เตือนภัย “ด้วงก้นกระดก”
สธ.เผยพิษเข้าตาอาจ “บอด”


เตือนภัย “ด้วงก้นกระดก” สธ.เผยพิษเข้าตาอาจ “บอด”


สธ.เตือนภัยจากตัวด้วงก้นกระดกหรือด้วงก้นงอน อย่าจับเล่น ตีหรือบดขยี้ เนื่องจากมีสารพิษอันตรายทำลายเซลล์เนื้อเยื่อ ทำให้ผิวหนั...งอักเสบเฉียบพลัน ปวดแสบปวดร้อน เป็นแผลพุพอง รายที่แพ้รุนแรงอาจมีไข้ ปวดเส้นประสาทกล้ามเนื้อนานหลายเดือน หากพิษเข้าตา อาจตาบอดได้ แนะวิธีแก้ไขหากถูกพิษ ให้ใช้น้ำสะอาดล้างออกหรือใช้แอมโมเนียเช็ดออก

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงฤดูฝนนี้ มักจะมีด้วงก้นกระดก หรือที่เรียกว่า ด้วงปีกสั้น ด้วงก้นงอน (Rove beetle) ชุกชุมกว่าฤดูอื่น ซึ่งด้วงชนิดนี้เป็นแมลงที่มีประโยชน์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชตามธรรมชาติ แต่มีพิษทำให้เกิดผื่นแพ้ต่อผิวหนังอย่างเฉียบพลัน มีรายงานผู้ป่วยทั้งในและต่างประเทศ แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต โดยตัวด้วงกระดกจะมีพิษที่มีชื่อว่า เพเดอริน (Paederin) อยู่ทั่วตัว มีฤทธิ์ทำลายเซลล์เนื้อเยื่อ หากคนโดนสารพิษดังกล่าว เมื่อถูกผิวหนัง จะเกิดอาการอักเสบ แสบร้อน พุพอง ส่วนใหญ่พิษจะมีในด้วงตัวเมีย การปล่อยน้ำพิษจะออกมาในกรณีที่ด้วงตกใจ ถูกตี ถูกบีบ หรือถูกบดขยี้ เพื่อป้องกันตัว ด้วง 1 ตัว จะมีสารพิษอยู่ในตัวประมาณร้อย 0.025 ของน้ำหนักตัว

ทั้งนี้ หลังจากที่คนสัมผัสพิษด้วงกระดก อาการจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณที่สัมผัสพิษ โดยหลังสัมผัสใน 24 ชั่วโมงแรก ผิวจะมีผื่นแดง คัน แสบร้อนผิวหนัง และเกิดเป็นแผลพุพองภายใน 48 ชั่วโมง และมีการอักเสบขยายวงใหญ่ขึ้น จากนั้นจึงตกสะเก็ดภายใน 8 วัน อาจทำให้เกิดแผลเป็นได้ ในรายที่เป็นรุนแรง ผิวหนังจะอักเสบหลายแห่ง คล้ายงูสวัด อาจมีอาการไข้ ปวดเส้นประสาท ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน เป็นผื่น บวมแดงติดต่อกันหลายเดือน หากพิษเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้

เตือนภัย “ด้วงก้นกระดก” สธ.เผยพิษเข้าตาอาจ “บอด”


สำหรับด้วงก้นกระดกชอบเล่นไฟในยามค่ำคืน มีมากในฤดูฝน ลักษณะด้วงก้นกระดกจะมีขนาดเล็ก ความยาวเพียง 4-7 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นแมลงตัวยาว ๆ ส่วนหัวมีสีดำ ปีกสีน้ำเงินเข้ม ลำตัวมีสีดำสลับส้ม และมักจะกระดกส่วนท้องขึ้นๆ ลงๆ เมื่อเกาะบนพื้น ชอบอาศัยตามกองมูลสัตว์ กองไม้และบินเข้ามาเล่นแสงไฟในบ้านเรือน พบด้วงชนิดนี้ได้ทั่วโลก มากที่สุดที่อเมริกาเหนือ ซึ่งมีถึง 3,100 ชนิด สำหรับประเทศไทยคาดว่ามีประมาณ 20 ชนิด ตามปกติ ด้วงก้นกระดก จะไม่กัดหรือต่อยคน แต่คนจะได้รับพิษหากไปสัมผัส จับมาเล่น หรือ ตบตี บี้จนน้ำพิษแตกออกมา

ประเทศไทยเคยมีรายงานระบาดใน พ.ศ. 2536 พบในโรงงานในจังหวัดสมุทรปราการ เกิดอาการผิวหนังอักเสบเฉียบพลัน มีผู้ป่วย 27 ราย ครั้งที่ 2 พบที่จังหวัดนครสวรรค์ ใน พ.ศ. 2549 ที่หอพักนักศึกษาหญิง พบผู้ป่วย 113 ราย และพบที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 30 ราย ในปีเดียวกัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีผื่นแดงเป็นทางยาว ปวดแสบปวดร้อน ลักษณะคล้ายรอยไหม้ บางรายอักเสบจนเป็นตุ่มหนอง ส่วนที่ต่างประเทศ เคยมีรายงานที่เมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2512 มีคนโดนพิษด้วงเกิดอาการรุนแรง 2,000 กว่าคน ที่อินเดียใน พ.ศ. 2548 มีผู้ป่วย 123 คน

การป้องกันด้วงก้นกระดก ขอให้ประชาชนระมัดระวัง โดยเฉพาะเด็กๆ อย่าจับด้วงมาเล่น ไม่ตบหรือตีเมื่อด้วงบินมาเกาะตามตัว หากถูกพิษของด้วง ให้ล้างด้วยน้ำเปล่าฟอกสบู่ หรือเช็ดด้วยแอมโมเนีย และควรไปพบแพทย์”นพ.สุพรรณ กล่าวดูเพิ่มเติม


http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9510000070039

เตือนภัย “ด้วงก้นกระดก” สธ.เผยพิษเข้าตาอาจ “บอด”