นานมาแล้ว ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีสองสามีภรรยาคู่หนึ่ง แต่งงานอยู่กินกันมาตั้งนาน แต่ก็ยังไม่มีลูกสักกะที จึงไปบนบานขอต่อเทวดา และในที่สุด ก็ตั้งครรภ์ และคลอดลูกเป็นเด็กหญิงน่ารักคนหนึ่ง ตั้งชื่อว่า เทวี เด็กหญิงนั้น ได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ด้วยความรัก จากพ่อแม่ทั้งสอง จนเติบใหญ่เป็นสาว

อยู่มาวันหนึ่ง นางสาวเทวี ได้เข้าป่าไปหาของป่าและอาหาร วันนั้น เข้าไปในป่าลึกกว่าปกติ น้ำที่เตรียมมาได้หมดลง นางกระหายน้ำมาก ขณะที่เดินหาแหล่งน้ำอยู่ บังเอิญเหลือบไปเห็น น้ำที่ขังอยู่ในรอยเท้าโค จึงก้มลงดูดกินน้ำนั้น ก็ให้รู้สึกหอแห้งกระหายยิ่งขึ้น คือกินแล้วยิ่งไม่อิ่ม จากนั้นนางก็มองเห็นน้ำที่ขังอยู่ในรอยเท้าช้างดูใสสะอาด ก้มลงดื่มกินน้ำนั้น ก็ให้รู้สึกชุ่มฉ่ำคอยิ่งนัก จึงดื่มกินจนอิ่ม ความหิวกระหายนั้นก็หายไป

นางกลับมาถึงบ้าน จากนั้นไม่นาน ก็ตั้งครรภ์ โดยที่ไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อเด็กในท้อง พ่อแม่ก็พยายามถามไถ่หาความจริง นางก็เล่าให้ฟังตามที่เป็นจริง และบอกว่า สงสัยเด็กคงเป็นลูกของพญาช้างหรือไม่ก็พญาโค พ่อแม่ก็ไม่ได้ถามอะไรอีก ขอให้ได้หลานก็พอใจแล้ว ครบเก้าเดือน นางคลอดลูกเป็นเด็กหญิงแฝดสองคน คนพี่ให้ชื่อว่า นางผมหอม เพราะผมของนางมีกลิ่นหอมตั้งแต่แรกเกิด คนน้อง ให้ชื่อว่า นางลุน เพราะเป็นน้อง

นางผมหอม เป็นคนนิสัยดี โอบอ้อมอารี ชอบช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ ผิดกับนางลุนซึ่งเป็นคนขี้อิจฉา ใจร้าย ชอบรังแกคนอื่น รวมถึงชอบรังแกและแกล้งนางผมหอมอยู่เสมอ

นางผมหอมและนางลุน ค่อย ๆ เติบโต ตามวัย เมื่อยังเป็นเด็ก ไปเล่นกับเด็กคนอื่นๆ ก็จะถูกล้ออยู่เสมอว่า เป็นเด็กไม่มีพ่อ กระทั่งโตเป็นสาว ก็ยังถูกล้ออยู่ ในที่สุดทนไม่ไหว ทั้งสองจึงตัดสินใจไปถามความจริงกับแม่

นาวเทวี เล่าความจริงให้ฟัง ว่าได้ไปดื่มน้ำในรอยเท้าโคและรอยเท้าช้างในกลางป่า กลับมาก็ตั้งครรภ์ พ่อของพวกเจ้าก็คือ พญาช้าง และพญาโค แต่ก็ไม่รู้ว่าใครเป็นลูกโค ใครเป็นลูกช้าง

นางผมหอมและนางลุน จึงขออนุญาตมารดาออกตามหาบิดาในป่า รบเร้าบ่อย ๆ เมื่อมารดาอนุญาต ทั้งสองจึงออกเดินทางเข้าป่าตามทางที่มารดาบอก

เดินทางมาหลายวัน ในที่สุด ทั้งสองก็ต้องเผชิญหน้ากับ พญาช้างใหญ่เชือกหนึ่ง พญาช้างเห็นทั้งสองเข้าคิดว่าเป็นพวกมนุษย์ที่บุกรุกเข้ามา จึงจะฆ่าเสีย นางผมหอมผู้เป็นพี่ จึงร้องไห้อ้อนวอนขอชีวิต พญาช้างเกิดความสงสัยว่า เหตุใดหญิงทั้งสองจึงเข้ามาในป่าผิดวิสัยหญิงยิ่งนัก

นางผมหอมจึงเล่าให้ฟังว่า พวกนางเป็นลูกของแม่เทวี กับพญาช้างและพญาโค ซึ่งนางลุนก็ชิงพูดว่า ตนเองเป็นลูกของพญาช้าง ส่วนนางผมหอมเป็นลูกของพญาโค หากจะฆ่าก็จงฆ่านางผมหอมเถิด

นางผมหอมพูดว่า ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าใครเป็นลูกช้าง ใครเป็นลูกโค พวกนางเพียงแต่อยากพบพ่อจึงอุตสาห์ดั้นด้นเข้าสู่ป่าใหญ่ ก่อนจะฆ่านาง ขอให้นางได้พิสูจน์ตัวเองก่อน ถ้านางไม่ใช่ลูกช้างจริงจะฆ่าก็ยอม

พญาช้างจึงกล่าวว่า ยินยอมให้พิสูจน์ โดยหากใครปีนงวงขึ้นขี่คอได้ คนนั้นนั่นแหละคือลูก ว่าแล้วพญาช้างก็ตั้งจิตอธิษฐานตามนั้น แล้วยืนนิ่ง ๆ

นางลุน มั่นใจนักว่าตัวเองเป็นลูกช้าง รีบปีนขึ้นงวง หมายจะขึ้นหลังช้างให้ได้ เพราะนางเป็นลูกโค แม้พยายามอย่างไร ก็ไม่อาจจะปีนขึ้นได้ มีแต่ลื่นตกลงมาดังเดิม พญาช้างจึงบอกให้พอก่อน

นางผมหอม กลับปีนขึ้นได้อย่างง่ายดาย และนั่งอยู่บนคอช้างได้สำเร็จ ส่วนนางลุนเห็นว่านางผมหอมปีนขึ้นได้อย่างง่ายดาย จึงอยากลองดูใหม่ แม้พญาช้างห้ามก็ไม่ฟัง นางลุนก็ยังปีนขึ้นไม่ได้ ในที่สุดพญาช้างจึงใช้เท้ากระทืบนางลุนตาย และนำนางผมหอมผู้เป็นลูกไปยังที่อยู่ของตน ให้บริวารนำหินมาสร้างปราสาทหิน ให้เป็นเรือนที่อยู่ของนางผมหอม เรียกว่าปราสาทนางผมหอม

นางผมหอม แม้จะดีใจที่ได้พบพ่อ แต่ก็สงสารนางลุนผู้น้องสาว ร้องไห้มาตลอดทาง แต่ก็ไม่กล้าต่อว่าอะไรพญาช้างผู้บิดา ได้แต่ติดตามไปอยู่กับพญาช้างนั้น

พญาช้างดูแลปรนนิบัตินางผมหอมเป็นอย่างดี ด้วยความรักในธิดา เมื่อนางผมหอมต้องการไปไหน ก็ให้ขี่คอไป นางผมหอม อาศัยอยู่ในป่ากับพญาช้างเป็นเวลาหลายปี นางเป็นมนุษย์อยู่คนเดียว รู้สึกเหงามาก ทั้งตนเองก็เป็นสาวแล้ว อยากมีผู้ชายใครสักคน เป็นเพื่อนใจ จึงออกอุบายเพื่อให้ได้ชายผู้เป็นเนื้อคู่ตน

วันนั้น นางผมหอม ไปอาบน้ำที่แม่น้ำเช่นเคย เตรียมผอบไปด้วย นางถอนผมตัวเองออกมา 1 เส้น บรรจงม้วนใส่ลงไปในผอบนั้น ผมของนางยาวจนถึงประมาณสะโพกทีเดียว และด้วยบุญเก่าของนาง นางจึงมีผมที่หอมอยู่เป็นนิจ เมื่อใส่ผมลงในผอบปิดฝาเรียบร้อยแล้ว นางได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า

“ ผอบนี้ จงลอยน้ำไป ขอกลิ่นหอมของเส้นผมอย่าได้จางหาย ขอให้ชายที่เป็นเนื้อคู่เท่านั้น สามารถที่จะเก็บผอบนี้ได้ คนอื่น ๆ แม้พบเห็นหากไม่ใช่เนื้อคู่แล้วไซร้ ขอให้เก็บเอาไม่ได้เถิด หากชายที่เป็นเนื้อคู่เก็บได้แล้ว ขอให้มีใจมั่นที่จะออกตามหาตัวเราจนได้พบกันเถิด ”

เมื่ออธิฐานเสร็จแล้ว ก็ปล่อยวางผอบลงแม่น้ำ ผอบนั้น ได้ลอยตามน้ำไปเรื่อย ๆ จนไปถึงเมืองรัตนา ก็ลอยวนเวียนไปมาอยู่แถว ๆ ท่าน้ำ ด้านหน้าพระราชวัง


:b-b:b-b:b-b:b-b:b-b

ที่มา : http://www.isan.clubs.chula.ac.th ชมรมอีสานจุฬษฯ