กำลังแสดงผล 1 ถึง 3 จากทั้งหมด 3

หัวข้อ: ๙ สิ่งมหัศจรรย์วัดโพธิ์ (๕) มหัศจรรย์ “มรดกโลกวัดโพธิ์”

  1. #1
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63

    ๙ สิ่งมหัศจรรย์วัดโพธิ์ (๕) มหัศจรรย์ “มรดกโลกวัดโพธิ์”

    ๙ สิ่งมหัศจรรย์วัดโพธิ์ (๕) มหัศจรรย์ “มรดกโลกวัดโพธิ์”

    (๕) มหัศจรรย์ “มรดกโลกวัดโพธิ์”

    ในช่วงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ พระอารามหลวงประจำรัชกาล
    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
    องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ครั้งใหญ่อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๓ นั้น
    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ
    ให้รวบรวมเลือกสรรตำรับตำราต่างๆ ชึ่งสมควรจะเล่าเรียน
    เป็นชั้นสามัญศึกษามาตรวจตราแก้ไข ใช้ของเดิมบ้าง
    หรือประชุมปราชญ์ผู้รู้หลักในวิชานั้นๆ ให้แต่งขึ้นใหม่บ้าง

    ในส่วนของ
    “จารึกวัดโพธิ์” นั้น ได้เริ่มมีขึ้น
    ในช่วงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่อีกครั้ง
    ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
    โดยการบูรณะในครั้งนั้น พระองค์ได้ทรงมีพระราชประสงค์
    ให้พระอารามแห่งนี้เป็น “มหาวิทยาลัย” สำหรับประชาชนทั่วไป
    จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเอาองค์ความรู้จากปราชญ์ของไทย
    และสรรพศิลปวิทยาการต่างๆ เช่น ตำราการแพทย์ โบราณคดี
    และวรรณกรรม โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนทั้งหลาย ฯลฯ
    มาจารึกลงบนแผ่นหินอ่อนจำนวน ๑,๓๖๐ แผ่น
    ประดับไว้ตามบริเวณผนัง-เสาพระระเบียงรอบพระอุโบสถ
    พระวิหาร พระวิหารคด และศาลารายรอบพระมณฑปภายในวัด
    [/COLOR][/SIZE]



    ๙ สิ่งมหัศจรรย์วัดโพธิ์ (๕) มหัศจรรย์ “มรดกโลกวัดโพธิ์”

    ดังที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
    ทรงกล่าวไว้ในคำนำหนังสือ ‘ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน’
    ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ พ.ศ.๒๔๖๒ ว่า
    “...ในการที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ มีพระราชประสงค์พิเศษอีกอย่างหนึ่ง
    ซึ่งจะให้เป็นแหล่งเล่าเรียนวิชาความรู้ของมหาชนไม่เลือกชั้นบรรดาศักดิ์
    ถ้าจะเรียกอย่างทุกวันนี้ ก็คือจะให้เป็นมหาวิทยาลัย
    เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีการพิมพ์หนังสือไทย
    การเล่าเรียนส่วนสามัญศึกษาที่มีเรียนอยู่ตามวัดทั่วไป
    แต่ส่วนวิสามัญศึกษาอันจะเป็นวิชาอาชีพของคนทั้งหลายยังศึกษาได้แต่ในสกุล
    ผู้อยู่นอกสกุลโดยเฉพาะที่เป็นพลเมืองสามัญไม่มีโอกาสที่จะเรียนได้
    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    ให้รวบรวมเลือกสรรตำรับตำราต่างๆ ซึ่งสมควรจะเล่าเรียน
    เป็นชั้นสามัญศึกษามาตรวจตราแก้ไข ใช้ของเดิมบ้าง
    หรือประชุมผู้รู้หลักในวิชานั้นๆ โดยมาก เพื่อคนทั้งหลายไม่เลือกว่า
    ตระกูลชั้นใดๆ ใครมีใจรักวิชาอย่างใด ก็ให้สามารถเล่าเรียนได้จาก
    ศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนฯ จึงมีหลายอย่าง ทั้งเป็นความรู้ส่วนวรรณคดี
    โบราณคดี และศัสตราคมต่างๆ เป็นอันมาก และได้เป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษา...”



    ๙ สิ่งมหัศจรรย์วัดโพธิ์ (๕) มหัศจรรย์ “มรดกโลกวัดโพธิ์”

    จารึกทั้งหมดในวัดโพธิ์จากหนังสือ ‘ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน’
    (คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกสมโภชหิรัญบัฏ
    และฉลองอายุวัฒนมงคล ๘๕ ปี พระธรรมปัญญาบดี พ.ศ.๒๕๔๔)
    เมื่อแบ่งประเภทออกแล้วก็นับได้หลายหมวดด้วยกัน ดังนี้

    หมวดประวัติ ได้แก่ จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพน ครั้งรัชกาลที่ ๑,
    จารึกครั้งรัชกาลที่ ๑ จดหมายเหตุเรื่องว่าด้วยพระบรมธาตุมาแต่เมืองน่าน,
    การปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนถอดจากโคลงดั้นฯ, พระพุทธเทวปฏิมากร,
    พระพุทธโลกนาถ, พระพุทธมารวิชัย, พระพุทธชินราช, พระพุทธชินศรี,
    พระพุทธปาลิไลย, พระพุทธศาสดา, พระพุทธไสยาสน์,
    รายการแบ่งด้านปฏิสังขรณ์ถอดจากโคลงดั้นฯ,
    โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน
    (พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)
    และโคลงบอกด้านการปฏิสังขรณ์

    หมวดพระพุทธศาสนา ได้แก่ จารึกเรื่องพระสาวกเอตทัคคะ ๔๑ องค์
    ติดไว้ที่เชิงผนังหน้าต่างระหว่างพระอุโบสถ
    เนื้อหาอธิบายถึงประวัติของพระเถระแต่ละรูป เหตุที่ออกบวช
    และคุณสมบัติพิเศษที่ได้รับการยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
    ของพระเถระแต่ละองค์ เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ฯลฯ,
    จารึกเรื่องพระสาวิกาเอตทัคคะ ๑๓ องค์
    ที่อยู่เชิงผนังหน้าต่างพระวิหารพระพุทธไสยาสน์,
    จารึกเรื่องอุบาสกเอตทัคคะ ๑๐ คน, จารึกเรื่องอุบาสิกาเอตทัคคะ ๑๐ คน,
    จารึกเรื่องอสุภ ๑๐ และญาณ ๑๐, จารึกเรื่องฎีกาพาหุง ๘ บท,
    จารึกเรื่องพระพุทธบาท, จารึกเรื่องธุดงค์ ๑๓, จารึกเรื่องพาหิรนิทาน,
    จารึกเรื่องอรรถกถาชาดก, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑,
    จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๒, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๓,
    จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๔, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๐,
    จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๒, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๓,
    จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๖, จารึกเรื่องศาลาการเปรียญ,
    จารึกเรื่องเวสสันดรชาดก, จารึกเรื่องมหาวงษ์,
    จารึกเรื่องนิรยกถา และจารึกเรื่องเปรตกถา

    หมวดวรรณคดี ได้แก่ จารึกเรื่องรามเกียรติ์, จารึกนิทานสิบสองเหลี่ยม
    ที่จารึกไว้ที่คอสอง เฉลียงศาลาล้อมพระมณฑปทิศตะวันตก
    (ปัจจุบันศาลาแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บของมีค่าของวัด),
    จารึกตำราฉันท์วรรณพฤติ, จารึกตำราฉันท์มาตราพฤติ,
    จารึกเพลงยาวกลบทและกลอักษร,
    จารึกโคลงกลบท ที่ติดอยู่ตามพระระเบียงของพระอุโบสถ
    และจารึกโคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ ที่เป็นแผ่นหินอ่อนอยู่รอบพระอุโบสถ

    หมวดทำเนียบ ได้แก่ จารึกทำเนียบตราตำแหน่งสมณศักดิ์,
    จารึกทำเนียบหัวเมืองขึ้นของกรุงสยามและผู้ครองเมือง
    และจารึกโคลงภาพคนต่างภาษา จารึกอยู่ตามผนังเฉลียงสกัดศาลารายรอบวัด
    เพื่ออธิบายลักษณะ อุปนิสัย บ้านเมืองชาวต่างประเทศที่ชาวสยามคุ้นเคย

    หมวดประเพณี ได้แก่ จารึกเรื่องรามัญหุงข้าวทิพย์, จารึกเรื่องมหาสงกรานต์,
    จารึกเกี่ยวกับริ้วกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทางสถลมารค เป็นต้น

    หมวดสุภาษิต ได้แก่ จารึกฉันท์กฤษณาสอนน้อง
    อยู่ที่ผนังด้านในศาลาหน้าพระมหาเจดีย์หลังเหนือ,
    จารึกฉันท์พาลีสอนน้อง อยู่ที่ผนังด้านในศาลาหน้าพระมหาเจดีย์ทิศใต้,
    จารึกสุภาษิตพระร่วง, จารึกฉันท์อัษฎาพานร และจารึกโคลงโลกนิติ
    มีจำนวน ๔๒๐ บทด้วยกัน อยู่ที่ผนังด้านนอกศาลาทิ..พระมณฑป

    หมวดอนามัย ได้แก่ จารึกโคลงภาพฤาษีดัดตน
    เป็นท่าดัดตนทั้ง ๘๐ ท่าที่จะแก้การปวดเมื่อยของอวัยวะต่างๆ
    และจารึกอาธิไท้โพธิบาทว์ เป็นต้น

    รวมทั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปั้นรูปสลักหินฤาษีดัดตน
    ในท่าต่างๆ จำนวนทั้งหมด ๘๐ ท่า สำหรับอธิบายประกอบตำรับตำรา

    การบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ครั้งใหญ่ในครั้งนั้น
    ใช้เวลาไปถึง ๑๖ ปี ๗ เดือน จึงแล้วเสร็จ
    ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้วัดโพธิ์ได้ชื่อว่าเป็น “มหาวิทยาลัย” เท่านั้น
    แต่ยังทำให้วัดโพธิ์ในตอนนั้นดูงดงามจนกวีเอก
    อย่าง “สุนทรภู่” ถึงกับเอ่ยชมออกมาเป็นบทกลอนว่า

    “.....เห็นวัดโพธิ์โสภาสถาพร
    สง่างอนงามพริ้งทุกสิ่งอัน
    โอ้วัดโพธิ์เป็นวัดกษัตริย์สร้าง
    ไม่โรยร้างรุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์.....”

    เรียกได้ว่าพระองค์ทรงพัฒนาวัดนี้ในทุกด้านอย่างไม่ขาดตกบกพร่องเลยทีเดียว
    ซึ่งในรัชกาลต่อมาๆ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ก็ได้โปรดให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา
    ถือเป็นวัดที่มีความสำคัญมาตลอดทุกรัชกาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

    จารึกทั้งหมดนี้จึงเป็นความรู้ด้านศาสนา วิชาการวรรณคดี
    โบราณคดี การแพทย์ ประวัติศาสตร์ และอีกหลายสาขา
    ซึ่งทรงมุ่งหวังให้ยั่งยืนและเผยแพร่ให้ประชาชนศึกษาได้อย่างเสรี
    เป็นแหล่งเล่าเรียนวิชาความรู้ของมหาชน โดยไม่เลือกชนชั้น วรรณะ
    ยศถาบรรดาศักดิ์ เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีหนังสือ ไม่มีโรงเรียน
    การเล่าเรียนส่วนใหญ่จะมีสอนให้อยู่ตามวัดต่างๆ หรือตามบ้านผู้ดีมีสกุลเท่านั้น
    พระอารามแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย
    เพิ่มเติมจากการเล่าเรียนวิชาสามัญศึกษาที่มีอยู่ตามวัดทั่วไป
    แม้ว่าเวลาจะผ่านไปกว่า ๑๗๘ ปี วัดโพธิ์ก็ยังคงเป็นแหล่งเรียนรู้สรรพวิทยา
    เห็นได้จากความรู้เกี่ยวกับโยคะศาสตร์และตำราการนวดแผนโบราณวัดโพธิ์
    เป็นที่รู้จักแพร่หลายออกไปทั่วโลกในปัจจุบัน

    ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก
    ประเทศไทย โดยคุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ประธานคณะกรรมการฯ

    จึงได้เสนอต่อคณะกรรมการองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
    (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization)
    หรือ องค์การยูเนสโก (UNESCO) จนกระทั่งมีมติรับรองให้ขึ้นทะเบียน
    จารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เป็นเอกสาร
    “มรดกความทรงจำแห่งโลก” (Memory of the World) ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๒
    ในส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หลังจากที่คณะกรรมการแห่งชาติฯ
    ได้มีการเสนอต่อคณะกรรมการองค์การยูเนสโก ไปเมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๕๐
    ซึ่งได้มีการรับรองแล้วในที่ประชุมใหญ่องค์การยูเนสโก ประเทศออสเตรเลีย

    ทั้งนี้ องค์การยูเนสโกวิเคราะห์แล้วเห็นว่า
    จารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
    ไม่ได้ให้ผลกระทบต่อหลายประเทศในโลก
    แต่มีความสำคัญควรได้รับการขึ้นทะเบียนในระดับภูมิภาค
    เนื่องจากองค์ความรู้ในสรรพศิลปวิทยาการต่างๆ ของจารึกดังกล่าว
    มีความสำคัญระดับสากล และมีวิชาหลากหลายที่เป็นสากลด้วย
    โดยเฉพาะเรื่องการแพทย์แผนโบราณ การบริหารกายเพื่อบำบัดโรค
    เช่น ตำราแพทย์ วิชาฤาษีดัดตน เป็นต้น

    คำว่า “มรดกความทรงจำแห่งโลก” (Memory of the World) คือ
    มรดกเอกสารที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร (Documentary Heritage)
    ที่เกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมแห่งโลก แสดงให้เห็นวิวัฒนาการของความคิด
    การค้นพบ และผลงานของสังคมมนุษย์ เป็นมรดกตกทอดจากสังคม
    ในอดีตให้แก่สังคมปัจจุบัน ที่จะสืบสานส่งต่อให้แก่สังคมในอนาคต

    “มรดกความทรงจำแห่งโลก” (Memory of the World)
    นี้จะแตกต่างจาก “มรดกโลก” (World Heritage) ที่เรารู้จักกันดี
    ตรงที่ “มรดกโลก” นั้นเป็นมรดกที่ประกอบไปด้วยแหล่ง (sites)
    หรือสถานที่ ทั้งที่เป็น ‘แหล่งธรรมชาติ’ หรือ ‘แหล่งทางวัฒนธรรม’
    ที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้น เช่น อนุสรณ์สถาน เมือง ฯลฯ แต่ต้องเป็นแหล่ง
    ที่มีคุณค่าเป็นเอก เป็นสากล สมควรที่ทั่วโลกจะช่วยกันปกป้องรักษา
    ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้จักชื่นชมสืบไป
    ทั้งนี้ องค์การยูเนสโกได้ประกาศอนุสัญญาว่าด้วยมรดกโลกขึ้น
    โดยประเทศที่ร่วมเป็นภาคี ตกลงร่วมกันที่จะดำเนินการตาม
    นัยของอนุสัญญา เพื่ออนุรักษ์และดำเนินการเกี่ยวกับมรดกโลก

    ประเทศไทยมี ‘แหล่งธรรมชาติ’ ที่ขึ้นทะเบียน “มรดกโลก”
    (World Heritage) แล้ว ๒ แห่ง ได้แก่

    เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร
    จังหวัดอุทัยธานี-กาญจนบุรี-ตาก
    และผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ
    จังหวัดสระบุรี-นครนายก-นครราชสีมา-ปราจีนบุรี-สระแก้ว และบุรีรัมย์
    โดยเฉพาะด้านตะวันออกมีอาณาเขตติดต่อกับผืนป่าบันทายฉมอร์
    ซึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองภูมิทัศน์ของราชอาณาจักรกัมพูชา


    ส่วน ‘แหล่งทางวัฒนธรรม’ มี ๓ แห่ง ได้แก่
    มรดกโลกสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร จังหวัดสุโขทัย,
    อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยากับเมืองบริวาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
    และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี

    ส่วนมรดกความทรงจำแห่งโลกนั้นจะต้องเป็นมรดกทางเอกสาร
    หรือข้อมูลความรู้ที่บันทึกไว้ หรือประกาศถ่ายทอดออกมา
    แต่ทั้งมรดกความทรงจำแห่งโลกและมรดกโลกนั้น
    ต่างก็เป็นงานขององค์การยูเนสโกเหมือนกัน
    โดยมรดกความทรงจำแห่งโลกชิ้นแรกของไทยคือ
    ‘ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ ๑’ ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐาน
    ทางประวัติศาสตร์สำคัญ ที่บันทึกและประกาศข้อมูลข่าวสารสาธารณะ
    และนโยบายของรัฐโบราณให้สาธารณชนรับทราบ และมีผลต่อประวัติ
    ของโลกนอกพรมแดนวัฒนธรรมของไทย ทำให้เข้าใจความสำคัญ
    ของการปกครอง การค้าขาย การติดต่อแลกเปลี่ยนกับชาติต่างๆ

    ในช่วงเวลาของยุคสุโขทัย มีความสมบูรณ์ในตัวเอง
    นับเป็นเอกสารสาธารณะที่หาได้ยากยิ่ง
    ซึ่งองค์การยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖
    ต่อมาก็คือ ‘จารึกวัดโพธิ์’ ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน

    โดยได้มีการส่งมอบเอกสารการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก
    มายังคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ประเทศไทย
    ต่อมา ฯ พณฯ นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
    ร่วมกับ นายพงศกร อรรณนพพร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
    ได้มีการนำเอกสารนี้ถวายแด่ พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร)
    เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ และ พระราชเวที (สุรพล ชิตญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
    ในวันที่ ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๑ อันตรงกับ
    วันคล้ายวันเสด็จพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
    พร้อมกันนี้ทางวัดได้จัดงานรับเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลก ควบคู่กันไปกับ
    งานบำเพ็ญพระราชกุศลเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ซึ่งเป็นผู้ที่โปรดเกล้าฯ ให้มีการจารึกองค์ความรู้จากปราชญ์ของไทย
    และสรรพวิทยาการต่างๆ ไว้โดยรอบพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาราย ในวัดโพธิ์แห่งนี้


    สำหรับ ‘แผนงานของยูเนสโกว่าด้วยความทรงจำแห่งโลก’
    (Memory of the World Program) นั้น เป็นแผนงานที่องค์การยูเนสโก
    กำหนดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๕
    โดยการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านสารนิเทศจากองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนจากทั่วโลก
    มาประชุมหารือร่วมกัน แผนงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และ
    การเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาของโลกที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
    ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกไว้ในรูปแบบใดๆ และไม่ว่าจะผลิตในประเทศใด
    ถือว่าเป็นแหล่งรวมความคิด ความรู้ ประสบการณ์ ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึง
    ความหลากหลายทั้งในด้านของวัฒนธรรม และความคิดริเริ่มของมนุษยชาติ



    ที่มา : เวปธรรมจักร/บ้านมหา.คอม
    แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย lungyai1123; 10-03-2013 at 13:53.

  2. #2
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ kamatep
    วันที่สมัคร
    May 2009
    กระทู้
    116
    สมแล้วครับเก็บที่ว่าเป็น มหาลัยแห่งแรกของไท แหล่งเฮียนฮู้ที่ล้ำค่า

  3. #3
    แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ สัญลักษณ์ของ ณัฐ ภูไท
    วันที่สมัคร
    Apr 2012
    กระทู้
    747
    ในฐานะที่ตัวผมเองกะเป็นศิษย์เก่าวัดโพธ์เห็นรูปภาพฤษีดัดตนแล้วถือว่ามีคุณค่าหลายยุครับสำหรับคนที่เรียนนวดแผนโบราณถือว่ามีประโยชน์มากค่ารูปภาพทั้งหมดนั้นก็เปรียบเสมือนกับอาจารย์หนึ่งท่านเลยครับ:*-:*-

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •