หัวใจของพระพุทธศาสนาคือ “โอวาทปาติโมกข์” มี ๓ อย่างคือ ๑.การไม่ทำบาปทั้งปวง, ๒.การทำกุศลให้ถึงพร้อม, ๓.การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ,

จะอธิบาย ในหัวข้อธรรมทั้ง ๓ ของ “โอวาทปาติโมกข์” คือหลักพระธรรมสำคัญของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ควรศึกษา และโน้มนำมาประพฤติปฏิบัติธรรมได้จริงในชีวิตประจำวันของเรา

หัวข้อที่ ๑. ที่ว่าการไม่ทำบาปทั้งปวงได้แก่การไม่ประพฤติผิด ในทุจริตธรรม ๓ อย่างคือทางกายทางวาจาและทางใจ
แต่ควรประพฤติสุจริตธรรมแทน มีสุจริตทางกาย คือไม่ทำบาปด้วยกายมี ๓ อย่าง คือไม่ฆ่าสัตว์ ๑, ไม่ลักทรัพย์ ๑, ไม่ประพฤติในกาม ๑, นี่จัดเป็นสุจริตทางกาย.
วจีสุจริต คือการไม่ทำบาปด้วยวาจา ๔ คือ การไม่พูดเท็จคือพูดโกหก ๑, การไม่พูดด่าคือคำหยาบ ๑, การไม่พูดส่อเสียดคือพูดแทงใจคนให้เจ็บช้ำน้ำใจ ๑, การไม่พูดเพ้อเจ้อคือพูดทีเล่นทีจริงไร้สาระ ๑, นี่จัดเป็นสุจริตทางวาจา.
มโนสุจริต คือการไม่ทำบาปด้วยใจมี ๓ คือ การไม่คิดพยาบาทคิดปองร้ายใคร ๑, การไม่คิดโลภอยากได้ของๆเขา ๑, การไม่ไม่คิดเห็นผิดจากธรรมนองและครองธรรม ๑, นี่จัดเป็นสุจริตทางใจ.
รวมการไม่ทำบาปทั้งหมดนี้คือ สุจริตธรรม คือไม่ควรประพฤติในทุจริตธรรมทางกาย ทางวาจา และทางใจ ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับสุจริตธรรม ควรประพฤติแต่สุจริตธรรมไว้เสมอ จะทำให้จิตเป็นบุญเป็นกุศล,

หัวข้อที่ ๒. ที่ว่าการทำกุศลให้ถึงพร้อมก็คือ การรู้ในการดำริชอบ เพื่อไม่ให้จิตเกิดอกุศล พระพุทธองค์จึงได้ทรงให้เรา ดำริในการออกจากกาม ๑, ดำริในการไม่มุ่งร้าย ๑, ดำริในการไม่เบียดเบียน ๑, เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้จิตเกิดอกุศล มีโลภ โกรธ หลง ครอบงำจิตอยู่
ความหมายของคำว่ากาม ได้แก่อารมณ์หรือความรู้สึกยินดียินร้าย ที่มีต่อการได้รับรู้ใน รูป เสียง กลิ่น สัมผัส และธัมมารมณ์ ที่ชวนให้รัก,ชักให้เกิดความใคร่,พาใจให้ไหลหลง, เมื่อเกิดยินดียินร้ายต่อการรับรู้ขึ้นแล้ว จึงเรียกว่าเกิดกิเลสกาม, คำว่าดำริในการไม่มุ่งร้าย ได้แก่อาการที่คิดเห็นอยู่ในใจที่ชอบมองคนในแง่ร้ายอยู่เสมอๆ ด้วยการคิดว่าร้ายคนอื่นในใจ, คำว่าดำริในการไม่เบียดเบียน ได้แก่อาการที่คิดเห็นในทางพยาบาทปองร้ายคนอื่นอยู่เสมอๆ จึงเป็นที่มาแห่งการเบียดเบียนทำร้ายได้ และเป็นที่มาของหัวข้อธรรมในการภาวนาได้ที่เรียกว่า ธัมมะภาวนา ได้แก่ “ อย่ายินดียินร้าย...อย่าว่าร้ายใคร...อย่าคิดร้ายใคร...” เมื่อเราได้นำมาท่องภาวนาไว้เสมอๆ ในชีวิตประจำวัน ก็จะทำให้เกิดสติระลึกรู้ไม่ให้บาปและอกุศลจิตเกิดขึ้น จิตของเราก็จะเกิดเป็นกุศลจิตกุศลธรรม จึงควรมีความเพียรชอบในการท่องธัมมะภาวนาไว้เสมออย่างน้อยให้ได้ ๓๐ ครั้งต่อวัน เพื่อเป็นการทำกุศลให้ถึงพร้อมไว้ในจิตของตน,

หัวข้อที่ ๓. ที่ว่าการชำระจิตของตนให้ขาวรอบได้แก่ เมื่อเรามีความเพียรชอบในการเจริญสติด้วยธัมมะภาวนา จนจิตมีสติทำความสงบนิ่งได้แล้ว ก็ควรที่จะมีการตามดูรู้เห็นจิตของตนไว้เสมอ อย่าให้จิตมาร มาคอยดลจิตดลใจ ให้จิตนึกไปในสิ่งที่ล่วงไปแล้ว(ได้แก่ความจำได้หมายรู้ในสัญญาขันธ์) หรือที่อยากจะทำสิ่งต่างๆ เพราะจะทำให้จิตหลงคิด จนเกิดเป็นความฟุ้งซ่าน ให้เราพิจารณาถึงความไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งที่กำลังนึก-คิดนั้น เพราะเป็นเหตุให้จิตเกิดทุกข์ ความยึดถือในสิ่งที่นึก-คิดนั้นจัดเป็นสมุทัย คือใจเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ควรละความยึดมั่นถือมั่น ในการนึก-คิดนั้นเสีย เมื่อเรารู้พิจารณาทำได้อย่างนี้ไว้ตลอดก็จัดเป็นผู้รู้ชำระจิตของตน จะทำให้จิตของเรามีความขาวรอบยิ่งขึ้น มีความผ่องใสมีสติปัญญา ควรต่อการบรรลุใน
คุณธรรมที่สูงยิ่งๆขึ้นไป จนบรรลุในพระนิพพานได้ ดังนี้. (ควรอ่านหลายๆเที่ยวเพื่อให้เกิดความเข้าใจยิ่งๆขึ้น)

โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง