Living Goddess หรือ เทพธิดาผู้ทรงชีวิต หรือ เทวนารีมีชีวิต แต่เรียกกันสั้นๆว่า "กุมารี"

เป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติผู้มาเยือนเนปาลพากันสนใจอย่างยิ่ง และคิดว่าร้อยทั้งร้อยไม่ยอมพลาดที่จะหาโอกาสเห็นด้วยตาตนเองให้จงได้ ด้วยความรู้สึกว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์เหลือเชื่อในยุคนี้
คำว่า"เทพธิดาผู้ทรงชีวิต"ก่อให้เกิดความฉงนฉงายแก่ผู้ได้ยินทั้งสิ้น เพราะเราท่านต่างเชื่อกันว่า เรื่องของเทวดา นางฟ้า อะไรเหล่านี้ล้วนเป็นนิยาย ถ้าจะมีอยู่จริงก็อยู่บนเมืองฟ้าเมืองสวรรค์โน่น ซึ่งเรามองไม่เห็น แต่ีที่เนปาลมีให้ดูกันได้จริงๆชัดๆ ไม่ว่าใครๆก็ต้องอยากดู
ประเพณีที่ถือปฎิบัติสืบสืบเนื่องกันมาหลายศตวรรษสะท้อนถึงการหล่อหลอมทางศาสนา วัฒนธรรมและความเชื่อของชาวเนปาลเข้าด้วยกัน จนเห็นได้ชัดเจน น่าจะได้แก่ ประเพณีกุมารี บูชา(Kumari Puja) คือการบูชา"เจ้าแม่ทุรคา" หรือ "ตาเลจู" เจ้าแม่ภาคดุร้ายตามคติของฮินดู ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้เสด็จมาคุ้มครองกษัตริย์เนปาลทุกพระองค์
แม้เจ้าแม่จะเป็นเทพทางฮินดูแต่กลับเสด็จลงมาประทับอยู่ในร่างของ เด็กหญิงพรหมจรรย์ชาวพุทธที่เกิดในสกุล"ศากยะ" ซึ่งเรียกขานกันในนาม"กุมารี" ฟังแล้วออกจะขัดๆสับสนชอบกล
แต่ีก็อย่างว่าเนปาลเป็นดินแดนที่หล่อหลอมลัทธิและความเชื่อหลายอย่างเข้าด้วยกันอย่างแนบเนียน
การสรรหาเด็กผู้หญิงที่จะมาเข้ารับตำแหน่งกุมารีกระทำกันอย่างพิถีพิถันเริ่มจากคัดเลือกชาติกำเนิด ความพร้อมทางอารมย์และจิตใจ เด็กที่ได้รับเลือกต้องอยู่ในวัยก่อนมีประจำเดือน ในสกุล"ศากยะ" ต้องมีลักษณะดีครบ 32 ประการ เช่น สุขภาพดี ผิวพรรณดี ไม่มีตำหนิ มีดวงตาสีดำ ผมสีดำ ไม่มีกลิ่นตัว มีฟันครบ ที่สำคัญต้องไม่เคยมีเลือดไหลออกจากร่างกาย ไม่ว่าจะเพราะบาดเจ็บหรือกรณีใดๆก็ตาม ต่อจากนั้นจะถูกทดสอบสภาวะทางอารมย์ เพราะเมื่ออยูในสถานะร่างประทับทรงของพระแม่ตาเลจูจำเป็นต้องสงบนิ่งไม่หวั่นต่อสิ่งใดๆ มีการนำเข้าไปอยู่ในห้องมืดที่มีภาพดุร้ายน่ากลัว รวมทั้งซากสัตว์ที่ถูกฆ่าสังเวยจมกองเลือด
เมื่อได้ร่างตรงตามลักษณะที่ต้องการแล้ว โหรหลวงจะตรวจดวงชะตาของเธอเพื่อให้แน่ใจว่า สอดคล้องกับกษัตริย์ ต่อจากนั้จะทำการชำระร่างกายจนบริสุทธิ์เพื่อให้เหมาะแก่การเป็นที่ประทับของเทพนารี
ขั้นตอนถัดมา พระระดับสูงจะร่ายมนตราชำระล้างจุดสำคัญ 6 จุดในร่างกาย ได้แก่ ดวงตา ลำคอ หน้าอก สะดือ อวัยวะเพศ และช่องคลอด เชื่อกันว่าพลังศักดิ์สิทธิ์จากพระแม่เตลาจูจะค่อยๆแทรกซึมเข้าไปในร่างของเด็กหญิง และร่างจะค่อยๆมีสีแดงระเรื่อมากขึ้นๆ
เด็หญิงในฐานะกุมารีจะได้แต่งกายเต็มยศทั้งเครื่องประดับและการแต่งหน้าล้วนมีความหมายทางสัญลักษณ์ จุดสำคัญที่สุดคือ ดวงตาที่สามตรงหน้าผาก อันเป็นสัญลักษณ์ของผู้รู้แจ้งในสรรพสิ่ง
กุมารีแห่งกาฐมาณฑุจะถือว่าเป็น"กุมารีหลวง"โดยมีหน้าที่"เจิมติกะ"(แต้มจุดแดงๆที่ระหว่างพระขนงของกษัตริย์)ในวันสุดท้ายของเทศกาล"อินทรยาตรา"



เทพธิดาผู้ทรงชีวิต...
เด็กหญิงที่ได้รับเลือกเป็น"กุมารี"จะได้รับการแต่งกายเต็มยศใส่ทั้งเครื่องประดับและแต่หน้า ซึ่งมีจุดสำคัญอยู่ที่ดวงตาที่สามตรงหน้าผาก

เทพธิดาผู้ทรงชีวิต...
"กุมารีหลวง"องค์ปัจจุบัน ออกมาปรากฎกายในขบวนแห่งาน"เทศกาลอินทรยาตรา"วันสุดท้าย

เด็กหญิงจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีเลือดไหลออกจากร่างกายในทุกกรณี เพราะถือว่าไม่บริสุทธิ์อีกต่อไป หลังจากหมดสภาพเป็นกุมารีแล้ว เดิมทีเด็กหญิงเหล่านี้จะมีปัญหาในการดำรงชีวิตแบบมนุษย์ธรรมดาเพราะในระหว่างการเป็นกุมารีไม่ได้เรียนหนังสือ จึงอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อย่างหนึ่ง และเคยอยู่แต่ในวังไม่เคยทำงานบ้านงานเรือนอย่างหนึ่ง
อีกทั้งชาวเนปาลเชื่อกันว่า กุมารีนั้นเคยเป็นที่ประทับของร่างทรงศักดิ์สิทธิ์ ผู้ชายจึงมักไม่กล้าแต่งงานด้วย ทั้งๆที่ไม่มีข้อหามใดๆ ประจวบกับบังเอิญตอนแรกมีผู้ชายแต่งงานกับอดีตกุมารีแล้วเกิดเสียชีวิต จนเล่าลือกันไปว่าเพราะบังอาจแต่งงานกับอดีตกุมารีจึงมีอันเป็นไป
ระยะหลังๆจึงไม่ค่อยมีใครยอมให้ลูกสาวเข้ารับเลือกเป็นกุมารี จนทางการต้องเข้ามาแก้ใข โดยให้เงินบำนาญเลี้ยงชีพแก่อดีตกุมารีจำนวนหนึ่ง(แต่ก็เพียงน้อย)นอกจากนี้ระหว่างเป็นกุมารียังหาครูสอนหนังสือให้ด้วย เดี๋ยวนี้กุมารีจึงไม่ค่อยลำบากอีกต่อไป แถมพ่อแม่ต้องการไปเยี่ยมที่ในวังเมื่อไหร่ก็ได้ด้วย


ข้อมูลจาก:นิตยสาร คู่สร้างคู่สม