ย่างก้าวสู่อิสรภาพ

ย่างก้าวสู่อิสรภาพ

ย่างก้าวสู่อิสรภาพ

นักบวชหนุ่มสาว : ย่างก้าวสู่อิสรภาพ(Stepping into freedom)
หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เขียน
พรรัตน์ วชิราชัย แปล

(๒)ตื่นรู้เป็นดั่งอาชีพของเธอ
ภิกษุ-ภิกษุณีบางคนคิดว่าอาชีพของพวกเขาคือตำแหน่งในวัดวาอารามหรือตำแหน่งงานที่กำลังดูแล บางคนพอใจกับผลงานหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์หรือได้รับใบปริญญาบัตร บางคนรู้สึกประสบความสำเร็จเมื่อมีวัดใหญ่โต มีญาติโยมมาเยี่ยมเยือนมากๆ แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของการเป็นพระที่แท้ โพธิจิตไม่ใช่การทำงานเพื่อให้ได้ใบประกาศนียบัตร ไม่ใช่การเป็นนักวิชาการ ครูผู้โด่งดัง หรือเจ้าอาวาสในอารามใหญ่โต อาชีพของภิกษุ-ภิกษุณีคือการแปรเปลี่ยนความทุกข์และการเข้าถึงความเข้าใจที่แท้จริง อิสรภาพที่ยิ่งใหญ่ และ รักแท้ คุณสมบัติเหล่านี้นำมาความสุขมาสู่ตนเองและผู้อื่น และเราจะตระหนักรู้สิ่งเหล่านี้ได้ด้วยการปฏิบัติ ผู้คนจะเข้ามาหาเธอเมื่อเธอมีความเข้าใจ ความรัก และอิสรภาพ ไม่ใช่เพราะเธอเป็นเจ้าอาวาสของวัดที่ใหญ่โต หรือได้ปริญญามาแล้วถึง ๓-๔ ใบ แต่เป็นเพราะเธอมีอิสระ มีคุณงามความดี และมีประสบการณ์ของการปฏิบัติที่นำมาซึ่งการแปรเปลี่ยน เป้าหมายสูงสุดของการเป็นภิกษุ-ภิกษุณี หมายถึงการเป็น ‘ครู’ ผู้ซึ่งนำพาผู้คนออกจากความทุกข์ด้วยการฝึกปฏิบัติ ความเข้าใจ และความเป็นอิสระ

ในพระสูตรแห่งความจริงแท้ 8 ประการของพระโพธิสัตว์ผู้ยิ่งใหญ่ (THE SUTRA ON THE EIGHT REALIZATIONS OF THE GREAT BEINGS) กล่าวว่า “พระโพธิสัตว์ พึงพิจารณาว่า การตระหนักรู้ในความเข้าใจอันสมบูรณ์คือการงานเพียงหนึ่งเดียวของพระองค์” ความเข้าใจอันสมบูรณ์ คือจิตที่ตื่นรู้ ซึ่งไม่ใช่ความรู้ที่หาได้ในมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่สถาบันการศึกษาพุทธศาสนา

สถาบันการศึกษาพุทธศาสนาบางแห่งบีบอัดข้อมูลความรู้มากมายเข้าสมองผู้เรียน ครูสอนเยอะแยะ นักเรียนจดบันทึกเต็มไปหมด แต่ทำงานกับความทุกข์และความยากลำบากภายในเพียงเล็กน้อย เมื่อฉันเห็นสามเณรที่เรียนหนักในมหาวิทยาลัย ฉันรู้ได้ว่าพวกเขาจะเสียใจและประสบกับยากลำบากในอนาคต

สถาบันการศึกษาพุทธศาสนาควรเป็นสังฆะให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติร่วมกัน สถาบันการศึกษาพุทธศาสนาที่ดี นักบวชที่มาเรียนควรจะได้ร่วมสนทนาธรรม ได้รับการฝึกปฏิบัติเพื่อแปรเปลี่ยนความทุกข์และพบกับความสุขที่แท้จริง หากใน ๓-๖ เดือน เธอไม่ประสบกับการแปรเปลี่ยนใดๆ ทั้งในกายและในใจ ทั้งยังไม่เพิ่มพูนความสุขภายในจิตใจ เธอรู้แล้วว่าการปฏิบัติวิธีนี้ไม่ได้ผล เธอจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือกับครูของเธอและมิตรสหายทางจิตวิญญาณ

