โพธิญาณพฤกษา : ต้นไทรหรือกร่าง (ต้นนิโครธ)


ต้นไทรหรือกร่าง (ต้นนิโครธ)


โพธิญาณพฤกษา
พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้

ต้นไทรหรือกร่าง (ต้นนิโครธ)


ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ กัสสปพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 27 พระนามว่า พระกัสสปพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้นิโครธ

“ต้นนิโครธ” เป็นชื่อภาษาบาลีของต้นไทรหรือต้นกร่างชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Ficus benghalensis Linn.” อยู่ในวงศ์ Moraceae รู้จักกันดีในภาษาสันสกฤตว่า “บันยัน” (banyan) และในภาษาฮินดูว่า “บาร์คาด” (bargad) ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้แล้ว ได้ทรงประทับอยู่ ณ ภายใต้ร่มโพธิ์ต่อไปอีก 7 วัน จึงได้ทรงย้ายไปประทับต่อที่ใต้ร่มไทรนิโครธอีก 7 วัน



ต้นไทรหรือกร่าง (ต้นนิโครธ)


ต้นนิโครธ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย ศรีลังกา และปากีสถาน และแพร่กระจายทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10-30 เมตร ลำต้นตรงเป็นพูพอน แตกกิ่งก้านแน่นทึบ เรือนยอดแผ่กว้าง มีรากอากาศห้อยลงมาตามกิ่งก้านและลำต้น ซึ่งรากอากาศนี้สามารถเจริญเติบโต เป็นลำต้นต่อไปได้ด้วย

ผิวเปลือกเรียบสีขาวปนเทา ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่ มีความเงามัน กว้าง 10-14 ซม. ยาว 15-20 ซม. ปลายใบมน โคนใบโค้งกว้าง ออกเป็นคู่สลับกัน แขนงใบมีระหว่าง 4-6 คู่ ก้านใบอวบ ยาว 2-5 ซม. ผลกลมโต วัดผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ 1-1.5 ซม. ผลจะติดแนบอยู่ กับกิ่ง แต่ละผลจะมีกาบ 2-4 กาบ เมื่อผลแก่จะมีสีแดงคล้ำๆ หรือสีเลือดหมู เป็นอาหารของพวกนกได้เป็นอย่างดี การขยายพันธุ์นั้นส่วนใหญ่จะเป็นไปเองตามธรรมชาติ โดยพวกนกมากินผลแล้วไปถ่ายมูลยังที่ต่างๆ นอกจากนั้นยังอาจใช้วิธีตอนกิ่งหรือปักชำก็ได้



ต้นไทรหรือกร่าง (ต้นนิโครธ)

นิโครธ มีสรรพคุณด้านพืชสมุนไพร อาทิ ใบและเปลือกใช้แก้โรคท้องเสีย ท้องร่วง ถ่ายเป็นมูกเลือด และช่วยห้ามเลือด (ในทางอายุรเวชใช้เปลือกแก้โรคเบาหวาน) ยางใช้แก้โรคริดสีดวงทวาร หูด ผลสุกใช้เป็นยาระบาย ส่วนราก ใช้เคี้ยวเพื่อป้องกันโรคเหงือกบวม นอกจากนี้ในอินเดียยังใช้ใบสำหรับใส่อาหาร รับประทานด้วย

ด้วยเหตุที่ ต้นนิโครธเป็นไม้มงคลอย่างหนึ่งของฮินดูและพุทธ ดังนั้น จึงมักนิยมปลูกไว้ตามศาสนสถาน วัดวาอารามต่างๆ และสวนสาธารณะที่มีเนื้อที่กว้างๆ เพื่อให้ร่มเงาและเพิ่มความร่มเย็น เพื่อใช้เป็นที่พักของพุทธศาสนิกชน ตลอดจนเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของนกกาต่างๆ แต่ตามบ้านเรือนและตามชายถนนแล้วไม่ค่อยนิยมปลูกกัน เพราะกิ่งก้านของต้นนิโครธมีขนาดใหญ่โต ซึ่งอาจมีอันตรายเมื่อมีพายุพัดในบางโอกาส ทำให้ไม่ปลอดภัยต่อเสาไฟหรือหลังคาบ้านก็เป็นได้


ต้นไทรหรือกร่าง (ต้นนิโครธ)




เครดิต : เวปธรรมจักรใเน็ต/บ้านมหา.คอม