"กำยาน “ความหอมอมตะ”


...กำยาน “ความหอมอมตะ”...


กำยาน “ความหอมอมตะ”

คำว่า ‘กำยาน’ มาจากภาษามลายูว่า ‘Kamyan’ มีชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันต่างไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย เช่น สะด่าน, สาดสมิง, เขว้ เป็นต้น เป็นชื่อไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่หลายชนิดในสกุล Styrax วงศ์ Styracaceae ลำต้นเปลาตรง เรือนยอด โปร่ง เปลือกสีเทา ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ หรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบค่อนข้างหนา มีขนประปราย

ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใบและปลายกิ่ง ออกดอกราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ผลมีลักษณะกลม สีเขียวอ่อน มีขนสั้นสีขาวปกคลุม เปลือกแข็ง มีฝา หรือหมวกปิดขั้วผล มีเมล็ด 1-2 เมล็ด เมื่อแห้งจะแตกเป็นสามส่วน

ยางของต้นกำยานจะให้สารสำคัญที่เรียกว่า ชันกำยาน โดยเมื่อกรีดเปลือกต้นตามยาว ยางจะซึมออกมาตามรอยแผลที่กรีดไว้ และจะแข็งตัวเมื่อถูกอากาศ ชันยางที่กรีดได้ครั้งแรกจะขาวบริสุทธิ์ และมีกลิ่นหอมมาก

ชันยางของกำยานมีสรรพคุณมากมาย ได้มีการนำมาใช้เข้าเครื่องยาและเครื่องสำอาง เช่น ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรคบางชนิด แก้ไอ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ ห้ามเลือด เป็นยาฝาดสมาน ขับลม บำรุงหัวใจ ลดความเครียด คลายความวิตกกังวล ทำให้รู้สึกสบายใจขึ้น ใช้ทำเครื่องหอม เผารมเพื่อให้กลิ่นหอมไล่ริ้นไรมดแมลง นอกจากนี้กำยานมักใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาแผนโบราณเพื่อแต่งกลิ่นและกันบูด

ความหอมของกำยานนี้ทำให้ประเทศฝรั่งเศสนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอมของตน

กำยานที่มีขายในท้องตลาดมี 2 ชนิด คือ กำยานสุมาตรา (Sumatra Benzoin) มีถิ่นกำเนิดในอินโดนีเซีย และ กำยานญวน (มีถิ่นกำเนิดบริเวณอ่าวตังเกี๋ยของเวียดนาม) หรือกำยานหลวงพระบาง (เพราะเป็นกำยานที่ผลิตมากที่แขวงหลวงพระบางของลาวในปัจจุบัน) กำยานญวณเป็นกำยานชนิดที่ดีที่สุด ฝรั่งเรียก ‘Siam Benzoin’ เพราะกำยานชนิดนี้ส่งออกไปขายจากราชอาณาจักรสยาม

คุณสมบัติของกำยานเป็นที่รู้จักกันมานานนับพันๆ ปีแล้ว โดยในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงเรื่องความหอมของกำยานที่ภิกษุณีนำมาอบน้ำอาบ ในบท ‘ภิกษุณีฉัพพัคคีย์’ ว่า


...กำยาน “ความหอมอมตะ”...


สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์สนานกายด้วยน้ำกำยานที่อบ คนทั้งหลายพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณีทั้งหลาย จึงได้อาบน้ำกำยานที่อบเหมือนสตรีคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า...

เมื่อพระพุทธองค์ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า พวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์อาบน้ำกำยานที่อบ จริงหรือ ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธองค์จึงทรงติเตียนว่าการกระทำของพวกนางนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ดังนั้น จึงได้ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า ภิกษุณีอาบน้ำปรุงกำยานเป็นเครื่องอบ ต้องอาบัติ

นอกจากนั้น พระพุทธเจ้ายังได้ทรงมีพระพุทธานุญาตให้ภิกษุที่อาพาธใช้ชตุเภสัช คือยางไม้ที่เป็นเภสัช ได้แก่ ยางอันไหลออกจากต้นหิงคุ ยางอันเขาเคี่ยวจากก้านและใบแห่งต้นหิงคุ ยางอันเขาเคี่ยวจากใบแห่งต้นหิงคุ หรือเจือของอื่นด้วย ยางอันไหลออกจากยอดไม้ตกะ ยางอันไหลออกจากใบแห่งต้นตกะ ยางอันเขาเคี่ยวจากใบหรือไหลออกจากก้านแห่งต้นตกะ หรือต้นกำยาน หรือชตุเภสัชชนิดอื่นใดบรรดามี...

ปัจจุบัน การบำบัดรักษาสุขภาพด้วยกลิ่นหอม หรือที่เรียกว่า อโรมาเธราพี (Aromatherapy) กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และหนึ่งในกลิ่นหอมที่นำมาใช้ก็คือ ‘กำยาน’ นั่นเอง



เครดิต : เวปธรรมจักร.เน็ต/บ้านมหา.คอม