***การปฏิบัติสมาธิภาวนา (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)***


การปฏิบัติสมาธิภาวนา

การปฏิบัติสมาธิภาวนา


การปฏิบัติสมาธิภาวนา (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

ปุจฉา
มีญาติโยมที่มาด้วยกันอยากจะให้หลวงพ่อช่วยแนะนำคือยังไม่เคยประพฤติปฏิบัติเลยครับ อยากจะให้หลวงพ่อแนะนำวิธีการปฏิบัติทำสมาธิภาวนาว่าเริ่มต้นจะนั่งยังไงจะบริกรรมภาวนายังไง คืนนี้เขาจะได้ทำกันเพราะบางคนยังไม่เคยมาและยังไม่ทราบเลย

วิสัชนา
เราจะนั่งขัดสมาธิก็ได้ เฉพาะผู้ที่ท่านจะตั้งหน้าตั้งตาทำภาวนาเป็นการเป็นงานจริงๆ ส่วนมากท่านมักขัดสมาธิกันทั้งนั้นเพราะมันไม่หนักทางโน้นหนักทางนี้ มันเสมอ ถ้านั่งพับเพียบอย่างนี้มันจะหนักทางหนึ่งและเจ็บทางหนึ่งมากกว่ากัน แต่ถ้านั่งขัดสมาธิแล้วมันเสมอ

ทีนี้เราจะกำหนดเอาพุทโธ หรือธัมโม หรือสังโฆ หรือธรรมบทใดก็ตามที่เหมาะกับจริต หากมีลักษณะของจิตที่ทำให้รู้สึกโล่งๆในใจของเรา เราก็เอาอันนั้นมาเป็นหลักแล้วกำหนดยึดเอาตรงนี้ ยกตัวอย่างเช่น พุทโธเป็นต้นนะ เรากำหนดเฉพาะพุทโธๆๆให้มันรู้อยู่ภายในนี้ ไม่ต้องไปกำหนดไว้ที่ตรงนั้น ตรงนี้ ให้เรารู้ว่าเรานึกพุทโธ ไม่ให้จิตส่งไปทางโน้นส่งมาทางนี้ บังคับไว้ให้อยู่กับพุทโธๆๆ ทีนี้คำว่าพุทโธนี้มันเป็นเครื่องยึดของความรู้ ความรู้ถ้าไม่มีที่ยึดที่เกาะก็รวนเรไปหมด หาที่เกาะไม่ได้ เมื่อหยุดเกาะอยู่กับคำว่าพุทโธก็ค่อยสงบตัวเข้ามาๆพอสงบตัวเข้ามา ริงๆแล้วคำว่าพุทโธกับความรู้นั้นเลยกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน ตอนนั้นไม่จำเป็นที่จะว่าพุทโธหรือไม่ว่า พุทโธก็รู้อยู่ชัดๆ เด่นอยู่ภายใน อันนั้นพุทโธก็ปล่อยได้เอง นี่วิธีการภาวนาให้จิตสงบเป็นอย่างนั้น อย่างกำหนดอานาปานสติก็เหมือนกัน เราไม่ต้องทำให้มีภาระอะไรมากในขั้นเริ่มแรก ส่วนมากลมจะสัมผัสที่ดั้งจมูกมากกว่าเพื่อน เวลากำหนดลมหายใจเข้า-ออก เวลามันผ่านดั้งจมูกนี้มันก็รู้ว่าลมออก-ลมเข้า ให้กำหนดรู้อยู่ที่ตรงนี้ เข้าก็รู้ ออกก็รู้ แต่ไม่ตามลมเข้าไปไม่ตามลมออกไป ให้มีแต่รู้เหมือนกับว่าคนยืนอยู่ที่ประตูคนเข้าก็รู้แต่ไม่ตามเขาเข้าไป คนออกมาก็รู้แต่ไม่ตามเขาออกไป ดูคนเข้าก็รู้-ออกก็รู้ๆแล้วจิตก็ค่อยๆสงบ ทีนี้เมื่อจิตค่อยสงบกับลมค่อยละเอียดลงไปมันทำงานไปพร้อมๆกัน ยิ่งลมละเอียดเข้าไปๆแล้วการกำหนดอานาปานสตินี่นะ ทีแรกเราได้ตั้งลมไว้ตรงนี้ เวลาทำไปเพลินๆมันอาจจะมีความสำคัญอันหนึ่งหลอกขึ้นมาได้ เอ๊ะ...ก็เรากำหนดลมที่ตรงนี้ทำไมจึงไปอยู่สูงไปต่ำไป เลยกำหนดที่เราตั้งไว้บ้าง นี้เป็นเครื่องหลอก อย่าไปสำคัญกับความสูงความต่ำ ให้มีกำหนดกฎเกณฑ์อยู่กับความสัมผัสของลมเข้า-ออกเท่านั้น ให้รู้กันอยู่ตรงนี้ จะสูงก็ตามจะต่ำก็ตาม ไม่เหนือความรู้ของเราที่รู้อยู่นี้ เอาตรงนี้ แล้วมันก็ปล่อยกังวลได้

ทีนี้พอลมหายใจละเอียดเข้าไป ๆ จนกระทั่งถึงขั้น ลมดับจริงๆมันมีได้ในความรู้สึก แต่ลมจะดับจริงๆหรือไม่จริงเราไม่ไปสนใจ เราเอาความจริงที่ปรากฏในตัวของเรานี้พอ ทีนี้ลมละเอียดลงๆจนสุดขีดแล้วหายเงียบไปเลย นี่อันหนึ่งที่จะสร้างปัญหาหลอกเรา พอลมหายเงียบไปในขณะนั้นจิตเรียกว่าละเอียดมากเต็มที่ พอลมหายเงียบไปมันจะมีวิตกอันหนึ่งขึ้นมา เอ๊...นี่ลมหายใจดับไปแล้วจะไม่ตายหรือ พอกลัวตายจิตมันเคลื่อนปั๊บขึ้นมา ลมหายใจเลยมีตามเดิม ภาวนาคราวหลังเลยไม่ได้เรื่องก็ไปถึงแค่กลัวตายนั่นแหละ เพื่อตัดปัญหาอันนี้ เมื่อลมหายใจค่อยละเอียดลงไปๆจนกระทั่งลมหายใจหมดไปในความรู้สึกอย่างเด่นชัดก็ตาม เมื่อผู้รู้ยังครองร่างอยู่แล้วไม่ตายเท่านั้นละจิตก็พุ่งของมัน นี่เรียกว่าเป็นได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่มีอะไรมาหลอก ให้จำไว้ตรงนี้ เป็นไปได้จริงๆนักภาวนา ถ้ากำหนดลมหายใจจะเป็นอย่างนั้นจริงๆพอถึงขั้นนี้

แต่เวลาภาวนาอย่าคาดว่าจะเห็นนั่นจะเห็นนี่ เห็นเปรต เห็นผี เห็นยักษ์ เห็นมาร เห็นคนนั้นคนนี้ เห็นสวรรค์ เห็นวิมาร เห็นนรก เห็นสวรรค์ อย่าไปคาดขณะนั้น ห้ามคาดเป็นอันขาด ให้รู้อยู่กับงานของตนที่ทำกำหนดรู้อยุ่ตรงนี้เท่านั้น เมื่ออันนี้พอตัวแล้วผลของมันจะแสดงขึ้นมาเองตามเหตุอันนี้ เรื่องที่ว่าเหล่านั้นปิดไม่อยู่ ถ้ามีนิสัยที่จะรู้แล้วต้องรู้ของมัน นี่เป็นหลักสำคัญ




คัดลอกจาก http://www.buddhismthailand.com/qa/bua.php/เวปธรรมจักร.เน็ต/บ้านมหา.คอม