"สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง"

สังขาลเป็นทุกข์อย่างยิ่ง

"สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง"


ทีนี้จะกล่าวถึงพระพุทธภาษิตที่เห็นว่าจะช่วยให้เราเข้าใจคำตอบของปัญหาว่า คนเราเกิดมาทำไมนี้ได้ กล่าวคือพระพุทธภาษิตที่ได้ยกขึ้นไว้เป็นนิเขปบทข้างต้นทีแรกว่า “สงฺขารา ปรมา ทุกฺขา” สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง “นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ” นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง “เอตํ ญตฺวา ยถาภูตํ สนฺติ มคฺคํ ว พฺรูหเย” เมื่อรู้ความจริงข้อนี้อย่างถูกต้องแล้วบุคคลควรพอกพูนหนทางแห่งสันติ ดังนี้


ข้อแรกที่ว่า สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่งนั้นจะต้องเข้าใจคำว่าสังขารกันให้ดี ๆ เพราะสิ่งที่เรียกว่าสังขารนั้นมีอยู่หลายความหมาย สังขารหมายถึงรูปและนาม คือ ร่างกายกับจิตใจนี้ก็มี สังขารอย่างนี้เป็นทุกข์ต่อเมื่อมีอุปาทานเข้าไปยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นของตน ลำพังสังขารล้วน ๆ ไม่ถือว่าเป็นทุกข์ชนิดที่เป็นเครื่องทรมานใจหรือทำความทนยากให้แก่บุคคล สังขารโดยศัพท์แล้วแปลว่า “ปรุง” คือ กระทำครบถ้วนอย่างที่เราเรียกกันว่าปรุง ถือเอาตามรูปศัพท์ตรง ๆ อย่างนี้จะดีกว่า โดยจำกัดความลงไปว่า การที่ “ปรุง” นี้ หมายถึงกิเลสเป็นผู้ปรุง ต่อเมื่อมีอวิชชา ความโง่ ความหลง (ซึ่งเป็นต้นเหตุของกิเลสเหล่าอื่น เช่น โลภะ โทสะ โมหะ) เกิดขึ้นแล้วก็มี การปรุง คือปรุงจิตใจให้ยึดมั่นเป็นนั่นเป็นนี่ มีนั่นมีนี่เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด

คำว่า “ปรุง” ในที่นี้หมายถึง ความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานรวมอยู่ด้วยเสร็จ จึงเรียกว่าเป็นการปรุง ถ้าไม่มีอุปาทาน ไม่มีกิเลสตัณหาอุปาทานเข้าไปรวมอยู่ด้วยแล้ว การเกิดขึ้นเหล่านั้นไม่เรียกว่าการปรุงในที่นี้ คือ ไม่เรียกว่า “ปรุง” ในประโยคที่ว่า “สงฺขารา ปรมา ทุกฺขา” ของปรุงหรือเครื่องปรุงทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง หมายความว่า มันปรุงจนเป็นกิเลสตัณหาจนเป็นอุปาทานมีความยึดมั่นถือมั่นแล้ว อะไร ๆ ก็เป็นทุกข์ไปหมด ถ้าไม่ปรุงในทำนองนี้แล้วก็ไม่มีความทุกข์ การปรุงในทำนองนี้มีความทุกข์ และเป็นความทุกข์อยู่ในตัวการปรุงนั่นเอง การปรุงทำนองนี้แหละที่เรียกว่า “สังสารวัฏฏ์” คือ วนเวียนอยู่ในลักษณะ ๓ อย่าง กล่าวคือ กิเลสเป็นเหตุให้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป เมื่อกระทำแล้วเกิดผลขึ้นมา ก็มีกิเลสที่จะยินดียินร้าย เพื่อทำซ้ำหรือทำอย่างอื่นต่อไปอีก วนเวียนอยู่ในเรื่องกิเลส เรื่องกรรมและเรื่องผลของกรรมเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุดนี้คืออาการที่เรียกว่าเป็นการปรุงโดยแท้จริง ในประโยคที่ว่าสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง คือ ความปรุงไม่หยุดนั้นเองเป็นทุกข์อย่างยิ่ง


ข้อ ๒ ที่ว่า “นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ” นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งนั้น นี้เป็นคำกล่าวอย่างโวหารชาวบ้าน เพื่อให้รู้สิ่งที่ตรงกันข้ามกับสังขาร นิพพาน ก็คือ ไม่ปรุง ไม่ปรุงเมื่อไรก็เป็นนิพพานเมื่อนั้น ไม่ปรุงเด็ดขาดก็เป็นนิพพานจริง ไม่ปรุงชั่วคราวก็เป็นนิพพานชั่วคราว หรือนิพพานชิมลอง เมื่อผู้ใดรู้เรื่องการปรุงว่าเป็นอย่างไรถึงที่สุดแล้ว ก็ย่อมจะเข้าใจสภาพที่ตรงกันข้าม คือ ไม่ปรุงได้โดยไม่ยากนัก โดยเทียบเคียงกันในฐานะเป็นสิ่งตรงกันข้าม นิพพานแปลว่าดับก็ได้ แปลว่าหยุดก็ได้ แปลว่าเย็นคือไม่ร้อนก็ได้ แปลว่าไม่ขบกัดเสียบแทงก็ได้ ความหมายก็เหมือนกันหมดตรงที่ว่ามันหยุดคือไม่ปรุง ปรุงก็คือไม่หยุด จะต้องเป็นไปในลักษณะที่เร่าร้อน เป็นทุกข์เสียบแทงทนทรมานเสมอไป คำว่านิพพานให้ถือเอาความหมายตรงกันข้ามจากสังขาร คือ ไม่ปรุงในลักษณะดังกล่าว


คำกล่าวต่อไปที่ว่า “เอตํ ญตฺวา ยถาภูตํ สนฺติมคฺคํ ว พฺรูหเย” บุคคลรู้ความจริงข้อนี้อย่างถูกต้องแล้ว พึงพอกพูนหนทางแห่งสันติ

หมายความว่า เมื่อรู้ความจริงข้อนี้แล้วให้พอกพูนหนทางแห่งสันติคือนิพพานนั่นเอง คำว่านิพพานนั้นบางทีก็เรียกว่าสันติซึ่งแปลว่าความสงบเย็น ใช้แทนกันได้กับคำว่านิพพาน หมายความว่าให้ทำทุกอย่างทุกประการ ที่จะให้เคนเราใกล้ชิดกับสิ่งที่เรียกว่าสันติหรือนิพพานนั้นยิ่งขึ้นไปทุกที

เพียงเท่านี้ ท่านทั้งหลายก็คงจะได้เค้าเงื่อนบ้างว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงมุ่งหมายให้คนรู้ความจริงเกี่ยวกับความทุกข์และไม่ทุกข์ แล้วให้เริ่มพอกพูนหนทางที่จะดำเนินไปสู่ความไม่มีทุกข์โดยประการทั้งปวง คือ นิพพาน

พูดสั้น ๆ ก็ว่าคนเราควรจะเกิดมา เพื่อพอกพูนหนทางแห่งนิพพานนั่นเอง แต่ถ้าคนไม่รู้เอาเสียเลยว่ามีนิพพานหรือนิพพานเป็นสิ่งที่ควรปรารถนาอย่างยิ่ง เพราะเป็นความดับทุกข์อย่างยิ่งแล้ว คนก็ไม่ปรารถนานิพพานและไม่พอกพูนหนทางแห่งนิพพานอยู่นั่นเอง ต่อเมื่อรู้จักว่าการเป็นอยู่ในขณะนี้เป็นทุกข์อย่างยิ่ง แล้วอยากจะได้สิ่งที่ตรงกันข้ามเท่านั้นแหละ คนจึงจะสนใจเรื่องของนิพพาน และพอกพูนหนทางไปสู่นิพพาน

