ปราชญ์ชาวบ้านด้านการแพทย์แผนไทย

นายเพือยดีด้วยมี ปราชญ์ชาวบ้านด้านการแพทย์แผนไทย

ประวัติส่วนตัว
ชื่อ-สกุล นายเพือย ดีด้วยมี เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๙

ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ ๔๗ หมู่ ๘ บ้านกาเกาะ ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

จบการศึกษาชั้นสูงสุดประถมศึกษาปีที่ ๔ สมรสกับนางเสมียน ดีด้วยมี มีบุตรธิดาด้วยกัน ๕ คน ปัจจุบันประกอบอาชีพหลักคือการทำนา

ปราชญ์ชาวบ้านด้านการแพทย์แผนไทย
วิธีการเรียนรู้ของภูมิปัญญา
เมื่อจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ นายเพือย ดีด้วยมี ได้ออกจากโรงเรียนมาช่วยพ่อแม่ทำนา เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย เพราะที่บ้านมีฐานะยากจน อีกทั้งพ่อแม่มีลูกหลายคนไม่สามารถส่งเสียให้เรียนสูงกว่านี้ได้ ทำนาอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อเห็นว่าทางบ้านมีฐานะพอมีพอกินไม่เดือดร้อนแล้ว จึงได้ขออนุญาตพ่อแม่ออกบวชเรียนที่วัดในหมู่บ้าน ปี พ.ศ. ๒๕๐๖-๒๕๐๘ ได้ไปจำพรรษาที่วัดมงคลรัตน์ บ้านตะโก ตำบลคอโค อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ โดยจำพรรษา อยู่เป็นเวลา ๓ ปี ซึ่งขณะนั้นหลวงพ่อพวน วรมังคโร เป็นเจ้าอาวาสวัดมงคลรัตน์ ช่วงที่จำพรรษาอยู่นั้น ได้มีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติสมาธิจนแก่กล้า และได้เรียนรู้ตำราการรักษา รวมทั้งมนต์คาถาต่าง ๆ จากหลวงพ่อพวน วรมังคโร

แรงบันดาลใจของการมาเป็นหมอพื้นบ้าน
การที่นายเพือยดีด้วยมี มีแรงบันดาลใจและให้ความสนใจในการเป็นหมอพื้นบ้านอัน เนื่องมาจาก
๑. การซึมซับจากสภาพในครอบครัว กล่าวคือ แม่เป็นหมอพื้นบ้านรักษากระดูกหักที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับของชาวบ้านมาก ส่วนพ่อก็เป็นหมอที่มีความสามารถรักษาแผลจาก
งูพิษกัด การที่สภาพภายในครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่เป็นหมอพื้นบ้านที่เสียสละช่วยดูแลรักษาผู้เจ็บป่วย ตั้งแต่เกิดมาก็ได้เห็นพฤติกรรมของพ่อแม่ที่ให้การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์มาโดยตลอด จึงได้ซึมซับการปฏิบัติของพ่อแม่ ทำให้มีจิตใจที่มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ อีกทั้งพ่อและแม่ให้มีส่วนร่วมเข้าไปร่วมในกระบวนการรักษา ทำให้เริ่มสนใจการรักษามาตั้งแต่เด็ก เมื่ออายุ ๖-๗ ปี พ่อและแม่จะพาไปเก็บสมุนไพร ประสบการณ์ที่ได้จากพ่อแม่จึงทำให้สะสมความรู้และความใส่ใจในการดูแลคนไข้ ทั้งการรักษากระดูกหัก รักษาแผลจากงูพิษกัด
๒. ในช่วงที่บวชเรียนและได้ไปจำพรรษาที่วัดมงคลรัตน์นั้น หลวงพ่อพวน วรมังคโร ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส ท่านมีความสามารถทางด้านคาถาอาคม และช่วยรักษาผู้เจ็บป่วยจำนวนมาก ในแต่ละวันจะมีผู้ที่เจ็บป่วยมาขอรับการรักษาเป็นจำนวนมากมีทั้งที่ป่วยด้วยโรคทางกายและป่วยเนื่องจากสภาพจิตใจ นายเพือย ดีด้วยมี ซึ่งบวชเป็นพระลูกศิษย์จำพรรษาอยู่ในวัด จึงมีโอกาสได้เรียนกรรมฐานการปฏิบัติสมาธิ และเรียนรู้การรักษาผู้เจ็บป่วยด้วยอาการต่าง ๆ เช่นคนวิกลจริต ถูกคุณไสย ฯลฯ
การที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการนั่งกรรมฐานช่วยให้มีสมาธิแก่กล้า สามารถเพ่งสมาธิรู้ว่าผู้เจ็บป่วยแต่ละคนเจ็บป่วยจากสาเหตุอะไร และจะใช้วิธีการแก้ไขอย่างไร รวมทั้งมีความรู้เกี่ยวกับยาที่จะใช้รักษาอาการเจ็บป่วยด้วย

ปราชญ์ชาวบ้านด้านการแพทย์แผนไทย
เป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องสมุนไพรให้กับนักเรียน

แนวความคิด
นายเพือย ดีด้วยมี มีแนวความคิดที่สำคัญ ในการเป็นหมอพื้นบ้านเพราะต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้สุขสบายขึ้นช่วยให้พ้นจากการทุกข์ทรมานหายจากการเจ็บป่วย โดยมี
มุมมองต่อชีวิตว่า “ในชีวิตต้องการให้ประชาชนรวมทั้งสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้มีความสุขสบาย เราสบาย เขาสบาย เราได้กิน เขาได้กิน”
นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต คือ บั้นปลายชีวิตมองหาที่ตาย ตายให้มีความสงบ เตรียมตัวก่อนตาย บุตรหลานจะได้ไม่เดือดร้อน ในด้านการครองชีวิตคู่ เน้นการทำหน้าที่ของแต่ละคนให้สมบูรณ์ที่สุด ในด้านการสั่งสอนลูก ต้องกระทำตัวเองให้ลูกหลานดูเป็นตัวอย่างที่ดี และต้องพัฒนาตัวเองให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น แข่งขันกับตัวเองให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

ความสามารถเฉพาะ
นายเพือย มีด้วยดี มีความสามารถในการรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยโรคท้องถิ่นต่าง ๆ รวมทั้งอาการอื่น ๆ เช่น อาการวิกลจริต การถูกพิษ ถูกคุณไสย ซางตานขโมย เด็กร้องไห้ไม่หยุด งูสวัด อาการไข้ต่าง ๆ งูกัด กระดูกหัก ปวดท้อง ปวดหัว เบาหวาน ผิดสำแดงประเภทต่าง ๆ ตกเลือดหลังคลอด ฯลฯ การรักษาของนายเพือย ดีด้วยมี ประกอบด้วยการรักษาอยู่ที่บ้าน และไปรักษาที่บ้านคนไข้
นอกจากนี้นายเพือย ดีด้วยมี ได้มีโอกาสพัฒนาองค์ความรู้จากการมีชมรมหมอพื้นบ้านสุรินทร์ ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ ได้รวบรวมหมอพื้นบ้านและจัดตั้งเป็นชมรมโดยมีกิจกรรมให้สมาชิกที่เป็นหมอพื้นบ้านได้มีโอกาสพบปะ มีการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ การสัมมนาตำรายาสมุนไพรพื้นบ้าน การเดินป่าสำรวจพันธุ์สมุนไพร จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทำให้ได้รับความรู้เพิ่มเติมจากหลวงพ่อเมียก ฉันฑวุฒโฑ และหมอพื้นบ้านคนอื่น ๆ

ปราชญ์ชาวบ้านด้านการแพทย์แผนไทย

สมุนไพรที่ใช้ประกอบการรักษา
สมุนไพรที่ใช้ในการรักษาผู้เจ็บป่วยโรคต่าง ๆ สิ่งที่ต้องใช้คือสมุนไพรพื้นบ้าน
ตามตัวอย่างที่ได้นำเสนอตามลำดับดังนี้
โรคซางตานขโมยในเด็ก รักษาโดยการให้แม่กินยาสมุนไพร สมุนไพรที่ใช้ คือ ตังกีบกะดาม (เม่าไข่ปลา) และ ตระเส็จ (นนทรี) นำสมุนไพรทั้ง ๒ ชนิด มาต้มให้แม่กินต่างน้ำ
ยากวาดลิ้นเด็ก โดยใช้เถาบอระเพ็ดและหัวตะไคร้ นำมาเผาให้เป็นผงถ่าน ผสมน้ำใช้กวาดลิ้นให้เด็ก
งูสวัด ใช้หน่อไม้ป่าและหน่อไม้บ้าน หัวกลอย ลูกน้อยหน่าแห้งเผา นำสมุนไพรทั้งหมด แช่น้ำนาน ๓๐ นาที แล้วให้ดื่ม ห้ามแช่นานกว่านี้ เพราะจะทำให้ยาบูด

วิธีการรักษาแบบหมอพื้นบ้านของนายเพือยดีด้วยมี
ยาแก้ร้อนใน ใช้สมุนไพร คือ หัวกลอยสด เอาเปลือกขนออก ฝานบาง ๆ ประมาณ ๒ นิ้ว (ใช้มากจะเป็นพิษ) หน่อไม้บ้านสดใช้ต้นอ่อน(หน่อ) ๑ หน่อ (เส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ ๑ นิ้วมือ ยาว ๔ นิ้ว) ผลน้อยหน่าแห้งคาต้น (ลูกเท่ากำมือ) เผาไฟให้ไหม้ จำนวน ๑ ลูก นำตัวยาทั้งหมดมาแช่น้ำ หากให้เด็กทารกที่กินนมแม่ ให้แช่ยา ๓๐ นาที จากนั้นนำน้ำยาที่แช่มาหยดใส่ หัวนมแม่ แล้วจึงให้ลูกดูดนมแม่ สำหรับในเด็กอายุ ๑-๓ ปี และผู้ใหญ่ ให้แช่ยา ๓๐ นาที เช่นกันแต่ให้นำมาให้ดื่มแทนน้ำ
คางทูม การรักษาใช้สมุนไพร คือ ใบมะลิ ๑ กำมือ ใบตำลึง ๑ กำมือ นำสมุนไพรทั้งหมดมาตำรวมกัน ใส่น้ำเล็กน้อยนำมาปิดหรือพอกบริเวณที่เป็น ให้หยอดน้ำบ่อย ๆ บริเวณที่พอกยาอย่าปล่อยให้ยาแห้ง และต้องเปลี่ยนยาที่พอกทุกวัน ห้ามรับประทานอาหารแสลง ได้แก่ ไก่ เหล้า ข้าวเหนียว

วิธีการถ่ายทอดภูมิปัญญา
นายเพือย ดีด้วยมี ได้ถ่ายทอดวิชาให้กับลูกศิษย์ มากกว่า ๑๐ คน แต่ลูกหลานไม่มีคนที่สืบทอดต่อ นายเพือย ดีด้วยมี บอกว่าอาจเนื่องจากทุกคนมีงานทำซึ่งอยู่ไกลไม่มีเวลามาเรียนและไม่มีเวลาให้การรักษาแก่ชาวบ้าน
สำหรับวิธีการถ่ายทอดความรู้ ไม่มีข้อปฏิบัติยุ่งยากจะพิจารณาผู้ที่มาขอเป็นศิษย์โดยการนั่งสมาธิและสังเกตพฤติกรรมเป็นระยะเวลาหนึ่ง เมื่อเห็นว่าเป็นผู้ที่มีคุณธรรม ก็จะให้นำดอกไม้ธูปเทียน ขันธ์ ๕ พร้อมเงิน ๑๒ บาท มาขอสมัครเป็นศิษย์ จากนั้นก็จะถ่ายทอดความรู้ให้โดยการบอกเล่า และให้เข้าร่วมในกระบวนการรักษาด้วยเพื่อให้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับการรักษาคนไข้

สิ่งที่ทำให้ภูมิปัญญาคงอยู่
สิ่งที่ทำให้ภูมิปัญญาคงอยู่นั้น นายเพือย ดีด้วยมี ได้อธิบายสรุปไว้ดังต่อไปนี้
๑. มีความเสียสละ มีคุณธรรมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยไม่หวังผลตอบแทนไม่มีการเรียกร้องค่ารักษา รวมทั้งมีการพูดคุยให้ข้อมูลแก่คนไข้รวมทั้งมีการให้กำลังใจแก่คนไข้ที่มารับการรักษา
๒. เนื่องจากในชุมชนท้องถิ่นประชาชนยังมีความเชื่อในการรักษาแบบพื้นบ้าน
๓. การได้เห็นประสิทธิภาพในการรักษาช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย
๔. การที่ภูมิปัญญามีการสะสมองค์ความรู้มาเป็นระยะเวลายาวนานทำให้ชาวบ้านมี ความเชื่อถือ
๕. การมีสมุนไพรที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น
๖. การใช้มนต์คาถา ซึ่งเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและเป็นกระบวนการที่ยังพิสูจน์


ผลงานที่ผ่านมา
ผลงานด้านการเป็นหมอพื้นบ้าน
มีบทบาทการรักษาอาการเจ็บป่วย ด้วยโรคต่าง ๆ โดยมีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคเป็นพิเศษ คือ โรคพื้นบ้าน อาการผิดสำแดง งูสวัด คางทูม เด็กเป็นซางตานขโมยและผู้ที่ถูกคุณไสย
เป็นวิทยากรในการอบรมให้ความรู้เรื่องสมุนไพรให้กับเด็กเยาวชน นักเรียน เป็นวิทยากรในการอบรมให้ความรู้เรื่องของสมุนไพรพื้นบ้าน ทั้งในระดับชุมชน และในระดับจังหวัด ตลอดจนเป็นตัวแทนหมอ พื้นบ้านจังหวัดสุรินทร์ร่วมประชุมและสัมมนาในระดับภาคและระดับประเทศ


รางวัลเกียรติคุณที่ได้รับ
๑.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านหมอพื้นบ้านของจังหวัดสุรินทร์
๒. เชิดชูเกียรติ “ครูผู้มีอุปการะคุณด้านการแพทย์แผนไทย” จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์
๓. รางวัลช้างเงิน “ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านการเป็นหมอพื้นบ้าน” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
๔. เกียรติบัตรเชิดชูเกียรติภูมิปัญญาพื้นบ้าน จากศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
๕. เกียรติบัตรเชิดชูเกียรติ หมอพื้นบ้าน จากกระทรวงสาธารณสุข



ผลงานอื่น ๆ ในชุมชน
๑. เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกาเกาะ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๔-๒๕๓๙ ขณะที่เป็นผู้ช่วยฯ ได้สนใจพัฒนาความรู้โดยได้ศึกษาต่อที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจนกระทั่งจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖
๒. เป็นกรรมการสภาตำบล
๓. เป็นหัวหน้าคุ้มในหมู่บ้าน
๔. ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของหมู่บ้าน และที่ปรึกษากองทุนหมู่บ้าน
๕. เป็นอาจารย์สอนวิปัสสนากรรมฐาน ในช่วงที่มีพิธีปริวาสกรรมทุกปี ปีละ ๔-๕ วัด
๖. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านหมอพื้นบ้านของจังหวัดสุรินทร์
๗. เป็นวิทยากรพิเศษด้านสมุนไพร และการดูแลสุขภาพพื้นบ้านของจังหวัด