กำลังแสดงผล 1 ถึง 2 จากทั้งหมด 2

หัวข้อ: บทสวดคำขอบวชอุปสมบทแบบมหานิกาย

  1. #1
    ดูแลตรวจสอบเนื้อหา สัญลักษณ์ของ ญา ทิวาราช
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    825
    บล็อก
    17

    บ้านมหาโพสต์ บทสวดคำขอบวชอุปสมบทแบบมหานิกาย

    ต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้จะบวชได้แก่



    ๑.เป็นคนทำความผิด หลบหนีอาญาแผ่นดิน
    ๒.เป็นคนหลบหนีราชการ
    ๓.เป็นคนต้องหาในคดีอาญา
    ๔.เป็นคนเคยถูกตัดสินจำคุกฐานเป็นผู้ร้ายสำคัญ
    ๕.เป็นคนถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดทางพระศาสนา
    ๖.เป็นคนมีโรคติดต่ออันน่ารังเกียจ เช่น วัณโรคในระยะอันตราย
    ๗.เป็นคนมีอวัยวะพิการจนไม่สามารถปฏิบัติกิจพระศาสนาได้


    การเตรียมตัวก่อนบวช

    ผู้จะบวชเรียกว่า อุปสัมปทาเปกข์ หรือ นาค ซึ่งต้องท่องคำบาลีหรือที่เรียกกันว่าขานนาคให้คล่องเพื่อใช้ในพิธี โดยต้องฝึกซ้อมกับพระอาจารย์ให้คล่องก่อนทำพิธีบวชเพื่อจะได้ไม่เคอะเขิน


    เครื่องอัฏฐบริขารและเครื่องใช้อื่นๆ ที่ควรมีหรือจำเป็นต้องใช้

    ได้แก่
    ๑.ไตรครอง ได้แก่ ...สบง ๑ ประคตเอว ๑ อังสะ ๑ จีวร ๑ สังฆาฏิ ๑ ผ้ารัดอก ๑ ผ้ากราบ ๑
    ๒.บาตร แบบมีเชิงรองพร้อมด้วยฝา ถลกบาตร สายโยค ถุง ตะเคียว
    ๓.มีดโกน พร้อมทั้งหินลับมีดโกน
    ๔.เข็มเย็บผ้า พร้อมทั้งกล่องเข็มและด้าย
    ๕.เครื่องกรองน้ำ (ธมกรก)
    ๖.เสื่อ หมอน ผ้าห่ม มุ้ง
    ๗.จีวร สบง อังสะ ผ้าอาบ ๒ ผืน (ไตรอาศัย)
    ๘.ตาลปัตร ย่าม ผ้าเช็ดหน้า ร่ม รองเท้า
    ๙.โคมไฟฟ้า หรือตะเกียง ไฟฉาย นาฬิกาปลุก
    ๑๐.สำรับ ปิ่นโต คาว หวาน จานข้าว ช้อนส้อม ผ้าเช็ดมือ
    ๑๑.ที่ต้มน้ำ กาต้มน้ำ กาชงน้ำร้อน ถ้วยน้ำร้อน เหยือกน้ำและแก้วน้ำเย็น กระติกน้ำแข็ง กระติกน้ำร้อน
    ๑๒.กระโถนบ้วน กระโถนถ่าย
    ๑๓.ขันอาบน้ำ สบู่และกล่องสบู่ แปรงและยาสีฟัน ผ้าขนหนู กระดาษชำระ
    ๑๔.สันถัต (อาสนะ)
    ๑๕.หีบไม้หรือกล่องเก็บสำหรับเก็บไตรครอง

    ข้อที่ ๑-๕ เรียกว่าอัฏฐบริขารซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดเสียมิได้ มีความหมายว่า บริขาร ๘ แบ่งเป็นผ้า ๕ อย่างคือ สบง ๑ ประคตเอว ๑ จีวร ๑ สังฆาฏิ ๑ ผ้ากรองน้ำ ๑ และเหล็ก ๓ อย่างคือ บาตร ๑ มีดโกน ๑ เข็มเย็บผ้า ๑ นอกจากนั้นก็แล้วแต่ความจำเป็นในแต่ละแห่งและกำลังทรัพย์


    ของที่ต้องเตรียมใช้ในพิธีคือ

    ๑.ไตรแบ่ง ได้แก่ สบง ๑ ประคตเอว ๑ อังสะ ๑ จีวร ๑ ผ้ารัดอก ๑

    ผ้ากราบ ๑
    ๒.จีวร สบง อังสะ (ไตรอาศัยหรือสำรอง) และผ้าอาบ ๒ ผืน
    ๓.ย่าม ผ้าเช็ดหน้า นาฬิกา
    ๔.บาตร แบบมีเชิงรองพร้อมด้วยฝา
    ๕.รองเท้า ร่ม
    ๖.ที่นอน เสื่อ หมอน ผ้าห่ม มุ้ง (อาจอาศัยของวัดก็ได้)
    ๗.จานข้าว ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดมือ ปิ่นโต กระโถน
    ๘.ขันน้ำ สบู่ กล่องสบู่ แปรง ยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว
    ๙.ธูป เทียน ดอกไม้ (ใช้สำหรับบูชาพระรัตนตรัย)
    ๑๐.ธูป เทียน ดอกไม้ *(อาจใช้แบบเทียนแพรที่มีกรวยดอกไม้ก็ได้ เอาไว้ถวายพระอุปัชฌาย์ผู้ให้บวช)
    *อาจจะเตรียมเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมสำหรับถวายพระอุปัชฌาย์และพระในพิธีนั้นอีกรูปละหนึ่งชุดก็ได้ ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์และศรัทธา


    คำขอขมาบิดา มารดา และญาติผู้ใหญ่เพื่อลาบวช

    "กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่ข้าพเจ้าได้เคยประมาทล่วงเกินท่านต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดีทั้งตั้งใจก็ดี มิได้ตั้งใจก็ดี ขอให้ท่านจงอโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้านับแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนตราบเท่านิพพานเทอญ"

    สถานที่ทำพิธี คือ โรงอุโบสถ ประชุมสงฆ์ ๒๘ รูป

    มีพระอุปัชฌาย์ ๑ พระกรรมวาจาจารย์ ๑ พระอนุสาวนาจารย์ ๑ (สองรูปหลังนี้เรียกว่าพระคู่สวด) อีก ๒๕ รูป เรียกวาพระอันดับ (๑๐ รูปขึ้นไป ไม่ถึง ๒๕ รูปก็ใช้ได้)



    การบวชนาคและแห่นาค

    ไตรวางไว้บนพานแว่นฟ้า บาตร สวมอยู่ในถุงตะเครียว ภายใน
    บาตรใส่มีดโกนพร้อมด้วยหินลับมีดโกนเข็มพร้อมทั้งกล่องเข็มและด้าย และเครื่องกรองน้ำ นอกจากนั้นยังนิยมใส่พระเครื่องรางต่าง ๆ ลงในบาตร เพื่อปลุกเสกให้ขลังขึ้นอีกด้วย


    การจัดกระบวนแห่ประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้ คือ
    - หัวโต หรือห้วสิงโต (มีหรือไม่ก็ได้)
    - แตร หรือ เถิดเทิง (มีหรือไม่ก็ได้)
    - ของถวายพระอุปัชฌาย์ และพระคู่สวด
    - ไตรครอง ซึ่งมักจะอุ้มโดยมารดาหรือบุพการีของผู้บวช (มีสัปทนกั้น)
    - ดอกบัว ๓ ดอก ธูป ๓ ดอก เทียน ๒ เล่ม ให้ผู้บวชพนมมือถือไว้ (มีสัปทนกั้น)
    - บาตร และตาลปัตร จะถือและสะพายโดยบิดาของผู้บวช
    - ของถวายพระอันดับ (จำนวน...กี่รูป)
    - บริขารและเครื่องใช้อย่างอื่นของผู้บวช


    เมื่อจัดขบวนเรียบร้อยแล้วก็เคลื่อนขบวนเข้าสู่พระอุโบสถ เวียนขวารอบนอกขันธสีมา จนครบ ๓ รอบ

    ก่อนจะเข้าโบสถ์ก็ต้องวันทาเสมาหน้าพระอุโบสถเสียก่อนว่า ..

    วันทามิ อาราเม พัทธะ เสมายัง โพธิรุกขัง เจติยัง สัพพะ เม โทสัง ขะมะถะ เม ภันเต

    เมื่อเสร็จแล้วก็โปรยทานก่อนเข้าสู่พระอุโบสถโดยให้บิดามารดาจูงติดกันไป อาจจะอุ้มข้ามธรณีประตูไปเลยก็ได้ เสร็จแล้วผู้บวชก็ไปกราบพระประธานด้านข้างพระหัตถ์ขวาขององค์พระ รับไตรครองจากมารดาบิดา จากนั้นจึงเริ่มพิธีการบวช





    บทสวด พิธีบวชแบบมหานิกาย (อุกาสะ)

    ขั้นตอนและบทที่ต้องท่องจำในพิธีบวชแบบมหานิกาย (อุกาสะ)
    รับผ้าไตรอุ้มประนมมือแล้วเดินเข้าไปในที่ประชุมสงฆ์ในพิธี (สังฆนิบาต) แล้ววางผ้าไตรไว้ข้างตัวด้านซ้าย รับเครื่องสักการะถวายพระอุปัชฌาย์ กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง แล้วอุ้มผ้าไตรประนมมือยืนขึ้นเปล่งวาจาขอบรรพชาว่า

    อุกาสะ วันทามิ ภันเต
    สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต
    มะยา กะตัง ปุญญัง สามินา อะนุโมทิตัพพัง
    สามินา กะตัง ปุญญัง มัยหัง
    ทาตัพพัง สาธุ สาธุ อะนุโมทามิ
    อุกาสะ การุญญัง กัตตะวา ปัพพัชชัง เทถะ เม ภันเต
    (นั่งคุกเข่าลง แล้วประนมมือว่า)
    อะหัง ภันเต ปัพพัชชัง ยาจามิ
    ทุติยัมปิ อะหัง ภันเต ปัพพัชชัง ยาจามิ
    ตะติยัมปิ อะหัง ภันเต ปัพพัชชัง ยาจามิ

    (กล่าว ๓ ครั้งว่า)
    สัพพะทุกขะ นิสสะระณะนิพพานะ สัจฉิกะระณัตถายะ
    อิมัง กาสาวัง คะเหตะวา ปัพพาเชถะ มัง ภันเต
    อะนุกัมปัง อุปาทายะ
    (เสร็จแล้วพระอุปัชฌาจะมารับผ้าไตร แล้วว่าต่อไป)

    (กล่าว ๓ ครั้งว่า)
    สัพพะทุกขะ นิสสะระณะนิพพานะ สัจฉิกะระณัตถายะ
    เอตัง กาสาวัง ทัตตะวา ปัพพาเชถะ มัง ภันเต
    อะนุกัมปัง อุปาทายะ

    พระอุปัชฌาย์ให้โอวาทและบอก ตะจะปัญจะกะ กัมมัฏฐาน แล้วให้ว่าตามไปทีละบท

    โดยอนุโลม (ไปข้างหน้า) และปฏิโลม (ทวนกลับ) ดังนี้
    เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ (อนุโลม)
    ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกสา (ปฏิโลม)

    พระอุปัชฌาย์ชักอังสะออกจากไตรมาสวมให้ผู้บวช แล้วสั่งให้ออกไปครองผ้าครบไตรจีวรตามระเบียบ ครั้นเสร็จแล้วรับเครื่องไทยทานเข้าไปหาพระอาจารย์ ถวายท่านแล้วกราบ ๓ ครั้ง ยืนประนมมือเปล่งวาจาขอสรณะและศีลดังนี้

    อุกาสะ วันทามิ ภันเต
    สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต
    มะยา กะตัง ปุญญัง สามินา อะนุโมทิตัพพัง
    สามินา กะตัง ปุญญัง มัยหัง ทาตัพพัง
    สาธุ สาธุ อะนุโมทามิ

    อุกาสะ การุญญัง กัตตะวา
    ติสะระเณนะ สะหะ
    สีลานิ เทถะ เม ภันเต

    (นั่งคุกเข่าขอสรณะและศีลดังต่อไปนี้)
    อะหัง ภันเต สะระณะสีลัง ยาจามิ
    ทุติยัมปิ อะหัง ภันเต สะระณะสีลัง ยาจามิ
    ตะติยัมปิ อะหัง ภันเต สะระณะสีลัง ยาจามิ

    (พระอาจารย์กล่าวคำนมัสการให้ผู้บรรพชาว่าตามดังนี้)
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)

    พระอุปัชฌาย์จะกล่าวว่า เอวัง วะเทหิ หรือ ยะมะหัง วะทามิ ตัง วะเทหิ
    ให้รับว่า อามะ ภันเต แล้วท่านจะว่านำสรณคมน์ก็ให้ว่าตามดังนี้

    พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
    ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
    สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
    ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
    ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
    ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
    ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
    ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
    ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

    พอจบแล้วทางพระอุปัชฌาย์จะบอกว่า ติสะระณะคะมะนัง นิฏฐิตัง ก็ให้รับว่า อามะ ภันเต ต่อจากนั้นก็สมาทานสิกขาบท ๑๐ ประการโดยว่าตามท่านไปเรื่อยๆ ดังนี้

    ปาณาติปาตา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ
    อทินนาทานา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ
    อะพรหมจริยา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ
    มุสาวาทา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ
    สุราเมรยะมัชชะปมาทัฏฐานา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ
    วิกาละโภชนา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ
    นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสนา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ
    มาลาคันธะวิเลปะนะธารณะมัณฑนะวิภูสะนัฏฐานา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ
    อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ
    ชาตะรูปะ ระชะตะ ปฏิคคหณา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ

    (พระจะกล่าว ๓ ครั้งว่า)
    อิมานิ ทะสะ สิกขาปะทานิ สมาทิยามิ
    (เสร็จแล้วพึงกราบลง ๑ หน แล้วยืนขึ้นว่าดังนี้)

    วันทามิ ภันเต สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต
    มะยา กะตัง ปุญญัง สามินา อะนุโมทิตัพพัง
    สามินา กะตัง ปุญญัง มัยหัง ทาตัพพัง
    สาธุ สาธุ อะนุโมทามิ (คุกเข่าลงกราบ ๓ ครั้ง)

    ต่อจากนั้นให้รับบาตรอุ้มเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ในสังฆสันนิบาต วางไว้ข้างตัวด้านซ้าย รับเครื่องไทยทานถวายท่านแล้วกราบ ๓ ครั้ง เสร็จแล้วยืนขึ้นประนมมือกล่าวดังนี้

    อุกาสะ วันทามิ ภันเต สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต
    มะยา กะตัง ปุญญัง สามินา อะนุโมทิตัพพัง
    สามินา กะตัง ปุญญัง มัยหัง ทาตัพพัง
    สาธุ สาธุ อะนุโมทามิ
    อุกาสะ การุญญัง กัตตะวา นิสสะยัง เทถะ เม ภันเต
    (นั่งคุกเข่า)
    อะหัง ภันเต นิสสะยัง ยาจามิ
    ทุติยัมปิ อะหัง ภันเต นิสสะยัง ยาจามิ
    ตะติยัมปิ อะหัง ภันเต นิสสะยัง ยาจามิ

    (กล่าว ๓ ครั้งว่า)
    อุปัชฌาโย เม ภันเต โหหิ

    พระอุปัชฌาย์จะกล่าวรับว่า โอปายิกัง ปะฏิรูปัง ปาสาทิเกนะ สัมปะเทหิ ผู้บวชพึงรับว่า อุกาสะ สัมปะฏิจฉามิ ๓ ครั้งแล้วว่าดังนี้

    (กล่าว ๓ ครั้งว่า)
    อัชชะตัคเคทานิ เถโร มัยหัง ภาโร อะหัมปิ เถรัสสะ ภาโร (เสร็จแล้วยืนขึ้นว่าดังนี้)

    วันทามิ ภันเต สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต
    มะยา กะตัง ปุญญัง สามินา อะนุโมทิตัพพัง
    สามินา กะตัง ปุญญัง มัยหัง ทาตัพพัง
    สาธุ สาธุ อะนุโมทามิ (คุกเข่าลงกราบ ๓ ครั้ง)

    ลำดับต่อไปพระอุปัชฌาย์ หรือพระอาจารย์จะเอาบาตรมีสายโยคคล้องตัวผู้ขอบวช แล้วบอกบาตรและจีวร ผู้บวชก็รับเป็นทอดๆไปดังนี้

    อะยันเต ปัตโต (นี้บาตรของเจ้า?)
    (รับว่า) อามะ ภันเต (ขอรับ เจ้าข้า)
    อะยัง สังฆาฏิ (นี้ผ้าทาบของเจ้า?)
    (รับว่า) อามะ ภันเต
    อะยัง อุตตะราสังโค (นี้ผ่าห่มของเจ้า?)
    (รับว่า) อามะ ภันเต
    อะยัง อันตะระวาสะโก (นี้ผ้านุ่งของเจ้า?)
    (รับว่า) อามะ ภันเต

    จากนั้นพระอาจารย์ท่านจะบอกให้ออกไปข้างนอกว่า คัจฉะ อะมุมหิ โอกาเส ติฏฐาหิ ผู้บวชก็ถอยออกไปยืนอยู่ในที่ที่กำหนดไว้ (ส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณทางเข้าโบสถ์) ต่อจากนี้พระอาจารย์จะสวดถามอันตรายิกธรรม ให้รับ นัตถิ ภันเต ๕ ครั้ง และต่อด้วย อามะ ภันเต อีก ๘ ครั้งดังต่อไปนี้

    พระจะถามว่า
    ผู้บวชกล่าวรับว่า

    กุฏฐัง (เธอเป็นโรคเรื้อนหรือไม่)
    นัตถิ ภันเต (ไม่ ขอรับ)
    คัณโฑ (เธอเป็นโรคฝีชนิดเป็นทั่วตัวหรือไม่)
    นัตถิ ภันเต
    กิลาโส (เธอเป็นโรคกลากหรือไม่)
    นัตถิ ภันเต
    โสโส (เธอเป็นโรคมองคร่อ หรือ หืด หรือไม่)
    นัตถิ ภันเต
    อะปะมาโร (เธอเป็นโรคลมบ้าหมูหรือไม่)
    นัตถิ ภันเต

    มะนุสโสสิ๊ (เธอเป็นมนุษย์ ใช่ไหม)
    อามะ ภันเต (ขอรับ เจ้าข้า)
    ปุริโสสิ๊ (เธอเป็นผู้ชาย ใช่ไหม)
    อามะ ภันเต
    ภุชิสโสสิ๊ (เธอเป็นไทแก่ตัวเอง ใช่ไหม)
    อามะ ภันเต
    อะนะโณสิ๊ (เธอไม่เป็นหนี้ใคร ใช่ไหม)
    อามะ ภันเต
    นะสิ๊ ราชะภะโฏ (เธอไม่ใช่ข้าราชการที่ยังมีภาระต้องรับผิดชอบ ใช่ไหม)
    อามะ ภันเต
    อะนุญญาโตสิ๊ มาตาปิตูหิ (บิดา มารดาของเธออนุญาต ใช่ไหม)
    อามะ ภันเต
    ปะริปุณณะวีสะติวัสโสสิ๊ (เธออายุครบ 20 ปี ใช่ไหม)
    อามะ ภันเต
    ปะริปุณณันเต ปัตตะจีวะรัง (เธอมีบาตรและจีวรครบ ใช่ไหม)
    อามะ ภันเต

    กินนาโมสิ (เธอชื่ออะไร)
    อะหัง ภันเต ...*ชื่อพระใหม่ นามะ (กระผมชื่อ....)
    โก นามะ เต อุปัชฌาโย (พระอุปัชฌาย์เธอชื่ออะไร)
    อุปัชฌาโย เม ภันเต อายัสสะมา... *ชื่อพระอุปัชฌาย์ นามะ (พระอุปัฌาย์กระผมชื่อ....)

    *หมายเหตุ ผู้บวชจะต้องทราบชื่อทางพระที่พระตั้งให้ใหม่ก่อนวันบวช และต้องจำชื่อพระอุปัชฌาย์ให้ได้ด้วย

    เสร็จแล้วกลับเข้ามาข้างในที่ประชุมสงฆ์ กราบลงตรงหน้าพระอุปัชฌาย์ ๓ ครั้ง นั่งคุกเข่าประนมมือเปล่งวาจาขออุปสมบทดังนี้

    สังฆัมภันเต อุปะสัมปะทัง ยาจามิ
    อุลลุมปะตุ มัง ภันเต สังโฆ อะนุกัมปัง อุปาทายะ
    ทุติยัมปิ ภันเต สังฆัง อุปะสัมปะทัง ยาจามิ
    อุลลุมปะตุ มัง ภันเต สังโฆ อะนุกัมปัง อุปาทายะ
    ตะติยัมปิ ภันเต สังฆัง อุปะสัมปะทัง ยาจามิ
    อุลลุมปะตุ มัง ภันเต สังโฆ อะนุกัมปัง อุปาทายะ

    ต่อมาพระอาจารย์สวดสมมติตนถามอันตรายิกธรรม ผู้บวชก็รับว่า นัตถิ ภันเต ๕ ครั้ง และ อามะ ภันเต ๘ ครั้ง บอกชื่อพระใหม่ของตัวเอง และชื่อพระอุปัชฌาย์แบบที่ผ่านมาอย่างละหนึ่งครั้ง เสร็จแล้วก็นั่งฟังพระสวดกรรมวาจาอุปสมบทไปจนจบ พอจบแล้วท่านก็จะเอาบาตรออกจากตัว ให้กราบลง ๓ ครั้ง นั่งพับเพียบฟังพระอุปัชฌาย์บอกอนุศาสน์ไปจนจบ แล้วก็กล่าวรับว่า อามะ ภันเต เสร็จพิธีก็กราบพระอุปัชฌาย์ ๓ ครั้ง ถ้ามีเครื่องไทยทานก็ให้รับไทยทานถวายพระอันดับ เวลากรวดน้ำก็ให้ตั้งใจรำลึกถึงผู้มีพระคุณอุทิศส่วนกุศลแด่ท่าน ขั้นตอนต่อไปก็นั่งฟังพระท่านอนุโมทนาต่อไปจนจบเป็นอันเสร็จพิธี
    แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ญา ทิวาราช; 18-11-2012 at 14:06. เหตุผล: ..เพิ่มเติม..

  2. #2
    การบวชแบบอุกาสะ ตอนนี้หายากแล้วครับแต่ตามต่างจังหวัดบางที่ยังมีอยู่ ทุกวันนี้ทั้งมหานิกายและธรรมยุต ก็ใช้เอสาหังเหมือนกันเกือบหมดแล้วครับ..
    ชะตาฟ้าลิขิต...แต่ชีวิตเป็นของข้า

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •