ตั้งใจทำอะไรดี ในช่วงเข้าพรรษา ?

ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ชาวพุทธส่วนหนึ่งปวารณาตนในการรักษาศีล 5 หรือศีล 8 อย่างเคร่งครัด ซึ่งพุทธศาสนาสอนไว้ว่าชีวิตที่สมบูรณ์นั้นต้องประกอบด้วยประโยชน์สุขระดับต่าง อันเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต

ประโยชน์สุขอันดับที่ 1 คือ ประโยชน์ปัจจุบันด้านรูปธรรม คือเห็นได้กับตาคือการมีสุขภาพดี มีอาชีพเป็นหลักฐานมีทรัพย์สินเงินทอง เป็นที่ยอมรับในสังคม มีครอบครัว บริวารดี เป็นประโยชน์สุขส่วนตน

ประโยชน์สุขอันดับที่ 2 ด้านนามธรรม คือ คุณธรรม ความดีงามมั่นในในคุณค่าของชีวิต การได้บำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่เพื่อนมนุษย์ มีศรัทธาในความดีงามเป็นหลักของจิตใจมีปัญญา ทำให้รู้จักปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ถูกต้อง แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เป็นความสุขที่ต่อเนื่องกัน สุขของตนกับสุขของคนอื่น สุขของบุคคลกับสุขของสังคมที่ประสานส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทำให้ทั้งสังคมสุขไปด้วยกันไม่เบียดเบียน ไม่แย่งซึ่งกัน เป็นความสุขที่ประสานกัน

การพัฒนาที่ยั่งยืนจะสำเร็จได้ต้องทำให้คนมีความสุขแบบประสานกัน ชีวิตสมบูรณ์ ความสุขก็สมบูรณ์ สังคมสมบูรณ์ ประโยชน์สุขของเรา เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น

ประโยชน์สุขระดับที่ 3 ด้านนามธรรมขึ้นโลกกุตระ ที่อยู่เหนือกระแสของโลกธรรมคือ ความเป็นผู้มีจิตใจเป็นอิสระ รู้โลกและชีวิตตามความเป็นจริง ปล่อยให้ความทุกข์ที่มีอยู่ในธรรมชาติคงเป็นความทุกข์ของธรรมชาติ ไม่เข้ามากระทบกระทั่งบีบคั้นจิตใจของเรา เป็นผู้มีสุขอยู่กับตนเองได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นช่วงออกพรรษาหรือเข้าพรรษา ขอให้ชาวพุทธปฏิบัติตนให้ถึงประโยชน์สุขทั้ง 3 ระดับ ได้ตลอดไป

ข้อเตือนใจ

การทำชั่ว เหมือนการเดินตามกระแสน้ำ เดินไปได้ง่าย ทุกๆ คนพร้อมที่จะ กระทำสิ่งต่างๆ ไปตามกระแสกิเลสอยู่แล้ว ถ้าไม่ควบคุมให้ดี ยอม ตกเป็นทาสของกิเลส กระทำสิ่งต่างๆ ตามอำนาจของความอยากก็จะประสบทุกข์ในบั้นปลาย

การทำดี เหมือนการเดินทวนกระแสน้ำ เดินลำบากต้องใช้ความอดทน ใช้ความมานะพยายามต้องระมัดระวังไม่ให้ลื่นล้ม การทำความดีเป็นการทวนกระแสกิเลสในตัว ไม่ทำสิ่งต่างๆ ตามอำเภอใจ คำนึงถึงความถูกความดีเป็นที่ตั้งไม่ยอมเป็นทาสของความอยากเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ต้องใช้ความสุขุมรอบคอบ ใช้ความมานะพยายามสูง แต่จะประสบสุขในบั้นปลาย

การทำกลางๆ เหมือนยืนอยู่เฉยๆ กลางกระแสน้ำ ไม่ช้าก็ถูกกระแสน้ำพัดพาไปได้ คนที่คิดว่า

“ฉันอยู่ของฉันอย่างนี้ก็ดีแล้ว ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร แต่ความดีฉันก็ไม่สนใจที่จะทำ” เข้าทำนองบุญก็ไม่ทำ กรรมก็ไม่สร้าง วัดก็ไม่เข้า เหล้าก็ไม่กิน เขาย่อมจะมีโอกาสเผลอไปทำความชั่วได้ในไม่ช้า เพราะใจของคนเราพร้อมที่จะไหลเลื่อนลงไป ในที่ต่ำตามอำนาจกิเลสอยู่แล้ว ผู้ที่คิดอย่างนี้ จึงเป็นคนประมาทอย่างยิ่ง

ดังนั้นเราชาวพุทธทั้งหลาย นอกจากจะต้องพยายามงดเว้นบาปเพื่อป้องกันใจของเราไม่ให้ไหลเลื่อนไปทางต่ำแล้ว จะต้องหมั่นยกใจของเราให้สูงอยู่เสมอ ด้วยการขวนขวายสร้างสมบุญกุศลอยู่เป็นนิจ

ตั้งใจทำอะไรดี ในช่วงเข้าพรรษา ?

อานิสงส์การงดเว้นบาป

๑. ทำให้เป็นคนไม่มีเวร ไม่มีภัย
๒. ทำให้เกิดมหากุศลตามมา
๓. ทำให้โรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียน
๔. ทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท
๕. ทำให้เกิดศรัทธาในพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น
๖. ทำให้จิตใจผ่องใส พร้อมที่จะรองรับคุณธรรมขั้นสูงต่อไป

ตั้งใจทำอะไรดี ในช่วงเข้าพรรษา ?

สำรวมจากการดื่มน้ำเมาหมายถึงอะไร

น้ำเมา โดยทั่วไปหมายถึงเหล้า แต่ในที่นี้หมายถึง ของมึนเมาให้โทษทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นน้ำหรือแห้ง รวมทั่งสิ่งเสพย์ติดทุกชนิด

ดื่ม ในที่นี้หมายถึงการทำให้ซึมซาบเข้าไปในร่างกาย ไม่ว่าจะโดยวิธี ดื่ม ดม อัด นัตถุ์ สูบ ฉีด ก็ตาม

สำรวม หมายถึง ระมัดระวังในนัยหนึ่ง และเว้นขาดในอีกนัยหนึ่ง

เหตุที่ใช้คำว่าสำรวม

พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประเภทมีเหตุผล บางศาสนาเห็นโทษของเหล้า เห็นโทษของแอลกอฮอล์ เพราะฉะนั้นนอกจากห้ามดื่มแล้วเอามาทาแผลก็ไม่ได้ คนตายแล้วเอาแอลกอฮอล์มาเช็ดล้าง..พก็ไม่ได้เพราะเป็นของบาป

แต่ในพระพุทธศาสนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามเหมารวมหมดอย่างนั้น เพราะ ทรงมองเห็นว่าเหล้าหรือสิ่งเสพย์ติดแม้จะมีโทษมหันต์ แต่ในบางกรณีก็อาจนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ เช่น ใช้ฉีดระงับความเจ็บปวด หรือยาบางอย่างต้องอาศัยเหล้าสกัดเอาตัวยาออกมาเพื่อใช้รักษาโรค คือเอาเหล้าเพียงเล็กน้อยมาเป็นกระสายยา ไม่มีรสไม่มีกลิ่นเหล้าคงอยู่ อย่างนี้ในพระพุทธศาสนาไม่ได้ห้าม แต่บางคนที่อยากจะดื่มเหล้าแล้วหาข้ออ้างนำเหล้ามาทั้งขวด เอายาใส่ไปนิดหน่อยอย่างนั้นเป็นการเอายามากระสายเหล้า ใช้ไม่ได้

โดยสรุปสำรวมจากการดื่มน้ำเมา จึงหมายถึง การระมัดระวังเมื่อใช้สิ่งเสพย์ติดทั้งหลายในการรักษาโรค และเว้นขาดจากการเสพสิ่งเสพย์ติดให้โทษทุกชนิดไม่ว่าโดยวิธีใดก็ตาม

โทษของการดื่มน้ำเมา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรุปโทษของการดื่มสุราไว้ ๖ ประการคือ

๑. ทำให้เสียทรัพย์ เพราะไหนจะต้องซื้อเหล้ามาดื่มเอง ไหนจะต้องเลี้ยงเพื่อน งานการก็ไม่ได้ทำ ดังนั้น แม้เป็นมหาเศรษฐี ถ้าติดเหล้า ก็อาจจะล่มจมได้

๒. ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท เพราะกินเหล้าแล้วขาดสติไม่สามารถควบคุมตนเองได้ จะเห็นได้ว่าในวงเหล้ามักจะมีเรื่องชกต่อย ตีรันฟันแทงอยู่เสมอ เพื่อนรักกัน พอเหล้าเข้าปากประเดี๋ยวเดียวก็ฆ่ากันเสียแล้ว

๓. ทำให้เกิดโรคหลายอย่าง ทั้งโรคตับแข็ง โรคกระเพาะ โรคหัวใจ โรคเส้นโลหิตในสมองแตก โรคทางระบบประสาท ฯลฯ

๔. ทำให้เสียชื่อเสียง เพราะไปทำสิ่งที่ไม่ดีเข้า ใครรู้ว่าเป็นคนขี้เมาก็จะดูถูกเหยียดหยาม ไม่มีใครไว้วางใจ

๕. ทำให้แสดงอุจาดขาดความละอาย พอเมาแล้วอะไรที่ไม่กล้าทำก็ทำได้ จะนอนอยู่กลางถนน จะเอะอะโวยวาย จะถอดเสื้อผ้าในที่สาธารณะทำได้ทั้งนั้น

๖. ทำให้สติปัญญาเสื่อมถอย พอเมาแล้ว จะคิดอะไรก็คิดไม่ออก อ่านหนังสือก็ไม่ถูก พูดจาวกวน พอดื่มหนักๆ เข้าอีกหน่อยก็กลายเป็นคนหลงลืม ปัญญาเสื่อม

“เหล้าจึงผลาญทุกสิ่งทุกอย่าง ผลาญทรัพย์ ผลาญไมตรี ผลาญสุขภาพ ผลาญเกียรติยศ ผลาญศักดิ์ศรี ผลาญสติปัญญา”

การดื่มเหล้านั้น ทำให้เกิดความสุขได้บ้างสำหรับคนที่ติด แต่เป็นความสุขหลอกๆ บนความทุกข์ เหล้าทำให้เพลินเพลิน แต่เป็นการเพลิดเพลินในเรื่องเศร้า

การดื่มน้ำเมามอมตัวเองวันแล้ววันเล่า จึงเป็นการบั่นทอนทุกสิ่งทุกอย่างของตนเองแม้ที่สุดความสุขทางใจ ที่คนเมาเห็นว่าตนได้จากการเสพสิ่งเสพย์ติดนั้น ก็เป็นความสุขจอมปลอม

โทษข้ามภพข้ามชาติของการดื่มสุรา

เหล้าไม่ได้มีโทษเฉพาะชาตินี้เท่านั้น แต่ยังมีโทษติดตัวผู้ดื่มไปข้ามภพข้ามชาติมากมายหลายประการ ตัวอย่างเช่น

๑. ทำให้เกิดเป็นคนใบ้ พวกนี้ตายในขณะเมาเหล้า คนที่เมาเหล้ากำลังได้ที่ ลิ้นจุกปากกันทั้งนั้น พูดไม่รู้เรื่อง ได้แต่ส่งเสียง “แบะๆ” พอตายแล้วก็ตกนรก จากนั้นกลับมาเกิดใหม่ กรรมยังติดตามมา เลยเป็นใบ้

๒. ทำให้เกิดเป็นคนบ้า พวกนี้ภพในอดีตดื่มเหล้ามามาก เวลาเมาก็มีประสาทหลอน เวรนั้นติดตัวมา ในภพชาตินี้เกิดมาก็เป็นบ้า อยู่ดีๆ ก็ได้ยินเสียงคนมากระซิบบ้างเห็นภาพหลอนว่าคนนั้นคนนี้จะมาฆ่าบ้าง

๓. ทำให้เกิดเป็นคนปัญญาอ่อน พวกที่ดื่มเหล้าจัดๆ ตอนเมาก็คิดอะไรไม่ออกอยู่แล้ว ด้วยเวรสุรานี้ก็ส่งผลให้เกิดเป็นคนปัญญาอ่อน

๔. ทำให้เกิดเป็นสัตว์เลื้อยคลาน ไม่ว่าจะเป็นตะกวด งู เฮี้ย มาจากพวกขี้เมาทั้งนั้น พวกนี้ซ้อมคลานมาตั้งแต่ตอนเป็นคนพอตายเข้าได้คลานสมใจนึก

ตั้งใจทำอะไรดี ในช่วงเข้าพรรษา ?

วิธีเลิกเหล้าให้ได้เด็ดขาด

๑. ตรองให้เห็นโทษ ว่าสุรามีโทษมหันต์ดังได้กล่าวมาแล้ว

๒. ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะเลิกโดยเด็ดขาด ให้สัจจะกับผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ หรือกับพระ

๓. สิ่งใดที่จะเป็นสื่อให้คิดถึงเหล้า เช่น ภาพโฆษณา เหล้วตัวอย่างขนไปทิ้งให้หมด ถือเป็นของเสนียด นำอัปรีย์จัญไรมาให้บ้าน

๔. นึกถึงศักดิ์ศรีตัวเองให้มากว่า เราเป็นชาวพุทธ เป็นลูกพระพุทธเจ้า เป็นศิษย์มีครู เป็นคนมีเกียรติยศ เป็นทายาทมีตระกูล นึกถึงศักดิ์ศรีตัวเองอย่างนี้แล้วจะได้เลิกเหล้าได้

๕. เพื่อนขี้เหล้าขี้ยาทั้งหลาย เลิกคบให้หมด ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเขาก็มาชวนเราไปดื่มเหล้าอีก ข้อนี้สำคัญที่สุด ตราบใดยังเลิกคบเพื่อนขี้เหล้าไม่ได้ จะไม่มีทางเลิกเหล้าได้เลย

อานิสงส์การสำรวมจากการดื่มน้ำเมา

๑. ทำให้เป็นคนมีสติดี
๒. ทำให้ไม่ลุ่มหลง ไม่มัวเมา
๓. ทำให้ไม่มีความรำคาญ ไม่มีใครริษยา
๔. ทำให้รู้กิจการทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคตได้รวดเร็ว
๕. ทำให้ไม่เป็นบ้า ไม่เป็นใบ้ ไม่เป็นคนปัญญาอ่อน
๖. ทำให้มีแต่ความสุข มีแต่คนนับถือยำเกรง
๗. ทำให้มีชื่อเสียง เป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป
๘. ทำให้มีความกตัญญูกตเวที
๙. ทำให้ไม่พูดโกหก ไม่พูดส่อเสียด
๑๐. ทำให้ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ
๑๑. ทำให้มีหิริโอตตัปปะ
๑๒. ทำให้มีความเห็นถูก มีปัญญามาก
๑๓. ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย

.........................................................................................................................................

ที่จริงแล้วคุณธรรมในช่วงเทศกาลเข้าพรรษานั้นไม่ได้มีแค่การรักษาศีลอย่างเดียว อย่างอื่นก็มี เช่น การให้ทาน การปฏิบัติธรรม เพื่อให้จิตใจหมดจดจากสิ่งเศร้าหมอง คุณธรรมเหล่านี้ต้องนำมาประพฤติปฏิบัติกันในช่วงเข้าพรรษานี้ มากน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละคนไป บางคนอาจจะมีเวลากับการปฏิบัติธรรมมาก ก็สามารถหาสถานที่ปฏิบัติอันเหมาะแก่การปฏิบัติทางจิตใจ ก็ไปอาศัยสถานที่นั้นปฏิบัติธรรม บางคนไม่สามารถทำได้อย่างนั้น ก็สามารถหาเวลาว่างจากหน้าที่การงาน หรือก่อนนอนสวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิ แผ่เมตตา และส่วนกุศล

................................................................................................................................................

ที่มา :http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=328