เมื่อเป็นดังนี้ เขาก็จะต้องดูภาวะของตนเองให้ดีให้ละเอียดให้ลึกซึ้งว่า ภาวะที่กำลังเป็นอยู่ของตนนี้เป็นสังขารหรือไม่ คนที่ทำกรรมไปตามอำนาจของกิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำชั่ว เช่น การกินเหล้าเมายา การฆ่า การฟัน การขโมย หรืออะไรต่าง ๆ ที่ถือกันว่าเป็นความชั่วนั้นมันเป็นการ “ปรุง” ของอวิชชา ความโง่ความหลงเรื่อย ๆ ไป จนเกิดความเอร็ดอร่อย สนุกสนาน เพลิดเพลินแก่บุคคลผู้กระทำ ได้รับทุกข์แล้วก็ยังอยากจะแก้ทุกข์ด้วยกระทำซ้ำอย่างเดียวกันหรือให้ยิ่งขึ้นไปอีก นี้เรียกว่าเป็นการปรุงอย่างยิ่งขึ้นไปอีก จนกว่าเขาจะมองเห็นว่านี่เป็นการทนทรมาน จึงจะหยุดชะงัก แล้วเหลียวไปดูทิศทางอื่น เพื่อจะสอดส่ายหาให้พบสิ่งที่ไม่เป็นความทนทรมาน ไม่ต้องตกเป็นทาสของเหล้าของการพนันของการทำชั่ว หรือของการประพฤติผิดนานาประการอีกต่อไป


ทีนี้จะมองดูในกรณีผู้ที่ทำดี หรือไม่ทำชั่วทำนองนั้น แต่ว่าทำสิ่งที่เขาเรียกกันว่าดีอยู่ทุก ๆ เวลา ได้รับผลสมจริงตามสิ่งที่เขาเรียกกันว่าดี เช่น มีเงิน มีชื่อเสียง มีอะไรทุก ๆ อย่างตามที่คนดีเขาต้องการกัน แต่ว่าเมื่อมามองดูความสุขทุกข์ทางใจแล้วเขาก็ยังต้องร้องไห้ ระทมทุกข์เท่ากับที่มีเงินมาก มีเกียรติมาก มีชื่อเสียงมากอยู่นั่นเอง คนมีเกียรติมากก็ร้องไห้บ่อย ๆ เพราะเกียรตินั้น คนมีทรัพย์มากก็ร้องไห้บ่อย ๆ เพราะทรัพย์นั้น คนมีลูกก็ร้องไห้เพราะลูก คนมีหลานก็ร้องไห้เพราะหลาน หรือมีอะไรที่ตนรักตนพอใจก็ต้องร้องไห้เพราะสิ่งนั้น แม้ที่สุดบางคนก็ต้องร้องไห้เพราะวัวเพราะควายเป็นต้น อย่างนี้ก็มี

นี้ล้วนแต่แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า แม้ว่าจะได้กระทำไปในทางที่ดี ไม่มีผิด ไม่เป็นบาป ไม่เป็นอกุศลแล้ว ก็ยังไม่ถึงที่สุดแห่งการดับทุกข์ ยังต้องเป็นทุกข์ไปตามแบบของคนดี คนชั่วเป็นทุกข์ตามแบบคนชั่ว คนดีเป็นทุกข์อย่างละเอียดลึกซึ้งตามแบบคนดีในเมื่อมีความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นว่าตนเป็นคนดี ดังนั้น เมื่อมองดูในลักษณะของธรรมชาติล้วน ๆ แล้วจะพบว่า คนชั่วที่กำลังเสวยผลของความชั่ววนเวียน ๆ อยู่นั้นเป็นการปรุง คนดีที่กำลังได้รับผลของความดีวนเวียน ๆ อยู่นั้นเป็นการปรุง ทั้งสองพวกเป็นการปรุงด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีหยุด จะต้องไหลเรื่อยไปไม่มีหยุด มีการคิดการทำ เมื่อได้รับผลของการทำแล้วก็มีการคิดต่อไป นี้เรียกว่า “สังสารวัฏฏ์” เป็นการปรุงอย่างยิ่ง


เกิดมาทำไม
พุทธทาส อินทปัญโญ
แสดง ณ โรงธรรม วัดธารน้ำไหล ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๐๘