O อิสสา คือริษยา

อิสสาท่านแปลว่า “ริษยา” คือเห็นเขาได้ดีทนอยู่ไม่ได้ ที่จริงความหมายของคำว่าอิสสาริษยา ก็ให้ความเข้าใจที่ชัดแจ้งอยู่แล้วว่าเป็นความร้อน เพราะมีความหมายว่า “ทนอยู่ไม่ได้” สิ่งที่ต้องทนนั้นถ้าพอทนได้ก็แสดงว่าไม่ร้ายแรง หรือไม่หนักหนานัก

ความรู้สึกริษยาจนทนไม่ได้ ต้องให้ความร้อนอย่างยิ่ง และผู้ที่ได้รับความร้อนอย่างยิ่งนั้นก็มิใช่ผู้อื่น เป็นเจ้าตัวผู้มีความริษยาเอง

O ความริษยา เป็นอาการอย่างหนึ่งของกิเลส

ปุถุชนเป็นผู้มีกิเลส จึงเป็นธรรมดาย่อมไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของตนให้เป็นไปอย่างผ่องแผ้ว ปราศจากกิเลสได้เสมอไป ความริษยาเป็นอาการหนึ่งของกิเลส ดังนั้นปุถุชนจึงย่อมยากที่จะควบคุมไว้ได้ไม่ให้เกิด ความริษยาของปุถุชนจึงย่อมเกิดได้เป็นระยะหรือเป็นครั้งคราว ต่อคนนั้นบ้างต่อคนนี้บ้าง

O ผู้มีปัญญา แม้มิสามารถดับความริษยาได้จริง
จึงแก้ไขป้องกันควบคุมมิให้เกิดง่ายและแรง

แต่ผู้มีปัญญาเห็นโทษของความริษยาที่ตนได้รับว่า ยิ่งปล่อยให้มีความริษยามาก ตนก็จะได้รับโทษของความริษยามาก ผู้มีปัญญาจึงแก้ไขป้องกันควบคุมมิให้ความริษยาเกิดง่าย และเกิดแรง แม้ว่าจะไม่สามารถดับเสียได้จริงตลอดไป

O ผู้ขาดเมตตาต่อตน...เมื่อเห็นเขาได้ดีทนอยู่ไม่ได้

ผู้ที่เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีแล้วเกิดความริษยา คืออิสสา ที่มักเรียกปนกันไปว่า อิจฉานั้น เป็นผู้ที่ขาดเมตตา มีเมตตาไม่พอ โดยเฉพาะแก่ตนเอง เพราะเมื่อความริษยาก่อให้เกิด ความร้อนใจ ผู้ยอมให้ความริษยาเกิดขึ้น ก็เท่ากับทำใจตนให้ร้อน ไม่มีความสุข จึงเท่ากับไม่มีเมตตาต่อตนเองนั่นเอง

แม้ความริษยาจะเป็นการขาดเมตตาแก่ตนด้วย ต่อผู้อื่นด้วย แต่บางที่ความริษยาก็ให้ทุกข์แต่กับผู้มีความริษยาเองเท่านั้น มิให้ทุกข์ถึงผู้ถูกริษยาด้วย เพราะบางทีความริษยานั้น ก็มิอาจปรากฏออกเป็นการกระทำคำพูดได้ ต้องอัดแน่นเป็นความทุกข์ร้อนเร่าอยู่แต่ในหัวใจผู้มีความริษยาเท่านั้น จึงพยายามไม่ให้ความริษยาเกิดขึ้นเสียดีกว่า

O ความริษยาเกิดแก่ผู้ใด ย่อมให้ความทุกข์เร่าร้อนแก่ตนผู้ริษยาเอง

ผู้มีปัญญารู้ว่า ความริษยาเป็นความทุกข์เป็นความเร่าร้อนแก่ตนแน่นอน ตรงกันข้ามกับเมตตา ที่ทำให้ความสุขความเย็นแก่ตนแนนอน และเมตตาก็ดับความริษยาได้ เช่นเดียวกับดับโกรธได้ ดังนั้นผู้มีปัญญาจึงอบรมเมตตา เพื่อให้เพียงพอสำหรับดับความโกรธและความริษยา

