิด ชรามาเยือนเราตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ แต่เราไม่คิดกันเท่านั้นเอง

    คำว่า “วัย” ที่เราพูดว่าเจริญวัย แท้จริงก็คือเจริญความเสื่อมเพราะคำว่า “วัย” แปลว่า “เสื่อมสิ้นไป” เราแก่ตั้งแต่เกิด เรามิได้แก่เฉพาะวันนี้เท่านั้น

    และแล้วก็มาถึงบั้นปลายของชีวิต เราเรียกว่า “ตาย” ความจริงตายไม่มี ตายเป็นเพียงคำสมมติเรียกชื่อ “ทิพยโอสถ” ที่สามารถรักษาโรคร้ายทุกชนิด

    ที่เราสมมติเรียกว่าตายนั้น เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ปรับความสมดุลเท่านั้นเอง

    ความสมดุลของธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ คือการดำรงอยู่อย่างเป็นสุขของชีวิต ถ้าธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ขาดความสมดุล ชีวิตก็เป็นทุกข์เพราะความเจ็บ ก็คือความไม่สมดุลของธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ ๕

    เมื่อเจ็บมาก ก็แสดงว่า ธาตุตัวใดตัวหนึ่งทำงานบกพร่อง เช่น อาหารไม่ย่อยเราก็เป็นทุกข์ แสดงว่าธาตุไฟไม่ทำงาน ธาตุดินมีปัญหา ระบบเลือดแย่ แสดงว่าธาตุน้ำเดินไม่สะดวก เป็นต้น

    เมื่อธาตุทั้ง ๔ ทำงานไม่ได้ หรือทำงานไม่คล่องตัว ตัวชีวิตก็รวนเร ทรงตัวอยู่ไม่ได้ ก็จำเป็นต้องปรับสภาพเพื่อให้อยู่ได้ วิธีปรับสภาพอาจจะด้วยวิธีใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย มีเยียวยา หรือผ่าตัด สุดแท้แต่ความเหมาะสม

    ในโลกแห่งเทคโนโลยี มนุษย์เราช่างอาจหาญพากเพียรต่อสู้เอาชนะความตายด้วยวิธีการต่างๆ แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้ เพราะเป็นการพยายามที่ฝืนระบบธรรมชาติ หากไม่ฝืนธรรมชาติ วินาทีธาตุขันธ์แยกจากกัน ก็จะเป็นความสงบสุขมากกว่านี้ เพราะไม่ได้ถูกบีบบังคับ

    ความจริง คนเราเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ควรจะปล่อยให้ธรรมชาติเยียวยาดีกว่า มิใช่ยอมให้เทคโนโลยีมาก้าวก่ายจนเกินไป ชีวิตมาจากธรรมชาติ ก็จำเป็นต้องใช้ธรรมชาติเยียวยา มิใช่เทคโนโลยีจนนาทีสุดท้าย

    ธรรมชาติคือหมอที่ดีที่สุดของชีวิต เมื่อธาตุ ๔ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองขั้นสุดท้าย ขอยืนยันว่า มิใช่เทคโนโลยี มิใช่เครื่องมือทางวัตถุ ต้องเป็นธรรมชาติ มนุษย์เราควรปล่อยให้ตัวชีวิตเป็นอิสระก่อนสิ้นลมจะดีกว่า เพื่อให้ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ปรับสภาพเข้าหากันให้ลงตัว ให้จบลงอย่างเป็นสุข

    ธรรมชาติไม่เคยทำลายใคร ไม่เคยก่อทุกข์ให้ใคร การฝืนต่างหากที่เป็นการก่อทุกข์ ขอให้มั่นใจในระบบการทำงานของธรรมชาติเพราะตัวตนของเรามาจากธรรมชาติ

    เพราะฉะนั้น ความตายไม่มี มีแต่เพียงการปรับเปลี่ยนสภาวะของธาตุขันธ์เท่านั้น เหมือนกับตะวันออกตะวันตกไม่มี มีเพียงการเคลื่อนไหว หมุนตัว (วัฏฏะ) ของลูกโลก เมื่อมองจากจุดที่อยู่เหนือโลก (โลกุตระ) หรือนอกโลกเรา คือมองจากความเป็นจริงมิใช่มองจากสิ่งที่เราเห็นด้วยตา เช่น มุมมองจากยานอวกาศ เราก็จะเห็นเพียงลูกโลกดวงกลมๆ ไม่มีที่ใดบอกว่าตะวันออกด้านนี้ตะวันตกด้านโน้น ทุกอย่างเป็นวงโคจรการทำงานตามธรรมชาติในระบบสุริยจักรวาล

    เมื่อมองจากสภาวะที่เป็นจริงของชีวิตในมุมที่เป็นจริง เกิดแก่เจ็บตายก็เป็นการทำงานตามระบบธรรมชาติเท่านั้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงเป็นเพียงวงจรการเดินทาง (สังสารวัฏ) ของชีวิต เหมือนเราเห็นพระอาทิตย์ขึ้น แล้วก็เดินทางไปสู่การอัสดง นั่นเป็นการมองตามที่ตาเห็นเท่านั้น

    เมื่อเราไม่เห็นดวงอาทิตย์ เราคิดว่าอาทิตย์ตกดิน แต่ความจริงมิใช่ดวงอาทิตย์ตกดิน และก็มิใช่ว่าไม่มีดวงอาทิตย์ วินาทีที่หายไปจากสายตาเรานั่นเอง ดวงอาทิตย์ก็ไปปรากฏแก่สายตาของคนอีกผากหนึ่งของมุมโลก

    อีกมิติหนึ่งของชีวิตก็เช่นกัน เมื่อธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ แยกกันตามธรรมชาติเราร้องไห้เสียใจ เพราะมองว่าเป็นการตาย มองเห็นเหมือนอาทิตย์อัสดง แต่อาจจะมีมิติหนึ่งที่กำลังหัวเราะดีใจรับชีวิตใหม่เหมือนกับคนอีกฟากหนึ่งกำลังรอให้พระอาทิตย์อุทัยแสงในมุมของตน

    นี่คือสิ่งที่พิจารณาตามความจริง ทั้งระบบสุริยจักรวาลและระบบของชีวิต ซึ่งชีวิตเองเป็นเพียงเศษธุลีของ สุริยจักรวาลเท่านั้น

    มนุษย์เกิดมาสู่โลก นึกว่าโลกนี้เป็นของเรา เราเป็นเจ้าของจึงยึดยื้อฉุดแย่งแบ่งปันกันเป็นเจ้าของ ความยึดมั่นครอบครองจึงเกิดขึ้น เพราะมนุษย์ยึดติด กำโลกไว้แน่นนี่เอง เขาจึงเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เนื่องจากไม่เคยสมหวังในสิ่งใดจริงๆ พอกำสิ่งนี้ไว้ได้ อย่างอื่นก็หลุดมือ ต้องคว้าหาใหม่ตลอดเวลา เมื่อได้มาก็ดูเหมือนดีใจ แต่พอเสียไปก็เป็นทุกข์

    ความจริงแล้ว ไม่มีอะไรเลยจริงๆ ที่เข้าไปยึดถือแล้วไม่ทำให้เราเจ็บตัว แม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม

    ท่านจึงสอนให้อยู่ในโลกนี้อย่างบางเบา สัมผัสสมบัติของโลกแต่เพียงแผ่วเบา อย่าหอบหิ้ว แบกหาม กอดกำ เหนี่ยวรั้ง คือ เมื่อทำชีวิตบนโลกให้บางเบา แล้วเราจะพอหาความสุขในชีวิตได้บ้าง แต่ถ้าพิจารณาความจริงของชีวิตและของโลก ต้องให้หนักแน่น ทำแผ่วเบาไม่ได้

    แปลว่า ถึงจุดหนึ่ง ต้องไม่คิดแบกหามยึดมั่นมาก เพราะไม่มีอะไรเป็นของเราจริงๆ แม้สิ่งที่เรามีกรรมสิทธิ์วันนี้ สุดท้ายก็มิใช่ของเรา สิ่งที่เรารักที่สุดก็ไม่อาจอยู่กับเราได้ เพราะสุดท้ายปลายทางเราต้องจากสิ่งนั้นไป ทิ้งทุกอย่างไว้ให้คนข้างหลังดูแล
    ชีวิตเป็นของน้อยอย่างนี้

    มีเรื่องเล่าว่า เหล่าเทพบุตรเทพธิดากำลังเก็บดอกไม้บนสรวงสวรรค์ เทพธิดาตนหนึ่งลงมาเกิดเป็นมนุษย์ในตระกูลดี มีสามี มีลูก มีทรัพย์สมบัติมาก ทำบุญทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิปัญญาในพระพุทธศาสนา ทำประโยชน์ให้แก่แผ่นดินมาก เมื่ออายุได้ ๙๐ กว่า ก็สิ้นอายุ เธอไปเกิดเป็นเทพธิดาอีกครั้ง หัวหน้าเทพเมื่อเห็นเธอจึงถามว่า เมื่อเช้านี้เธอหายไปไหน

    เธอก็เล่าให้ฟังว่า เธอไปเกิดในมนุษย์โลก มีครอบครัวแสวงหาสมบัติ เกลือกกลั้ว เกลื่อนกล่นอยู่กับการมี การเป็น มีสามี มีลูก มีเกียรติ มียศ มีเพื่อนฝูง มีบริวาร เลี้ยงลูกจนเติบโต มีหลาน มีเหลนไม่น้อย และเธอก็มีอายุยืนถึง ๙๐ ปี ด้วยอานิสงส์บุญเมื่อตายลงจึงมาเกิดที่นี่อีก

    เทพบุตรฟังแล้วถึงกับตะลึงว่า ชีวิต ๙๐ ปีในโลกมนุษย์นั้นเป็นเพียงชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของเทวโลกเท่านั้นหรือ
    บางท่านอาจไม่เข้าใจ แต่เมื่อมองดูภพภูมิต่างมิติระหว่างมนุษย์เรากับสัตว์เดรัจฉานก็น่าจะเห็นได้ชัด สัตว์บางตัวมีอายุเพียง ๗ วัน ๑๕ วัน ๑ เดือน เขาก็เต็มที่แล้ว ขณะที่เรามีอายุขัย ๘๐ หรื ๙๐ ปี หรือสัตว์เดรัจฉานบางชนิดก็มีอายุมากกว่าเราหลายเท่า เช่น เต่า ช้าง เป็นต้น

    การเรียนรู้ชีวิต ต้องมองให้เห็นความจริงทั้งในภพกว้างและมุมแคบ เพื่อคลายความติดยึดอันรุนแรง ที่ท่านเรียกว่า "อุปทาน” ตัวติดยึดนี่เอง คือจุดกำเนิดแห่งทุกข์ทั้งปวง

    เราอยู่ในโลกยุคเทคโนโลยี โลกทั้งโลกอยู่ในกำมือเราก็จริงแต่ไม่อาจกำทุกสิ่งไว้ในอำนาจ ทุกอย่างผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

    การมองชีวิตตามหลักสัจธรรม ตามธรรมชาติ แก้ทุกข์ได้ยิ่งคราที่ใจได้ทุกข์ถึงที่สุดเราต้องกล้าหาญ มองให้เห็นความจริง กล้าเผชิญรากแก้วความจริงอันประเสริฐ (อริยสัจ) นี้ให้ได้ เพราะความจริงทำให้คนฉุกคิดได้ ความจริงตามธรรมชาติไม่เคยทำร้ายใคร หรือทำลายใคร ท่านจึงบอกว่าประเสริฐ สิ่งที่ทำให้คนลุ่มหลงต่างหากที่ประทุษร้ายคน
    ความตายไม่มี มีเพียงการปรับสภาพของธาตุขันธ์

    เมื่อปรับเปลี่ยนได้ที่ ซ่อมแซมจุดบกพร่องได้แล้ว ก็มารวมตัวกันใหม่ เราก็สมมติว่า “เกิด” เมื่อเกิดแล้วโต แก่เฒ่า และทำงานหนัก เมื่อชำรุดทรุดโทรมก็จำเป็นต้องซ่อม หากซ่อมไม่ไหวก็แยกส่วน ซึ่งเราสมมติเรียกว่า “ตาย"” และก็วนเวียนกันอยู่เช่นนี้ เกิด-ตาย เกิด-ตาย เป็นวังวนแห่งสังสารวัฏ ชีวิตมีเท่านี้จริงๆ

    “ความตายไม่มี มีแต่การปรับเปลี่ยนเพื่อความสมดุลของธรรมชาติเท่านั้น”

    คำนี้สำคัญ ที่เราควรใคร่ครวญพิจารณาทุกเช้า หลังตื่นนอน ก่อนออกจากบ้าน แม้ในที่ทำงาน

    ขณะที่ย่ำเท้าเปล่าลงบนยอดหญ้า ก่อนจะลงมือทำอะไรทั้งหมดในวันนั้น ให้พิจารณาความจริงตรงนี้ก่อน ให้รุ่งอรุณของแต่ละวันเป็นรุ่งอรุณที่สดใส เป็นรุ่งอรุณที่งดงามจับจิต

    ขณะที่พระอาทิตย์ทอแสงส่องโลก ปัญญาต้องทอแสงส่องใจ

    การปรับเปลี่ยนชีวิตต้องการวิถีธรรมชาติ มิใช่เทคโนโลยี หมอที่ดีที่สุดที่จะปรับความสมดุลของธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ คือธรรมชาติ

    การเข้าใจระบบการทำงานของธรรมชาติ ต้องเท้าเปล่าสัมผัสดิน ต้องทำใจให้อยู่เหนืออารมณ์ มองโลกตามความเป็นจริง เมื่อเข้าใจธรรมชาติ ก็จะเข้าใจสัจธรรม และการกล้าเผชิญความจริงของชีวิตเท่านั้น ที่จะช่วยรักษาเยียวยาคราวที่ทุกข์สัมผัสใจ

    โอกาสตรงนี้ ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะหรือฐานะใด เพียงแต่ใครจะเริ่มต้นเรียนรู้ก่อนใครเท่านั้นเอง

    ........................................................................................................................................

    ขอขอบคุณที่มาบทความ : หนังสือ อภัยทาน รักบริสุทธิ์ โดย ปิยโสภณ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
    แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย บ่าวบ้านแวง; 25-07-2012 at 14:16.

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •