หน้าที่ 1 จากทั้งหมด 2 หน้า 12 หน้าสุดท้ายหน้าสุดท้าย
กำลังแสดงผล 1 ถึง 10 จากทั้งหมด 16

หัวข้อ: พุทธธรรมนำใจ

  1. #1
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63

    พุทธธรรมนำใจ

    " ทำสมาธิ ๙ นาที ทุกวัน ชีวิตดีขึ้นอย่างอัศจรรย์ "

    พุทธธรรมนำใจ

    " ทำสมาธิ ๙ นาที ทุกวัน ชีวิตดีขึ้นอย่างอัศจรรย์ "

    ...หามุมสงบ หลบแสง และสิ่งวุ่นวายสักนิด
    จิตไม่สนใจเสียงอื่นใดที่เข้าหู แต่มีสติกรองได้ว่า
    เสียงนี้ยังไม่สำคัญไม่เร่งด่วน หรือสำคัญทันที
    (เช่น เสียงตะโกนต่างๆ)

    ...หลับตาเบาๆ ไม่บีบกดหนังตา
    นั่งท่าใดก็ได้ที่สบายช่วยนั่งทน
    จิตนึกถึงปลายจมูก จิตอยู่ที่ปลายจมูก
    อย่าหนีไปที่อื่น (ยังมีวิธีการวางดวงจิตอีกหลายวิธี)
    ใจนึกถึงคำบริกรรม "พุทโธ" (ใช้คำอื่นก็ได้)
    บริกรรม คือ นึกซ้ำๆ อยู่ในใจ
    ไม่สนใจเสียงอื่นใด ไม่สนใจความคัน จั๊กจี้ ขี้เมื่อย


    "มีสติ" (คือ นึกขึ้นได้ทุกเมื่อ) ว่าต้องอยู่แต่คำบริกรรม
    "พุทโธ พุทโธ พุทโธ...." ใจแว้บคิดถึงเรื่องดีหรือไม่ดี
    แผนงานอะไรก็ตามแต่ หรือเห็นยักต์เห็นตัวเอง
    เห็นภาพอะไรต่อมิอะไร คิดอะไรต่อมิอะไรเป็นตุเป็นตะ ก็ไม่สนใจทั้งนั้น
    เราต้องฝึกให้มี "สติ" คือนึกขึ้นได้ว่า ไม่เอาอะไรทั้งนั้น
    จะเอาแต่การบริกรรม "พุทโธ พุทโธ พุทโธ....."

    จิตเป็นลูกลิงซน คิดโน่นคิดนี่ วิ่งไปโน่นวิ่งไปนั่นนี่
    ดีล่ะ...ฉันจะจับเจ้าให้อยู่ด้วย "สติ" ไล่ล่าจิตคิดซน
    ยกมาสงบอยู่ที่การบริกรรม "พุทโธ พุทโธ พุทโธ...."

    ทำสมาธิทุกวัน วันละ ๑ ครั้งเป็นอย่างน้อย
    อย่างน้อยนานครั้งละ ๙ นาที
    ชีวิตจักดี มีสิริมงคล ทำทั้งปี ชีวิตจะดีขึ้นอย่างเหลือเชื่อ
    เพราะเราทำจริง....และต่อไปจะชำนาญ
    นั่งได้เกิน ๓๐ นาที และไม่อาศัยคำบริกรรมใดๆ ชีวิตจะดีขึ้นอย่างอัศจรรย์


    ที่มา : พุทธธรรมนำใจ( พลังจิต )/เฟสบุ๊ค/บ้านมหา.คอม

  2. #2
    แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ สัญลักษณ์ของ ฅนไร้หัวใจ
    วันที่สมัคร
    Aug 2008
    กระทู้
    89
    ............ สาธุ ...................

  3. #3
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63

    พุทธธรรมนำใจ

    ที่มาของบทบูชาพระพุทธเจ้า

    พุทธธรรมนำใจ


    ..นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท ธัสสะ(๓ ครั้ง)


    ข้าพเจ้า ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


    หลายท่านคงสงสัยว่า ทำไมต้องกล่าวบทคำบูชาพระพุทธเจ้านี้ก่อนว่าคาถา (ที่โบราณเรียกตั้งนะโม ๓ จบ) หรือ นำหน้าบทสวดมนต์ต่างๆตลอดด้วย

    ที่มาของคำบูชาพระบรมศาสดานี้ มีเรื่องเล่าว่า ณ แดนหิมวันต์ประเทศ มีเทือกเขาชื่อว่า สาตาคิรี เป็นที่ร่มรื่น รมณียสถาน เป็นที่อยู่ของพวกยักษ์ที่เป็นภุมเทพยดา อันมีนามตามที่อยู่ว่า สาตาคิรียักษ์ มีหน้าที่เฝ้าทางเข้าหิมวันต์ ทางทิศเหนือ เป็นบริวารของท้าวเวสสุวัณ สาตาคิรียักษ์ได้มีโอกาสสดับ พระสัทธรรมจากพระบรมศาสดา จนมีจิตเลื่อมใสศรัทธา เปล่งคำยกย่องบูชาด้วยคำว่า "นะโม" หมายถึง พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นใหญ่กว่า มนุษย์ เทพยดา พราหมณ์ มาร ยักษ์ และสัตว์ทั้งปวง


    กล่าวฝ่าย อสุรินทราหู เมื่อ ได้สดับพระเกียรติศัพท์ ของพระบรมศาสดา ก็มีจิตปรารถนา ที่จะได้ฟังธรรมของพระบรมศาสดาบ้าง แต่ด้วยกายของตนใหญ่โตเท่ากับโลก จึงคิดดูแคลน พระบรมศาสดา ว่า มีพระวรกายเล็กดังมด จึงอดใจรั้งรออยู่ พอนานวันเข้า พระเกียรติคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ยิ่งขจรขจายไปทั้งสามโลก จนทำให้อสุรินทราหูอดรนทนอยู่มิได้ จึงเหาะมาในอากาศ ตั้งใจว่าจะร่ายเวทย่อกาย เพื่อเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอฟังธรรม แต่พอมาถึงที่ประทับ อสุรินทราหู กลับต้องแหงนหน้าคอตั้งบ่า เพื่อจะได้ทัศนาพระพักตร์พระบรมศาสดา พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงพระสัทธรรม ชำระจิตอันหยาบกระด้าง ของอสุรินทราหู ให้มีความเลื่อมใสศรัทธา แสดงตนเป็นอุบาสกผู้ถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต แล้วกล่าวสรรเสริญพระบรมศาสดาว่า “ตัสสะ” แปลว่า ขอบูชา ขอนอบน้อม ขอนมัสการ



    เมื่อครั้งที่ ท้าวจาตุมหาราช ทั้ง ๔ ผู้ดูแลปกครองสวรรค์ชั้นแรก มีชื่อเรียกว่า ชั้น กามาวจร มีหน้าที่ปกครองดูแลประตูสวรรค์ทั้ง ๔ ทิศ พร้อมบริวาร ได้พากันเข้ามาเฝ้าพระบรมศาสดา แล้วทูลถามปัญหา พระบรมศาสดา ทรงแสดงธรรมตอบปัญหา แก่มหาราชทั้งสี่พร้อมบริวาร จนยังให้เกิดธรรมจักษุแก่มหาราชทั้งสี่ และบริวาร ท่านทั้ง ๔ นั้น จึงเปล่งคำบูชาสาธุขึ้นว่า "ภะคะวะโต” แปลว่า พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นผู้จำแนกธรรมอันยิ่ง อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า


    อะระหะโต เป็นคำกล่าวสรรเสริญ ของท้าวสักกะเทวราช เจ้า สวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น ท่านสถิตย์อยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสักกะเทวราช ได้ทูลถามปัญหา แด่พระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์ทรงตรัสปริยายธรรม และ ทรงตอบปัญหา จนทำให้ท้าวสักกะเทวราช ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาปัตติผล จึงเปล่งอุทานคำบูชาขึ้นว่า " อะระหะโต " แปลเป็นใจความว่า อรหันต์ เป็นผู้ไกลจากกิเลส ไกลจากเครื่องข้องทั้งปวง


    สัมมาสัมพุทธัสสะ เป็นคำกล่าวยกย่องสรรเสริญ ของ ท้าวมหาพรหม หลังจากได้ฟังธรรม จนบังเกิดธรรมจักษุ จึงเปล่งคำสาธุการ "สัมมาสัมพุทธัสสะ" หมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยพระองค์เอง ทรงรู้ดี รู้จริง รู้ยิ่ง กว่าผู้รู้อื่นใด รวมเป็นบทเดียวว่า "นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ



    "แปลโดยรวมว่า ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น

    ด้วยเหตุนี้โบราณท่านจึงว่า หากขึ้นต้นคาถาหรือบทสวดมนตร์ใดๆด้วยการตั้งนะโม ๓ จบ คาถานั้นจะมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนักด้วย เพราะเป็นคำสรรเสริญพระพุทธเจ้าที่มีเทพพรหมชั้นหัวหน้าได้กล่าวไว้ แรงครูหรือแรงแห่งเทพ-พรหม และแรงพระรัตนตรัยท่านจึงประสิทธิ์ให้สมประสงค์"


    ที่มา : เฟสบุ๊ค/เวปพลังจิต/บ้านมหา.คอม

  4. #4
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63

    พุทธธรรมนำใจ

    "บารมี" แปลว่ากำลังใจเต็ม

    พุทธธรรมนำใจ

    "บารมี" แปลว่ากำลังใจเต็ม

    คัดลอกข้อความบางส่วน มาจากหนังสือบารมี ๑๐ โดยพระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

    เมื่อบรรดาท่านพุทธบริษัทเริ่มปฏิบัติ อาตมาก็คิดในใจว่าร่างกายไม่ดีแบบนี้เราจะทนมันอยู่ทำไม ไปเสียจากร่างกายดีกว่า ปล่อยให้มันนั่งอยู่ตรงนี้ พอสัญญาณบอกเวลาปรากฏเราจึงจะกลับมา ฉะนั้นจึงได้ไปเสียจากกาย ไปไหว้พระ จะไปแบบไหนอันนี้บรรดาท่านพุทธบริษัท อาตมาไม่บอก บอกไม่ได้ ไปอย่างไร ไปโดยวิธีไหน อยากจะรู้ก็ปฏิบัติกันเอาเอง แต่ความจริงมันก็ไม่ใช่ของดีของเด่นอะไรนัก การไปได้มาได้ถ้าใจเหลิงเกินไปก็ยังลงนรกได้ ไม่ใช่ของพิเศษ เมื่อออกไปแล้วก็พบองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์

    นี่ขวางกับชาวบ้านเขาแล้ว เขาบอกว่าพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว จะพบกันได้ยังไง นั่นมันเรื่องของเขาบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย นี่มันเรื่องของอาตมา อาตมาพบกันได้ก็แล้วกัน เมื่อพบแล้วก็เข้าไปนมัสการองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว พอเงยหน้าขึ้นมาพระองค์ก็ทรงตรัสถามว่า "สัมพเกษี วันนี้เธอสอนบารมี ๑๐ ทัศใช่ไหม ...?"

    ก็กราบทูลพระองค์ว่า "ใช่พระพุทธเจ้าข้า" พระองค์จึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสถามว่า "สัมพเกษี บารมีแปลว่าอะไร...?"

    ตอนนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายขอได้โปรดทราบว่า ถ้าอาตมาสอนถูกพระองค์จะไม่ทรงตรัสแบบนั้น อาตมารู้ทันรู้เท่าเข้าใจทันทีว่า การสอนวันนี้ผิดพุทธพจน์บทพระบาลี

    นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัทการสอนนี้ไม่ใช่ว่ามันจะถูกเสมอไป มันก็ผิดได้เหมือนกัน เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรมีพระพุทธฎีกาตรัสถามแบบนั้นอาตมาก็ทราบ จึงได้กราบทูลพระพุทธองค์ว่า "ข้าพระพุทธเจ้าไม่แน่ใจนักพระพุทธเจ้าข้า แต่ที่เรียนกันมา ครูสอนว่าบารมีแปลว่าเต็ม"

    พระองค์จึงทรงตรัสถามว่า "อะไรมันเต็ม และมันเต็มแบบไหน สมมุติว่าเธอจะปฏิบัติในทานบารมี ทำยังไงทานบารมีมันถึงจะเต็ม ถ้าหากว่าจะนำของมาให้เต็มโลก เธอจะไปขนมาจากไหน ถ้าเราจะไม่นำของมาให้ ทำยังไงทานบารมีมันจึงจะเต็ม...?"

    แบบนี้มันก็อยู่ด้วยกันทั้งนั้นแหละบรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้าคนอย่างอาตมา ถ้าหากว่าท่านที่เป็นนักปราชญ์ดีกว่าอาตมาก็ไม่เป็นไร ท่านไปได้ เพราะท่านมีความเข้าใจ ท่านมีความฉลาด อาตมาบอกแล้วนี่ว่าอาตมามีความรู้ไม่เท่าหางอึ่ง คือยาวไม่เท่าหางอึ่งหรือไม่แค่หางอึ่งเพราะความโง่มันมาก

    เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงตรัสแบบนั้นก็ทูลถามพระองค์ว่า "ข้าพระพุทธเจ้าไม่เข้าใจในบารมีพระพุทธเจ้าข้า"


    พระองค์จึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า "สัมพเกษี เธอเข้าใจ ไม่ใช่ไม่เข้าใจ แต่ว่าเธอดีแต่เฉพาะบริโภคเองเท่านั้น แต่การที่จะแบ่งปันให้บุคคลอื่นน่ะ เธอไม่มีความฉลาด การที่เธอตั้งกำลังใจในด้านบารมี ๑๐ ทัศ เป็น ๓๐ ทัศ ด้วยกัน ๓ ชั้น เธอทำได้ แต่ว่าวันนี้เธอสอนบรรดาพุทธบริษัททั้งหลาย เธอทำไม่ถูก เธอจงมีความเข้าใจเสียใหม่ว่า คำว่าบารมีนี้มันแปลว่าเต็ม แต่อะไรมันเต็มตถาคตจะบอกให้ว่า บารมีนี่ควรจะแปลว่ากำลังใจเต็ม "

    นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท จำไว้ให้ดีว่า คำว่าบารมีก็คือกำลังใจ ทำกำลังใจให้เต็ม ตอนนี้ซิชักจะฉลาดขึ้นมาทันที มานึกในใจว่าเรานี่มันแสนจะโง่เสียมาก

    กำลังใจเต็มตอนไหนบรรดาท่านพุทธบริษัท ท่านก็ทรงให้ทวนเรื่องบารมี ๑๐ ทัศ ว่ามีอะไรบ้าง อาตมาก็ถวายคำตอบแก่พระองค์ว่า

    ๑. ทานบารมี
    ๒. ศีลบารมี
    ๓. เนกขัมมบารมี
    ๔. ปัญญาบารมี
    ๕. วิริยบารมี
    ๖. ขันติบารมี
    ๗. สัจจบารมี
    ๘. อธิษฐานบารมี
    ๙. เมตตาบารมี
    ๑๐. อุเบกขาบารมี

    องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า สัมพเกษี ถูกแล้ว บารมีทั้งหมดนี้ให้ใช้กำลังใจ สร้างกำลังใจให้มันทรงอยู่ในใจทั้งหมด ให้มันเต็มครบถ้วนบริบูรณ์ไม่มีอะไรบกพร่อง คือ

    ๑. จิตของเราพร้อมที่จะให้ทานเป็นปกติ
    ๒. จิตพร้อมในการทรงศีล นี่ซิบรรดาพุทธบริษัท พร้อมในการทรงศีลเป็นปกติ ไม่ใช่ปล่อยให้ศีลมันหล่นไป
    ๓. จิตพร้อมในการทรงเนกขัมมะเป็นปกติ เนกขัมมะก็แปลว่าการถือบวช บวชผมยาว บวชผมสั้น บวชโกนหัว ไม่โกนหัว ได้ทั้งนั้น
    ๔. จิตพร้อมที่จะใช้ปัญญาเป็นเครื่องประหัตประหารอุปาทานให้พินาศไป
    ๕. วิริยะ มีความเพียรทุกขณะ ควบคุมใจไว้เสมอ
    ๖. ขันติ มีทั้งอดทั้งทน อดกลั้นต่อสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์
    ๗. สัจจะ ทรงตัวไว้ตลอดเวลาว่าเราจะจริงทุกอย่าง ไม่มีอะไรในคำว่าไม่จริงสำหรับใจเรา ในด้านของการทำความดี
    ๘. อธิษฐานบารมี ตั้งใจไว้ให้ตรงโดยเฉพาะ
    ๙. เมตตาบารมี สร้างอารมณ์ความดีไม่เป็นศัตรูกับใคร มีความรักตนเสมอด้วยบุคคลอื่น
    ๑๐. อุเบกขาบารมี วางเฉยเข้าไว้ ในเมื่อร่างกายมันไม่ทรงตัว อย่างที่เธอเป็นวันนี้ อุเบกขาบารมีตัวนี้ พระองค์ทรงตรัสว่า ตรงกับภาษาไทยที่ใช้กันเป็นปกติว่า ช่างมัน ขันติบารมีนี่ก็เหมือนกันใช้คำว่าช่างมัน ตรงตัวดี

    นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยถ้วนหน้า วันนี้ยังไม่สอนอะไรบรรดาท่านพุทธบริษัท เรามาคุยกันในคำว่า บารมีทั้งหลาย ได้ทราบชัดว่า บารมีที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์ให้เราสร้างให้มันเต็มนั้น ก็คือสร้างกำลังใจปลูกฝังกำลังใจ ให้มันเต็มครบถ้วนบริบูรณ์สมบูรณ์ ไม่ ใช่ว่าเราจะมานั่งคิด เราจะมานอนคิด เราจะมาทรงจิตว่า เอ๊...บารมีของเรามันไม่มีนี่ ชาติก่อนบารมีของเรามันไม่พอ บารมีของเรายังไม่เต็ม เราจะเป็นพระโสดาบัน สกิทาคา อนาคา อรหันต์ ยังไงได้


    ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย มีความเข้าใจตามนี้ พอยังจะรู้รึยังว่าเราสามารถจะสร้างบารมีได้ด้วยอาศัยกำลังใจ ความดีของบรรดาท่านพุทธบริษัทมี กำลังใจอย่างเดียวเท่านั้นที่เราจะทำให้มันดีหรือไม่ดี อันนี้ก็ตรงกับพระบาลีที่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในเรื่อง พระจักขุบาล ว่า

    มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฎฐา มโนมยา
    ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จด้วยใจ นี่ความจริงเรื่องนี้ก็เรียนกันมาแล้วบรรดาท่านพุทธบริษัท แต่เวลาปฏิบัติจริง ๆ มันทำไมถึงลืมก็ไม่ทราบ

    เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย หวังว่าบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านคงจะเข้าใจคำว่า บารมี แล้วอย่าลืม บารมีแปลว่าเต็ม แต่ส่วนที่เราจะทำให้เต็มนั้นก็คือกำลังใจ ให้กำลังใจมันพร้อม พร้อมที่จะทรงความดีในด้านบารมีไว้ ถ้ากำลังใจของเราพร้อมทรงบารมีทั้ง ๑๐ ประการ ครบถ้วนเพียงใด บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ความเป็นพระอริยเจ้าเป็นของง่าย

    ที่นำบารมีทั้ง ๑๐ ประการมากล่าวในตอนนี้ก็เพราะว่า ในตอนต้นพูดเรื่องพระโสดาบันเข้าไว้ เห็นว่าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายอาจจะคิดว่า แหม...มันยากเกินไป ถ้ากำลังใจในการสร้างตนเป็นพระโสดาบันมันยังครบถ้วนไม่ได้ ก็หันมาจัดการกับบารมีทั้ง ๑๐ ประการ ให้มันครบถ้วนบริบูรณ์

    ทาน การให้ เป็นการตัดความโลภ
    ศีล เราก็ตัดความโกรธ
    เนกขัมมะ ตัดอารมณ์ของกามคุณ
    ปัญญา ตัดความโง่
    วิริยะ ตัดความขี้เกียจ
    ขันติ ตัดความไม่รู้จักการอดทน
    สัจจะ ตัดความไม่จริงใจ มีอารมณ์ใจกลับกลอก
    อธิษฐาน ทรงกำลังไว้ให้สมบูรณ์บริบูรณ์
    เมตตา สร้างความเยือกเย็นของใจ
    อุเบกขา วางเฉยเข้าไว้ในเรื่องของกายเราไม่ปรารภ


    เท่านี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้ากำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัทสมบูรณ์เพียงใด คำว่า พระโสดาบัน นั้นบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย จะรู้สึกว่าง่ายเกินไปสำหรับบรรดาท่านพุทธบริษัท

    ทำไมจึงว่าอย่างนั้น ก็เพราะว่าคนที่มีบารมีเต็มครบถ้วนบริบูรณ์ มีกำลังใจเต็มทุกอย่างใน ๑๐ ประการนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เรียกว่าพระโสดาบัน แล้วท่านเรียกว่าอะไร ท่านเรียกว่า พระขีณาสพ แปลว่า ผู้มีอาสวะอันสิ้นไปแล้ว หรือเรียกว่า พระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนาอันดับสูงสุดเข้าถึงซึ่ง พระนิพพาน ได้

    เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย วันนี้ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน สวัสดี



    ที่มา : เฟสบุ๊ค/พุทธธรรมนำใจ/บ้านมหา.คอม

  5. #5
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63

    พุทธธรรมนำใจ

    เวร กรรม ยถากรรม และอนันตริยกรรม


    พุทธธรรมนำใจ


    เวร กรรม ยถากรรม และอนันตริยกรรม


    เวร

    คำว่า “เวร” มาจากคำภาษาบาลี เวร แปลว่า “ความเป็นศัตรู ความพยาบาท ความปองร้าย” การที่คนดีๆ ถูกผู้ที่ไม่ได้เป็นศัตรูกันทำร้าย เชื่อว่าเป็นเวรที่ผูกกันมาแต่ชาติก่อน ทำให้ต้องมารับผลกรรมในชาตินี้ การผูกพยาบาทจองเวรต่อกันเป็นความชั่วทางใจ เมื่อคนมีความพยาบาทต่อกัน ย่อมเป็นเหตุให้คนทั้งสองฝ่ายมีจิตคิดร้ายตั้งตัวเป็นศัตรูกัน ทำให้มีแต่ความทุกข์เดือดร้อนไม่มีความสงบสุข และจะต้องหาวิธีทำร้ายกันไม่รู้จบสิ้น เช่น ตระกูล ๒ ตระกูลที่ผูกพยาบาทจองเวรกัน ต่างก็หาทางที่จะให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นอันตรายหรือพินาศ ทั้งทางร่างกายและทรัพย์สิน ทำให้ไม่มีความสงบสุข การมีใจคิดแก้แค้น จองเวรศัตรูนั้นในทางพระพุทธศาสนากล่าวว่ามิใช่จะจบสิ้นเพียงชาตินี้ แต่จะผูกพันต่อไปในชาติหน้าด้วย เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงห้ามไม่ให้ผูกเวรกัน ดังที่ตรัสสอนว่า “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” ถ้าคิดทำร้ายศัตรู ศัตรูก็คิดจะทำร้ายตอบ ต่อเนื่องกันไปไม่สิ้นสุด แต่ถ้าคิดให้อภัย เมตตาแก่ศัตรู เวรก็จะสิ้นสุดลง



    กรรม

    คำว่า กรรม เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤตว่า กรฺม แปลว่า การกระทำ ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า กรรม คือการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาและแสดงออกได้ ๓ ทาง คือ ทางกายด้วยกิริยาอาการต่างๆ ทางวาจาด้วยคำพูด และทางใจด้วยความคิดความรู้สึก มนุษย์ประกอบกรรม ๒ ประเภท คือ กรรมดีและกรรมชั่ว ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า มนุษย์ สัตว์ มีกรรมเป็นเครื่องกำหนดความเป็นไปของชีวิต การทำกรรมดีก็ย่อมได้รับผลดี ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ถ้าเรามีเมตตาต่อสัตว์เลี้ยงอย่าง สุนัข แมว ให้อาหารเลี้ยงดูมัน สัตว์นั้นก็จะไม่ทำอันตรายเรา รักเรา และช่วยเหลือเรา ถ้าทำกรรมชั่ว ก็จะได้รับผลที่ไม่ดี เช่น ถ้าขโมยของของผู้อื่น ก็จะถูกลงโทษ ถูกตำรวจจับ ถูกจำคุก เป็นต้น คนจะได้ดีหรือชั่วย่อมขึ้นอยู่กับกรรม คือการกระทำของตนเอง เพราะฉะนั้นเราจึงควรเชื่อกฎแห่งกรรมว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว



    ยถากรรม

    คำว่า ยถากรรม แปลว่า ตามกรรม หมายความว่ามนุษย์ที่เกิดมาจะมีชีวิตอย่างไรย่อมเป็นไปตามกรรม คือ การกระทำดีหรือชั่วของตนนั่นเอง ผู้ใดทำกรรมดี ย่อมได้รับผลของกรรมดีตอบสนอง เช่น นักเรียนผู้มีความตั้งใจพากเพียรเรียนหนังสือดีจัดว่าเป็นผู้ประกอบกรรมดี ย่อมได้รับผลของกรรมดีตอบสนอง คือทำให้มีความรู้ดี สอบได้ และเลื่อนขั้นสูงขึ้น ตรงข้ามกับนักเรียนที่เกียจคร้านไม่พากเพียรเรียนหนังสือ ประพฤติเกเร จัดว่าเป็นผู้ประกอบกรรมชั่วย่อมได้รับผลของกรรมชั่ว คือ ไม่มีความรู้ สอบตกไม่เจริญก้าวหน้า

    คนที่ตายไปแล้ว กรรมดีก็ส่งให้ไปเกิดในที่ดี เช่น ในโลกมนุษย์เป็นคนที่มีความสุขและเกิดในสวรรค์ คนที่ทำกรรมชั่ว กรรมก็จะส่งให้ไปเกิดในที่ไม่ดี เช่น เกิดเป็นคนทุกข์ยาก เป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน

    พุทธศาสนิกชนจึงพูดคำว่า ยถากรรม ไปตามยถากรรม ติดปาก แสดงว่า เราต้องรับผลของการกระทำของเราเสมอ ตามกรรมดีและกรรมชั่วที่เราทำไว้




    อนันตริยกรรม

    คำว่า อนันตริยกรรม เป็นคำยืมจากภาษาสันสกฤต มาจากคำว่า อนนฺตริย ซึ่งแปลว่า ไม่มีช่องว่าง กับคำว่า กรฺม ซึ่งหมายถึง การกระทำที่ทำด้วยความจงใจ คำว่า อนันตริยกรรม มีความหมายตามรูปศัพท์ว่า การกระทำที่ไม่มีช่องว่าง หมายถึง การกระทำที่ไม่มีช่องว่างระหว่างกรรมที่กระทำลงไปแล้วกับวิบากหรือผลที่จะตามมา นั่นคือ กรรมที่จะต้องได้รับผลแห่งการกระทำนั้นทันทีโดยไม่ต้องรอเวลาที่ผลกรรมจะตามมาสนอง สาเหตุที่ต้องรับผลกรรมทันทีก็เพราะว่าเป็นกรรมชั่วหรือเป็นความผิดร้ายแรงที่สมควรได้รับโทษรุนแรงอย่างที่สุด อนันตริยกรรมจึงมิได้หมายถึงกรรมโดยทั่วๆ ไป แต่หมายเอาเฉพาะกรรมชั่วที่ร้ายแรงที่สุดเท่านั้น


    อนันตริยกรรมมี ๕ ประการ ได้แก่

    ๑. การทำมาตุฆาต หรือการฆ่ามารดาของตน
    ๒. การทำบิตุฆาต หรือการฆ่าบิดาของตน
    ๓. การทำอรหันตฆาต หรือการฆ่าพระอรหันต์
    ๔. การทำโลหิตตุปบาท หรือการทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงกับห้อเลือด
    ๕. การทำสังฆเภท หรือการทำให้หมู่สงฆ์แตกแยกกัน

    พุทธศาสนาเชื่อว่าผู้ที่ทำกรรมชั่วขั้นที่เรียกว่า อนันตริยกรรมนั้นจะต้องไปชดใช้กรรมที่ตนก่อในนรกขั้นที่ต่ำที่สุดที่เรียกว่า อเวจีมหานรก จะไม่มีโอกาสได้ขึ้นสวรรค์และไม่มีโอกาสได้เข้าสู่พระนิพพาน

    พุทธศาสนาสอนให้คนรักชีวิตของตนเองและชีวิตของผู้อื่น ดังนั้น จึงถือว่าการฆ่าหรือทำลายชีวิตไม่ว่าจะเป็นชีวิตของตนเองหรือชีวิตของผู้อื่นนั้นเป็นบาป ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตที่เราฆ่าจะเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ หรือสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ก็ตาม ยิ่งถ้าฆ่ามนุษย์ก็ยิ่งถือเป็นบาปหนัก เพราะผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์คือผู้ที่กำลังสะสมบุญและมีโอกาสหลุดพ้นจากสังสารวัฏได้


    ถ้าหากฆ่ามนุษย์ผู้เป็นบิดามารดาของตน หรือพระอรหันต์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นบาปหนักหลายเท่าทวีคูณ เพราะบิดามารดาเป็นผู้ให้กำเนิดแก่ตน เป็นผู้เลี้ยงดูให้การศึกษาอบรมแก่บุตรเพื่อหวังให้บุตรมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขและประสบแต่ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ผู้เป็นบุตรทุกคนมีหน้าที่ต้องกตัญญูต่อบิดามารดาของตนโดยการเลี้ยงดู ยกย่อง เทิดทูนและทำให้ท่านมีความสุขทั้งกายและใจ หากบุตรคนใดอกตัญญูทำร้ายบิดามารดาจนถึงแก่ชีวิตก็สมควรได้รับโทษที่สาหัสที่สุด

    ส่วนพระอรหันต์เป็นผู้มีปัญญาและความเพียรมากจนสามารถปฏิบัติธรรมบรรลุความหลุดพ้นตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ การฆ่าพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสจึงเป็นบาปกรรมหนัก เช่นเดียวกับการฆ่าบิดามารดา พระพุทธศาสนาจึงถือว่า การฆ่าบิดามารดา ฆ่าพระอรหันต์เป็นกรรมหนักขั้นอนันตริยกรรม

    พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่มีพระคุณต่อสรรพสัตว์ในโลกนี้เป็นอย่างมาก เพราะพระองค์ทรงเปี่ยมด้วยปัญญา สามารถตรัสรู้ธรรมอันลึกซึ้งและเปี่ยมด้วยพระกรุณา นำธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วนั้นมาสั่งสอนสัตว์โลกให้เห็นทางสว่างและปฏิบัติตนเพื่อความสุขเนื่องจากปราศจากกิเลสที่จะทำให้เป็นทุกข์ทั้งทางกายและใจ และหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ผู้ที่ทำร้ายพระพุทธเจ้าแม้แต่เพียงทำให้พระองค์ห้อเลือดหรือที่เรียกว่า โลหิตุปบาท นั้น นอกจากจะถือว่าเป็นผู้อกตัญญูอย่างยิ่งต่อผู้ทรงคุณอันประเสริฐต่อโลกและสรรพชีวิตแล้ว ยังถือว่าเป็นผู้ที่มีใจบาปหยาบช้า กรรมที่ทำให้พระพุทธเจ้าถึงกับห้อเลือดถือเป็นบาปกรรมขั้นอนันตริยกรรม

    ส่วนการทำสังฆเภทหรือการทำให้พระภิกษุสงฆ์แตกความสามัคคีกันนั้น ถือเป็นอนันตริยกรรมด้วย ก็เพราะการทำสังฆเภทก็เท่ากับการทำลายความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา เพราะภิกษุสงฆ์เป็นทายาททางธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นผู้สืบอายุพระพุทธศาสนา การทำให้พระภิกษุสงฆ์แตกแยกกันอย่างกรณีที่พระเทวทัตยุยงให้ภิกษุแตกความสามัคคีกัน จึงจัดว่าเป็นการทำบาปที่หนักมาก

    การที่ภิกษุบางรูปแยกการปฏิบัติไปตามที่พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธานุญาตให้แก้ไขพระวินัยบางข้อที่ไม่เหมาะสมได้ ทำให้เกิดเป็นพุทธศาสนานิกายมหายานขึ้นนั้น ไม่จัดว่าเป็นการทำสังฆเภท เพราะไม่ได้ทำให้ภิกษุแตกความสามัคคีหรือทะเลาะกัน แต่เป็นการแยกตนออกไปปฏิบัติตามแนวทางที่เห็นว่าจะทำให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอีกแนวทางหนึ่งเท่านั้น



    โดย คุณกาญจนา นาคสกุล นิตยสารสกุลไทย/เฟสบุ๊ค/บ้านมหา.คอม

  6. #6
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63

    พุทธธรรมนำใจ

    ประวัติท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี

    พุทธธรรมนำใจ


    ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี-
    ผู้เลิศกว่าอุบาสกทั้งหลายด้านการให้ทาน


    ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี จัดเป็นบุคคลตัวอย่างในเรื่อง การให้ทาน เป็นตัวอย่างในการเข้าถึงพระรัตนตรัย มีศรัทธามาก ท่านเป็นอุบาสกที่มีชื่อเสียงมาก จัดเป็นมหาอุบาสกก็ว่าได้ เพราะท่านมีศรัทธา ในทาน ในศีลในธรรม

    ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้น ท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทมากในการบำรุงพระพุทธเจ้าและพระศาสนา ในสมัยนั้นพระพุทธเจ้าทรงยกย่อง ท่านว่า

    “เป็นเลิศกว่าบรรดาอุบาสกและบุคคลทั้งหลาย ในด้านการให้ทาน”


    ดังนั้น ควรที่จะกล่าวไว้เป็นเครื่องระลึก และเป็นแบบอย่างแก่พุทธศาสนิกชน ในที่นี้จะกล่าวเพียงบางตอนต่อไป........



    ประวัติท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี



    ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีมีนามเดิมว่า “สุทัตตะเศรษฐี” เป็นบุตรของ “ท่านสุมนเศรษฐี" อยู่ในกรุงสาวัตถี ท่านเป็นเศรษฐีที่ใจบุญ ชอบช่วยเหลือคนตกยาก ทำให้ท่านถูกเรียกจากชาวเมืองสาวัตถีว่า “อนาถบิณฑิกเศรษฐี” แปลว่า เศรษฐีผู้เป็นที่พึ่งของคนยาก


    ท่านอนาถบิณฑิกะมีภรรยาชื่อว่า “บุญญลักษณา” ซึ่งเป็นน้องสาวของเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ ที่มีชื่อว่า “ราชคฤหเศรษฐี” ส่วนน้องสาวของท่านอนาถบิณฑิกะก็เป็นภรรยาของราชคฤหเศรษฐีเช่นกัน ทั้งสองท่านจึงเป็นสหายกันด้วย


    ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี จัดเป็นพ่อค้าที่ร่ำรวยมีกองเกวียนมาก และมักเดินทางไปค้าขายในต่างเมืองเป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่ง ท่านได้เดินทางไปค้าขายที่กรุงราชคฤห์ และได้ไปพักอยู่ที่บ้านของท่านราชคฤหเศรษฐี ซึ่งเป็นพี่เขยนั้น จัดเป็นเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์

    ในขณะที่พักอยู่นั้นก็ได้เห็น ท่านราชคฤหเศรษฐีตระเตรียมทานเป็นอันมาก จึงเกิดสงสัยว่า ที่บ้านจะมีพระราชาเสด็จ หรือมีงานมงคลอย่างใดอย่างหนึ่ง

    ดังนั้น จึงกล่าวถามท่านราชคฤหเศรษฐีว่า "ที่บ้านท่านจะมีงานอะไรหรือ " ก็ได้รับคำตอบว่า"พระพุทธเจ้าจะเสด็จมา รับพระกระยาหารที่บ้านเราในตอนรุ่งเช้า"

    เมื่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ฟังว่า"พระพุทธเจ้า" เท่านั้นก็ดีใจ เบิกบานใจอย่างบอกไม่ถูก.... ในคืนนั้นท่านนอนไม่หลับ เพราะอยากไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงตื่นถึงสามครั้งในคืนนั้น พอใกล้รุ่งแล้วตนเองทนไม่ไหวจึงออกเดินไปเฝ้าพระพุทธเจ้า.....

    ในตอนนั้นพระพุทธเจ้าพักอยู่ที่ "สีตวัน" เมื่อทรงเห็นท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้ว ก็ทรงตรัสเรียกชื่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า "ท่านสุทัตตะ เชิญเข้ามา" ท่านอนาถบิณฑิกะ ปลื้มใจมาก ที่พระพุทธเจ้าเรียกชื่อเดิมตน โดยไม่มีใครเคยเรียกเลย

    เมื่อพูดคุยถามแล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงอนุปุพพิกถา ที่พรรณนาเรื่องทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม และอานิสงส์การออกบวช แล้วก็จบลงด้วยอริยสัจ 4 เมื่อฟังแล้ว ท่านก็สำเร็จเป็นพระโสดาบัน .......

    ต่อมาท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้อาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมเหล่าพระสาวกไปกรุงสาวัตถี แต่พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า


    "ตถาคตเจ้าทั้งหลาย ย่อมยินดีในที่ที่สงบเงียบ"


    จากนั้นท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็เข้าใจ จึงเดินทางกลับกรุงสาวัตถีก่อน ที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จมา


    ในตำรากล่าวว่า ในระหว่างที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเดินทางกลับนั้น ท่านได้ให้คนสร้างศาลาที่พักไว้ ทุก ๆ ๑ โยชน์ และทุก ๆ ศาลาก็ให้จัดอาหารไว้ เพื่อถวายแด่พระพุทธเจ้าด้วย คิดรวมระยะทางแล้วประมาณ ๕๔ โยชน์

    เมื่อตนกลับไปถึงแล้วก็เที่ยวแสวงหาสวนที่มีความสงบเงียบ ก็ไปเห็นสวนที่สงบเงียบ อยู่ห่างจากเมืองประมาณ ๑ กิโลเมตร จึงตัดสินใจซื้อด้วยเงินที่มากมายเลยเกิน


    เพราะเจ้าของที่ คือ เจ้าเชต บอกว่า ต้องเอาเงินทองมาปูพื้นที่ที่จะสร้างวัดให้เต็ม เจ้าของที่จึงจะยอมขายให้ ตามตำรากล่าวว่า การสร้างวัดเชตวันนั้น ใช้เงินไปมากกว่า ๕๔ โกฏิ ...... ในการสร้างวัดและรวมทั้งทำบุญด้วย.....เห็นได้ว่า เป็นเงินจำนวนมากมายมหาศาล การสละเงินจำนวนมากเช่นนี้ ย่อมใช้กำลังใจเสียสละในการให้ทานเป็นอย่างมาก ท่านจึงเป็นบุคคลคนที่หาได้ยากยิ่ง


    ในการสร้างวัดพระเชตวันที่ยิ่งใหญ่ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ถวายแด่พระพุทธเจ้านั้น พระพุทธองค์ได้ทรงได้ประทับอยู่ในวัดพระเชตวัน นานถึง ๑๙ พรรษา ในจำนวน ๔๕ พรรษาในการที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนาของพระองค์...

    ผลแห่งความมั่นคงในพระรัตนตรัย



    เรื่องราวของท่านอนาถบิณฑิกะนั้น มีอยู่ตอนหนึ่งที่น่าสนใจ เกี่ยวกับเรื่องเงิน เรื่องทอง ทรัพย์สมบัติที่หมดไปของท่านอนาถบิณฑิกะ แต่ก็ได้กลับมาด้วยผลแห่งความมั่นคงในพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง เพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติแก่พุทธศาสนิกชนต่อไป....



    เรื่องมีอยู่ว่า ... ทรัพย์เงินทองของท่านอนาถบิณฑิกะที่หมดไปนั้น หมดไปในการให้ทาน หมดไปในการลงทุนค้าขาย และเพื่อนที่ร่วมลงทุนได้กู้เงินไป ๑๘ โกฏิ แล้วก็ไม่คืน ส่วนทรัพย์ที่ฝังไว้ในแผ่นดินนั้น ก็ถูกน้ำเซาะพังไปทรัพย์ก็หายไปในแม่น้ำอีกกว่า ๑๘ โกฎิ .... นี้คือเหตุของการสิ้นทรัพย์

    แต่นั้นก็ไม่ทำให้ท่านอนาถบิณฑิกะหยุดให้ทาน ท่านก็ยังคงนิมนต์พระพุทธเจ้า และเหล่าสาวก มารับภัตตาหารเหมือนเดิม ไม่เคยขาด ... แม้อาหารของท่านจะไม่ดี ประณีตเหมือนเคยก็ตาม ... ท่านอนาถบิณฑิกะก็สังเกตพระพุทธเจ้าดูแล้ว พระพุทธเจ้าก็ไม่ห้ามในการให้ทานของท่านอนาถบิณฑิกะเลย กับรับนิมนต์แต่โดยดี.....

