ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการวิ่ง ; วิ่งแล้วเหตุใดยังเกิด heart attack

กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute myocardial infarction หรือภาษาชาวบ้าน heart attack) ส่วนใหญ่เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งขบวนการการเกิดการอุดตัน เริ่มจากหลอดเลือดหัวใจที่มีความผิดปกติมาก่อน จากการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดซึ่งทำให้ผนังหลอดเลือดหนาตัวขึ้น รูหลอดเลือดตีบเล็กลง ผิวด้านในของหลอดเลือดขุรขระเป็นแผล ไขมันที่สะสมในผนังหลอดเลือดทำให้เกิดปฏิกริยาเคมี เกิดสารเคมีต่างๆมากมาย ผนังหลอดเลือดบริเวณที่เป็นโรค อาจเกิดปริแตกและทำให้สารเคมีต่างๆเข้าไปหลอดเลือดสัมผัสกับเม็ดเลือดและเกล็ดเลือดและกระตุ้นให้เกล็ดเลือดจับตัวกัน (คล้ายกับการกระตุ้นเมื่อเกิดบาดแผลเพื่อจะหยุดการเสียเลือด) การจับตัวกันของเกล็ดเลือดจะเป็นก้อนอุดตันเส้นเลือดและกระตุ้นโปรตีนที่ช่วยการแข็งตัวของเลือดจับตัวกันเป็นก้อนเลือดอุดตันรูหลอดเลือดมากขึ้น ทำให้ไม่มีเลือดไหลเวียนไปยังกล้ามเนื้อหัวใจส่วนนั้น ทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอกรุนแรง หัวใจทำงานแย่ลงไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย ถ้ารุนแรง ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ความดันเลือดต่ำ (ช็อก) และร้ายแรงที่สุดคือทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างร้ายแรง
หัวใจหยุดเต้นกระทันหัน และเสียชีวิตทันที (sudden cardiac arrest)
โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ส่วนใหญ่ใช้เวลานานมากกว่า 10 ปี จากเริ่มสะสมไขมันในเส้นเลือดจนเกิดอาการแน่นหน้าอกหรือเกิด heart attack
โรคหลอดเลือดหัวใจไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดเดี่ยวๆ แต่มีปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดโรคได้ง่ายหลายอย่าง แต่ละคนอาจมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆเหล่านี้ไม่เหมือนกัน และน้ำหนักของแต่ละปัจจัยที่เร่งให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ปัจจัยเสี่ยงที่ทราบกันดีได้แก่
พันธุกรรม ใครมีคนในครอบครับเป็น ก็เสี่ยงมากกว่าคนที่ไม่มีคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
ยิ่งถ้าครอบครัวไหน ทีคนเป็นตั้งแต่อายุน้อย ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น อายุมากขึ้น ก็เสี่ยงมากขึ้น
เพศ อายุน้อยกว่า 65 ปี ผู้ชายเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง
การสูบบุหรี่ (แม้คนที่ไม่สูบเอง แต่ดมควันบุหรี่ ของคนที่อยู่ด้วย ก็มีความเสี่ยงมากขึ้น )
โรคเบาหวาน โรคความดันสูง ระดับไขมัน(โคเลสเตอรอล)ในเลือดสูง
อื่นๆ เช่น น้ำหนักเกินและอ้วน ไม่ค่อยออกกำลังกาย เครียดจัด ฯลฯ

การวิ่ง(และการออกกำลังกายสม่ำเสมอ)แม้จะมีส่วนช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ (น้ำหนักเกิน ความดันสูง ไขมันสูง เบาหวาน) ลงได้มาก และช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ(และหลอดเลือดสมองด้วย) แต่การวิ่งไม่ได้ทำให้ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆหมดไปหรือหายได้ 100% สำหรับทุกคน บางทีความดันแม้ลดลงแต่ยังสูงกว่าที่เหมาะสม หลายคนเบาหวานลดลงแต่ก็ไม่ได้หายขาด หรือบางคนไขมันลดลงแต่ยังคงสูงมาก ปัจจัยเสี่ยงที่ยังควบคุมไม่ได้ดี ยังคงกระตุ้นให้เกิดการสะสมไขมันในหลอดเลือดและเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้ในที่สุด และปัจจัยพันธุกรรม ก็ไม่หายได้จากการวิ่ง
ในอดีตมีผู้ที่เชื่อว่าวิ่งมาราธอนแล้วจะป้องกันโรคหัวใจได้ (Dr Tom Bassler) กล่าวอ้างว่า การเสียชีวิตระหว่างการวิ่งมาราธอน เป็นจากสาเหตุอื่นทั้งนั้น ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ มีนักวิ่งมาราธอน (Jim Fixx) ซึ่งมีพ่อเสียชีวิตจาก heart attack เชื่อในทฤษฎีของ หมอ Bassler มาก เขาวิ่งมากมาราธอนจนประสบความสำเร็จมากมายและเขียนหนังเกี่ยวกับการวิ่งมาราธอนที่มีชื่อเสียงในช่วงนั้น แต่แล้ว ระหว่างการวิ่งมาราธอน(ครั้งสุดท้ายของเขา) เขาเสียชีวิตจาก heart attack
การตรวจ.ยืนยันการเสียชีวิตจากหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
การวิ่งจึงไม่ใช่ทุกอย่างหรือไม่ใช่ยาวิเศษที่ป้องกันรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจได้100%สำหรับทุกคน ไม่ใช่วิ่งได้ปกติไม่มีอาการใดๆจะแปลว่าจะไม่มีโอกาสเกิด heart attack เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ จึงควรที่จะต้องพบแพทย์เพื่อการตรวจร่างกายสม่ำเสมอ
1 เพื่อตรวจหาว่ามีปัจจัยเสี่ยงไหม ถ้ามีรีบให้การรักษาควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
2 (โดยเฉพาะคนที่มีปัจจัยเสี่ยง) ตรวจหาอาการแสดงเริ่มต้นของโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจทดสอบคลื่นหัวใจขณะวิ่งบนสายพาน ตรวจหาหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ (การมีหินปูนแสดงถึงการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด และความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ)
3 หากมีอาการ เช่นแน่นๆหน้าอก ไม่แน่ใจ ควรตรวจทดสอบเพื่อยืนยันการวินิจฉัย เพื่อรีบให้การรักษา ก่อนโรคจะเป็นมากขึ้นเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
อย่า วิ่ง อย่างเดียว แต่ต้องดูแลตรวจสุขภาพสม่ำเสมอด้วย จะได้ประโยชน์สูงสุดจากการวิ่ง และมีสุขภาพดีอย่างแท้จริง

ปล.อย่าตกใจเรื่องวิ่งแล้วเกิด heart attack จริงๆแล้ว จากผลการเก็บข้อมูล การเสียชีวิตจาก heart attack ระหว่างการวิ่งมาราธอน
ของนักวิ่งมาราธอน เกิดขึ้น ในอัตราที่ต่ำมาก 1 ใน 50000 - 200000 คน ซึ่งน้อยกว่า การเกิด heart attack
ในประชนชนทั่วไปที่เกิด heart attack ระหว่างการออกกำลังกายทั่วไปหรือจ๊อกกิ้ง ( 1 ใน 15000 - 20000 คน) มากนัก

โดย DrJun [14/03/2012 15:19]
http://bangkhunthianjoggingclub.com