ดินแดนที่ราบสูง ประมาณ

เดือน พฤษภาคม อากาศร้อนอบอ้าว มีพายุฤดูร้อนบ้างในบางพื้นที่ แต่บางพื้นที่

ทางการต้องประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแห้งแล้ง อีสาน = ความแห้งแล้ง

สมการนี้ยังไม่ถูกแก้ หากไม่มีตัวแปรเพิ่มเติม ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด แต่ถึง

จะแห้งแล้งสักเพียงใดคนอีสานไม่เคย “อดตาย” จะด้วยสภาพอากาศภูมิประเทศ

ที่ทุรกันดาน แห้งแล้ง จึงส่งผลให้คนอีสานเป็นคนที่อดทน ปรับตัวเข้ากับสภาพ

แวดล้อมได้เป็นอย่างดีแล้วยังมีความสุทนทรีย์ทางดนตรีในหัวใจทุกคน

ข่าวที่แพร่ออกทางสื่อโทรทัศน์บอกปีนี้แล้งที่สุดในรอบ 5 ปี 10 ปี 20 ปี

ในความเห็นของฉันไม่เห็นว่าแล้ง เพียงแต่ฝนมาช้ากว่าทุกปี ที่สำคัญพี่น้องเราเร่งรีบ

ทำนากันมากกว่า ชาวนาที่แบกคันไถ จูงควายลงทุ่งไม่มีให้เห็นแล้ว

ที่บ้านฉันย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน ถนนที่เชื่อมระหว่างตำบล

ไป อ.กุดข้าวปุ้น ยังเป็นถนนลูกรัง ทุกเช้าในหน้าเตรียมลงนา ลุง ป้า น้า อา

จะเดินเท้าไปนา แบกคันไถ หาบกระปุง กระติบข้าว บ้างเดินกันเป็นกลุ่ม

พูดคุยหัวเราะเฮฮา แต่ทุกวันนี้ถนนสายนี้เปลี่ยนเป็นถนนลาดยาง ผู้คนขับรถยนต์

คันสวยลงนา ชาวนาเปลี่ยนสถานะตัวเองเป็นผู้จัดการนาคือจัดการทุกอย่าง

ยกเว้นลงมือทำเอง ครอบครัวของฉันก็เป็นหนึ่งในคนจำนวนนั้น ทุกวันนี้ไม่มี

พิธีกรรม “ปักกกแฮก” (แรกนาขวัญ) ไม่มีการไถนาฮุด หรือ

ซ่ามคันแท (ซ่อมคันนา) แล้ว ผืนนาที่แบ่งเป็นกระทงเล็กกระทงน้อย

เพื่อกักน้ำตามความลาดเอียงของพื้นดินถูกรถไถคันใหญ่ปรับพื้นดินให้ราบเรียบ

คันนาเล็ก ๆ ถูกทำให้ใหญ่ขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาซ่อมเมื่อหน้านามาถึง

และเปลี่ยนเป็นแปลงนาขนาดใหญ่ หลังสงกรานต์ผู้ประกอบการรถไถจะถูกว่าจ้าง

ให้ไถ และหว่านข้าวเปลือกให้เสร็จสรรพก่อนที่ฝนจะมา พอฝนมาก็จะถูกจ้าง

ให้มาฉีดยาฆ่าหญ้าอีกหน คราวนี้ผักแขยง ผักแว่น ผักแพงพวย เจ้าของนา

หมดสิทธิ์เก็บมากินเพราะฤทธิ์ยาฆ่าหญ้า ผักปลอดสารพิษจากคันนา

เปลี่ยนเป็นผักที่อุดมไปด้วยสารพิษ ฉันจำไม่ได้ว่าฉันกิน


หมกฮวกที่เกิดตามธรรมชาติครั้งล่าสุดเมื่อใด เมื่อฉันยังเด็ก ก่อนหน้านาพ่อไถนาฮุด

(ไถดะ) พอถึงเดือน 7 ฝนมาน้ำนองเต็มกระทงนา กบมีที่วางไข่ จนเป็นฮวก

(ลูกอ๊อด) อาหารเลิศรสที่มาพร้อมสายฝน แต่ทุกวันนี้กว่าฝนจะมาให้กบวางไข่

ข้าวที่หว่านไว้ก็แตกยอดแล้ว ลงช้อนในนาไม่ได้แล้ว ดีเหมือนกันลูกอ๊อดจะได้เติบโต

เป็นกบต่อไป โดยปกติแล้วฉันไม่ใช่คนหัวอนุรักษ์นิยม ฉันพร้อมที่จะยอมรับการ

เปลี่ยนแปลงหากสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงแล้วมันดีขึ้น แต่บางสิ่งบางอย่างที่ควร

จะเก็บรักษาไว้ฉันก็เห็นว่ามันยังไม่ถึงเวลาเปลี่ยน ปล่อยให้กาลเวลาเป็นตัวกำหนด

อย่างช้า ๆ ดีกว่าเราไปเร่งให้มันเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ซึ่งผลกระทบที่ตามมามันอาจส่ง

ผลเป็นลูกโซ่ต่อไปเรื่อย ๆ ดีกว่าหรือไม่นะ....