ประวัติหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

ประวัติหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

ประวัติหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

-ชาติภูมิ
พระคุณเจ้าหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ มีชาติกำเนิดในสกุล “หนูศรี” เดิม ชื่อ ดู่ เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๗ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะโรง ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา ณ บ้านข้าวเม่า ตำบลข้าวเม่า อำเภออุทัย จังหวัด พระนครศรีอยุธยา
โยมบิดาชื่อ พุด โยมมารดาชื่อ พุ่ม ท่านมีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน ๓ คน ท่านเป็นบุตรคนสุดท้าย มีโยมพี่สาว ๒ คน มีชื่อตามลำดับดังนี้
๑ . พี่สาวชื่อ ทองคำ สุนิมิตร
๒ . พี่สาวชื่อ สุ่ม พึ่งกุศล
๓ . ตัวท่าน


-ปฐมวัยและการศึกษาเบื้องต้น
ชีวิตในวัยเด็กของท่านดูจะขาด ความอบอุ่นอยู่มาก ด้วยกำพร้าบิดา มารดาตั้งแต่เยาว์วัย นายยวง พึ่งกุศล ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของท่าน ได้เล่าให้ฟังว่า บิดามารดา ของท่านมีอาชีพทำนา โดยนอกฤดูทำนาจะมีอาชีพทำขนมไข่มงคลขาย เมื่อตอนที่ท่านยังเป็นเด็กทารก มีเหตุการณ์สำคัญที่ควรบันทึกไว้ คือในคืนวันหนึ่งซึ่งเป็นหน้าน้ำ ขณะที่บิดามารดาของท่านกำลังทอด“ขนมมงคล”อยู่นั้น ท่านซึ่งถูก วางอยู่บนเบาะนอกชานคนเดียว ไม่ทราบด้วยเหตุใดตัวท่านได้กลิ้งตกลงไปในน้ำ ทั้งคนทั้งเบาะแต่เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งที่ตัวท่านไม่จมน้ำ กลับลอยน้ำจนไปติดอยู่ข้างรั้วกระทั่งสุนัขเลี้ยงที่บ้านท่าน มาเห็นเข้าจึงได้เห่าพร้อมกับวิ่งกลับไปกลับมาระหว่างตัวท่านกับมารดาท่าน เมื่อมารดาท่านเดินตามสุนัขเลี้ยงออกมา จึงได้พบท่านลอยน้ำติดอยู่ที่ข้างรั้ว ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มารดาท่านเชื่อมั่นว่าท่าน จะต้องเป็นผู้มีบุญวาสนามากมาเกิด
มารดาของท่านได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเป็นทารกอยู่ ต่อมาบิดาของท่านก็จากไปอีกขณะท่านมีอายุได้เพียง ๔ ขวบเท่านั้น ท่านจึงต้องกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กจำความไม่ได้ ท่านได้อาศัยอยู่กับยายโดยมีโยมพี่สาวที่ชื่อ สุ่ม เป็นผู้ดูแลเอาใจใส่ และท่านก็ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนที่วัดกลางคลองสระบัว วัดประดู่ทรงธรรม และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ

-สู่เพศพรหมจรรย์
เมื่อท่านอายุได้ ๒๑ ปี ก็ได้เข้าพิธีบรรพชาอุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ตรงกับวันอาทิตย์แรม ๔ ค่ำ เดือน ๖ ณ วัดสะแก ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีหลวงพ่อ กลั่น เจ้าอาวาสวัดพระญาติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ มีหลวงพ่อ แด่ เจ้าอาวาสวัดสะแก ขณะนั้นเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และมีหลวงพ่อ ฉาย วัดกลางคลองสระบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ได้รับฉายาว่า “พรหมปัญโญ”
” ในพรรษาแรกๆ นั้น ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดประดู่ทรงธรรมซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่าวัดประดู่โรงธรรมโดยมีพระอาจารย์ผู้สอนคือท่านเจ้าคุณเนื่อง พระครูชม และ หลวงพ่อรอด (เสือ) เป็นต้น
ในด้านการปฏิบัติพระกรรมฐานนั้น ท่านได้ศึกษากับหลวงพ่อกลั่น ผู้เป็นอุปัชฌาย์ และหลวงพ่อเภา ศิษย์องค์สำคัญของหลวงพ่อกลั่น ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของท่าน เมื่อท่านบวชได้พรรษาที่สองประมาณปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๙ หลวงพ่อกลั่นมรณภาพ ท่านจึงได้ศึกษาหาความรู้จากหลวงพ่อเภา เป็นสำคัญ นอกจากนี้ท่านยัง ได้ศึกษาจากตำรับตำราที่มีอยู่จากชาดกบ้าง จากธรรมบทบ้างและด้วยความที่ท่านเป็นผู้ใฝ่รู้รักการศึกษา ท่านจึงได้เดินทางไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากพระอาจารย์อีกหลายท่านที่จังหวัดสุพรรณบุรี และสระบุรี
ประสบการณ์ธุดงค์
ประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๖ ออกพรรษาแล้วท่านก็เริ่ม ออกเดินธุดงค์จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีเป้าหมายที่ป่าเขาทางแถบจังหวัดกาญจนบุรี และแวะนมัสการสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น พระพุทธฉายและ รอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี จากนั้นท่านก็เดินธุดงค์ไปยังจังหวัดสิงห์บุรี สุพรรณบุรี จนถึงจังหวัดกาญจนบุรี จึงเข้าพักปฏิบัติตามป่าเขาและถ้ำต่างๆ
หลวงปู่ดู่ ท่านเคยเล่าให้ฟังว่าเริ่มแรกที่ท่านขวนขวายศึกษาและปฏิบัตินั้น แท้จริงมิได้มุ่งเน้นมรรคผลนิพพานหากแต่ต้องการเรียนรู้ให้ได้วิชาต่างๆ เป็นต้นว่าวิชาคงกระพันชาตรี ก็เพื่อที่จะสึกออกไปแก้แค้นพวกโจรที่ปล้นบ้าน โยมพ่อโยมแม่ท่านถึง ๒ ครั้ง แต่เดชะบุญ แม้ท่านจะสำเร็จวิชาต่าง ๆ ตามที่ตั้งใจไว้ท่านกลับได้คิด นึกสลดสังเวชใจตัวเองที่ปล่อยให้อารมณ์อาฆาตแค้นทำร้าย จิตใจ ตนเองอยู่เป็นเวลานับสิบ ๆ ปี ในที่สุดท่านก็ได้ตั้งจิตอโหสิกรรมให้แก่โจรเหล่านั้น แล้ว มุ่งปฏิบัติฝึกฝน อบรมตน ตามทางแห่งศีล สมาธิ และปัญญา อย่างแท้จริง
ในระหว่างที่ท่านเดินธุดงค์อยู่นั้น ท่านเคยเล่าให้ฟังว่าได้พบฝูงควายป่ากำลังเดินเข้ามาทางท่าน ท่านตั้งสติอยู่ครู่หนึ่งจึงตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว หยุดยืนภาวนานิ่งอยู่ ฝูงควายป่าที่มุ่งตรงมาทางท่าน พอเข้ามาใกล้จะถึงตัวท่าน ก็กลับเดินทักษิณารอบท่านแล้วก็จากไป บางแห่งที่ท่านเดินธุดงค์ไปถึง ท่านมักพบกับพวกนักเลงที่ชอบลองของ ครั้งหนึ่งมีพวกนักเลงเอาปืนมายิงใส่ท่านขณะนั่งภาวนาอยู่ในกลด ท่านเล่าให้ฟังว่า พวกนี้ไม่เคารพพระ สนใจ แต่ “ของดี” เมื่อยิงปืนไม่ออก จึงพากันมาแสดงตัวด้วยความนอบน้อม พร้อมกับอ้อนวอนขอ “ ของดี ”ทำให้ท่านต้องออกเดินธุดงค์หนีไปทางอื่น
การปฏิบัติของท่านในช่วงธุดงค์อยู่นั้น เป็นไปอย่างเอาจริงเอาจัง ยอมมอบกายถวายชีวิตไว้กับป่าเขา แต่สุขภาพธาตุขันธ์ของท่านก็ไม่เป็นใจเสียเลย บ่อยครั้งที่ท่านต้องเอาผ้ามาคาดที่หน้าผาก เพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะ อีกทั้งก็มีอาการเท้าชารุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แม้กระนั้นท่านก็ยังไม่ละความเพียรสมดังที่ท่านเคย สอนลูกศิษย์ว่า “นิพพานอยู่ฟากตาย” ในการประพฤติปฏิบัตินั้น จำต้องยอมมอบกายถวายชีวิตลงไป ดังที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า “ถ้ามันไม่ดีหรือไม่ได้พบความจริงก็
ให้มันตายถ้ามันไม่ตายก็ให้มันดี หรือได้พบกับความจริง” ดังนั้น อุปสรรคต่างๆ จึงกลับเป็นปัจจัยช่วยให้จิตใจของผู้ปฏิบัติแข็งแกร่งขึ้นเป็นลำดับ

-นิมิตธรรม

อยู่มาวันหนึ่ง ประมาณก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เล็กน้อย หลังจากหลวง ปู่ดู่สวดมนต์ทำวัตรเย็น และปฏิบัติกิจส่วนตัวเสร็จเรียบร้อยแล้วท่านก็จำวัด เกิดนิมิตไปว่า ได้ฉันดาวที่มีแสงสว่างมาก ๓ ดวง ในขณะที่กำลังฉันอยู่นั้นก็รู้สึกว่ากรอบๆ ดี ก็เลยฉันเข้าไปทั้งหมด แล้วจึงตกใจตื่น
เมื่อท่านพิจารณาใคร่ครวญถึงนิมิตธรรมที่เกิดขึ้น ก็เกิดความเข้าใจขึ้น ว่าแก้ว ๓ ดวงนั้น ก็คือพระไตรสรณาคมน์นั่นเอง พอท่านว่า
“พุทธัง สรณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ, สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” ก็เกิดอัศจรรย์ขึ้นในจิตท่าน พร้อมกับอาการปีติอย่างท่วมท้น ทั้งเกิดความรู้สึกลึก ซึ้งและมั่นใจว่า พระไตรสรณาคมน์นี้แหล่ะเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา ท่านจึงกำหนดเอามาเป็นคำบริกรรมภาวนาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเน้นหนักที่การปฏิบัติ
หลวงปู่ดู่ท่านให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของการปฏิบัติสมาธิภาวนา ท่านว่า“ถ้าไม่เอา(ปฏิบัติ)เป็นเถ้าเสียดีกว่า” ในสมัยก่อนเมื่อตอนที่ศาลาปฏิบัติธรรมหน้ากุฏิท่านยังสร้างไม่เสร็จนั้น ท่านก็เมตตาให้ใช้ห้องส่วนตัวที่ท่านใช้จำวัด เป็นที่รับรองสานุศิษย์และผู้สนใจได้ใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม ซึ่งนับเป็นเมตตาอย่างสูง
สำหรับผู้ที่ไปกราบนมัสการท่านบ่อยๆ หรือมีโอกาสได้ฟังท่านสนทนาธรรม ก็คงจะได้เห็นกุศโลบายในการสอนของท่านที่จะโน้มน้าว ผู้ฟังให้วกเข้าสู่การปรับปรุงแก้ไขตนเอง เช่นครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์วิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้ให้ท่านฟังใน เชิงว่ากล่าวว่า เป็นต้นเหตุของปัญหาและความยุ่งยาก แทนที่ท่านจะเออออไปตามอันจะทำให้เรื่องยิ่งบานปลายออกไป ท่านกลับปรามว่า “เรื่องของคนอื่น เราไปแก้เขาไม่ได้ ที่แก้ได้คือตัวเรา แก้ข้างนอกเป็นเรื่องโลก แต่แก้ที่ตัวเรานี่เป็นเรื่อง
ธรรม” ”
คำสอนของหลวงปู่ดู่จึงสรุปลงที่การใช้ชีวิตอย่างคนไม่ประมาทนั่นหมายถึงว่าสิ่งที่จะต้องเป็นไปพร้อมๆ กัน ก็คือ ความพากเพียรที่ลงสู่ภาคปฏิบัติ ในมรรควิถีที่เป็นสาระแห่งชีวิตของผู้ไม่ประมาท ดังที่ท่านพูดย้ำเสมอว่า “หมั่นทำเข้าไว้ๆ”

-อ่อนน้อมถ่อมตน
นอกจากความอดทน อดกลั้นยิ่งแล้ว หลวงปู่ดู่ยังเป็นแบบอย่างของผู้ไม่ถือตัว วางตัวเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เมื่อครั้งที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม) วัดสุทัศน์เทพวราราม หรือที่เราเรียกกันว่า“ท่านเจ้าคุณเสงี่ยม” ซึ่งมีอายุพรรษามากกว่าหลวงปู่ดู่ ๑ พรรษา มานมัสการหลวงพ่อโดยยกย่องเป็นครูเป็นอาจารย์ แต่เมื่อท่านเจ้าคุณเสงี่ยม กราบหลวงพ่อเสร็จแล้วหลวงพ่อท่านก็กราบตอบ เรียกว่าต่างองค์ต่างกราบซึ่งกันและกัน เป็นภาพที่พบเห็นได้ยากเหลือเกิน ในโลกที่ผู้คนทั้งหลายมีแต่จะเติบโตทางด้านทิฏฐิมานะ ความถือตัวอวดดี อวดเด่น ยกตนข่มท่าน ปล่อยให้กิเลสตัวหลงออกเรี่ยราด เที่ยวประกาศให้ผู้คนทั้งหลายได้รู้ว่าตนเก่ง โดยเจ้าตัวก็ไม่รู้ว่าถูกกิเลสขึ้นขี่คอพาบงการให้เป็นไป
หลวงปู่ดู่ไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติธรรมของสำนักไหนๆ ในเชิงลบหลู่หรือเปรียบเทียบดูถูกดูหมิ่น ท่านว่า “คนดีน่ะเขาไม่ตีใคร” ซึ่งลูกศิษย์ทั้งหลายได้ถือเป็นแบบอย่าง
หลวงปู่ดู่เป็นพระพูดน้อย ไม่มากโวหาร ท่านจะพูดย้ำอยู่แต่ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมและความไม่ประมาท เช่น “ของดีอยู่ที่ตัวเรา หมั่นทำ (ปฏิบัติ) เข้าไว้” “ให้หมั่นดูจิต รักษาจิต” “อย่าลืมตัวตาย” และ “ให้หมั่นพิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” เป็นต้น

-อุบายธรรม
หลวงปู่ดู่เป็นผู้ที่มีอุบายธรรมลึกซึ้ง สามารถขัดเกลาจิตใจคนอย่างค่อยเป็นค่อยไป มิได้เร่งรัดเอาผล เช่นครั้งหนึ่งมีนักเลงเหล้าติดตามเพื่อนซึ่งเป็น ลูก ศิษย์มากราบนมัสการท่าน สนทนากันได้สักพักหนึ่ง เพื่อนที่เป็นลูกศิษย์ ก็ชักชวนเพื่อนนักเลงเหล้าให้สมาทานศีล ๕ พร้อมกับฝึกหัดปฏิบัติสมาธิภาวนา นักเลงเหล้าผู้นั้นก็แย้งว่า “จะมาให้ผมสมาทานศีลและปฏิบัติได้ยังไง ก็ผมยังกินเหล้าเมายาอยู่นี่ครับ ” หลวงปู่ดู่ท่านก็ตอบว่า “เอ็งจะกินก็กินไปซิ ข้าไม่ว่า แต่ให้เอ็งปฏิบัติให้ข้าวันละ ๕ นาที ก็พอ” นักเลงเหล้าผู้นั้นเห็นว่านั่งสมาธิแค่วันละ๕ นาที ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร จึงได้ตอบปากรับคำจากหลวงพ่อ
ด้วยความที่เป็นคนนิสัยทำอะไรทำจริง ซื่อสัตย์ต่อตัวเองทำให้เขาสามารถปฏิบัติได้สม่ำเสมอเรื่อยมามิได้ขาดแม้แต่วันเดียวบางครั้งถึงขนาดงดไปกินเหล้ากับเพื่อนๆ เพราะได้เวลาปฏิบัติจิตของเขาเริ่มเสพคุ้นกับความสุขสงบจากการที่จิตเป็นสมาธิ ไม่ช้าไม่นานเขาก็สามารถเลิกเหล้าได้โดยไม่รู้ตัวด้วยอุบายธรรมที่น้อมนำมาจากหลวงปู่ ต่อมาเขาได้มีโอกาสมานมัสการท่านอีกครั้ง ที่นี้หลวงปู่ดู่ท่านให้โอวาทว่า “ที่แกปฏิบัติอยู่ ให้รู้ว่าไม่ใช่เพื่อข้า แต่เพื่อตัวแกเอง” คำพูด
ของหลวงปู่ทำให้เขาเข้าใจอะไรมากขึ้น ศรัทธาและความเพียร ต่อการปฏิบัติก็มีมากขึ้นตามลำดับ ถัดจากนั้นไม่กี่ปี เขาผู้ที่อดีตเคยเป็นนักเลงเหล้าก็ละเพศฆราวาสเข้าสู่เพศบรรพชิตตั้งใจปฏิบัติธรรมเรื่อยมา
อีกครั้งหนึ่งมีชาวบ้านหาปลามานมัสการท่าน และก่อนกลับท่านก็ให้เขาสมาทานศีล ๕ เขาเกิดตะขิดตะขวงใจกราบเรียนท่านว่า “ผมไม่กล้าสมาทานศีล ๕ เพราะรู้ว่าประเดี๋ยวก็ต้องไปจับปลา จับกุ้ง มันเป็นอาชีพของผมครับ ” หลวงปู่ตอบเขาด้วยความเมตตาว่า “แกจะรู้เหรอว่า แกจะตายเมื่อไหร่ ไม่แน่ว่าแกเดินออกไปจากกุฏิข้าแล้ว อาจถูกงูกัดตายเสียกลางทางก่อนไปจับปลา จับกุ้ง ก็ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อตอนนี้แกยังไม่ได้ทำบาปกรรมอะไร ยังไงๆ ก็ให้มีศีลไว้ก่อน ถึงจะ
มีศีลขาดก็ยังดีกว่าไม่มี ศีล ”

หลวงปู่ดู่ท่านไม่เพียงพร่ำสอนให้บรรดาศิษย์ทั้งหลายเจริญบำเพ็ญ คุณงามความดีเท่านั้น หากแต่ยังเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญ และระมัดระวังในการรักษาไว้ ซึ่งคุณงามความดีนั้นๆ ให้คงอยู่ รวมทั้งเจริญงอกงามขึ้นเรื่อยๆ ท่าน มักจะพูดเตือนเสมอๆ ว่าเมื่อปลูกต้นธรรมด้วยดีแล้ว ก็ต้องคอยหมั่นระวังอย่าให้หนอนและแมลง ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ และความหลง มากัดกินทำลายต้นธรรมที่อุตส่าห์ปลูกขึ้น และอีกครั้งหนึ่งที่ท่านแสดงถึงแบบอย่างของความเป็นครูอาจารย์ที่ปราศจากทิฏฐิมานะและเปี่ยมด้วยอุบายธรรม ก็คือครั้งที่มีนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒ คน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่าน มากราบลาพร้อมกับเรียนให้ท่านทราบว่า จะเดินทางไปพักค้างเพื่อปฏิบัติธรรมกับ ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัด อุดรธานี
หลวงปู่ดู่ท่านฟังแล้วก็ยกมือพนมขึ้นไหว้ไปทางข้างๆ พร้อมกับพูดว่า “ข้าโมทนากับพวกแกด้วย ตัวข้าไม่มีโอกาส...” ”ไม่มีเลยที่ท่านจะห้ามปราม หรือแสดงอาการที่เรียกว่าหวงลูกศิษย์ ตรงกันข้ามมีแต่จะส่งเสริม สนับสนุน ให้กำลังใจเพื่อให้ลูกศิษย์ของท่านขวนขวายในการปฏิบัติธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป
แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีลูกศิษย์มาเรียนให้ท่านทราบถึงครูอาจารย์นั้นองค์นี้ในลักษณะตื่นครูตื่นอาจารย์ ท่านก็จะปรามเพื่อวกเข้าสู่เจ้าตัว โดยพูดเตือนสติว่า “ครูอาจารย์ดีๆ แม้จะมีอยู่มาก แต่สำคัญที่ตัวแก ต้องปฏิบัติให้จริง สอนตัวเองให้มากนั่นแหละจึงจะดี” ”
หลวงปู่ดู่ท่านมีแนวทางการสอนธรรมะที่เรียบง่าย ฟังง่ายชวนให้ติดตามฟัง ท่านนำเอาสิ่งที่เข้าใจยากมาแสดงให้เข้าใจง่าย เพราะท่านจะยกอุปมาอุปไมย ประกอบในการสอนธรรมะจึงทำให้ผู้ฟังเห็นภาพและเกิดความเข้าใจในธรรมที่ท่านนำมาแสดง แม้ว่าท่านมักจะออกตัวว่าท่านเป็นพระบ้านนอกที่ไม่มีความรู้อะไร แต่สำหรับบรรดาศิษย์ทั้งหลาย คงไม่อาจปฏิเสธว่า หลายครั้งที่ท่านสามารถพูดแทงเข้าไปถึงก้นบึ้งหัวใจของผู้ฟังทีเดียว
อีกประการหนึ่ง ด้วยความที่ท่านมีรูปร่างลักษณะที่เป็นที่น่าเคารพ เลื่อมใส เมื่อใครได้มาพบเห็นท่านด้วยตนเอง และถ้ายิ่งได้สนทนาธรรมกับท่านโดยตรงก็จะยิ่งเพิ่มความเคารพเลื่อมใสและศรัทธาในตัวท่านมากขึ้นเป็นทวีคูณ
หลวงปู่ดู่ท่านพูดถึงการประพฤติปฏิบัติของคนสมัยนี้ว่า “คนเราทุกวันนี้ โลกเท่าแผ่นดิน ธรรมเท่าปลายเข็ม เรามัวพากันยุ่งอยู่กับโลกจนเหมือนลิงติดตัง เรื่องของโลก เรื่องเละๆ เรื่องไม่มีที่สิ้นสุด เราไปแก้ไขเขาไม่ได้จะต้องแก้ไขที่ตัวเราเอง ตนของตนเตือนตนด้วยตนเอง” ท่านได้อบรมสั่งสอนศิษย์โดยให้พยายามถือเอาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเป็นครูสอนตนเองเสมอ เช่นในหมู่คณะ หากมีผู้ใดประพฤติปฏิบัติดี เจริญใ ธรรมปฏิบัติ ท่านก็กล่าวชมและให้ถือเป็นแบบอย่าง แต่ถ้ามีผู้ประพฤติผิด ถูกท่านตำหนิติเตียน ก็ให้น้อมเอาเหตุการณ์นั้นๆ มาสอนตนทุกครั้งไป ท่านไม่ได้ชมผู้ทำดีจนหลงลืมตน และท่านไม่ได้ติเตียนผู้ทำผิดจนหมดกำลังใจ แต่ถือเอาเหตุการณ์ เป็นเสมือนครูที่เป็นความจริง แสดงเหตุผลให้เห็นธรรมที่แท้จริง
การสอนของท่านก็พิจารณาดูบุคคลด้วย เช่น คนบางคนพูดให้ฟัง เพียงอย่างเดียวไม่เข้าใจ บางทีท่านก็ต้องทำให้เกิดความกลัว เกิดความ ละอายบ้างถึงจะหยุด เลิกละการกระทำที่ไม่ดีนั้นๆ ได้ หรือบางคนเป็นผู้มีอุปนิสัยเบาบางอยู่แล้วท่านก็สอนธรรมดา การสอนธรรมะของท่าน บางทีก็สอนให้กล้าบางทีก็สอนให้กลัวที่ว่าสอนให้กล้านั้นคือ ให้กล้าในการทำความดี กล้าในการประพฤติปฏิบัติเพื่อถอดถอนกิเลสออกจากใจ ไม่ให้ตกเป็นทาสของกิเลสอยู่ร่ำไป ส่วนที่สอนให้กลัวนั้น ท่านให้กลัวในการทำความชั่ว ผิดศีลธรรม เป็นโทษ ทำแล้วผู้อื่นเดือดร้อน บางทีท่านก็สอนให้เชื่อ คือให้เชื่อมั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อในเรื่องกรรม อย่างที่ท่านเคยกล่าวว่า “เชื่อไหมล่ะ ถ้าเราเชื่อจริง ทำจริง มันก็เป็นของจริง ของจริงมีอยู่ แต่เรามันไม่เชื่อจริง จึงไม่เห็นของจริง ”
หลวงปู่ดู่ท่านสอนให้มีปฏิปทาสม่ำเสมอท่านว่า“ขยันก็ให้ทำขี้เกียจก็ให้ทำ ถ้าวันไหนยังกินข้าวอยู่ก็ต้องทำวันไหนเลิกกินข้าวแล้วนั่นแหละจึงค่อยเลิกทำ”
การสอนของท่านนั้นมิได้เน้นแต่เพียงการนั่งหลับตาภาวนา หากแต่หมายรวมไปถึงการกำหนดดู กำหนดรู้ และพิจารณาสิ่งต่างๆ ในความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านชี้ให้เห็นถึงสังขารร่างกายที่มันเกิดมันตายอยู่ตลอดเวลา ท่านว่า เราวันนี้กับเราเมื่อตอนเป็นเด็กมันก็ไม่เหมือนเก่า เราขณะนี้กับเราเมื่อวานก็ไม่เหมือนเก่า จึงว่าเราเมื่อตอนเป็นเด็ก หรือเราเมื่อวานมันได้ตายไปแล้ว เรียกว่าร่างกายเรามันเกิด - ตาย อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก มันเกิด - ตาย อยู่ทุกขณะจิต ท่านสอนให้บรรดาศิษย์เห็นจริงถึงความสำคัญของความทุกข์ยาก ว่าเป็นสิ่งมีคุณค่าในโลก
ท่านจึงพูดบ่อยครั้งว่า การที่เราประสบทุกข์ นั่นแสดงว่าเรามาถูกทางแล้ว เพราะอาศัยทุกข์นั่นแหละ จึงทำให้เราเกิดปัญญาขึ้นได้


-ใช้ชีวิตอย่างผู้รักสันโดษและเรียบง่าย
หลวงปู่ดู่ท่านยังเป็นแบบอย่างของผู้มักน้อยสันโดษใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่นิยมความหรูหราฟุ่มเฟือย แม้แต่การสรงน้ำ ท่านก็ยังไม่เคยใช้สบู่เลย แต่ก็น่าอัศจรรย์ เมื่อได้ทราบจากพระอุปัฏฐากว่าไม่พบว่า ท่านมีกลิ่นตัว แม้ในห้องที่ท่านจำวัด
มีผู้ปวารณาตัวจะถวายเครื่องใช้และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับท่าน ซึ่งส่วนใหญ่ท่านจะปฏิเสธ คงรับไว้บ้างเท่าที่เห็นว่าไม่เกินเลยอันจะเสียสมณะสารูป และใช้สอยพอให้ผู้ถวายได้เกิดความปลื้มปีติที่ได้ถวายแก่ท่าน ซึ่งในภายหลังท่านก็มักยกให้เป็นของสงฆ์ส่วนรวมเช่นเดียวกับข้าวของต่างๆ ที่มีผู้มาถวายเป็นสังฆทาน โดยผ่านท่าน และเมื่อถึงเวลาเหมาะควรท่านก็จะจัดสรรไปให้วัดต่างๆ ที่อยู่ในชนบท และ ยังขาดแคลนอยู่
สิ่งที่ท่านถือปฏิบัติสม่ำเสมอในเรื่องลาภสักการะ ก็คือการยกให้เป็นของ สงฆ์ส่วนรวม แม้ปัจจัยที่มีผู้ถวายให้กับท่านเป็นส่วนตัวสำหรับค่ารักษาพยาบาลท่านก็สมทบเข้าในกองทุนสำหรับจัดสรรไปในกิจสาธารณประโยชน์ต่างๆ ทั้งโรงเรียน และโรงพยาบาล
หลวงปู่ดู่ ท่านไม่มีอาการแห่งความเป็นผู้อยากเด่นอยากดังแม้แต่น้อย ดังนั้น แม้ท่านจะเป็นเพียงพระบ้านนอกรูปหนึ่งซึ่งไม่เคยออกจากวัดไปไหน ทั้งไม่มีการศึกษาระดับสูงๆ ใน ทางโลก แต่ในความรู้สึกของลูกศิษย์ทั้งหลาย ท่านเป็นดั่งพระเถระผู้ถึงพร้อมด้วยจริยวัตรอันงดงาม สงบ เรียบง่าย เบิกบาน และถึงพร้อมด้วยธรรมวุฒิที่รู้ถ้วนทั่วในวิชชาอันจะนำพา ให้พ้นเกิดพ้นแก่พ้นเจ็บพ้นตายถึงฝั่งอันเกษม เป็นที่ฝากเป็นฝากตายและฝากหัวใจของลูกศิษย์ทุกคน
ในเรื่องทรัพย์สมบัติดั้งเดิมของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นา ซึ่งมีอยู่ ประ มาณ ๓๐ ไร่ ท่านก็ได้แบ่งให้กับหลานๆ ของท่าน ซึ่งในจำนวนนี้ นายยวง พึ่งกุศล ผู้เป็นบุตรของนางสุ่ม โยมพี่สาวคนกลางที่เคยเลี้ยงดูท่านมาตลอด ก็ได้รับส่วนแบ่งที่นาจากท่านด้วยจำนวน ๑๘ ไร่เศษ แต่ด้วยความที่นายยวงผู้เป็นหลานของท่านนี้ไม่มีทายาท ได้คิดปรึกษานางถมยา ผู้ภรรยาเห็นควรยกให้เป็น สาธารณประโยชน์จึงยกที่ดินแปลงนี้ให้กับโรงเรียนวัดสะแกซึ่งหลวงปู่ดู่ท่านก็อนุโมทนาในกุศลเจตนา
ของคนทั้งสอง


-กุศโลบายในการสร้างพระ





เครดิต : http://www.luangpordu.com/?cid=453621
ภาพจากเฟซบุ๊ค/บ้านมหา.คอม


--มีต่อ..