O ความคิดปรุงแต่งนั้นสำคัญนัก แม้การทำให้ความริษยาเกิดหรือทำให้ไม่เกิด

อิสสาและริษยานั้น จะเกิดได้ก็ต้องมีความคิดปรุงแต่งให้เกิด ถ้าคิดปรุงแต่งให้เมตตา ก็จะเกิดเมตตา ก็จะไม่เกิดอิสสา ความคิดปรุงแต่งจึงสำคัญนัก แม้ในการทำให้เกิดความริษยาหรือทำให้ไม่เกิด

O ความยินดีด้วยเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี ย่อมให้ความสุขแก่เจ้าตัวก่อนแน่นอน

เมื่อเห็นผู้ใดดี ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่รักที่ชอบพอ เป็นลูกหลาน ความคิดปรุงแต่งก็จะพาให้ความยินดีเกิดขึ้นด้วยในใจ ความคิดปรุงแต่งนั้นจะเป็นไปในทางชื่นชมยินดีในผู้ได้ดี เช่นว่า มีความดีความเหมาะควรต่างๆ สมกับความดีที่ได้รับนั้น จิตใจของผู้ปรุงแต่งเช่นนั้น ก็จะพลอยเป็นความอิ่มเอิบไปกับความคิดยินดีด้วยของตน

กล่าว่าความยินดีด้วยเมื่อผู้อื่นได้ดี ให้ความสุขแก่เจ้าตัวก่อนแน่นอน เช่นเดียวกับความริษยา ที่ทำให้ความทุกข์แก่เจ้าตัวก่อนแน่นอน

O ความคิดที่ไม่ประกอบด้วยเมตตาเพียงพอ ก็อาจพาให้เกิดความริษยาแก่ผู้นั้นได้

เมื่อเห็นผู้ใดดี ถ้าผู้นั้นเป็นผู้อื่นหรือไม่ใช่ผู้เป็นที่รักที่ชอบพอ ความคิดปรุงแต่งที่ไม่ประกอบด้วยเมตตาเพียงพอ ก็อาจพาให้เกิดความริษยา ความคิดปรุงแต่งนั้นอาจเป็นไปในทางไม่ชื่นชมยินดีไม่เห็นด้วยในผู้ได้ดี เช่นว่า ไม่มีความดีความเหมาะควรกับความดีที่ได้รับนั้น คนอื่นหรือตัวเองดีกว่า เหมาะควรกว่าเป็นต้น

จิตใจของผู้ปรุงแต่งเช่นนั้น จะเป็นทุกข์เร่าร้อนด้วยความคิดริษยาของตน กล่าวว่าความริษยานั้นให้ความทุกข์แก่เจ้าตัวก่อนแน่นอน เช่นเดียวกับความพลอยยินดีด้วย ที่ให้สุขแก่เจ้าตัวก่อนแน่นอน

ทั้งความพลอยยินดีด้วย และความริษยาเมื่อเห็นเขาได้ดี เกิดจากความคิดปรุงแต่งทั้งสิ้น แตกต่างกันที่เป็นความคิดปรุงแต่งที่ประกอบด้วยเมตตา และเป็นความคิดปรุงแต่งที่ไม่ประกอบด้วยเมตตา ทั้งเป็นความคิดปรุงแต่งที่ประกอบด้วยปัญญา และเป็นความคิดปรุงแต่งที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาอีกด้วย

O ควันอันเกิดจากไฟริษยา บดบังความประภัสสรแห่งจิต

ริษยาเป็นไฟทำให้ใจร้อนใจไหม้ มีผลเป็นควันตลบอยู่ ควันนั้นจะบดบังความประภัสสรแห่งจิต ผู้ที่มีความริษยาแรงเท่าใด การจะแลเห็นความแจ่มใจประภัสสรสวยงามแห่งจิต ย่อมเป็นไปไม่ได้เพียงนั้น

O ดับไฟริษยา ด้วยเมตตาและสันโดษ

ความริษยาจะเกิดหรือไม่เกิด จะเกิดเบาหรือเกิดแรง ขึ้นอยู่กับความคิดปรุงแต่งทั้งสิ้น มิได้ขึ้นอยู่กับอะไรอื่น ผู้มีปัญญารู้ว่าจิตของตนมีความประภัสสรงดงาม แต่ควันแห่งไฟริษยาเป็นสิ่งหนึ่งที่จะปกคลุมไว้มิให้ปรากฏความประภัสสรงดงามล้ำค่าได้

ผู้มีปัญญาจึงพยายามควบคุมความคิดปรุงแต่ง ดับความคิดปรุงแต่ง ที่จะเป็นเหตุให้ความริษยาเกิด ด้วยเมตตาและสันโดษ ผู้มีปัญญารู้จักสันโดษและโทษของความคิดปรุงแต่งเท่านั้น จึงจะได้รู้จักจิตอันแจ่มใสประภัสสร ซึ่งเป็นสมบัติแท้ๆ ของตนที่มีอยู่แล้ว

O มัจฉริยะ คือ ตระหนี่

มัจฉริยะ ท่านแปลว่า “ตระหนี่” ไม่คิดให้ดีจะรู้สึกว่าไม่น่าเป็นไปได้ ที่ความตระหนี่จะทำให้เกิดความเศร้าหมองบังความประภัสสรแห่งจิต ตระหนี่เป็นความเหนียวแน่น ไม่อยากให้อะไรใครง่ายๆ จึงไม่น่าจะยังให้เกิดความเศร้าหมอง

แต่เมื่อพิจารณาก็ย่อมจะเห็นได้ว่า ความเหนียวแน่นคือความตระหนี่นั้น ก่อนจะเกิดขึ้นก็มีความคิดปรุงแต่งเป็นเหตุ คิดปรุงแต่งว่าสิ่งนั้นดีอย่างนั้น งามอย่างนี้ มีค่าอย่างโน้น น่าหวงน่าเป็นสมบัติส่วนตน น่าเสียดายที่จะให้ตกไปเป็นของผู้อื่น

สรุปลงเป็นความยึดมั่นเป็นตัวเราของเราที่ผู้อื่นจะมาเกี่ยวข้องด้วยไม่ได้ แม้จำเป็นจะต้องเสียสิ่งที่ถือว่าเป็นของตนไป ก็จะยึดไว้ดึงไว้ด้วยความหวงแหนิไม่อยากสละให้ผู้ใดอื่นง่ายๆ นี่คือมัจฉริยะ ความตระหนี่

ที่จะเกิดจากความคิดปรุงแต่งเป็นตัวเราของเราด้วย เป็นความปรารถนาต้องการเป็นกามฉันท์ด้วย ล้วนทำให้เกิดความหวั่นไหวในจิตใจทั้งสิ้น จึงเปรียบดังกระเพื่อมแห่งน้ำ ที่ทำให้น้ำไม่ใส ทำให้เกิดหมอกควันห่อหุ่มความประภัสสรแห่งจิต

O ความตระหนี่แก้ได้ด้วยความเสียสละเอื้อเฟื้อ

ความตระหนี่ ก็เช่นเดียวกับอุปกิเลสทุกข้อ คือเกิดจากความคิดปรุงแต่งเช่นกัน ดังนั้นการแก้ความตระหนี่จึงต้องแก้ที่ความคิดปรุงแต่ง คิดปรุงแต่งให้เอื้อเฟื้อ ให้รู้จักความเสียสละ ให้ถือเขาถือเราเพียงพอสมควร คิดปรุงแต่งให้เมตตา ให้กรุณา ให้รู้จักคิดว่า ความตระหนี่ทำให้เป็นคนคับแคบ คนเอื้อเฟื้อทำให้เป็นคนกว้างขวาง

คนคับแคบนั้น เมื่อถึงคราวคับขัน ก็ยากจะหาผู้ให้พึ่ง คิดปรุงแต่งให้เห็นคุณเห็นโทษของความไม่ตระหนี่และความตระหนี่ ย่อมจักสามารถแก้ไขความตระหนี่ให้หมดสิ้น หรือบันเทาเบาบางลงได้ เป็นการลดหมอกควันที่พรางกั้นความประภัสสรแห่งจิตมิให้ปรากฏความแจ่มใสงดงาม

O มายา คือ มารยา

มายา ท่านแปลว่า “มารยา เจ้าเล่ห์” ความหมายละเอียดว่าแสร้งทำ เล่ห์เหลี่ยม ล่อลวง กล ไม่จริง เพียงมายาหรือมารยาก็ทำให้รู้สึกได้ด้วยกันแล้วว่า เป็นความไม่ดีร้อยแปดประการ และเพื่อให้เกิดมายา ก็จะต้องคิดปรุงแต่งในทางชั่วร้ายมากมาย เพื่อให้ตรงกันข้ามกับความจริง

ความจริงดี ต้องการให้ผู้อื่นเห็นว่าไม่ดี หรือความจริงไม่ดี ต้องการให้ผู้อื่นเห็นว่าดี เพื่อประโยชน์ใดก็ตาม ก็ต้องคิดปรุงแต่งใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อล่อลวงให้ผู้อื่นเห็นตาม ให้เห็นดีเป็นไม่ดี หรือเห็นไม่ดีเป็นดี

O ทางเกิดแห่งมายา

มายาจึงเกิดจากความคิดปรุงแต่งเล่ห์กลเพื่อล่อลวง ความคิดปรุงแต่งเช่นนั้นเป็นความต่ำทราม สกปรก และความสกปรกภายในนั้น ก็เช่นเดียวกับความสกปรกภายนอก เมื่อเกิดขึ้นภายนอก จับเข้าที่ใดก็ย่อมทำให้ความสะอาดอันเป็นสภาพเดิมของที่นั้นปรากฏไม่ได้ เมื่อเกิดขึ้นภายใน จับเข้าที่จิต ก็ย่อมทำให้ความประภัสสรแห่งจิตปรากฏไม่ได้ ถูกบดบังไว้ภายใต้ความสกปรก

O การแสดงออกซึ่งความรู้สึกรู้จริงเห็นจริง
ไม่ต้องอาศัยความคิดปรุงแต่ง...ไม่ใช่มายา

มายาก็เช่นเดียวกับอุปกิเลสทั้งหลาย ทำให้เกิดได้ด้วยความคิดปรุงแต่ง ถ้าแสดงออกตามที่รู้สึกที่รู้จริงเห็นจริง รู้อย่างไร เห็นอย่างไร แม้อาจจะเป็นการรู้ผิดเห็นผิด แต่การแสดงออกตรงตามความรู้เห็นนั้น นั่นไม่ใช่มายา นั่นไม่ต้องอาศัยความคิดปรุงแต่ง เกิดขึ้นเองจากความจริงใจ ไม่ใช่จากความคิดปรุงแต่ง ด้วยเลห์เหลียม หลอกลวง อันเป็นความไม่ดี เป็นความสกปรกต่ำทราม

เพียงไม่คิดปรุงแต่งเลห์เหลี่ยมเพื่อหลอกลวงเท่านั้น อุปกิเลสความเศร้าหมอง คือ มายาก็จะไม่เกิด เครื่องพรางชั้นหนึ่งของจิตก็จะไม่ถูกสร้างขึ้น ความประภัสสรแห่งจิตก็จะปรากฏได้บ้าง แม้อุปกิเลสอื่นยังมีเป็นเครื่องพรางจิตอยู่

O สาเถยยะ คือ โอ้อวด

สาเถยยะ ท่านแปลว่า “โอ้อวด” ความโอ้อวดเกิดจากความคิดปรุงแต่ง หาทางแสดงออกให้ผู้อื่นเห็นความสำคัญในทางต่างๆ ของตน เช่นความมั่งมี ความใหญ่โต มีอำนาจวาสนา หรือความฉลาดรอบรู้เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นความสำคัญจริงก็ตามไม่จริงก็ตาม

ความสำคัญนั้นจะปรากฏเป็นที่ล่วงรู้ของผู้อื่นก็ตาม แต่ถ้าเจ้าตัวไม่คิดปรุงแต่งหาทางแสดงออกก็ไม่เป็นการโอ้อวด ไม่เป็นอุปกิเลส ต้องคิดปรุงแต่งเพื่อโอ้อวดเท่านั้นจึงจะเป็นอุปกิเลส เป็นเครื่องเศร้าหมองที่ห่อหุ่มจิต และพรางความประภัสสรของจิต

เพียงไม่คิดปรุงแต่งเพื่อโอ้อวดสิ่งที่มีอยู่แล้วจริงก็ตาม หรือไม่จริงก็ตาม เพียงเท่านั้นสาเถยยะคืออุปกิเลสข้อ ๑๐ ก็จะไม่เกิด ความเศร้าหมองก็จะไม่เกิดเป็นดั่งฝุ่นละอองจับของสะอาดผ่องแผ้ว คือ จิตที่ประภัสสร ให้ปรากฏหมองมัว

O ถัมภะ คือ หัวดื้อ

ถัมภะ ท่านแปลว่า “หัวดื้อ” อันความหัวดื้อหรือความดื้ออย่างรุนแรงเป็นความไม่มีเหตุผลอย่างยิ่ง จะเชื่อหรือไม่เชื่อในเรื่องใด สิ่งใด ก็เป็นไปตามความต้องการจะเชื่อหรือจะไม่เชื่อเท่านั้น ไม่ฟังเหตุผลใดๆ ไม่คำนึงถึงเหตุผลเลย

จะคิดปรุงแต่งแต่ว่าจะต้องไม่เห็นด้วย ไม่เชื่อ ไม่ทำตามและก็ดื้อเท่านั้น เป็นการไม่ใช้ปัญญาคิด หรือไม่มีปัญญาพอจะคิด จึงเป็นความโง่ความมืดแห่งปัญญา

ถ้ามีเหตุผลที่ถูกต้องแล้ว แม้จะไม่เชื่อคำใคร ไม่เชื่อในเรื่องใด สิ่งใด ไม่เรียกว่าหัวดื้อ ไม่เป็นถัมภะ คือไม่เป็นอุปกิเลส ตรงกันข้าม ถ้ามีเหตุผลที่ถูกต้องแล้ว ยังโลเลเชื่อคนนั้นบ้างเชื่อคนนี้บ้าง ทำตนเป็นคนไม่ดื้อ ก็ไม่ถูกต้อง เป็นคนไม่มีปัญญาไม่มีเหตุผล

O การแก้โรหัวดื้อ

การแก้โรค “หัวดื้อ” ต้องใช้ปัญญา ใช้เหตุผล ใช้ปัญญาให้ถูกต้องเพียงพอ ก็เปรียบดังมีแสงสว่างเพียงพอ ตรงกันข้ามกับใช้เหตุผลใช้ปัญญาไม่เพียงพอ ก็เปรียบดังมีแสงสว่างไม่เพียงพอ มีความมืดมาก

การใช้ปัญญาใช้เหตุผลหรือไม่ใช้ปัญญาไม่ใช้เหตุผล ก็ขึ้นอยู่กับความคิดปรุงแต่ง ใช้ความคิดปรุงแต่งให้เบาปัญญาหาเหตุผลไม่ได้ เป็นการสร้างความมืดขึ้นพรางความประภัสสรแห่งจิตตน


แหล่งที่มา http://www.dhammajak.net