(๓)ความสุขในปัจจุบัน
ด้วยพลังโพธิจิตในตัวเรา เรารับรู้ถึงความรู้สึกเป็นสุขที่แท้จริงแม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากมีความทุกข์มากมายแต่เรามีความเข้มแข็งหนักแน่น ยืนหยัดต่อสถานการณ์เหล่านั้น พระพุทธองค์ทรงสอนพวกเราถึงหนทางซึ่งมอบความสงบและความสุข ‘ในทุกๆ ขณะ’ สันทิฏฐิโก (เป็นสิ่งที่ผู้รู้พึงรู้และปฏิบัติและเห็นผลได้ด้วยตนเอง)

เมื่อเรานำคำสอนเข้าสู่การปฏิบัติเราจะรู้สึกได้ถึงความสุขในทันทีทันใด นี่คือคำสอนว่า อกาลิโก (ไม่ถูกจำกัดด้วยขอบเขตของกาลเวลา) เมื่อเธอตามลมหายใจเข้า ร่างกายของเธอรู้สึกสงบและเป็นสุข ถ้าเธอฝึกปฏิบัติมาหลายปีแล้วแต่ยังไม่รู้สึกเป็นสุขเลยเธออาจจะปฏิบัติไม่ถูกต้อง อาจเป็นเพราะไม่มีสังฆะ ไม่มีครูที่คอยชี้แนะการปฏิบัติให้เธอ หากเป็นดั่งนี้โพธิจิตของเธอจะไม่เบ่งบาน นี่เป็นเรื่องน่าเศร้ายิ่งนักสำหรับชีวิตภิกษุ-ภิกษุณี

(๔)ความรู้ไม่ใช่ปัญญารู้แจ้ง

ปัญญารู้แจ้งไม่อาจบรรลุได้ด้วยการอ่านหนังสือ หรือแม้แต่การอ่านพระสูตร (พุทธวจนะ) หากแต่เป็นผลมาจากการปฏิบัติ ฮุ่ยเหนย พระอาจารย์เซนรุ่นที่๖ ของจีนเป็นคนไร้การศึกษาแต่ผู้คนมากมายมาหาเขา ความเข้าใจของเขาไม่ได้มาจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาพุทธศาสนา แต่มาจากการปฏิบัติและปัญญาของเขา ภิกษุหมู่บ้านพลัมรูปหนึ่งมีชื่อว่า มหาสมุทรแท้แห่งปณิธาน ภิกษุรูปนี้ ไม่มีใบปริญญาใดๆ แต่เมื่อท่านเดิน นั่ง นอน หรือ ฟัง ท่านฉายแสงสติไปยังสิ่งที่ท่านมอง ท่านแลเห็นสิ่งที่ผู้อื่นไม่เห็น

หากเธอปฏิบัติ “การดำรงอยู่อย่างเป็นสุขในปัจจุบันขณะ (ทิฏฐธรรมสุขวิหาร)” เธอจะเบิกบานกับทุกช่วงขณะแห่งชีวิต ขณะที่เธอเดินไปที่ห้องครัวหรือหอสมาธิ ทุกย่างก้าวทำให้เธอเป็นสุข หากเธอคงสติไว้ในขณะทำความสะอาดห้องน้ำ เธอจะแลเห็นว่าการทำความสะอาดห้องน้ำนั้นรื่นรมย์ไม่แพ้การนั่งสมาธิ ทุกการกระทำ ทุกคำพูด ทุกการมอง และทุกย่างก้าวของภิกษุ-ภิกษุณี ควรเป็นไปเพื่อสติ อย่าคร่ำเคร่ง ขอเพียงเธอตระหนักรู้ในแต่ละก้าว แต่ละลมหายใจ เธอจะได้รับความสุขสงบ โปรดอย่ารอจนกว่าเธอจะเป็นพระธรรมาจารย์ เพียงเป็นสามเณรเธอเป็นสุขมากแล้ว






เครดิต : หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เขียน
พรรัตน์ วชิราชัย แปล
หมู่บ้านพลัมประเทศไทย/บ้านมหา.คอม