กำลังแสดงผล 1 ถึง 2 จากทั้งหมด 2

หัวข้อ: เด็กสมาธิสั้น และกิจกรรมบำบัดกับเด็กสมาธิสั้น

  1. #1
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม สัญลักษณ์ของ jinnawat90
    วันที่สมัคร
    Mar 2013
    กระทู้
    620

    เด็กสมาธิสั้น และกิจกรรมบำบัดกับเด็กสมาธิสั้น

    เด็กสมาธิสั้น คือ กลุ่มเด็กเก่ง ไหวพริบและไอคิวดีมาก

    โดย นพ.สมชาติ สุทธิกาญจน์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น


    เด็กสมาธิสั้น คือ กลุ่มเด็กเก่ง ไหวพริบและ ไอคิวดีมาก แต่คำว่า สมาธิสั้น
    คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดเป็นแง่ลบว่า ปัญญาอ่อน ไม่สามารถจะเรียนอะไรได้เลย
    กลับตรงข้าม เป็นเด็กที่มีสมาธิมากเหมือนอยู่ในภวังค์ในเรื่องที่ชอบ สนใจแต่
    ไม่อาจมีสมาธิได้เลยในเรื่องที่ไม่สนใจ

    ลักษณะเด็กสมาธิสั้นเด็กสมาธิสั้น หรือเรียก "ไฮเปอร์" มีประวัติ ใน วัยเด็กทั้งเหม่อและซน อยู่ไม่นิ่ง ชอบปีนป่ายทำกิจกรรม มากมาย โดยเฉพาะการวิ่งเล่นซน ไม่รู้จักเหน็ด เหนื่อยทั้งวัน ยกเว้นการทำอะไร ที่ไม่สนใจจะทำได้ จะทำได้ไม่นาน หยุกหยิก เหม่อเหมือนไม่ฟังเวลาพูดคุยด้วยแต่กลับรู้เรื่องหมด เพราะสมองไวเหมือนเรดาร์ แบ่งภาคการรับรู้ได้มาก จึงเลือก ตรวจจับ รับข้อมูลหรือคำสั่งเฉพาะเรื่องที่สนใจและสำคัญ เช่น เสียงเรียกของแม่ที่เริ่ม อารมณ์เสีย หงุดหงิดกับการบอกหลายครั้งแล้วยังไม่ฟัง ไม่ทำตาม เพราะกำลังเพลิน มีสมาธิมากกับการเล่น ในเด็กผู้ชาย มักเป็นสมาธิสั้นแบบซน เคลื่อนไหวเร็ว เหมือนรถที่มีเครื่องยนต์แรงแต่เบรกไม่ค่อยดี พูดมาก เล่นสนุกส่งเสียงดัง ไม่ค่อยระวัง ทำอะไรรีบเร็ว ไม่เรียบร้อย ซุ่มซ่าม ของตกหล่น แตกบ่อย โดยไม่ตั้งใจ มีความว่องไวแบบนักวิ่งลมกรด หรือนักรักบี้ตัวน้อย ที่พละกำลังมากวิ่งชนคู่ต่อสู้หรือหลบ ดิ้นหลุดจากการถูกกอดรัด จับตัวไว้ได้ในเด็กผู้หญิงมักพบสมาธิสั้นแบบเหม่อมากกว่า ความซนจะน้อยกว่าเด็กผู้ชาย และทำอะไรเรื่อยๆ อืดอาดช้า ไม่ทันกำหนดเวลา ต้องคอยบอก กำกับ เหมือนไม่รู้เวลา เหม่อและหลงลืมบ่อย ผู้ใหญ่ที่ใจร้อน ก็คือเด็กไฮเปอร์มาก่อน เป็นคนที่คิดเร็ว พูดเร็ว ทำเร็วแสดงออกท่าทางมากเวลาพูด เปลี่ยนใจในเรื่องต่างๆ ง่ายเพราะมองเห็นความเป็นไปได้หลายมิติของสถานการณ์ จึงปรับตัวรับมือต่อความเปลี่ยนแปลง ที่พลิกผันได้ดี ชอบลักษณะงานที่ไม่อยู่กับที่ รักอิสระไม่ชอบถูกตีกรอบความคิดเป็นคนที่คิดนอกกรอบ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง จนบางครั้งดื้อรั้น ไม่ฟังใคร(อาจมีมาแต่วัยเด็ก เพราะดื้อคือลักษณะที่พบบ่อยในเด็กสมาธิสั้น) ความคิดและจินตนาการที่แปลกใหม่พรั่งพรูในสมอง คิดโครงการใหญ่ หรือบริหารกิจกรรมหลายอย่าง เบื่องานซ้ำๆ งานที่เข้าทำตามเวลา หรือถูกเร่งรัด ด้วยเวลาเด็กสมาธิสั้นมีสมาธิมาก แบบจดจ่อ อยู่ในภวังค์ ในเรื่องที่ชอบและสนใจไม่ใช่ไแต่เฉพาะการ์ตูน (ที่ผู้ใหญ่มองว่าไม่เป็นสาระ) แต่ยังสนใจภาพยนตร์สารคดี เรื่องราวของธรรมชาติ และสัตว์โลก ที่มีสีสันเป็นภาพเคลื่อนไหว และเนื้อหาแปลกใหม่ เป็นเด็กช่างสังเกต อยากรู้อยากเห็นมาก มีข้อสงสัย คำถามในใจมากมาย มาซักถามจนผู้ใหญ่เหนื่อยที่จะตอบ รวมถึงชอบเล่นแกะรื้อ ต่อประกอบอุปกรณ์ ของเล่นส่วนใหญ่มักกระจุยกระจาย แยกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเพราะความอยากรู้อยากเห็น ผู้ใหญ่เข้าใจว่าซนไม่รู้เรื่อง แต่เมื่อโตขึ้นก็รู้จักต่อประกอบใหม่ ซ่อมเครื่องยนต์ กลไกต่างๆ โดยไม่ต้องมีใครสอน เรียนรู้สิ่งต่างๆด้วยตนเอง จากการสังเกต ทดลองซ้ำ ฝึกปฏิบัติบ่อยๆ พื้นฐานเดิม เป็นเด็กที่อารมณ์ดี สนุกสนาน รับรู้อารมณ์คนรอบข้างไว จึงอ่อนไหวง่าย ขี้น้อยใจมากจากการที่ถูกดุว่าบ่อย เรื่องซน เหม่อและดื้อ ฉลาดโต้ตอบด้วยไหวพริบ คารมคมคาย น้ำเสียงพูดสูงๆ ต่ำๆ มีลีลาแบบจังหวะดนตรี เจ้าบทเจ้ากลอนเจ้าบทบาท เลียนแบบ แสดงสีหน้า อารมณ์เก่ง และมีธรรมชาติของความเก่ง ความสามารถ ด้านศิลปะ ดนตรี กีฬา เพราะเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า เด็กสมาธิสั้นพันธุ์แท้ ล้วนแต่ปัญญาดี ฉลาด เก่งหลายด้าน แต่หากลักษณะซน, เหม่อขาดสมาธิ และหุนหันพลันแล่น มีมากจนก่อให้เกิดปัญหาการปรับตัว ทั้งด้านอารมณ์ พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน หรือมีปัญหาการเรียนมาก ทางการแพทย์ จึงจะถือว่าเป็น โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit/Hyperactivity Disorder) หรือ ADHD

    เข้าใจปัญหาการเรียน เด็กสมาธิสั้น กลุ่มที่ไม่มีปัญหาการเรียนมีมากกว่าครึ่งมีทั้งที่เรียนเก่งมากสอบได้ในระดับที่ 1-10 ได้ตั้งแต่เล็ก (แต่มีลักษณะของสมาธิสั้น)จนเข้ามหาวิทยาลัย ได้เกียรตินิยมจบปริญญาโท เอกจบแพทย์หลายสาขา เป็นวิศวกรนักวิชาการ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และอีกหลายแขนงวิชาชีพที่ชอบ หรือรั้งท้ายในวัยเด็ก ช่วงประถมหรือมัธยมต้นเพราะเหม่อหรือคุย เล่นมาก ในห้องเรียน แต่กลับมาทำคะแนนได้ เป็นม้าตีนปลายในโค้งสุดท้าย (ม.ปลาย) สอบเอ็นทรานซ์ได้ จากความชอบ มีเป้าหมาย หรือเริ่มรู้วิธีเรียน และใส่ใจพยายามมากขึ้น

    กลุ่มที่มีปัญหาอ่านเขียนมาก พบได้ราวหนึ่งในสี่ของเด็กสมาธิสั้น เกิดจากการขาดสมาธิในการฟังครู และ/หรือจากความสับสนเรื่องตัวอักษร เช่นb เป็น d, p เป็น q, ค เป็น ด งงว่าหัวตัวอักษร หมุนเข้า หรือออกเวลาเขียนหรือจากปัญหาสะกดคำไม่ถูก ตกหล่น ลายมือเขียนตามปกติจะเป็นตัวใหญ่ๆเล็กๆ แต่หากเป็นการคัดลายมือ ก็สามารถตั้งใจ เขียนได้สวยงามแบบ ตัวอารักษ์ หากมีปัญหาสะกดคำไม่ได้ เรียกว่า ดิสเล็กเซีย (Dyslexia) หรือแอลดีด้านภาษา มักพบสมาธิสั้นแบบเหม่อมากกว่าซน พร้อมกับพรสวรรค์ด้านอื่นเช่น วาดภาพ ปั้น ประดิษฐ์ การศึกษาที่เน้นอ่านเขียนมากไปตั้งแต่เล็ก ทำให้เครียดทั้งพ่อ แม่ ครู และเด็ก จนลืมนึกถึงว่าการเรียนในชั้นอนุบาล คือการเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน ในปัจจุบันยังพบลูกของแพทย์ ครู นักธุรกิจผู้พิพากษา พยาบาล เครียดตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 ขีดเขียนกดดินสอย้ำ ลบรอยเขียนผิดออกซ้ำๆ จนกระดาษขาดยุ่ย กัดเคี้ยวดินสอ

    เรียนรู้แตกต่าง สร้างแรงจูงใจ ฝึกนิสัยให้ปรับตัว
    การ เรียนรู้ของเด็กสมาธิสั้นมาจากประสบการณ์ การสังเกต และปฏิบัติ มากกว่าฟังครูสอน หรืออ่านจากตำรา หากสิ่งที่เรียน นำไปปรับประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันได้ ก็จะจำได้เองโดยง่าย ถ้าสนใจเรื่องใดแม้จะเป็นเรื่องที่ยาก ก็มีสมาธิมาก อยากเรียน และเรียนรู้แบบวิเคราะห์เจาะลึกในเรื่องนั้น ได้ดี เป็นแฟนพันธุ์แท้ หรือเก่งเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ตนเองสนใจตั้งแต่เล็ก

    การสร้างแรงจูงใจ ในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับเด็กสมาธิสั้น ให้รู้จักคิดเอง แก้ปัญหาเองเป็น ตั้งแต่ 3-4 ขวบปีแรก ฝึกให้รู้จักรอคอย ดึงพลังงานที่มีมากในตัว มาใช้ในชีวิตประจำวัน ให้ทำสิ่งต่างๆ ได้เองและชื่นชมเขาบ่อย เป็นพื้นฐานแรงจูงใจที่นำไปใช้ด้านการเรียนได้ การฝึกนิสัยให้รักการอ่าน ให้ดูหนังสือที่มีภาพประกอบ มีสีสัน อ่านให้ฟัง ตั้งแต่ 2-3 ขวบปีแรก โดยเฉพาะนิทาน การ์ตูน บทกลอน บทความ ง่ายๆ ช่วยให้เริ่มอ่านได้ตั้งแต่อนุบาล 3 และอ่านเก่งมาก ป.2, ป.3 หาหนังสือประเภทต่างๆ ที่ชอบเช่น รามเกียรติ์ พระอภัยมณี แฮร์รี่ พอตเตอร์ อ่านเร็วแบบ scan กวาดสายตาเก็บใจความเนื้อหา โดยข้ามการสะกดคำที่ยาก

    แต่การเขียนมากๆ ประโยคยาวๆ จะต้องใช้สมาธิ รู้สึกยาก เมื่อยมือ เบื่อเขียนสะกดคำตกหล่น หรือผิดบ่อย จึงเขียนได้ช้า และเขียนตอบหรือบรรยายสั้นๆ หากเนื้อหาการเรียนมากทุกวิชา ให้เขียนมากๆ จากกระดานดำ เด็กสมาธิสั้นไม่สามารถจดจ่อในการเขียน จดไม่ทัน และจำในรายละเอียดมากๆ ไม่ได้เริ่มเรียนไม่เข้าใจ ทำการบ้านไม่ได้ ซุกการบ้าน ผลการเรียนลดลงตั้งแต่ช่วงประถมปลาย หรือช่วงเปลี่ยนระดับเข้ามัธยมต้น การสอนในห้องเรียน ที่ต้องนั่งนิ่งๆ ฟังครูสอน ทุกชั่วโมง หรือจดตามมากๆ เด็กสมาธิสั้นปรับตัวได้ยากการปรับการเรียนการสอน อาจเป็นการบรรยายภาคทฤษฎีสัก 20 นาที แล้วแบ่งกลุ่มจัดกิจกรรมให้ฝึกปฏิบัติ ซักถาม ถกเถียงกัน แล้วนำเสนอ อภิปรายได้ขยับตัวเคลื่อนไหวให้มีชีวิตชีวา มีบรรยากาศของการมีส่วนร่วม

    กิจกรรมบำบัดกับเด็กสมาธิสั้น

    เขียนโดย กบ. นารินทร์ญา อภัย
    ปัจจุบันพบเด็กที่เป็นสมาธิสั้นประมาณร้อยละ 5 ในเด็กวัยเรียน เช่น ห้องเรียนมีนักเรียน 50 คน จะพบเด็กกลุ่มนี้ 2-3 คน ซึ่งอาการสมาธิสั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เลี้ยงดูตามใจ ไม่ฝึกวินัย สติปัญญาต่ำ เบื่อหน่าย ติดตามการเรียนไม่ทัน มีปัญหารบกวนจิตใจ เป็นต้น ดังนั้นการตรวจหาสาเหตุจึงเป็นสิ่งสำคัญและต้องให้ข้อมูลด้านการเรียนและพฤติกรรมในห้องเรียน ร่วมกับข้อมูลจากทางบ้าน และการสังเกตพฤติกรรมในห้องตรวจประกอบกันในการวินิจฉัย แล้วกลุ่มอาการใดบ้างที่บ่งบอกว่าเป็น สมาธิสั้น ?

    การวินิจฉัยทางการแพทย์แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

    กลุ่มอาการขาดสมาธิ เช่น ทำกิจกรรมอะไรได้ไม่นาน ทำงานไม่เสร็จ ทำงานผิดบ่อยๆ ไม่ใส่ใจรายละเอียด ขี้ลืม ทำของหายเป็นประจำ เป็นต้น
    กลุ่มอาการซนอยู่ไม่นิ่ง เช่น ยุกยิก อยู่ไม่สุข ลุกเดินในห้องเรียน วิ่ง ปีนป่าย เล่นแรง รอคอยไม่ได้ พูดมาก พูดแทรก เป็นต้น
    กลุ่มที่พบอาการร่วมกันทั้ง 2 แบบ อาการจะเกิดในหลายสถานที่ ไม่ใช่เฉพาะที่โรงเรียนหรือที่บ้าน และเริ่มมีอาการตั้งแต่ก่อนอายุ 7 ปี เห็นอาการได้ชัดเจน ในช่วงชั้นประถมปีที่ 2-3 เนื่องจากเป็นช่วงที่วิชาเรียนมีความยาก และต้องการความใส่ใจในการเรียนมากขึ้น
    ปัจจุบันมีการรักษาอาการสมาธิสั้นหลากหลายวิธี ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ

    การให้ความรู้แก่พ่อแม่และคุณครู เพื่อให้เข้าใจการดำเนินโรค ข้อจำกัดของเด็ก
    การใช้ยาเพื่อช่วยให้มีสมาธิในการเรียนได้นานขึ้น โดยการวินิจฉัยและให้การรักษาโดยจิตแพทย์
    การปรับพฤติกรรมที่บ้าน โดยเฉพาะพฤติกรรมที่ขัดขวางการเรียนรู้
    การช่วยเหลือในห้องเรียน
    นักกิจกรรมบำบัดช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นได้อย่างไร

    ประเมินการรับรู้ และการทำกิจกรรมของเด็กเป็นรายบุคคล ตลอดจนสัมภาษณ์ผู้ปกครองเกี่ยวกับพฤติกรรมทั้งที่บ้านและโรงเรียน
    จัดสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมให้เหมาะสมกับเด็กเป็นรายบุคคล ให้กิจกรรมการรักษา ที่เรียกว่าการบูรณาการประสาทรับความรู้สึก (Sensory Integration) เป็นการ
    กระตุ้นระบบการรับความรู้สึก เพื่อช่วยแก้ปัญหาพื้นฐาน (กระตุ้นการทำงานที่ประสานกันระหว่างระบบการรับความรู้สึกของเอ็น กล้ามเนื้อ และข้อต่อ ระบบการทรงท่า ตลอดจนระบบการรับสัมผัส) ของเด็กในเรื่องการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก และการคงสมาธิ ทำให้สามารถลดอาการไม่อยู่นิ่งของเด็กสมาธิสั้นและซนผิดปกติได้ เนื่องจากได้รับการปลดปล่อยพลังงานที่มีมากออกมา ผ่านการทำกิจกรรมการเล่น การเคลื่อนไหว ที่ต้องออกแรง

    ตัวอย่างกิจกรรม SI สำหรับเด็กสมาธิสั้น
    เพิ่มการรับความรู้สึกของระบบการรับรู้เอ็น กล้ามเนื้อ และข้อต่อ ซึ่งช่วยลดภาวะอยู่ไม่นิ่ง กิจกรรม ที่ต้องออกแรง ผลัก ดัน ดึง คลาน ยกของหนักๆ กระโดดแทมโพลีน
    เพิ่มการรับความรู้สึกของระบบการทรงท่า กิจกรรม ยืนทรงตัวบนกระดาน วิ่งซิกแซก วิ่งเป็นวงกลม กระโดดเชือก เดินบนทางต่างระดับ
    เพิ่มการรับความรู้สึกของระบบการรับสัมผัส กิจกรรมที่ร่างกายได้มีโอกาสสัมผัสพื้นผิวที่หลากหลาย ทั้งหยาบ หรืออ่อนนุ่ม เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ทราย ดินน้ำมัน หญ้า พรม ฟองน้ำ
    การเพิ่มความสามารถในการควบคุมตนเองและสมาธิในการทำกิจกรรม
    เป็นเป้าหมายหลักในการดูแลเด็กสมาธิสั้น กิจกรรม อาทิเช่น กิจกรรมศิลปะ กิจกรรมใบงานที่ต้องอาศัยการคิดวิเคราะห์ แยกแยะ
    ส่งเสริมทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับเด็กสมาธิสั้น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และต่อยอดในการทำกิจกรรม และการเรียนรู้อื่นๆ เช่น
    ฝึกการทำงานอย่างเป็นลำดับขั้นตอน แบ่งงานออกเป็นทีละขั้นตอน หรือแบ่งงานให้เป็นชิ้นเล็กๆ ที่เหมาะสมกับช่วงสมาธิของเด็ก เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการทำงาน
    การฝึกให้รู้จัก "การวางแผนล่วงหน้า" ฝึกให้เด็กคิดก่อนทำ ทำงานโดยเน้น speed ให้ช้าลง แต่ทำงานให้เสร็จตรงตามเวลาที่กำหนด
    การฝึกให้รู้จักการวางแผน และการประมาณ เวลา
    การฝึกให้มองเห็นข้อดีของตนเอง " การมองคุณค่าในตัวเองที่ดีเป็นพื้นฐานของภาวะทางอารมณ์ที่ดี และความภูมิใจในตนเอง"
    สมองกับการคิดวิเคราะห์ จำแนก แยกแยะองค์ประกอบต่างๆ หรือเหตุการณ์และหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล
    สมาธิ และการจับประเด็น เป็นเรื่องยากสำหรับเด็กกลุ่มนี้ เนื่องจากหนังสือไม่ใช่สื่อที่เคลื่อนไหว ต้องใช้สมาธิและความจดจ่ออย่างสูง ในการอ่านและจับประเด็น จึงเป็นสิ่งที่น่าส่งเสริม และผู้ปกครองสามารถฝึกที่บ้านได้ โดยเริ่มจากหนังสือเรื่องสั้น ไม่ยาวมาก และมีสีสันดึงดูดความสนใจ

    คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองและครูในการช่วยเหลือและดูแลเด็กสมาธิสั้น และซนผิดปกติ

    การปรับสิ่งแวดล้อม : เช่น ตำแหน่งโต๊ะเรียน ไม่ควรให้เด็กนั่งติดหน้าต่างหรือประตู เพราะเด็กจะวอกแวกเสียสมาธิ ควรให้เด็กนั่งหน้าสุดใกล้โต๊ะครู
    การเพิ่มสมาธิ : ตัวอย่างเช่น ขณะที่ลูกทำการบ้าน คุณพ่อคุณแม่ควรใช้เวลาสอนลูกทำ การบ้านแบบตัวต่อตัว ไม่ควรให้ลูกทำการบ้านคนเดียว และควรหัดให้เด็กนั่งทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ลุกจากโต๊ะบ่อยๆ อาจจะเริ่มจากการให้นั่งนานสัก 5 นาที ในระยะเริ่มต้นแล้วค่อยเพิ่มระยะเวลานานขึ้นเรื่อยๆ
    เมื่อเห็นว่าเด็กหมดสมาธิจริงๆ ควรให้เด็กมีกิจกรรมเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง เช่น ครึ่งหลังของคาบเรียนอนุญาตให้เด็กลุกจากที่ได้ แต่ในทางสร้างสรรค์ เช่นไปล้างหน้า ช่วยครูลบกระดาน หรือแจกสมุด จะช่วยลดความเบื่อหน่ายของเด็กลง และมีสมาธิเรียนได้นานขึ้น
    ในกรณีที่เด็กสมาธิสั้นมาก ใช้วิธีลดระยะเวลาการทำงานให้สั้นลง แต่ทำบ่อยกว่าคนอื่น เน้นเรื่องความรับผิดชอบและอดทนทำงานให้เสร็จ
    เด็กมีความยากลำบากในการควบคุมตนเอง เช่น ซุ่มซ่าม ทำของเสียหาย หุนหันพลันแล่น ไม่ควรลงโทษรุนแรงแต่ควรจะเตือน และสอนอย่างสม่ำเสมอ ว่าพฤติกรรมใดไม่เหมาะสม และพฤติกรรมที่เหมาะสมคืออะไร เปิดโอกาสให้เด็กได้แก้ไขด้วยตนเอง เช่น เก็บของเข้าที่ใหม่
    บรรยากาศที่เข้าใจ และเป็นกำลังใจให้เด็กพยายามปรับปรุงตัวมากขึ้น ควรให้คำชมเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดี เช่น ไม่รบกวนเพื่อน ช่วยงานครู และเมื่อเด็กทำผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจควรใช้คำพูดปลอบใจ ท่าทีเห็นใจ แนะนำวิธีแก้ไข
    การสื่อสารกับเด็ก ควรสังเกตเด็กมีสมาธิพร้อมและสนใจสิ่งที่ครูกำลังพูดหรือไม่ ควรใช้คำพูดที่กระชับ ชัดเจน หากเด็กกำลังอยู่ในช่วงเหม่อ วอกแวก หรือไม่ได้สนใจ ควรเรียกหรือแตะตัวอย่างนุ่มนวลให้เด็กรู้สึกตัว และหันมาสนใจ บางครั้งการบอก หรืออธิบายอย่างเดียว เด็กอาจไม่เข้าใจ ครูควรเข้าหาเด็ก และใช้การกระทำร่วมด้วย เพื่อให้เด็กมีพฤติกรรมที่ต้องการ ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการฝึกให้เด็กรับฟังและปฏิบัติตามผู้ใหญ่ได้ดีขึ้น
    ในการช่วยเหลือด้านการเรียน ใช้คำอธิบายง่ายๆ สั้นๆ พอที่เด็กจะเข้าใจและให้ความสนใจ ซึ่งหากมีการสาธิตตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม จะช่วยให้เด็กเข้าใจง่ายขึ้น
    บทความเรียบเรียงโดย กบ. นารินทร์ญา อภัย

    เอกสารอ้างอิง

    1.ชาญวิทย์ พรนภดล. เข้าใจเด็กสมาธิสั้น (Understanding Children with Attention Deficit Hyperactivity Disorder –ADHD). พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ:สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, 2548
    2.ณัฐสุดา เชื้อมโนชาญ. เอกสารประกอบ บทเรียนสำหรับเด็กสมาธิสั้น. สาขากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัดและวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวประยุกต์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2550

  2. #2
    ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมหา
    Mr.Reception
    สัญลักษณ์ของ คนตระการ...
    วันที่สมัคร
    Feb 2008
    กระทู้
    4,209
    เป็นแล้วโอกาสหายขาดยาก เขาเอิ้นว่าโรคปราบเซียน 100คน 100อาการ...
    วงการแพทย์กะคิดค้นหาวิธีรักษา โรคกะกลายพันธ์ไปเรื่อย โรคอันนี้เริ่มนับมื่อหลายขึ้นเรื่อยๆ

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •