ไตเสื่อม

ไตเสื่อม

ไตเสื่อม


ไตเสื่อม อาการแสดงให้เห็นเป็นอย่างไร

โรคไตวายเป็นโรคที่มักจะทำความประหลาดใจให้แก่ผู้ป่วยและญาติมิตรเสมอ เนื่องจากการที่ไม่รู้ตัวมาก่อน โรคไตวายมีสาเหตุได้หลายอย่างที่วงการแพทย์ทราบดีเช่นเป็นเบาหวานเรื้อรัง ไตอักเสบเรื้อรัง พิษจากสารเคมี หลอดเลือดไตพิการ ความดันโลหิตสูงเรื้อรังเป็นต้น แต่เพราะ ความซับซ้อนอันเนื่องมาจากการที่ไตต้องเสียการทำงานไปมากก่อนที่จะเริ่มมีอาการแสดงและก่อนที่จะมาพบแพทย์จึงมีผู้ป่วยไม่น้อยถ้าไม่ไปตรวจเช็คร่างกายประจำจะไม่รู้ตัวว่าไตเริ่มเสื่อม
แต่เมื่อไตสูญเสียหน้าที่ไปถึงร้อยละ 75 ผู้ป่วยจึงเริ่มมีอาการแสดงออกมาให้เห็นได้ จึงทำให้ผู้ป่วยโรคไตจำนวนมากไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคไต เมื่อมีอาการก็มักจะมาพบแพทย์ซึ่งสายเกินไปเสียแล้วเพระไตของผู้ป่วยเสียมากจนเกินความสามารถที่แพทย์จะรักษาให้หายเป็นปกติได้

ไม่ว่าจะเป็นโรคไตวายชนิดใดก็ตาม เมื่อการทำงานของไตเสียไปกว่าร้อยละ 75 ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการต่างๆให้พอสังเกตได้ ดังนี้
1 เริ่มจากสภาพทั่วๆไป ผู้ป่วยจะอ่อนเพลีย อ่อนแรง อิดโรย เหนื่อยง่าย ขาดสมาธิ หงุดหงิดง่าย ผู้ป่วยโรคไตบางรายจะซูบลง น้ำหนักลด แต่โรคไตบางชนิดอาจทำให้ผู้ป่วยบวม น้ำหนักมากขึ้น
2 ทางด้านผิวหนัง จะซีด คัน มีจ้ำเลือดเกิดขึ้นง่าย ผิวหนังแตกแห้ง เป็นแผลแล้วหายช้า ผู้ป่วยบางรายจะมีผิวหนังตกสะเก็ดดำคล้ำกว่าปกติ
3 ระบบทางเดินอาหาร จะมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปากขม ไม่สามารถรับรสอาหารได้ สะอึก ปวดท้อง ท้องเดิน เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ เป็นแผลในกระเพาะและลำไส้
4 ระบบหัวใจและการหายใจ ถ้าไตทำงานได้น้อยลงจนขับปัสสาวะและเกลือแร่ไม่ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการบวมทำให้หัวใจทำงานไม่ไหว เหนื่อยง่าย นอนราบแล้วหายใจลำบาก ความดันโลหิตสูง หัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมสภาพ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ อาจเกิดภาวะน้ำคั่งในเยื่อหุ้มหัวใจ น้ำคั่งในปอด ปอดบวม ทำให้หายใจไม่ออก ไอเป็นเลือด
5 ด้านระบบประสาท สมองและกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยจะมีปลายประสาทเสื่อม ทำให้มือเท้าชา กล้ามเนื้อกระตุก เป็นตะคริวและกล้ามเนื้ออ่อนแรง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ขาดสมาธิ สมองเสื่อม ไม่สามารถคิดและจดจำได้เหมือนปกติ ในที่สุดอาจชักและหมดสติไปได้
6 ระบบกระดูก แคลเซียมต่ำจะทำให้กระดูกผุกร่อน กระดูกอ่อน เด็กที่มีไตวายจะหยุดเจริญเติบโตแคระแกร็น
7 ระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยที่มีไตวายระยะแรกๆ ในตอนกลางคืนจะปัสสาวะบ่อยและมีสีจาง จนที่สุดเมื่อไตทำงานเสื่อมลงหรือไม่ทำงานเลย ผู้ป่วยจะมีปัสสาวะออกน้อย
8 ระบบโลหิต เม็ดเลือดแดงน้อยทำให้โลหิตจาง ผู้ป่วยทุกรายเมื่อไตเสื่อมลง จะมีอาการซีด การทำงานของเกล็ดเลือดผิดปกติ เป็นสาเหตุให้มีเลือดออกง่าย เลือดไหลไม่หยุด มีจ้ำเลือดขึ้นตามตัว
9 ระบบภูมิต้านทานโรค ผู้ป่วยโรคไตวายมักจะมีภูมิต้านทานโรคต่ำ เป็นสาเหตุให้ติดเชื้อได้ง่าย
10 ระบบฮอร์โมนอื่นๆ ในร่างกายผู้ป่วยโรคไตวายมักจะมีการทำงานผิดปกติของฮอร์โมนเกือบทุกชนิด ทั้งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง จากต่อมไธรอยด์ จากต่อมพาราไธรอยด์ จากต่อมหมวกไต ฮอร์โมนจากรังไข่เพศหญิง ทำให้ประจำเดือนผิดปกติ ฮอร์โมนจากลูกอัณฑะในเพศชาย ทำให้เป็นหมันและหมดสมรรถภาพทางเพศ


ไตเสื่อม

ไตเสื่อม

แพทย์แผนไทยเผยกิน"แห้ม"ไม่กระทบไต แพทย์แผนไทยชี้มีผลต่อตับหัวใจ




- แพทย์แผนไทยฯ โต้กินสมุนไพร "แห้ม" มากๆ ทำไตพัง ยันผลวิจัยพิษวิทยาในสัตว์ทดลองไม่ส่งผลต่อไต แต่มีผลต่อตับ หัวใจ ด้าน รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรเตือนผู้ป่วยไตต้องระวังการกินเป็นเรื่องปกติหากจะกินสมุนไพรต้องศึกษาข้อมูลก่อน

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงกรณี ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยเป็นโรคไตใช้สมุนไพรในการรักษาโรค เนื่องจากมีสารสเตียรอยด์ หากรับประทานมากๆ จะเป็น การกระตุ้นให้ไตเสื่อมมากยิ่งขึ้นและเสี่ยงที่จะเกิดอาการไตวายได้ โดยเฉพาะ "แห้ม" สมุนไพรของภาคอีสาน ว่า จากการศึกษาวิจัยยังไม่พบข้อมูลว่าแห้มส่งผลร้ายต่อไตหรือทำให้ไตเสื่อมไตวายได้ แม้การศึกษาวิจัยจะยังมีไม่มากก็ตามเนื่องจากแห้มเป็นสมุนไพรที่ไม่มีการปลูกในประเทศไทย ต้องนำเข้ามาจากลาวเท่านั้น แต่จากการศึกษาเรื่องพิษวิทยาในสัตว์ทดลอง ทั้งการสกัดสมุนไพรด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำ ไม่ปรากฏว่ามีพิษต่อไตเช่นกัน

"ลาวจะใช้สมุนไพรแห้มเพื่อรักษาอาการท้องเสียเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ลาวมีผลการวิจัยชี้ชัดจำนวนมาก ส่วนไทยนิยมนำมาใช้ในการลดน้ำตาลในเลือด เพราะแห้มมีสารเบอเบอรีนการลดน้ำตาลในเลือดได้ แต่มีผลข้างเคียงต่อหัวใจหากกินอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการหายใจขัดได้ นอกจากนี้ อาจมีพิษต่อระบบเลือด ตับ และหัวใจได้ ซึ่งไทยต้องนำแห้มเข้ามาจากลาว ขอแนะนำให้ใช้มะระขี้นกแทนในการลดปริมาณน้ำตาลในเลือดเนื่องจากประเทศไทยมีจำนวนมากและมีสรรพคุณที่แน่นอนกว่า" นพ.ปราโมทย์ กล่าว

ด้าน ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า แห้มสามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือดและบรรเทาอาการปวดได้ จากการศึกษาไม่พบว่ามีผลร้ายต่อไตแต่อย่างใด แต่จะส่งผลต่อตับมากกว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยโรคไตนั้นโดยปกติต้องระมัดระวังในการรับประทานทุกอย่างอยู่แล้ว แม้แต่น้ำส้มหรือน้ำมะเขือเทศต้องรับประทานอย่างจำกัด เนื่องจากมีปริมาณเกลือแร่สูง ดังนั้น การรับประทานสมุนไพรเพื่อรักษาโรคก็เช่นกัน ผู้ป่วยโรคไตต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ การที่เครือข่ายลดบริโภคเค็มออกมาแนะนำให้ผู้ป่วยไตไม่ใช้สมุนไพรในการรักษาโรคก็ค่อนข้างเห็นด้วย เนื่องจากผู้ป่วยไตต้องระมัดระวังสารหลายอย่าง






ที่มา โรงพยาบาลพระรามเก้า/บ้านมหา.คอม
ขอบคุณภาพจากทางอินเทอร์เน็ต