    แม้ทรัพย์ของท่านอนาถบิณฑิกะหมดไป แต่ศรัทธาในใจไม่ตก ....... เราท่านทั้งหลายจงดูแบบอย่างไว้......



    ....เทวดามิจฉาทิฐิ (ผู้มีความเห็นผิด)

    กล่าวกันว่าในหมู่สรรพสัตว์อันได้แก่ คน สัตว์ กายทิพย์ อื่น ๆ อีก คนก็เป็นพวก สัตว์ก็แบบเป็นชนิด กายทิพย์ก็แบบเป็นชั้น..... ในแต่ละอย่างยอมมีดี เลวประปนกันไปไม่ว่าจะเป็นนิสัย ความคิดดี ชั่วล้วนมีในสรรพสัตว์ ที่มีกิเลสทั้งสิ้น....



    ทั้งนี้ ล้วนกล่าวได้ว่า ทุก ๆ บุคคลย่อมมีใจ ความคิดที่ต่างๆกัน.... ดังที่พุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "นานาจิตตัง" จิตคนเราไม่เหมือนกัน ดังนี้ ตัวอย่างเช่น เทวดาองค์ที่เป็นต้นเหตุแห่งเรื่องนี้ ดังที่จะกล่าวต่อไป......

    ในครั้งนั้นในบ้านของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้มีเทวดาที่เป็นมิจฉาทิฐิองค์หนึ่ง ได้อาศัยอยู่ในซุ้มประตู ที่ ๔ ในขณะที่อยู่ในซุุ้มประตูนั้น เทวดาองค์นี้ มักมีความคิดและก็คิดอยู่ตลอดเวลาว่า ..


    “เมื่อใดท่านอนาถบิณฑิกะ ได้อาราธนาพระพุทธเจ้ามารับบิณฑบาตที่บ้านเมื่อใด ตัว(เทวดา)ก็ไม่สามารถอยู่ที่ซุ้มประตูได้ เพราะอานุภาพของพระพุทธเจ้าและเหล่าพระสาวก จึงทำให้ตนอยู่ไม่ได้เกิดความลำบากและก็รำคาญใจมาก”



    จึงไม่อยากให้พระพุทธเจ้าเสด็จมา

    แต่เทวดาก็ไม่กล้าบอกแก่ท่านอนาถบิณฑิกะ เพราะบอกอย่างไรก็ไม่เชื่อแน่นอน เพราะในตอนนั้น ท่านอนาถบิณฑิกะยังคงมีความมั่นคงในพระรัตนตรัย และมีเงินทองอยู่มาก ในความคิดของเทวดานั้น ก็คิดในเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา และ ยังคอยโอกาสที่จะนำเรื่องความลำบากของตนไปบอกท่านอนาถบิณฑิกะ

    ในที่สุดก็มีเหตุประจวบเหมาะ เมื่อทรัพย์สมบัติของท่านอนาถบิณฑิกะเริ่มหมดไป เทวดาจึงได้โอกาสเข้าไปบอกท่านอนาถบิณฑิกะ ในเรื่องความลำบากให้ท่านอนาถบิณฑิกะได้รับรู้ และ คงเชื่อตนแน่นอน เพราะเงินทองเริ่มเหลือน้อยแล้ว.....

    นิยามความไม่รู้จักพอ..... คนเราเมื่อมีความเห็นผิด ย่อมกระทำในสิ่งที่ผิดเสมอ เหมือนคนพาล อย่างไรเสียก็เป็นคนพาล แม้จะอยู่ดีมีสุขอย่างไร ก็ไม่พอใจในการเป็นอยู่ เทวดาองค์นี้ ก็เป็นอีกตัวอย่างในความไม่รู้จักพอในที่ ๆ ควร ทั้ง ๆ ที่มาอาศัยสถานที่ของผู้อื่นอยู่แท้ ๆ

    ในคืนนั้นเอง เทวดาตนนั้น ก็เข้าไปปรากฏกายลอยอยู่ในอากาศ ที่ในห้องนอนของท่านอนาถบิณฑิกะ เมื่อการปรากฏกายของเทวดาที่ลอยอยู่นั้น

    ท่านเศรษฐีก็ได้เห็นแล้วก็ถามไปว่า... "ท่านเป็นใคร"

    เทวดาตอบโดยเร็ว ... "เราคือ เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ซุุ้มประตูที่ ๔ ในบ้านของท่าน"

    ส่วนท่านอนาถบิณฑิกะ เมื่อเห็นเทวดาก็ไม่ตกใจ กลับถามออกไปอีกว่า .......


    "ท่านเข้ามาทำไมในยามวิกาล ท่านต้องการอะไร"....

    "เรามาเพื่อจะเตือนสติท่าน" เทวดาตอบ ....


    ท่านอนาถบิณฑิกะกล่าวว่า ... "เอาเถอะ ท่านจงเตือนเรามา จะเตือนเรื่องใดก็เตือนมา เพราะหัวใจเราเปิดกว้างพร้อมที่รับคำเตือนจากท่าน จงแนะนำเราได้เลย"

    ครั้งนั้นเมื่อเทวดาได้ฟังท่านอนาถบิณฑิกะ กล่าวเปิดใจให้แล้ว เมื่อเทวดาได้ฟังทั้งนั้น จึงเป็นโอกาสที่จะกล่าวอย่างภาคภูมิใจ ในความเห็นของตน...แล้วก็กล่าวแนะนำไปว่า .......


    " ท่านเศรษฐี ท่านจำได้หรือเปล่าว่า แต่ก่อนนั้น ท่านร่ำรวยมากมีเงินทองมาก สมบัติก็มหาศาลแต่ ท่านกลับทุ่มเทไปในพระพุทธศาสนามากมาย จนเดี๋ยวนี้ ท่านยากจนลง แต่ก็ยังไม่เลิกให้ทานอีก เราว่าต่อไปท่านต้องไม่มีข้าวกินแน่นอน แม้เสื้อผ้าก็จะไม่มีห่ม ประโยชน์อะไรในการให้ทานแก่พระสมณโคดม ท่านจงเลิกให้ทานเสียเถิด"

    หลังจากเทวดากล่าวจบ ท่านอนาถบิณฑิกะก็ถามไปว่า "นี้หรือคือคำแนะนำของท่าน"


    เทวดาก็ตอบว่า "ใช่" ...

    เมื่อท่านอนาถบิณฑิกะ ได้ฟังแล้วก็ไล่เทวดานั้นทันที " โน่น... จงออกจากเรือนเราไปเดี๋ยวนี้... แต่เดี๋ยวก่อน... แล้วจงฟังนะท่านเทวดา ต่อให้มีเทวดาอย่างท่านเป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่นหรือจะเป็นแสนก็ตาม แล้วมาพูดจาแบบนี้ ก็ไม่สามารถทำให้เราคลายความมั่นคงจากพระรัตนตรัยลงได้ ในคำพูดของท่านจัดไม่เป็นมงคลเลย แล้วประโยชน์อะไรจะมาอาศัยเรือนเราอยู่ จงไปซะ.. ไปจากเรือนเราเดี๋ยวนี้"

    ... จากนั้นเทวดาก็พากันออกจากไปทั้งลูกเมีย ไปกันทั้งครอบครัวเลยทีเดียว.. และก็ไม่รู้จะพากันไปอยู่ที่ใด เพราะไม่มีเรือนจะอยู่ เพราะบุญไม่เคยทำกรรมดีไม่เคยสร้าง

    การเป็นเทวดานั้น ไม่ใช่จะไปสร้างบ้านเรือนเองได้ แต่อาศัยมีได้เพราะแรงแห่งบุญ (สำเร็จได้ด้วยบุญ) ไม่ใช้สร้างได้เหมือมนุษย์ ... แม้ตามป่าเขาก็เช่นกัน แม้เห็นต้นไม้คิดจะอยู่ก็อยู่ไม่ได้ จะไปบ้านไหน ๆ ก็ ล้วนมีเจ้าของที่สิงอยู่ก่อนแล้ว เมื่อไม่มีที่อยู่ก็เลยกลายเป็นเทวดาจรจัด ... จึงมีคำกล่าวว่า “พูดดี เป็นศรีแก่ปาก พูดมาก พูดในสิ่งที่ไม่ดีก็นำทุกข์มาให้"

    หลังจากถูกไล่แล้ว เทวดาองค์นั้นก็พาลูกเมีย เดินคอตกออกจากเรือนไป ...... แม้จะลอยได้ ก็คอตกเป็นเหมือนกัน จะอาศัยการเนรมิตบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ก็ใช้ไม่ได้ เพราะไม่มีบุญ( กลายเป็นเทวดาตกกระป๋อง)



    บุญที่มีอยู่นั้น ก็เริ่มหรี่ลงไปเรื่อย ๆ ความลำบากเริ่มหนักเข้าหนักเข้า จึงเกิดความสำนึกผิด คิดถึงวาทกรรมของตน


    "ในวจีคำพูดที่ไม่เป็นมงคลนั้น นำทุกข์มาให้จริงๆ ไม่ใช่แต่ตัวเรา ครอบครัวก็ลำบากไปด้วย... เห็นที่ต้องไปขอโทษท่านเศรษฐีแน่แล้วเรา... แต่จู่ๆเราไปขอโทษเลยนั้นคงไม่ได้แน่ เราต้องเข้าหาผู้ใหญ่ก่อน แล้วยกเอาผู้ใหญ่เข้าอ้างอิง ตามโบราณว่า "เดินตามผู้ใหญ่ หมาไม่กัด"


    เมื่อมีความสำนึกในความผิดแห่งตนแล้ว ก็เข้าไปหาเทพบุตรผู้รักษาเมือง เพื่อให้ช่วยเจรจากับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีให้ยกโทษให้ แต่ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือ เทวดาก็เข้าไปหาเทพที่มียศสูงกว่าอีก

    ตอนนี้ก็เลยเข้าไปหาท้าวมหาราชทั้งสี่ ผู้ที่ทำหน้าที่ปกครองนาค ยักษ์ คนธรรพ์ และครุฑ ท้าวมหาราชทั้งสี่ก็กล่าวเช่นเดียวกันกับเทพบุตรผู้รักษาเมืองว่า

    "เราไม่อาจช่วยท่านได้ เพราะท่านได้กล่าวคำอันไม่สมควร"

    เมื่อไม่ได้รับการช่วยเหลืออีก ก็เดินทางต่อไปหาเทพผู้มีระดับสูงกว่าต่อไป ดังนั้น จึงเข้าไปหาท้าวสักกะเทวราช หรือพระอินทร์ พร้อมกราบทูลเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ได้ทราบ และก็ทูลวิงวอนอย่างน่าสงสารว่า

    "ข้าพระองค์และครอบครัวไม่มีที่อยู่แล้ว ต้องเที่ยวพาลูกเมียระหกระเหินหาที่พึ่งไม่ได้ ขอพระองค์โปรดช่วย ข้าพระองค์ด้วยเถิด"

    ท้าวสักกะเทวราช เมื่อได้ฟังคำบอกเล่าวิงวอนที่น่าสงสารแล้ว ก็ตรัสว่า.
    .

    " เราช่วยท่านไม่ได้หรอก เพราะท่านกล่าวคำอันไม่สมควร แต่เรามีวิธีการที่จะช่วยท่านได้ คือ
    ท่านต้องแปลงร่างเป็นเสมียนของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี แล้วก็เข้าไปเอาสัญญากู้เงินจากท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งเป็นสัญญาที่เพื่อนท่านเศรษฐี ทำการกู้เงินไป แล้วเอาสัญญานั้นไปทวงหนี้คืนมาให้หมดทั้ง ๑๘ โกฏิ

    เมื่อได้มาแล้วก็นำไปเก็บไว้ในคลังของท่านอนาถบิณฑิกะ จากนั้นให้ท่านไปขนทรัพย์อีก ๑๘ โกฏิที่ถูกน้ำเซาะหายไป เอากลับคืนมาไว้ในคลัง เท่านั้นยังไม่พอท่านต้องไปหาทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของอีก ๑๘ โกฏิมาเพิ่มให้ท่านอนาถบิณฑกะอีก ให้ถือว่าเป็นดอกเบี้ยในทรัพย์ที่สูญหายไป
    แล้วก็นำไปไว้ในคลัง ด้วยอานุภาพฤทธิ์แห่งท่าน ท่านจงทำคลังของท่านอนาถบิณฑกะให้เต็มไปด้วยทรัพย์ เมื่อท่านทำได้ตามเราบอกแล้วก็เข้าไปสารภาพผิด"

    ..... จากนั้นเทวดาก็ไปปฏิบัติตามคำแนะนำ หาทรัพย์มาจงเต็มคลังของท่านอนาถบิณฑิกะ ด้วยอานุภาพบุญของท่านอนาถบิณฑกะกอปรกับบุญฤทธิ์ และเทวานุภาพ .... จากนั้นก็เข้าไปขอขมา


    เมื่อท่านอนาถบิณฑิกะเห็นเช่นนั้นก็ทราบว่า เทวดาคงรู้สำนึกแล้ว แต่ท่านอนาถบิณฑกะยังไม่อภัย กลับพาไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า โดยบอกว่า ถ้าพระพุทธเจ้ายกโทษให้ เราก็เช่นกัน เมื่อไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วก็ได้ฟังโอวาท จากพระพุทธเจ้าแล้ว เมื่อจบโอวาทเทวดาก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล .....


    เราจะเห็นได้ว่า ท่านอนาถบิณฑิกะนั้นมีคุณต่อเทวดา องค์นี้มาก ทำให้เปลี่ยนจากความเป็นผู้มีมิจฉาทิฐิ มาเป็นสัมมาทิฐิ ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน.....

    ต่อมาในภายหลังท่านป่วยหนัก ก็ให้คนไปทูลพระพุทธเจ้า และนิมนต์พระสารีบุตรมาด้วย พระสารีบุตรก็แสดงธรรมให้ฟัง จากนั้นไม่นานท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็เสียชีวิตลง และไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตตามที่ได้กล่าวมาแล้ว...


    ขอเล่าเรื่องราวของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีแต่เพียงนี้ เอวัง .....

    ขอเจริญในธรรม ....


    ที่มา ...เฟสบุ๊ค/พระวัดหัวเขา ./บ้านมหา.คอม

  7. #7
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63

    พุทธธรรมนำใจ

    " ภาวนา ที่รวมยอดแห่งบุญกุศลทั้งหลาย "
    ( หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน )



    พุทธธรรมนำใจ


    เรา ไปพักอยู่ที่วัดจังหวัดแพร่วัดท่านกัณหา เราถึงใจ ไปดูกุฏิพระ เออ ต้องอย่างนี้ซิขึ้นในใจนะ ออกจากนั้นก็พูดให้พระเหล่านั้นฟัง คือวัดนั้นท่านทำกระต๊อบๆ อยู่เป็นที่ๆ แหม ถึงใจเหลือเกิน อย่างนี้พระพุทธเจ้าและสาวกอรหันต์ทั้งหลายท่านอยู่อย่างนี้ท่านนำธรรมมาสอน โลกให้ได้รับความร่มเย็น ท่านอยู่อย่างนี้ว่างั้นเลย ก็ตำรากางอยู่ตลอดมีอยู่ แต่มันไม่สนใจปฏิบัติตามตำราเท่านั้น เอากิเลสเข้าไปเหยียบย่ำทำลายไปหมด ที่ไหนหรูหราฟู่ฟ่า สร้างวัดที่ไหนเหมือนว่าสร้างสวรรค์ชั้นนั้นๆ ขึ้น คือความภูมิใจเจ้าของผู้สร้าง นึกว่าสร้างสวรรค์วิมานขึ้นในวัดนั้นๆ เป็นอย่างนั้นนะ ทั้งๆ ที่ขัดกันกับพระโอวาทและการดำเนินของพระศาสดามาตลอด เพราะฉะนั้นเวลาเราไปที่จังหวัดแพร่ ไปที่วัดท่านกัณหา โอ๋ย เราชุ่มเย็นใจนะ ไปก็เที่ยวดูหมดเลยซอกแซกซิกแซ็ก เหมาะดี

    นี่ในวัดป่าบ้านตาดนี้ต้องเข้าไปลึกๆ ที่ว่ากระต๊อบกระแต๊บกั้นด้วยผ้าด้วยอะไรเต็มไปหมด มีโก้ๆ อยู่แถวนี้แหละ เพราะโลกเขาโก้เขามาเยี่ยมทางศาลาเรา เห็นศาลาหลวงตาโก้เขาก็อยากดูกุฏิ เราก็ทำกุฏิโก้ๆ ไว้ให้เขาดูสองสามหลัง นอกจากนั้นถ้าไปเซ่อๆ ไม่ได้ ชนกุฏิเหยียบกุฏิพระ เข้าใจไหม เป็นกระต๊อบๆ อยู่ในนั้น กั้นด้วยผ้า แต่ก่อนมุงหญ้านะ ทีนี้เวลาหน้าแล้งไฟป่ามา โอ๋ย ลมพัดมานี้มาไหม้กุฏิพระ เลยเกิดเหตุ จึงได้เปลี่ยนใหม่เป็นมุงด้วยสังกะสีมุงกระเบื้อง แต่เป็นกระเบื้องแตกๆ เสียแล้วเอาไปมุง ไม่ใช่ของดี กระเบื้องแตกเก็บเอาตามนี้ไปมุง สังกะสีก็เหมือนกันอยู่ตามนั้น เราทำนั้นเรารักษาพื้นเพของพระพุทธเจ้าไว้ ขนาดนั้นก็ยังถูกรุกล้ำเข้ามาเรื่อย จึงได้ขู่กันเรื่อยๆ นะนี่ ไม่งั้นไม่ได้ฉิบหายหมด

    พยายามรักษาเอาไว้มันก็ยังจะไม่มีเหลือ รุกล้ำเข้ามาๆ กองทัพของกิเลส แต่เขาไม่ทราบว่าเป็นกิเลส แต่เราเรียนธรรมเรียนกิเลสมันรู้ อะไรที่จะเป็นภัยต่อธรรมๆ มันก็รู้ทันทีๆ แล้วก็ปัดออกๆ ปัดออกทางนี้มันเข้าทางนี้ ปัดทางนี้มันเข้าทางนั้น อย่างนั้นนะ โอ๋ย ปัดไม่ทันนะ ผู้ที่จะรักษาวัดรักษาวาศาสนาได้ต้องเป็นผู้รักใคร่ใฝ่ธรรม ถ้าทำเป็นสักแต่ว่าที่อยู่ที่พัก ก็เลยเป็นสนามเป็นตลาดของกิเลส ให้กิเลสทำการค้าขายอยู่ในนั้นเสร็จเลย กิเลสค้าขายคือกิเลสหารายได้ แต่ธรรมเราแห้งผากๆ เป็นอย่างนั้นนะเวลานี้ ให้ธรรมชุ่มเย็นซี เข้าไปตรงไหนๆ มองดูแล้วมีแต่ธรรมชาติๆ สดชื่น ป่าเขาลำเนาไพรอะไรนี่ อยู่นั้นท่านอยู่ที่ไหนท่านเย็นสบายนี่พระท่านปฏิบัติ ชุ่มเย็นไปหมดหัวใจ

    หัวใจนี่เป็นที่ภาคภูมิทั้งปัจจุบันและอนาคต ส่วนวัตถุสิ่งของอะไรต่างๆ นั้น เราจะภาคภูมิใจในเวลาเรามีชีวิตอยู่ ยังไม่พ้นจากการเสี่ยงได้เสี่ยงเสียวิตกวิจารณ์ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่มีสมบัติมากนะ เราก็ภูมิใจ ทีนี้ส่วนร่างกายจิตใจที่อาศัยอยู่ในโลกนี้ต้องอาศัยเหล่านี้เป็นที่เกาะที่ ยึด เป็นที่อยู่ที่อาศัยให้มีความเย็นอกเย็นใจสบาย ส่วนทางด้านธรรมะนั้นมีความเย็นใจ ทั้งภายในใจทั้งออกข้างนอก ใจมีความชุ่มเย็นแล้วมองไปไหนมันรื่นเริงไปหมดหนา มันไม่ได้เหมือนตาเราข้างนอกนะตาใน ตาในที่มีธรรมภายในใจ ท่านไปไหนท่านดูด้วยความรื่นเริงบันเทิง ท่านไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสิ่งเหล่านั้น เพราะธรรมอยู่ในใจของท่านเป็นเครื่องป้องกันกำแพงอันหนาแน่นอยู่ในใจของท่าน แล้ว กำแพงคือสติปัญญา การพินิจพิจารณา การระวังรักษาจิตใจของตนไม่ให้คิดส่ายแส่ออกไปภายนอก พอที่จะระบายวาจาทางกาย ความประพฤติ หน้าที่การงาน ให้เลวไปตามกิเลสที่มันลากออกไปๆ ธรรมฉุดเข้ามา นั่นท่านรักษาอย่างนั้นนะ

    ต่างกันมากนะโลกกับธรรม เพราะฉะนั้นหลวงตานี้จึงได้พูดอย่างเต็มเหนี่ยวเลย เริ่มแล้วนะ ท่านทั้งหลายอย่าเข้าใจว่าที่เทศน์มาเหล่านี้แล้วจะหมดจะสิ้นไปนะ อย่าเข้าใจนะ พูดตรงๆ อย่างนี้เลย ขอแต่มีเหตุการณ์เข้ามาเถอะ มันจะออกทันทีๆ เลย ควรจะเปิดทั้งถังก็จะออกเลยทันที ธรรมครอบท้องฟ้ามหาสมุทรอัดอั้นที่ไหน ถ้ากิเลสเข้าไปปิดแล้วออกไม่ได้นะธรรม มีแต่กิเลสขังไว้ในนั้น ความทุกข์ความทรมานก็อยู่กับที่กิเลสขังไว้นั้น หัวใจที่มีกิเลสบีบบี้สีไฟมันทุกข์ด้วยกันทั้งนั้นแหละคนทั้งโลกนี้ เอาธรรมจับซิเราอย่าเอาตาจับ ถ้าเอาตาจับนี้ แหม อันโน้นดีอันนี้ดี คนไหนที่เขามั่งมีศรีสุขก็ไปภูมิอกภูมิใจกับเขาแล้วก็มาเสียใจตัวเอง แน่ะ เป็นอย่างนั้นนะ นี่เรื่องภายนอก แต่เรื่องภายในไม่เป็นอย่างนั้น ทางภายในนี้มันชุ่มเย็น สง่าผ่าเผย มองไปไหนมองด้วยความสง่าผ่าเผย มองไปไหนก็เป็นอรรถเป็นธรรมชุ่มเย็นไปหมด เวลามีชีวิตอยู่เป็นอย่างนี้ ตายแล้วก็ผางนี้ขึ้นเลย ไม่ได้วิตกวิจารณ์นะ

    ส่วนภายนอกเรายังวิตกวิจารณ์ ไม่วิตกวิจารณ์ไม่ได้ คำว่าวิตกวิจารณ์นี่เป็นความดีเป็นฝ่ายธรรม อันนี้เป็นสิ่งที่พึ่งอาศัยภายนอก แล้วภายในของเราเป็นยังไง เรื่องศีลเรื่องธรรมภายในใจที่จะเป็นของพึ่งเป็นพึ่งตายกันจริงๆ คือธรรมภายใน บุญกุศลของเราที่สร้างมาด้วยการให้ทานรักษาศีลภาวนาอย่างไรหรือไม่ อันนี้เป็นสมบัติของใจนะนี่ การให้ทาน การรักษาศีล การภาวนา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำมามากน้อยจะเข้าอยู่ที่ใจๆ ทั้งนั้นๆ ยังไม่แสดงนะ เวลานี้ยังไม่แสดงเพราะกิเลสรุมล้อมอยู่ตลอดเวลา ธรรมมีอยู่ก็อยู่ภายใน ใจเป็นศีลเป็นธรรมเป็นบุญเป็นกุศลมีอยู่ก็อยู่ภายใน ถ้าจะชุ่มเย็น–ชุ่มเย็นอยู่ภายในยังออกนอกอย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ เพราะกำลังของธรรมยังไม่มาก

    ฟังให้ดีนะพี่น้องทั้งหลาย ทีนี้เวลาเราบำเพ็ญธรรมมากเข้าๆ ธรรมค่อยกระจายตัว ขยายตัวออกๆ สิ่งที่มืดมัวคือกิเลสซึ่งเทียบกับเมฆกำบังจิต จิตนี้เป็นเหมือนพระอาทิตย์สว่างจ้าอยู่ภายใน แต่ถูกแก้วดำๆ มันครอบเอาไว้ สว่างเท่าไรก็เหมือนไฟฟ้าเรานั่นแหละ ถ้าแก้วครอบมันดำเสียอย่างเดียว แสงไฟอยู่ข้างในนั้นจะสว่างขนาดไหนมันก็ดำไปตามแก้วครอบ ทีนี้พอแก้วครอบจางไปๆ จนกระทั่งแก้วครอบออกหมด ทีนี้จ้าเลย นั่นจิตเป็นอย่างนั้นนะ นี่ละตัวไม่ตาย โลกมองไม่เห็น เห็นแต่พุทธศาสนา พูดตรงๆ อย่างนี้เลย พุทธศาสนานี้ยันเลยร้อยเปอร์เซ็นต์ เข้าถึงจุดความตายความสุขความทุกข์ความพ้นจากทุกข์ อยู่ในนี้หมดเลย พอมองเข้าไปตรงนี้แล้วจะมีทางออกคนเรา

    ถ้าไม่มองเข้าสู่หัวใจ มองแต่ภายนอกแล้วจะหาทางไปไม่ได้นะ แล้วก็กลายเป็นตีบตันอั้นตู้ในอนาคต ถ้ามองดูใจด้วยศีลด้วยธรรม อันนี้จะค่อยส่องทางออกไป ค่อยขยายออกไป ทีนี้ก็เปิดกว้างออกไปๆ ทีนี้พอธรรมในใจมากขึ้น ที่นี่บุญกุศลที่เราสร้างมามากน้อยนั้น จะเริ่มมองเห็นแล้วนะ อยู่ในนี้แหละไม่เห็นแต่ก่อน เราสร้างมามากน้อยเพียงไรกี่กัปกี่กัลป์บุญกุศลไม่หายไปไหน แต่ถูกกิเลสมันปิดบังไว้ มันไม่เห็น มีแต่กิเลสออกหน้าออกตาฉุดไปทางโน้น ฉุดไปทางนี้ ถ้าผู้เผลอตามมันก็ล้มไปตามมันเลยจมไปเลย เป็นอย่างนั้นนะ ทีนี้ผู้ไม่เห็นหลงตาม จะมั่งมีศรีสุขทุกข์ยากลำบากขนาดไหนไม่ลืมศีลลืมธรรม ผู้เช่นนี้แหละผู้จะไปได้ไม่สงสัย พระพุทธเจ้าชี้นิ้วเลยเทียว ไม่เป็นอย่างอื่น

    พระพุทธเจ้าสอนสัตว์โลกรื้อขนสัตว์โลก ให้พ้นจากทุกข์มาเป็นเท่าไรแล้วคิดดูซิ ไม่มีพระพุทธเจ้าองค์ใดพาสัตว์โลกให้ล่มจมไม่เคยมี มีแต่ฉุดสัตว์โลกให้พ้นจากทุกข์ ทีนี้เมื่อเราดำเนินตามนี้จิตของเราก็ได้รับการบำรุงทางด้านจิตใจ มีการสวดมนต์ไหว้พระ-ภาวนา ให้จิตของเราสงบๆ แล้วทานการกุศลทั้งหลายที่รวมอยู่นั้น อยู่นี้นะ ติดอยู่นี้ ใจเป็นรากฐานสำคัญเป็นทำนบใหญ่ ภาวนานั้นคือทำนบใหญ่ พอภาวนาเริ่มหนักเข้าๆ เหมือนเราสร้างทำนบใหญ่นี้แหละ บุญกุศลซึ่งเป็นเหมือนแม่น้ำที่ไหลมาจากสายต่างๆ นี้จะเข้ามาทำนบใหญ่ๆ


    การ ให้ทานรักษาศีลมากน้อยไม่หายไปไหน เรื่องหายไม่หาย ไม่มีอะไรที่จะเสมอเหมือนธรรม ทำบุญเป็นบุญทำบาปเป็นบาปอยู่ภายในใจ ทีนี้เวลามีกำลังเต็มที่แล้วขยายตัว บุญกุศลที่เราสร้างมามากน้อยไม่รู้จักกาลสถานที่ เวล่ำเวลาของการสร้างกุศลก็ตาม แต่เห็นผลที่มารวมอยู่นี่แล้ว รวมอยู่ในใจนี่ หนุนกันขึ้นๆ จิตสว่างออกๆ อยู่ก็ได้ไปก็ตามเป็นก็ตามตายก็ตาม จิตสง่าแล้วไม่มีอะไรจะพาให้จม มันก็รู้อยู่ชัดๆ ในตัวเอง นี้ละท่านผู้มีบุญมีจิตใจอันสว่างไสวท่านไม่เดือดร้อนอย่างนี้เอง ไอ้พวกเรามันพวกเดือดร้อน ก็คือเอาแต่สิ่งภายนอกมาโปะเอา อาศัยสิ่งนั้นอาศัยสิ่งนี้ พอสิ่งนั้นพังลงไปมันก็แคบๆ ละจิตเรา เหี่ยวแห้ง อันนี้เมื่อธรรมมีภายในใจเป็นการยับยั้งกันไว้ๆ ถ้ามีมากก็ออกได้เลย

    ท่านจึงสอนให้สร้างบุญสร้างกุศล สมกันกับว่าใจนี้เป็นของไม่ตาย ใจดวงนี้ไม่ตายเลย แต่โลกทั้งหลายเห็นกันด้วยร่างกาย ถือเอาร่างกายทั้งหมดกับความรู้นี้ว่าเป็นตัว แยกตามหลักธรรมที่เป็นความถูกต้องของศาสดาองค์เอกแล้ว ร่างกายนี้คือเรือนร่างของใจ ใจคือตัวรู้ๆ นี้แหละ ตัวรู้ๆ นี้มันก็มีธรรมชาติอันหนึ่งที่ละเอียดแหลมคมเหมือนกัน คือกิเลสมันปิดบังไว้เสีย มันก็เป็นคู่ควรที่จะปิดบังกันได้ มันก็ไม่มองเห็น บาป - บุญ นรก - สวรรค์ มีเท่าไรมันก็ไม่เห็น เหมือนคนตาบอด คนตาบอดเป็นยังไง อะไรเต็มท้องฟ้ามหาสมุทรมันก็ไม่เห็นคนตาบอด คนตาดีเพียงคนเดียวเท่านั้นมองเห็นหมด นั่นฟังซิน่ะ อันนี้ตาพอสว่างแล้วมันก็เห็นหมดแล้วจะไปถามใคร

    ตาตัวเองเป็นผู้เห็น ก็ตัวเราเองเป็นผู้เห็นแล้วจะไปถามใคร อันนี้ใจของเราเองเป็นผู้รู้ผู้เห็นในการสร้างความดีของเรา เราเห็นในตัวของเราเอง ใครเชื่อไม่เชื่อไม่ได้สำคัญนะ มันสำคัญที่เจ้าของยืนยันเจ้าของเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ๆ แล้วไปก็เจ้าของจะไป คนอื่นภายนอกเขาจะมาตำหนิติเตียนชมเชยสรรเสริญ เขาไม่ได้ไป เราเป็นผู้ยืนยันเป็นผู้จะไป ไปดีไปชั่ว เพราะฉะนั้นให้เชื่อกรรม พระพุทธเจ้า กรรมนี้แหละพาไปดีไปชั่ว ไม่มีอันอื่นอันใดจะพาไปนะ กรรมดีพาไปดีกรรมชั่วพาไปชั่ว ไม่มีอะไรเหนือกรรม

    ในโลกธาตุนี้ไม่มีอะไรเหนือกรรม ท่านจึงแสดงไว้เป็นบทเป็นบาท นตฺถิ กมฺม สมํ พลํ ไม่มีอานุภาพใดที่จะเหนืออานุภาพแห่งกรรมดีกรรมชั่วนี้ไปได้ กรรมดีกรรมชั่วก็คือทำบุญทำบาปนั่นแหละ อันนี้มันติดแนบอยู่กับใจ เพราะฉะนั้นท่านจึงให้ปัดออก อันไหนชั่วมันเป็นภัยต่อเรา ให้ทำกรรมที่ดีขึ้นมาภายในใจตัวเอง แล้วจิตใจจะค่อยสง่างาม ใจดวงนี้ไม่เคยตายนะไม่มีป่าช้า พวกฝังพวกเผาเหล่านี้มีแต่ฝังร่างกายเผาร่างกายทั้งนั้นนะ ใจนี้ไม่เคยได้เผามันละ พอร่างกายนี้แตกปั๊บ จิตดวงนี้ออกแล้ว ถ้ามีบาปบาปดึงไปแล้ว ถ้ามีบุญบุญพาไปแล้ว ไม่เคยตาย

    เพราะฉะนั้น ขึ้นสวรรค์ชั้นพรหมลงมามนุษย์นรกอเวจีนี้ เหมือนขึ้นบันไดลงบันไดสัตว์โลกนะ บุญบาปมันฟัดมันเหวี่ยงกัน ถ้าตอนไหนบาปมีมากมันก็ดึงลง บุญมีมากดึงขึ้นมาๆ เวลามันยังไม่พอตัวมีฟัดมีเหวี่ยงกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้นการขึ้นบนสวรรค์พรหมโลกจนกระทั่งลงไปนรกอเวจีนี้ เป็นเหมือนเราขึ้นบันไดลงบันได สำหรับอัตภาพหนึ่งๆ ที่ตายไปแล้วจิตไม่ตาย จิตดวงนี้แหละ ขึ้นลงๆ ตลอดเวลา พอเรียนวิชาทางธรรมะจิตตภาวนานี้มันรู้หมดจะให้ว่าไง พระพุทธเจ้ารู้หมดจึงมาสอนโลก สอนด้วยความโกหกได้ยังไง นี่แหละเวลาไปเต็มที่ซักฟอกเต็มที่ๆ จนกระทั่งตรัสรู้ผึงดีดถึงเลยไม่ลง นี่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว หมดแล้วเรื่องความเกิด แก่ เจ็บ ตายหมายป่าช้าที่นั่นที่นี่ไม่มีแล้วในพระพุทธเจ้าในพระอรหันต์ ท่านสิ้นสุดลงไปแล้ว ท่านจึงนำเอาธรรมวิเศษนี้มาสอนพวกเรา

    ตายเกิดๆๆ ไม่ใช่ของดี วันนี้ดีวันนั้นชั่วไม่ใช่ของดี ให้มันดีไปเรื่อยๆ ดีวันดีคืนไปเรื่อยด้วยการสร้างความดีของเจ้าของ แล้วเป็นที่แน่ใจจนกระทั่งถึงแน่ใจเลย มีชีวิตอยู่ก็แน่ใจ ดังพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ท่าน ท่านมีชีวิตอยู่นี่ท่านแน่ใจในหัวใจของท่าน ว่าท่านจะไม่เกิดอีกแล้ว มันรู้ประจักษ์อยู่ในใจนั้น ขาดสะบั้นลงหมดแล้ว เรื่องภพชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความสุขความทุกข์ ขาดสะบั้นลงไปหมด เหลือแต่ใจที่บริสุทธิ์ล้วนๆ เป็นธรรมทั้งแท่งแล้ว นั้นแลคือนิพพานเที่ยง อยู่ที่หัวใจดวงนั้นเอง นั่นละ การสร้างบุญสร้างกุศลอย่าพากันประมาทนะ

    เรียนอะไรจะให้ชัดเจนยิ่งกว่าจิตตภาวนาไม่มี เรื่องจิตตภาวนานี้ชัดเจนมากจนกระทั่ง รู้เรื่องของตนว่าบริสุทธิ์หลุดพ้นแล้วรู้ประจักษ์ในใจเลย บุญกุศลทั้งหลายประกอบกันๆ หนุนกันเข้ามา เรื่องการภาวนาเป็นทำนบใหญ่ สายน้ำสายต่างๆ ด้วยอำนาจแห่งการให้ทาน รักษาศีล ภาวนามานานเท่าไร เป็นเหมือนกับสายน้ำไหลเข้ามาสู่ทำนบใหญ่ ทำนบใหญ่ก็คือภาวนา จะรวมยอดแห่งบุญกุศลทั้งหลายเข้าสู่หัวใจด้วยการภาวนา จากนั้นก็จ้าขึ้นๆ เลยนะ พากันจดจำเอานะ

    นี่หลวงจะตายแล้ว พูดนี่นับวันเปิดโลกไปเรื่อยๆ ถ้าเหตุการณ์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องมีหนักเบามากน้อย มันจะออกเองๆ ถ้าไม่มีก็ไม่มี ถ้ามีมันจะออกเองๆ การพูดที่จะให้สะทกสะท้านหวั่นไหวกับสามแดนโลกธาตุนี้บอกได้อย่างเด็ดขาดว่า ไม่มี ว่างั้นเลย ธรรมมียังไงจะก้าวเดินตามธรรมๆ ไม่ว่าหนักว่าเบาจะก้าวเดินตามธรรมทั้งนั้น พอจบแล้วก็หายเงียบไปเลยไม่มีอะไร อย่างนี้ละพากันจำเอานะ ให้เป็นคติเครื่องเตือนใจ

    พวกเราเป็นลูกชาวพุทธลูกศิษย์ตถาคตด้วย เกิดมาเสียภพเสียชาติ ศาสดาองค์เอกสอนธรรมอันเลิศเลอไว้ไม่ยอมเอา ให้กิเลสเหมาเอาไปถลุงหมดมันเสียเปรียบเอาเหลือเกินนะมนุษย์เรา เกิดมาทั้งชาติไม่มีความดีติดตัวเลย เป็นยังไงถามตัวเองบ้างซิ ถามคนอื่นยังถามได้ ถามตัวเองทำไมถามไม่ได้ ความชั่วความดีมีอยู่กับทุกคนพอจะถามได้ ถามทั้งเขาทั้งเราถามทั้งนอกทั้งในได้ ถามเรานี่แหละดี มันได้ข้อคิดได้อุบายวิธีการต่างๆ แล้วอันใดที่ไม่ดีรีบแก้ไขๆ เสียเวลานี้ ตายแล้วจะนิมนต์พระไป กุสลา ธมฺมา อย่ามานิมนต์หลวงตาบัวนะ ไม่ไป ถ้าได้สอนชัดๆ แล้วขนาดนี้นะ นี่สอนวิธี กุสลา ธมฺมา ให้พยายามแก้ไขดัดแปลงตัวเองให้เป็นคนดี นี้คือกุสลา อุบายวิธีการแห่งความฉลาดสอนคนให้ดิบให้ดี นี่ละที่ว่า กุสลา อุบายแห่งความฉลาด

    ตายแล้วจึงมาเคาะโลงโป๊กๆ รับศีลนะพ่อรับศีลนะแม่ มันไม่ได้เรื่อง เวลามีชีวิตอยู่เอาลูกไปยัดใส่มือให้ แล้วเอาหลานไปยัดใส่มือให้ เป็นข้าลูกแล้วก็เป็นข้าหลาน เป็นบ๋อยลูกเป็นบ๋อยหลานไปจนตาย พอตายแล้วจึงไปเคาะโลงโป๊กๆ รับศีลนะพ่อรับศีลนะแม่ ถ้าเป็นหลวงตาบัวจะฟาดเอาโลงตีหน้าผากมัน เวลากูอยู่นั้น สูเอาแต่ลูกแต่หลานมาให้กู เวลากูตายสูมาเคาะหาพ่อหาแม่สูหรือ เข้าใจไหม เราจะตีด้วยนะ อยู่ในโลงจะออกมาตีเสียก่อนถึงจะเข้าโลงใหม่ เข้าใจเหรอ มันโมโห ครั้นเวลายังมีชีวิตอยู่จับลูกจับหลานยัดใส่มือ พ่อแม่เลี้ยงลูกแล้วยังไม่แล้ว ยังเลี้ยงหลาน แล้วเลี้ยงเหลน เลี้ยงอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งวันตายไม่มีวันว่าง พอตายแล้วจึงมาเคาะโลงโป๊กๆ พวกบ้านี่ เอาละพอ เท่านั้นละ ต่อไปนี้จะให้ศีลให้พร



    ที่มา : เฟสบุ๊ค/พุทธธรรมนำใจ/บ้านมหา.คอม

  8. #8
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63

    พุทธธรรมนำใจ

    นรกแตก

    พุทธธรรมนำใจ

    " นรกแตก "
    ( หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี )

    วันนี้จะเทศน์ถึงเรื่องนรกแตกให้ฟัง

    พอพูดถึงนรกใครก็กลัวทุกคน แต่ยังไม่เห็นนรกเลยสักที
    มันไหม้เผาผลาญสัตว์อยู่ตลอดวันตลอดคืน

    นรกไม่ใช่มันจะเรียกเอาตัวของเราไป แต่เราตกไปเองต่างหาก

    เหตุที่จะไม่ให้ตกนรกนั้นมีอยู่ แต่เราไม่มีการป้องกันตัว...

    ...นรกแตก คือว่า ความโกรธ
    ความไม่พอใจมันร้อนเต็มที่แล้ว มันแตกกระจายออกไป
    เห็นสิ่งต่างๆ แล้วไม่พอใจไปทั้งหมด
    วัตถุสิ่งของใดๆ ที่อยู่รอบด้านรอบตัวของเรา เห็นเป็นพิษเป็นสงไปหมด
    ผู้คนต่างๆ ที่อยู่รอบตัวของเรา แม้แต่ญาติมิตร
    พวกพ้องพี่น้องของเรา มีบิดามารดาเป็นต้น ก็เห็นเป็นภัยหมด
    อันนั้นแหละ หม้อนรกแตก

    มันแตกออกมาจากใจ แล้วก็กระจายไปทั่วทุกแห่งหน
    ไหม้ตลอดหมด เรียกว่า นรกแตก
    มันแตกเป็นหม้อเล็กหม้อน้อยออกไป
    นั่นแหละใครไม่รู้จักนรก ให้ดูเสีย ให้เข้าใจเสีย
    นรก คือความโกรธ ความโกรธนี้เมื่อมีในตัวของเราแล้ว
    เราไม่อดกลั้นมันเลยปล่อยกระจายออกภายนอก
    ไหม้เผาผลาญไปทั่วบ้านทั่วเมือง...

    “นรก” เป็นคำบาลี แปลว่า นรชน คือคนเรานี่แหละ
    ทุกๆ คนมีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปดูที่อื่นไกล
    ดูตัวของเราก็แล้วกัน เวลามันโกรธขึ้นมา มันมืดมิดหมดทุกสิ่งทุกอย่าง
    ท่านเรียกว่า นรกโลกันต์ คือมืดมิดหมด ไม่เห็นแสงเห็นแดดอะไรเลย

    ...ท่านสอนให้ดับไฟนรก ต้องเอาที่ต้นตอของมันจริงๆ จังๆ
    ต้นตอของนรกจริง คือ ใจ
    ถ้าเราเห็นใจแล้ว มันไม่มีอะไรหรอก ไฟนรกก็ดับ ความโกรธก็ไม่มี
    เช่นว่า เราโกรธพอกำหนดสติ เห็นใจเราเท่านั้น ความโกรธนั้นหายไปเลย

    ความโลภ ความหลง ความมานะทิฏฐิก็เหมือนกัน
    หากเราเข้าไปเห็นตัวใจแล้ว ของเหล่านั้นดับหายไปหมด

    ใจ คือ ตัวเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปในอดีต
    ในอนาคตไม่คิดนึกอะไร นิ่งเฉยอยู่
    ตัวนั้นแหละเป็นใจ เราดับไฟตรงนั้นเลย
    ไม่ต้องดับที่อื่นไกล ตรงเข้าไปตรงนั้นเลยทีเดียว
    คือ ตรงเข้าถึงใจ ที่มันเป็นกลางนั่นเลย

    แต่มันดับไม่หมดทีเดียวนะ...ไฟอันนั้นพิษมันร้ายแรงมาก
    ท่านหมายถึง ความโกรธนั่นแหละ แม้จะน้อยนิดเดียวก็ตาม
    พอมันโกรธขึ้นมาแล้ว มันอาจจะล้มทุกสิ่งทุกอย่างระเนระนาดได้
    ความโกรธไม่มีตัว ไม่ทราบว่าตั้งอยู่ในสถานที่ใด
    ใครเป็นพ่อเป็นแม่ของมันก็ไม่ทราบ ใครเป็นพี่เป็นน้องมันก็ไม่ทราบ
    แต่มันเกิดขึ้นมาเอง เกิดขึ้นมาแล้วก็ขยายกว้างขวางออกไป
    แพร่พันธุ์ลูกๆ หลานๆ กว้างขวางมาก
    ได้แก่ มานะทิฏฐิ ถือตนถือตัว เกิดอะไรต่างๆ ได้สารพัดทุกอย่าง
    ออกมาจากความโกรธความไม่พอใจทั้งนั้น

    ...อวัยวะ มือ เท้า ฯลฯ มีอยู่ทุกคนนั่นแหละ สามารถที่จะฆ่าจะแกงเขาได้
    แต่ว่าเราระมัดระวัง สังวร สำรวมกาย วาจา ใจ จึงไม่สามารถที่จะทำเขาได้
    ไม่สามารถที่จะฆ่าจะแกงเขาได้ กิเลสอันนั้น ถ้าเอาออกมาใช้เมื่อไร
    ก็ใช้ได้เหมือนกันมันเหมือนเก่านั่นแหละ แต่ท่านผู้วิเศษทั้งหลายท่านไม่ใช้
    กิเลสยังอยู่เท่าเก่า หู ตา จมูก ลิ้น กาย มันก็ยังอยู่เท่าเก่า
    มันประสบพบเห็นสิ่งต่างๆ ก็เท่าเก่านั่นแหละ
    ไม่ใช่ท่านไม่มีหู ไม่มีตา ไม่มีแขน ไม่มีอวัยวะต่างๆ
    ท่านมีเหมือนกันกับพวกเราแต่ท่านเป็นผู้สำรวมแล้ว ท่านระวังแล้วตลอดเวลา

    เหตุนั้นพวกเราฝึกหัดปฏิบัติอยู่นี่ ก็ปฏิบัติเพื่อให้มันชำนิชำนาญ
    ในเรื่องการสำรวมระวังเมื่อมีอะไรมากระทบเข้าเพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อน
    เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นมาได้
    ไม่ให้มันขุ่นขึ้นมานั่นเอง ให้มันใสแจ๋วอยู่ตลอดเวลา
    มันจึงจะพ้นจากทุกข์ พ้นจากนรก

    ถ้ามีอะไรมากระทบปั๊บเวลาใด เกิดขุ่นมัวขึ้น
    เกิดประหัตประหาร ฆ่าฟันกันด้วยประการต่างๆ
    เกิดด่าเกิดว่ากันขึ้น มันเป็นเหตุให้เดือดร้อนทั้งต้นและคนอื่น
    เหตุนั้นจึงควรระวังทุกๆ คน เป็นมนุษย์อยู่หมู่มากด้วยกัน มันต้องมีการกระทบ
    จะอยู่บ้านหรืออยู่ที่ไหนก็ตามเถิด ให้คอยระวังอยู่ตลอดเวลา
    การระวังสังวร พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พากันทำให้นักหนา
    ให้พากันรักษานักหนา

    ...พระพุทธเจ้าก็ตรัสเทศนาเหมือนกัน
    ความอดกลั้น เป็นตปะอย่างยิ่ง คือ ระงับดับกิเลสได้

    ทางโบราณท่านสอนว่า ก่อนจะทำอะไรลงไปให้นับสิบเสียก่อน

    ทีนี้มันไม่ทันนับสิบน่ะซิ มันออกไปก่อน
    วาจามันเร็วที่สุด ใจยังเร็วกว่านั้นอีก
    มันอยากจะพูดซ้อนๆ กัน 2-3 คำ นั่นน่ะ ตรงที่มันออกไปไม่ทันใจ
    พอพูดหยาบคายออกไปแล้วมันก็เป็นเหตุให้ร้อนแล้วทีนี้
    เราน่ะร้อนกว่าคนอื่นเสียด้วยซ้ำ

    นี่แหละ นรก ไม่ใช่อื่นไกล
    ระงับดับนรกตรงนี้ได้แล้ว มันอยู่สบาย ไม่ต้องไประงับดับที่อื่น

    ที่ว่านรกอยู่ใต้ดินนั้น ที่จริงแล้วไม่ใช่หรอก
    ความเลวทราม ความต่ำช้าของจิตใจนั่นมันต่ำ
    เขาจึงเรียกว่าอยู่ใต้ดิน จึงว่านรกอยู่ใต้ดิน พูดถึงนรกก็ชี้ลงไปข้างล่างที่ดินเลย

    ส่วนจิตใจที่ดีงาม มันเบา มันสูง เขาจึงเรียกว่า ขึ้นสวรรค์
    มันสูงจึงอยู่ข้างบน พูดถึงสวรรค์ก็ชี้ขึ้นไปข้างบน

    อันความเป็นจริงแล้ว นรก สวรรค์ อยู่ที่ตัวของเรานี่แหละ

    นรก แปลว่า นรชน นรชนมีในที่ใด นรกมีในที่นั้น ไม่ต้องไปหาที่อื่น
    ไปหาที่อื่นไม่เห็นหรอก จะไปหาที่ไหนๆ ก็ไม่เห็น มันอยู่ในตัวคนนี่ทั้งนั้น
    ครั้นตัวของเราไม่เป็นนรกแล้ว ก็หมดเรื่อง นรก ใต้ดินก็ไม่มีนรก

    วันนี้อธิบายเท่านี้ละ เอวํฯ


    *********************************

    สงคราม

    เทศนาวันนี้จะกล่าวถึงเรื่อง สงคราม
    ขอให้เข้าใจคำว่า “สงคราม” กันเสียก่อน

    การทะเลาะวิวาทกัน จะด้วยความคิดเห็นไม่ลงรอยกัน
    หรือด้วยอำนาจความเป็นใหญ่เป็นโตกันก็ตาม
    แม้ที่สุดชิงรักหักสวาทกันเป็นต้น แล้วเกิดขัดแย้งกันทะเลาะวิวาทกัน
    ในระหว่างคน 2 คน หรือ 2 ฝ่าย 2 คณะก็ดี
    ถ้าเพียงแต่ทะเลาะกันด้วยวาจา เรียกว่า สงครามปาก

    ถ้าโต้กันด้วยภาษาหนังสือ เรียกว่า สงครามปากกา

    ถ้าลงได้ใช้หมัดใช้มือ เรียกว่า สงครามกีฬา

    ถ้าลงได้ใช้ศัสตราวุธ เรียกว่า สงครามประหาร

    ถ้ายกกองทัพกองพลเข้าใส่กัน เรียกว่า ยุทธสงคราม

    ถ้าในระหว่างคู่รัก เรียกว่า สงครามรักสงครามสวาท

    เหล่านี้เป็นต้น เรียกว่า สงคราม

    ความประสงค์ก็คือ ต้องการความเป็นใหญ่ เป็นอิสระ
    อยากให้ได้ดังใจของตนแต่ฝ่ายเดียว

    ตามหลักพระพุทธศาสนาท่านสอนว่า เป็นกิเลสอย่างต่ำ
    ถึงชนะก็เป็นเหตุให้ก่อเวร ผู้แพ้อยู่เป็นทุกข์
    ชนะและแพ้ไม่มีการสิ้นสุดลงไปได้
    จึงสมกับพุทธภาษิตที่ว่า โย สหสฺสธ สหสฺเสน สงฺคาเม มานุเส ชิเน

    แปลใจความว่า การทำสงครามทั้งหลาย มีการทำเพื่อชิงอำนาจเป็นต้น
    มิใช่เป็นการชิงชัยเอาความดีความเด่นที่แท้จริงแต่เป็นความเด่นที่ด้อยเกียรติ
    และมีแผลเน่าติดไปด้วย เพราะเหตุเอาชนะเขาด้วยความโหดร้าย ไม่ยุติธรรม
    ใช้กำลังกิเลสเป็นผู้บัญชาการ ขาดเมตตาพรหมวิหารอันเป็นมนุษยธรรมเสียฉะนั้น
    ความชนะนั้นจึงเป็นความชนะที่หลั่งด้วยโลหิต มีแต่ปัจจามิตร ข้าศึกอยู่รอบด้าน

    ในทางพระพุทธศาสนามิได้ชมว่าเป็นผู้ได้ชัยชนะที่ประเสริฐ
    เพราะเป็นชัยชนะที่ใช้อาวุธเป็นอำนาจเหนือกองเลือดของผู้แพ้
    มิได้ทำให้หัวใจเขายอมแพ้ไปตาม วันหนึ่งข้างหน้าอาจจะมีการก่อเวร
    โดยความพยาบาทของผู้แพ้ ฉะนั้น ถึงจะชนะหมู่ชุมชนจำนวนพัน
    ก็ไม่เป็นของประเสริฐอะไรเลย ยิ่งชนะมากก็ยิ่งจะมีแต่เวรภัยมากขึ้นเป็นเงาตามมา

    เอกญฺจ เชยฺยมตฺตานํ ส เว สงฺคาม ชุตฺตโมติฯ
    การชนะคนคนเดียว (คือตน) เสียได้แล้ว เป็นการชนะอย่างสูงสุด

    การชนะคนคนเดียว (คือตน) เสียได้แล้ว เป็นการชนะอย่างสูงสุด
    แม้ในหมู่เทวดาและมนุษย์ก็ย่อมนับถือว่าเป็นผู้ประเสริฐ
    เพราะทุกๆ คนเมื่อเอาชนะตนได้แล้ว
    การทำสงครามกับคนอื่น หรือหมู่คณะอื่น ตลอดถึงประเทศชาติอื่นก็จะไม่เกิดขึ้น

    สงครามเกิดขึ้นทั่วมุมโลกอยู่ทุกวันนี้ ก็เกิดจากคนคนเดียว
    แล้วจึงรุกรานไปถึงหมู่คณะ และประเทศชาติเป็นลำดับ

    สงครามทั้งหลายภายนอกที่เกี่ยวเนื่องบุคคลอื่น และสิ่งอื่นเป็นต้น
    ถึงจะเกิดมีขึ้นก็เป็นบางครั้งบางคราว แต่สงครามภายในตัวของเรานี้
    เกิดขึ้นรบกันอยู่ทุกๆ วินาที หากเราเอาชนะมันไม่ได้
    จะยังเป็นทุกข์ซ้ำร้ายกว่าการแพ้สงครามภายนอกนั้นเสียอีก

    สงครามภายในของเรามันมีมากหลายอย่าง เมื่อสรุปแล้วมีถึง 5 กองพลด้วยกัน
    คือ กองพลโลภ กองพลโกรธ กองพลหลง กองพลมานะ และกองพลทิฏฐิ

    กองพลเหล่านี้ขึ้นอยู่กับทัพกามทัพเดียว

    การเอาชนะสงครามภายในไม่ต้องใช้อาวุธ แต่ใช้ปัญญาเป็นอาวุธ
    ด้วยการพิจารณาให้เห็นโทษ แล้วยอมสละโดยไม่มีอาลัย ...

    ...พระพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาแก่สัตว์หาประมาณมิได้
    ได้ทรงพิจารณาเห็นชัดแจ้งด้วยพระปัญญาว่า สงครามดังกล่าวมาแล้วนั้น
    หากโลกอันนี้มีอยู่ตราบใด การแพ้การชนะย่อมมีอยู่ตราบนั้น
    นอกจากจะเอาชนะตนเองเท่านั้น จึงได้ตรัสเป็นพุทธพจน์ว่า


    เอกญฺจ เชยฺยมตฺตานํ ส เว สงฺคาม ชุตฺตโม
    แปลว่าการชนะคนคนเดียว (คือตน) ได้ ประเสริฐกว่า ดังนี้

    สงครามอะไรๆ ก็ตาม
    ดังอธิบายมาแล้วข้างต้นย่อมเกิดขึ้นจากบุคคลคนเดียวคือ ตัวของเราเอง

    หากตัวของเราชนะตัวของเราได้แล้ว สงครามเหล่านั้นย่อมสงบไปเอง

    สงครามที่เกิดในตัวของเราแต่ละคนนี้มากเหลือเกิน
    หากจะพรรณนาก็ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อสรุปแล้วมี 5 กอง
    ดังที่กล่าวมา คือ โลภ โกรธ หลง มานะ ทิฏฐิ
    แต่ทั้ง 5 กองพลนี้สังกัดอยู่ในกองทัพกาม
    เพราะกามภูมิเป็นเสมือนสมรภูมิของนักรบ
    ผู้จะได้ชัยชนะหรือแพ้ต่อสงครามภายในของตนเองจะต้องลงสู่สมรภูมิทั้งนั้น

    เราจะเห็นได้ว่า ผู้ชนะชั้นแรกของสงครามได้
    คือ ฌานสมาธิ ต้องละนิวรณ์ 5 ตัวต้น ก็คือกามนี้

    สงคราม 5 กองพลนี้ ผู้ที่ได้ชัยชนะแล้ว หรือกำลังต่อสู้กันอยู่ก็ดี
    หรือพ่ายแพ้ไปแล้วก็ดี เมื่อต้องการทราบวิธีของมัน พึงสังเกตดังนี้

    กองพลที่ 1 ความโลภ
    เมื่อเราหยิบยกสิ่งของอันใดให้เพื่อเป็นทานแก่คนอื่น
    ทั้งๆ ที่เห็นคุณประโยชน์อยู่ดีๆ
    แต่เมื่อจะให้กันจริงจัง มันชักให้พะวงหน้าพะวงหลัง
    เห็นเป็นของมากไปบ้าง เห็นผู้รับไม่ดีพอคุ้มค่าสิ่งของที่ตนจะให้ไปบ้าง
    เสียดายเอาไว้ให้คนผู้ที่ตนรักใคร่นับถือ และอะไรต่ออะไรวุ่นไปหมด
    เมื่อไม่มีปัญญาสามารถที่จะตัดสินใจให้ได้ ก็ต้องยอมแพ้ต่อความขี้โลภขี้เหนียว

    แต่ผู้เอาชนะมันได้แล้ว การทำทานเห็นเป็นของสนุก
    และให้ทานไม่รู้จักอิ่ม มีน้อยให้น้อย มีมากให้มาก
    และให้โดยความภูมิใจอย่างคนไม่รู้จักจน...

    กองพลที่ 2 ความโกรธ
    คนเราตกลงได้โกรธแล้ว เข้าตำราว่า “เห็นช้างตัวเท่าหมู”
    ทุกสิ่งทุกอย่างเห็นสู้ตนไม่ได้ เราต้องเหนือคนอื่นทั้งหมด
    ผู้ถูกความโกรธเข้าครอบงำแล้ว มีแต่จะขยี้บุคคล หรือแม้แต่วัตถุสิ่งของนั้น
    ให้แหลกเป็นจุณไปอย่างเดียว
    เมื่อทำอย่างนั้นไม่สำเร็จตามประสงค์แล้ว จะย้อนมาเล่นงานกับตัวเอง

    ความโกรธเป็นเหมือนกับไฟไหม้บ้าน ดับไม่ทัน
    มิใช่จะเสียหายแต่เฉพาะหลังแรกที่ติดไฟเท่านั้น
    แต่จะต้องลุกลามไปทำความฉิบหายให้แก่เพื่อนบ้านด้วย

    กองพลที่ 3 ความหลง ไม่รู้จักผิด ไม่รู้จักถูก
    หลงกลับตาลปัตรกันไปหมด เห็นดีเป็นร้าย เห็นร้ายเป็นดี
    เห็นคุณเป็นโทษ เห็นโทษเป็นคุณ จะเอาอะไรเป็นสาระมิได้
    มีแต่สาละวนครุ่นคิด ไม่รู้ว่าทิศเหนือทิศใต้
    เหมือนคนหลงทางในป่าลึก มองดูอะไรเห็นของละม้ายคล้ายคลึงกันไปหมด
    ตกลงนั่งทอดถอนหายใจใหญ่ ซบเซาอยู่แต่คนเดียว

    กองพลที่ 4 มานะ
    คือความถือตัวว่าตนดีตนเก่งกว่าคนอื่น
    หรือเทียบเท่าคนที่เขาว่าเก่งๆ ที่สุด
    หรือเก่งกล้าสู้เขาไม่ได้ด้วยเหตุผลที่ประจักษ์อยู่
    แต่มานะว่า ตนเก่งด้วยน้ำใจซึ่งคนอื่นสู้ตนไม่ได้

    ตกลงว่าไม่ยอมแพ้คนอื่น แพ้ทางกำลังกาย
    จะต้องเอาชนะด้วยวาทะโต้เถียง แพ้ด้วยวาทะ
    จะต้องเอาชนะด้วยน้ำใจตกลงไม่ยอมแพ้ใครๆ ทั้งนั้น
    ยากแท้ คนชนิดนี้ตกอยู่ในสังคมใดแล้วแย่ทุกแห่งๆ

    กองพลที่ 5 ทิฏฐิ
    ได้แก่ความเห็นดิ่งลงไปในทางที่ผิดคิดเอาแต่ความเห็นของตัวเอง
    ไม่ฟังมติ ไม่ฟังเหตุผลของคนอื่นดื้อรั้นแม้แต่สิ่งนั้นๆ
    เมื่อทำลงไปแล้ว จะนำมาซึ่งโทษทุกข์ในปัจจุบันก็ไม่ยอมสละ

    เข้าทำนองที่ว่า สุนัขจิ้งจอกหางด้วน เพราะไปขโมยไก่เขา
    ถูกเขาตัดหางแล้วนำมาอวดเพื่อน
    ผลที่สุดเพื่อนเขารู้ทันถูกเขาเย้ยหยันต้องได้รับความอับอาย

    ทั้ง 5 กองพลนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงให้พวกเราต่อสู้
    เพื่อเอาชนะมันด้วยกลยุทธ์ต่างๆ กันดังนี้

    เอาชนะความโลภด้วยการจำแนกแจกปัน
    จนให้ชินต่อความเป็นผู้มีใจกว้างขวาง
    อาจได้ประสบอารมณ์ที่พึงพอใจจากบุคคลที่ได้รับแบ่งปันคนใดคนหนึ่ง
    ต่อนั้นไปก็จะเห็นคุณประโยชน์ในการทำงาน

    หรือจะเอาชนะความโลภขี้เหนียวของคนอื่น
    ก็ต้องด้วยการสละของส่วนตัวเสียก่อน
    แล้วเขาจึงจะค่อยคลายความโลภขี้เหนียวลงได้
    ความโลภเปรียบเหมือนลมที่เขาอัดเข้าไปในกระบอก
    หากไม่ระบายออกบ้าง มันอาจเกิดระเบิดขึ้นได้
    คือ ความกลุ้มใจ ถึงกับทำอัตวินิบาต ฆ่าตัวตาย

    เอาชนะความโกรธ เบื้องต้นได้ด้วยความอดกลั้น
    ถ้าอดกลั้นไม่อยู่ ต้องเพ่งถึงความดีของบุคคลที่เราโกรธนั้น
    จนให้เกิดความเมตตาสงสารเขา ผลที่สุดก็จะหายโกรธ

    ถ้าเอาชนะความโกรธของคนอื่น
    ก็ต้องด้วยความไม่โกรธตอบเขาเช่นเดียวกัน
    แล้วพยายามหาโอกาสทำดีต่อเขา ในเวลาที่เหมาะที่ควร
    เขาก็จะหายโกรธไปเอง

    เอาชนะความหลง ด้วยการตรึกตรองถึงเหตุผล
    แล้วเข้าศึกษากับผู้รู้ตลอดถึงดูตำรา
    อันเป็นเครื่องนำทางให้เกิดปัญญาความฉลาด

    เอาชนะความหลงของผู้อื่น ก็ทำนองเดียวกัน
    คือ ชี้เหตุผลข้อเท็จจริง จนเขาเห็นด้วย
    แล้วก็อย่าใช้ความผลุนผลันพลันแล่น
    จงใช้ความพยายามทำให้สมกับอัธยาศัยของเขา
    ผู้ที่เราจะทำให้เขาเข้าใจในเหตุผลนั้น


    เอาชนะความมานะด้วยการยอมถ่อมตัว
    อย่าถือว่าตนเก่งเสมอไป ยอมรับเอาความคิดเห็นของคนอื่น
    มาไว้คิดค้นพิจารณา เพราะคนเราแต่ละคนมิใช่ดีพร้อมด้วยกันทั้งหมด
    อาจจะดีไปคนละอย่าง และถูกไปคนละแง่
    ทุกๆ คนทำพูด คิดอะไรลงไป ก็เข้าใจด้วยมานะของตนเองว่า
    สิ่งนั้นดีแล้วถูกแล้วจึงทำ พูด คิด แต่สิ่งนั้นก็ยังไม่ดีไม่ถูกอยู่นั่นเอง
    ฉะนั้นมานะที่ขาดความรอบคอบจึงใช้ไม่ได้

    เอาชนะทิฏฐิ ด้วยการพิจารณาในเหตุผลนั้นๆ
    เหมือนกันถ้ามิฉะนั้นแล้วความเห็นก็จะดิ่งลงไปรั้นอยู่อย่างนั้น
    หรือบางทีวิจารณ์ในเหตุผลนั้นๆ เห็นตามเป็นจริงว่าผิดถูกอย่างไรแล้ว
    ถ้าเป็นสิ่งที่ตนเคยทำมาแล้ว
    ถึงแม้ผิดไม่ดีก็ไม่ยอมละ เอามานะเข้าไปใช้อีกกองหนึ่งก็มี

    แม่ทัพใหญ่คือ กาม เราจะเอาชนะมันได้
    ต้องใช้ภาวนาปรารภความเสื่อมความดับของอัตภาพสังขารร่างกายอันนี้
    ซึ่งเกิดมาจากกามกิเลส ตั้งอยู่แล้วในกามภูมิ
    ไหลเข้าไปแล้วในกระแสของกามคุณ 5

    มีกามคุณ 5 เป็นแม่ทัพบัญชาการให้เกิดโลภ โกรธ หลง มานะ ทิฏฐิ
    ทำทารุณกรรมย่ำยีมนุษย์และสัตว์ในโลกนี้ไม่เลือกหน้า

    เมื่อภาวนาเห็นแจ้งด้วยอำนาจจิตสงบ
    เข้าถึงฌานสมาธิแล้วมีความเบื่อหน่ายคลายจากกามฉันทะ
    ก็จะเข้าไปต่อสู้กับแม่ทัพให้อัปราชัยไปในที่สุด

    เมื่อสรุปแล้วได้ความว่า การชิงชัยระหว่างกันเรียกว่า สงคราม สงครามมี 2 อย่าง คือ

    สงครามภายนอก รบกันเป็นครั้งคราว ถึงแม้ชนะแล้วก็อาจแพ้อีก 1

    สงครามภายใน ได้แก่ กิเลสที่เกิดขึ้นในตัวของเราต้องรบกันอยู่ตลอดเวลาไม่มีที่สิ้นสุด
    เมื่อชนะแล้วเป็นอิสระไม่เป็นอาณานิคมของใคร

    ในพวกเราที่มานั่งพร้อมกันอยู่ ณ ที่นี้ ใครได้ชัยชนะแล้วหรือยัง
    จงพากันตรวจดูตัวของตัวเอง
    หากยังไม่ได้ชัยชนะเมื่อว่าต้องการอิสระเป็นไทแก่ตัวแล้ว
    ขอได้ออกสู้สงครามตามตำรายุทธศาสตร์
    ที่พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงไว้แล้ว ก็จะสำเร็จตามความปรารถนา

    แสดงมา เอวํ ด้วยประการฉะนี้ฯ


    ที่มา : เฟสบุ๊ค/พุทธธรรมนำใจ/บ้านมหา.คอม

  9. #9
    เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สัญลักษณ์ของ เเมงสะดิ้ง
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    ที่อยู่
    ที่ชอบ
    กระทู้
    1,025
    บล็อก
    24
    น้อมโมทนาสาธุกับธรรมนี้ด้วยค่ะ
    (^_^)
    สะดิ้งคือน้องได้ยินเสียงฆ้องกะแล่นตำ

  10. #10
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม สัญลักษณ์ของ บ่าวชัยภูมิ
    วันที่สมัคร
    May 2007
    กระทู้
    473
    เป็นที่ได้ยินแล้ว ที่สวรรค์อยู่อกนรกอยู่ในใจ

หน้าที่ 1 จากทั้งหมด 2 หน้า 12 หน้าสุดท้ายหน้าสุดท้าย

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •