O บัณฑิต คือคนดี คนที่มีปัญญา คนที่ไม่ใช่พาล

บัณฑิต ตามพจนานุกรม แปลว่า ผู้มีปัญญา นักปราชญ์ แต่ความหมายแท้จริงที่ท่านใช้กัน บัณฑิตหมายถึงคนดี คนที่ไม่ใช่พาล และเมื่อพิจารณากันแล้ว คนดีหรือผู้มีปัญญาก็เป็นคนเดียวกันนั่นเอง คนมีปัญญาจะเป็นคนไม่ดีไปไม่ได้ ถ้าเป็นคนไม่ดีก็เพราะไม่มีปัญญา

O บัณฑิตย่อมรู้ถูก รู้จริง ว่าความดีคืออะไร ความชั่วคืออะไร

“บัณฑิตย่อมฝึกตน” หมายความว่า คนดีหรือคนมีปัญญา ย่อมฝึกตน คือ อบรมตนให้เป็นคนดี ในทางหนึ่งคนเรามีสองพวก คือ พวกผู้ฝึกตนและพวกผู้ไม่ฝึกตน

พวกผู้ฝึกตน คือ ผู้ที่พยายามศึกษาให้รู้ว่า ความดีเป็นอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้มีความดี จึงจะเป็นคนดี บัณฑิตไม่ประมาทว่าตนมีความดีเพียงพอแล้ว บัณฑิตไม่หลงคิดว่าความไม่ดีเป็นความดี แล้วก็ทำความไม่ดีอย่างไม่สะดุ้งสะเทือน

แต่บัณฑิตย่อมรู้ถูก รู้จริง ว่าความดีคืออะไร ความชั่วคืออะไร แล้วก็ไม่ประมาท ตั้งใจทำความดี ตั้งใจหลีกเลี่ยงความไม่ดีเต็มสติปัญญาความสามารถ

O การเพ่งโทษตนเอง เป็นการฝึกตนที่ได้ผลจริง

บัณฑิตไม่มีความเพ่งโทษผู้อื่น บัณฑิตจะเพ่งโทษตนเอง การเพ่งโทษตนเองนั้นเป็นการฝึกตนเองอย่างหนึ่งที่จักเกิดผลจริง การเพ่งโทษผู้อื่นเป็นวิสัยของผู้ไม่ใช่บัณฑิต ผู้ที่เพ่งแต่โทษผู้อื่น ไม่เพ่งโทษตนเอง ย่อมไม่เห็นโทษของตนเอง ย่อมไม่เห็นความบกพร่องที่จะต้องแก้ไขให้ดีขึ้น ย่อมไม่รู้ว่ามีโทษเพียงไรในแง่ใด

ไม่มีโอกาสจะแก้ไขตนเอง แต่จะมุ่งไปแก้ผู้อื่น ซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์แก่ตนอย่างใด ผู้อื่นนั้นไม่ใช่ว่าจะยอมให้แก้ เพราะถ้าเป็นผู้อื่นที่เป็นบัณฑิต ก็ย่อมแก้ตนเองอยู่แล้ว ฝึกตนเองอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่ไม่เป็นบัณฑิตก็ย่อมไม่สนใจที่จะแก้ตนเองฝึกตนเองอยู่แล้ว

ผู้อื่นจะไปแก้จึงเป็นไปได้ยาก ทุกคนจะดีหรือชั่ว.....สำคัญที่ตนเอง ตนเองมีความดีพอจะยอมรับความไม่ถูกต้องไม่ดีงามของตน ย่อมยินดีฝึกตน ย่อมยินดีแก้ไขตน ย่อมมีโอกาสเป็นคนดียิ่งขึ้น

O ผู้คุ้นเคยกับความดี ทำดีได้โดยง่าย

การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ได้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่เสมอ ย่อมมีความชำนาญในสิ่งนั้น มีความคุ้นเคยกับการทำสิ่งนั้น ย่อมทำได้ดี ประพฤติดีเสมอ ก็จะเป็นผู้คุ้นเคยกับความดี คุ้นเคยกับการทำดี จะไม่เกี่ยวข้องกับความไม่ดี ไม่คุ้นเคยกับความไม่ดี ผู้ที่ประพฤติดีลุ่ม ๆ ดอน ๆ คือ บางทีก็ทำดี บางทีก็ทำไม่ดี เช่นนี้ก็จะเป็นคนดีไม่สม่ำเสมอ

ถ้าทำดีมากครั้งกว่า ทำไม่ดีน้องครั้งกว่า ก็จักเป็นคนที่มีโอกาสดีมากกว่าที่ไม่ดี คือ คุ้นเคยกับความดีมากกว่าคุ้นเคยกับความไม่ดี เหมือนผู้ที่ติดต่อไปมาหาสู่กับบ้านใดมาก ก็รู้จักคุ้นเคยกับบ้านนั้น และผู้คนในบ้านนั้นมาก ติดต่อไปมาหาสู่บ้านใดน้อย ก็จักคุ้นเคยกับบ้านนั้นและผู้คนในบ้านนั้นน้อย

O ผู้ที่มีเหตุผล ก็คือผู้มีปัญญา

ผู้ที่อบรมสมาธิ ทำใจให้สงบมาก ก็เท่ากับฝึกใจให้คุ้นเคยกับความสงบมาก มีความสงบมาก ผู้ที่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน วุ่นวาย ไปกับเรื่องกับอารมณ์ต่างๆ มาก ก็เท่ากับฝึกใจให้วุ่นวายฟุ้งซ่านมาก เพราะคุ้นเคยกับความวุ่นวายฟุ้งซ่านมาก ความสงบก็มีน้อย ผู้ที่อบรมปัญญามาก พยายามฝึกให้เกิดเหตุผลมาก ก็จะคุ้นเคยกับการใช้เหตุผล ไม่ขาดเหตุผล

ผู้ที่มีเหตุผลก็คือผู้ที่มีปัญญา ผู้ที่ขาดเหตุผลก็คือผู้ที่ขาดปัญญา เหตุผลหรือปัญญาก็ฝึกได้ เป็นไปตรงตามพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “บัณฑิตย่อมฝึกตน” และที่ว่า “ผู้ประพฤติดีย่อมฝึกตน”

ทุกคนควรพิจารณาดูใจตนเอง ให้เห็นความปรารถนาต้องการที่แท้จริง ว่าต้องการอย่างไร ต้องการเป็นคนฉลาด มีปัญญา มีเหตุผล ก็ต้องพระพฤติ คือ พูดทำแต่สิ่งที่เป็นไปตามเหตุผล ถูกต้องด้วยเหตุผล

ต้องการเป็นคนดีก็ต้องประพฤติดีให้พร้อมทั้งกายวาจาใจให้สม่ำเสมอ การคิดดีพูดดีทำดีเพียงครั้งคราว หาอาจทำตนให้เป็นคนดีได้ไม่ หาอาจเป็นการประพฤติดีที่เป็นการฝึกตนไม่

O ผู้วางเฉย เป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้น

ผู้วางเฉย มีอุเบกขา ไม่ยินดียินร้าย เป็นผู้พอ.....พอใจในสภาของตน ไม่ดิ้นรนเพื่อให้ตนสูงขึ้นด้วยประการทั้งปวง ไม่เห่อเหิม ว่าตนสูงแล้ว เมื่อความไม่ยินดียินร้ายมีอยู่ ท่านจึงกล่าวว่า ผู้วางเฉยดังกล่าว เป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้น

ความพอใจในสภาพของตนเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง ความพอใจนั้นเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือความพอ ผู้ที่มีความพอแล้ว ย่อมมีความพอใจในภาวะและฐานะของตน จนกระทั่งไม่เห็นความสำคัญที่ต้องนำตนไปเปรียบกับผู้อื่น

ผู้อื่นจะสูงจะต่ำจะดีจะไม่ดีอย่างไร ผู้ที่มีความพอแล้วย่อมไม่นำตนไปเปรียบ ย่อมไม่เกิดความรู้สึกเห่อเหิมว่าคนอื่นต่ำกว่า ตนสูงกว่า ไม่ดิ้นรนทะเยอทะยานที่จะยกฐานะของตนให้สูงขึ้น เพราะเห็นว่าผู้อื่นสูงกว่า ตนต่ำกว่า

O ผู้วางเฉยเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ

ผู้ที่ดูถูกผู้อื่นก็ตาม ผู้ที่ตื่นเต้นในความใหญ่โตของผู้อื่นก็ตามล้วนเป็นผู้ไม่อยู่ในความหมายของคำว่า “ผู้วางเฉย” แต่เป็นผู้ขาดสติ เพราะผู้วางเฉยเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ ผู้วางเฉยเป็นผู้ไม่ดูถูกผู้อื่น เพราะไม่เห็นว่าผู้อื่นต่ำต้อยกว่าตน ไม่เห็นว่าตนสูงกว่าผู้อื่น

ผู้วางเฉยมีสติทุกเมื่อ ย่อมไม่ตื่นเต้นในความใหญ่โตของผู้อื่น เพราะไม่เห็นว่าผู้อื่นสูงกว่าตน ไม่เห็นว่าตนต่ำกว่าผู้อื่น

ความสำคัญตนว่าเสมอเขานั้น มีได้เป็นสองนัย คือสำคัญตนว่าเสมอกับผู้ที่ต่ำต้อย เมื่อมีความสำคัญตนนี้เกิดขึ้น ก็ต้องมีความน้อยเนื้อต่ำใจ มีความแฟบลงของใจ เพราะย่อมสำคัญตนเลยไปถึงว่าตนต่ำกว่าผู้มีภาวะฐานะสูง นี้เป็นนัยหนึ่งของความสำคัญตนว่าเสมอเขา

ความสำคัญตนว่าเสมอเขาอีกนัยหนึ่ง คือ สำคัญตนว่าเสมอกับผู้ที่สูงด้วยภาวะและฐานะ เมื่อความสำคัญตนเช่นนี้เกิดขึ้น ก็ต้องมีความลำพองใจยกตนข่มท่าน มีความฟูขึ้นของจิตใจ เพราะย่อมสำคัญตนเลยไปถึงว่า ตนสูงกว่าผู้ที่มีภาวะฐานะต่ำต้อย

ความไม่วางเฉย ไม่มีสติทุกเมื่อ เป็นเหตุให้เกิดกิเลสเครื่องฟูขึ้นและแฟบลงของจิตใจ เพราะความไม่วางเฉยเป็นทางให้เกิดความสำคัญตนสามประการคือ

สำคัญตนว่าเสมอกับเขา
ดีกว่าเขา
ต่ำกว่าเขา

ความสำคัญตนทั้งสามประการมีแต่โทษสถานเดียว ไม่มีคุณอย่างใด จึงควรอบรมความวางเฉยให้มาก พยายามตัดความรู้สึกสำคัญตนดังกล่าวให้สิ้น จะได้รับความสงบสุขยิ่งนัก


แหล่งที่มา http://www.dhammajak.net