หลาย ๆ ท่านคงคุ้นกับคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ว่า ให้เพียรละความชั่ว เร่งทำความดี และหมั่นชำระจิตใจให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ ในการที่จะละความชั่ว สำหรับคฤหัสถ์ หรือผู้ครองเรือนได้นั้น ต้องพิจารณาความบริสุทธิ์ของศีล ๕ เป็นสำคัญ แต่จะทราบอย่างไรว่า ในการรักษาศีล ๕ ของเรานั้นบริสุทธิ์อย่างแท้จริง

ดังนั้น ในการรักษาศีล เราจึงควรศึกษาทำความเข้าใจในเรื่ององค์ประกอบของศีล ซึ่งเป็นหลักในการพิจารณาว่า ศีลขาดหรือไม่ โดยพิจารณาจากองค์ประกอบชองศีล ๕ ดังนี้คือ

ศีลข้อที่ ๑ เว้นจากการฆ่าสัตว์ มีประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๑. สัตว์นั้นมีชีวิต
๒. รู้อยู่ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
๓. มีจิตคิดจะฆ่าสัตว์นั้น
๔. มีความพยายามฆ่าสัตว์นั้น
๕. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

ศีลข้อที่ ๒ เว้นจากการลักทรัพย์ ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ

๑. ทรัพย์หรือสิ่งของนั้นมีเจ้าของหวงแหน
๒. รู้อยู่ว่าทรัพย์นั้นมีเจ้าของหวงแหน
๓. มีจิตคิดจะลักทรัพย์นั้น
๔. มีความพยายามลักทรัพย์นั้น
๕. ลักทรัพย์ได้ด้วยความพยายามนั้น

ศีลข้อที่ ๓ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม ต้องประกอบด้วยองค์ ๔ ดังนี้ คือ

๑. หญิงหรือชายที่ไม่ควรละเมิด คือ หญิงที่ไม่ใช่ภรรยา หรือชายที่ไม่ใช่สามีของตน หญิงหรือชายที่อยู่ปกครองของบิดา มารดา หรือกรณีที่บุพพการี เสียชีวิต แต่มีผู้ปกครองอื่นดูแลอยู่ เช่น ลุง ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นต้น
๒. มีจิตคิดจะเสพเมถุน
๓. ประกอบกิจในการเสพเมถุน
๔. ยังอวัยวะเพศให้ถึงกัน

ศีลข้อที่ ๔ เว้นจากการพูดเท็จ ต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ

๑. เรื่องนั้นไม่จริง
๒. มีจิตคิดจะพูดให้ผิดไปจากความจริง
๓. พยายามที่จะพูดให้ผิดไปจากความจริง
๔. คนฟังเข้าใจความหมายตามที่พูดนั้น

ศีลข้อที่ ๕ เว้นจากการดื่มน้ำเมา ต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ

๑. น้ำที่ดื่มเป็นน้ำเมา
๒. มีจิตคิดจะดื่ม
๓. พยายามดื่ม
๔. น้ำเมานั้นล่วงพ้นลำคอลงไป

จากเรื่ององค์ประกอบของศีลนั้น ทำให้ทราบว่า ถ้าไม่ครบองค์ประกอบขอศีล ไม่ถือว่า ศีลขาด เช่น การฆ่าสัตว์มีองค์ ๕ แต่ทำไปแค่องค์ ๔ อย่างนี้เรียกว่าศีลทะลุ และถ้าลดหลั่นลงมาอีก ก็จะเรียกว่า ศีลด่าง ศีลพร้อย ตามลำดับ นอกจากนี้ พระอรรถกถาจารย์ ยังได้แสดงหลักสำหรับวินิจฉัยว่า การละเมิดศีลแต่ละข้อจะมีโทษมากหรือน้อย นั้นขึ้นอยู่กับสิ่งต่อไปนี้

การฆ่าสัตว์ มีโทษมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ

๑. พิจารณาจากคุณประโยชน์ การฆ่าสัตว์ที่มีคุณมาก จะมีโทษมากกว่าการฆ่าสัตว์ที่มีคุณน้อยหรือไม่มีคุณ เช่น ฆ่าพระอรหันต์ มีโทษมากกว่าฆ่าปุถุชน ฆ่าสัตว์ที่ช่วยงานมีโทษมากกว่าฆ่าสัตว์ดุร้าย เป็นต้น

๒. ขนาดกาย สำหรับสัตว์ดิรัจฉานจำพวกที่ไม่มีคุณเหมือนกัน การฆ่าสัตว์ใหญ่ มีโทษมาก กว่าการฆ่าสัตว์เล็ก

๓. ความพยายาม มีความพยายามในการฆ่ามาก มีโทษมาก มีความพยายามน้อย มีโทษน้อย

๔. กิเลสหรือเจตนา กิเลสหรือเจตนาแรง มีโทษมาก กิเลสหรือเจตนาอ่อน มีโทษน้อย เช่น การฆ่าด้วยโทสะ หรือความเกลียดชัง มีโทษมากกว่าการฆ่าเพื่อป้องกันตัว

การลักทรัพย์ มีโทษมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ

๑. คุณค่าของทรัพย์สินสิ่งของนั้น
๒. คุณความดีของผู้เป็นเจ้าของทรัพย์นั้น
๓. ความพยายามในการลักทรัพย์นั้น

การประพฤติผิดในกาม มีโทษมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ

๑. คุณความดีของผู้ที่ถูกละเมิด
๒. ความแรงของกิเลส
๓. ความเพียรพยายามในการประพฤติผิดในกามนั้น

การพูดเท็จ มีโทษมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ
๑. ความเสียหายที่เกิดขึ้นว่ามากน้อยเพียงใด
๒. คุณความดีของผู้ที่ถูกละเมิด
๓. ผู้พูดนั้นเป็นใคร เช่น

- คฤหัสถ์ (ผุ้ครองเรือน) ที่โกหกว่า " ไม่มี " เพราะไม่อยากให้ของๆ ตน อย่างนี้มีโทษน้อย แต่การเป็นพยานเท็จมีโทษมาก
- บรรพชิต พูดเล่นมีโทษน้อย แต่การพูดว่าตน "รู้เห็น " ในสิ่งที่ตนไม่รู้ไม่เห็น จึงมีโทษมาก

การดื่มน้ำเมา มีโทษมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ

๑. อกุศลจิต หรือกิเลสในการดื่ม
๒. ปริมาณที่ดื่ม
๓. ผลที่เกิดจากการกระทำผิดพลาด ชั่วร้าย ที่ตามมาจากการดื่มน้ำเมา

อย่างไรก็ตาม การละเมิดศีลในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นศีลขาด ศีลทะลุ ศีลต่าง หรือ ศีลพร้อย ล้วนแล้วแต่ทำให้ใจเราไม่บริสุทธิ์ หรือเรียกว่า “บาป” เป็นหนทางสู่ประตูอบายภูมิ ในการรักษาศีลที่ถูกต้องและบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นนั้น ควรกระทำควบคู่กับการรักษากุศลกรรมบถ ๑๐ และตั้งใจว่า เราจะไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง เราจะไม่ยุยงให้คนอื่นผิดศีล และเมื่อเห็นคนอื่นผิดศีลแล้วเราจะไม่พลอยยินดี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักปฏิบัติที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้ตนเองพ้นทุกข์นั้น จะต้องมีการรักษาศีลของตนให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ เมื่อศีลบริสุทธิ์แล้ว จะมีความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติ และเข้าสู่กระแสของมรรค ผล นิพพานในที่สุด

http://www.watkoh.com/forum/index.php?topic=3565.0

.