หว้า ต้นไม้แห่งปฐมฌานของเจ้าชายสิทธัตถะ


ต้นไม้แห่งปฐมฌาน


หว้า ต้นไม้แห่งปฐมฌานของเจ้าชายสิทธัตถะ

หว้า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Syzygium cumini (L.) Skeels อยู่ในวงศ์ Myrtaceae เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงราว 10-30 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นสีเทาอ่อน เรือนยอดเป็นทรงพุ่มกลมหนาทึบ ใบเป็นใบเดี่ยว รูปรี ออกตรงข้าม ขอบใบเรียบ ผิวใบเป็นมัน เมื่อใบอ่อนจะมีสีแดงอ่อนๆ และเมื่อแก่จะมีสีเขียวเข้ม

ดอกมีสีขาวหรือเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อตามซอกใบหรือปลายยอด ผลรูปรีแกมรูปไข่ ผลอ่อนสีเขียว และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพู แดง ม่วง จนแก่จัดจะเป็นสีดำ มีเมล็ด 1เมล็ด สรรพคุณทางพืชสมุนไพรของหว้า ได้แก่ เปลือกใช้แก้โรคบิด โรคปากเปื่อย ผลดิบแก้ท้องเสีย ผลสุกเป็นผลไม้ และ น้ำจากผลหว้าก็เป็น 1 ใน 8 น้ำปานะที่พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตแก่พระภิกษุ เมล็ดลดน้ำตาลในเลือด แก้ท้องเสีย และใช้ถอนพิษ



ต้นไม้แห่งปฐมฌาน


มีเรื่องราวของต้นหว้าที่เกี่ยวพันกับพุทธประวัติตอนสำคัญตอนหนึ่ง ที่กล่าวไว้ใน หนังสือปฐมสมโพธิ ซึ่ง สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ได้ทรงเรียบเรียงขึ้น ว่า

เจ้าชายสิทธัตถะ ขณะมีพระชมมายุ ๗ ปี ได้เสด็จฯ ไปพร้อมกับพระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดา ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เจ้าชายประทับนั่งอยู่ใต้ร่มไม้หว้า ซึ่งบรรดาพี่เลี้ยงบริวารได้จัดถวาย และเมื่อเห็นว่าภายใต้ร่มหว้านี้ร่มรื่นปลอดภัย บรรดาพี่เลี้ยงและบริวารก็เลี่ยงไปดูพระราชพิธีแรกนา



ต้นไม้แห่งปฐมฌาน

ขณะที่เจ้าชายประทับนั่งขัดสมาธิอยู่เพียงลำพังภายใต้ร่มไม้หว้านั้น ทรงเกิดความวิเวกขึ้น ทรงกำหนดลมหายใจเข้า-ออกเป็นอารมณ์ และก็ทรงบรรลุปฐมฌาน อันมีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกนั้น

แม้เวลาบ่ายคล้อยแล้ว แต่เงาไม้มิได้เคลื่อนตามกาล ยังคงอยู่ที่เดิมดุจเวลาเที่ยงวัน ผู้คนต่างเห็นเป็นอัศจรรย์ ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบและทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็เกิดความอัศจรรย์ในพระทัย ถึงกับเกิดความเลื่อมใส ก้มลงกราบพระโอรสเพื่อบูชาคุณธรรมทางบุญฤทธิ์ปาฏิหาริย์



ต้นไม้แห่งปฐมฌาน

“ต้นหว้า” มีชื่อในภาษาบาลี-สันสกฤตว่า ‘ชมฺพุ’ ซึ่งใน คัมภีร์วิสุทธิมรรค คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา ได้กล่าวถึง “ต้นหว้า” ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำชมพูทวีป ซึ่งตั้งอยู่ตอนใต้ของภูเขาสิเนรุ ไว้ว่า

“อนึ่ง ในจักรวาลที่ตั้งอยู่พร้อมมูลอย่างนี้นั้น มีภูเขาสิเนรุอันเป็นภูเขาสูงที่สุด หยั่ง (ลึก) ลงไปในมหาสมุทร 84,000 โยชน์ สูงขึ้นไป (ในฟ้า) ก็ประมาณเท่ากันนั้น ภูเขาใหญ่ทั้งหลาย คือภูเขายุคันธร ภูเขาอิสินธร ภูเขากรวีกะ ภูเขาสุทัสสนะ ภูเขาเนมินธระ ภูเขาวินตกะ ภูเขาอัสสกัณณะ อันตระการไปด้วยรัตนะหลากๆ ราวกะภูเขาทิพย์ หยั่ง (ลึก) ลงไป (ในมหาสมุทร) และสูงขึ้นไป (ในฟ้า) โดยประมาณกึ่งหนึ่งแต่ประมาณแห่งภูเขาสิเนรุไปตามลำดับ ภูเขาใหญ่ทั้ง 7 นั้น (ตั้งอยู่) โดยรอบภูเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของจาตุมหาราช เป็นที่ที่เทวดาและยักษ์อาศัยอยู่ ภูเขาหิมวาสูง 500 โยชน์ ยาวและกว้าง 3,000 โยชน์ (เท่ากัน) ประดับไปด้วยยอดถึง 84,000 ยอด ต้นชมพู (หว้า) ชื่อนคะ วัดรอบลำต้นได้ 15 โยชน์ ลำต้นสูง 50 โยชน์ และกิ่ง (แต่ละกิ่ง) ก็ยาว 50 โยชน์ แผ่ออกไปวัดได้ 100 โยชน์โดยรอบ และสูงขึ้นไปก็เท่ากันนั้น ด้วยอานุภาพของต้นชมพู (นี้) ไรเล่า ทวีปนี้จึงถูกประกาศชื่อว่าชมพูทวีป”



ต้นไม้แห่งปฐมฌาน


ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 19 สุตตันตปิฎกที่ 11 สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โพธิปักขิยวรรคที่ 7 รุกขสูตรที่ 1 ปัญญินทรีย์เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรม พระพุทธองค์ได้ทรงสอนเหล่าภิกษุว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ในชมพูทวีปชนิดใดชนิดหนึ่ง ต้นหว้าโลกกล่าวว่า เป็นยอดของต้นไม้เหล่านั้น แม้ฉันใด โพธิปักขิยธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปัญญินทรีย์ บัณฑิตกล่าวว่า เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน”

และในคราวที่ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์เพื่อกำราบทิฏฐิมานะของชฎิล ที่ชื่ออุรุเวลกัสสปนั้น หนึ่งในปาฏิหาริย์ก็คือวันหนึ่งอุรุเวลกัสสปได้มาทูลนิมนต์พระพุทธองค์ให้ไปฉันภัตตาหารที่โรงบูชาไฟ พระพุทธองค์จึงตรัสว่าจะตามไปทีหลัง อุรุเวลกัสสปจึงได้กลับไปก่อน จากนั้นทรงเก็บผลหว้าจากต้นหว้าประจำชมพูทวีป แล้วเสด็จมาประทับนั่งในโรงบูชาเพลิงก่อนที่อุรุเวลกัสสปจะมาถึง ทำให้อุรุเวลกัสสปรู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงมีฤทธิ์อานุภาพมาก



ต้นไม้แห่งปฐมฌาน


นอกจากนี้ ต้นหว้ายังเกี่ยวพันกับเรื่องราวของภิกษุณีเอตทัคคะในทางตรัสรู้ฉับพลัน คือพระภัททากุณฑลเกสา ตามประวัติกล่าวว่า พระมหาสาวิการูปนี้เดิมเป็นธิดาของเศรษฐีในราชคฤห์ และเคยเป็นภรรยาโจรร้าย ซึ่งเป็นนักโทษประหาร ภายหลังโจรคิดจะฆ่านางเพื่อเอาทรัพย์สมบัติ แต่นางใช้ปัญญากำจัดโจรร้ายได้ และได้ไปบวชเป็นปริพาชิกาในสำนักของพวกนิครนถ์ (นักบวชนอกศาสนา) นางได้เรียนวิชาโต้วาทีจนสำเร็จ ปริพาชกผู้เป็นอาจารย์จึงมอบกิ่งหว้าให้ และบอกให้นางไปแสวงหาความรู้เพิ่มเติมยังที่อื่นๆ โดยหากมีใครตอบคำถามของนางได้ ก็ให้นางเป็นศิษย์ของผู้นั้น นางจึงถือกิ่งหว้าเที่ยวท้าผู้มีวาทะ โดยปักกิ่งหว้าบนกองทราย แล้วประกาศว่า “ถ้าผู้ใดสามารถที่จะโต้วาทะกับเราได้ก็จงเหยียบกิ่งหว้านี้” จึงมีผู้คนเรียกนางว่า “ชัมพุปริพาชิกา” ในที่สุดนางก็ได้พบกับพระสารีบุตร และได้ถามปัญหาแก่กัน จนนางเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต่อมาได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์จนบรรลุเป็นพระอรหันต์


ต้นไม้แห่งปฐมฌาน


ในพม่านั้น ต้นหว้าถือเป็นไม้มงคลในเรื่องความสำเร็จและชัยชนะ ด้วยชื่อว่าชมพูทวีป หรือดินแดนแห่งไม้หว้านั้น เป็นแผ่นดินอันเป็นแดนกำเนิดของพระพุทธศาสนาและพระบรมศาสดานั่นเอง

สำหรับในประเทศไทย ต้นหว้าเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลประจำจังหวัดเพชรบุรี



ต้นไม้แห่งปฐมฌาน


เครดิต : เวปธรรมจักร.เน็ต/บ้านมหา.คอม