พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๔)

พระประธานในพระอุโบสถ วัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพฯ

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๔)

พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ “หลวงพ่อโต”
พระประธานในพระวิหารหลวง วัดกัลยาณมิตร กรุงเทพฯ


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๔)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ “หลวงพ่อโต”
วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร เขตธนบุรี กรุงเทพฯ


“พระพุทธไตรรัตนนายก” หรือ “หลวงพ่อโต” เป็นพระประธานในพระวิหารหลวง วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร หรือที่นิยมเรียกสั้นๆ กันว่า “วัดกัลยาณมิตร” หรือ “วัดกัลยาณ์” ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ฝั่งตะวันตก วัดแห่งนี้เดิมเป็นแม่น้ำตอนขึ้น ครั้งกรุงธนบุรีเป็นที่จอดแพได้

เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ว่าที่สมุหนายก บุตรพระยาวิชัยวารี (มั่น แซ่อึ่ง) เมื่อครั้งยังเป็นพระราชสุภาวดี เจ้ากรมพระสุรัสวดีกลาง ได้อุทิศที่บ้านและซื้อเพิ่มเติมสร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๖๘ อันเป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๓ แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร” เหตุที่ชื่อวัดกัลยาณมิตรนั้น กล่าวคือ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ และได้ทำการค้าขายโดยสำเภาร่วมกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งก่อนหน้าและภายหลังเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ

ครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ จะพระราชทานนามวัดแห่งนี้ คงจะพระราชดำริถึงเรื่องที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) เป็นมิตรที่ดีของพระองค์ด้วย จึงได้พระราชทานนามวัดว่า “วัดกัลยาณมิตร” อันหมายถึง มิตรที่ดี

บริเวณวัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหารแห่งนี้ เดิมเรียกกันว่า “บ้านกุฎีจีน” ตามประวัติได้กล่าวไว้ว่า มีพระภิกษุจีนรูปหนึ่ง มีนามว่า “เกียน อันเก๋ง” มาพำนักจำพรรษาอยู่ในกุฏิซึ่งอยู่ด้านตะวันออกของวัด โดยยังคงมีซากปรากฏให้เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้ ต่อมาคำว่า “บ้านกุฎีจีน” ถูกนำไปเรียกบ้านกุฎีฝรั่ง ที่หมู่บ้านเข้ารีตซึ่งมีวัดฝรั่งอยู่ตรงนั้น คำว่ากุฎีฝรั่งจึงหายไป โดยกุฎีจีนไปแทนที่

ภายใน “พระวิหารหลวง” อันเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ หน้าตักกว้าง ๑๑.๗๕ เมตร สูง ๑๕.๔๖ เมตร เรียกกันว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก” หรือ “พระโต” หรือ “หลวงพ่อโต” ส่วนคนจีนก็จะเรียกว่า “ซำปอกง” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานช่วยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) พร้อมพระวิหารหลวง โดยได้เสด็จพระราชดำเนินก่อพระฤกษ์พระโต เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๘๐ การสร้างพระโตที่วัดกัลยาณมิตรแห่งนี้ พระองค์ทรงตั้งใจจะให้เหมือนกรุงเก่า คือ มีพระโตนอกกำแพงเมืองอย่างเช่นวัดพนัญเชิง วรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระโต” หรือ “หลวงพ่อโต” ช่วยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) โดยทรงเอาเคล็ดว่าท่านมีชื่อว่า “โต”

สำหรับ พระวิหารหลวง นั้นตั้งอยู่กลางวัด มีขนาดสูงใหญ่ เสาภายในวิหารเขียนเป็นลายดอกไม้ หน้าบันพระวิหารหลวงสลักลายดอกไม้ประดับกระจกตามแบบฉบับศิลปะสมัยนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บานประตูหน้าต่างเป็นไม้สลักแผ่นใหญ่หนาแผ่นเดียวตลอด

พระวิหารหลวงแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นมาในปี พ.ศ. ๒๓๘๐ วางรากฐานโดยไม่ได้ตอกเสาเข็ม แต่ใช้วิธีขุดพื้นรูปสี่เหลี่ยม ฐานกว้างและใช้ไม้ซุงทั้งท่อนเรียงทับซ้อนกัน ๒-๓ ชั้น มีขนาดกว้าง ๓๑.๔๒ เมตร ยาว ๓๖.๘๕ เมตร ลักษณะการก่อสร้างเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เชิงชาย หน้าบันสลักลายดอกไม้ปูนปั้นประดับกระจก ประตูหน้าต่างเป็นไม้สักแผ่นเดียวเขียนลายรดน้ำลายทองรูปธรรมบาล ด้านในพระวิหารหลวงมีผนังเป็นลายดอกไม้ ด้านหน้าพระวิหารหลวงมีซุ้มประตูหิน (โขลนทวาร) และตุ๊กตาหินศิลปะจีนตั้งเรียงรายอยู่

ด้านซ้ายของพระวิหารหลวงเป็น “พระวิหารเล็ก” หรือ “พระวิหารน้อย” ซึ่งมีลักษณะเดียวกับพระอุโบสถ ภายในมีภาพเขียนพุทธประวัติและเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ เป็นจำนวนมาก

ส่วนด้านขวาของพระวิหารหลวงเป็น “พระอุโบสถ” ด้านหลังของพระอุโบสถมีเจดีย์เหลี่ยมพร้อมกับฐานทักษิณ ฝีมือช่างจากเมืองจีน โดยช่างในเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ ๓ ส่งแบบและขนาดให้ช่างเมืองจีนหล่อศิลาเทียมแล้วเอาเข้ามาประกอบในเมืองไทย



พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๔)
พระวิหารหลวง ภายในประดิษฐาน “พระพุทธไตรรัตนนายก” หรือ “หลวงพ่อโต”

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๔)


บริเวณเขตพุทธาวาสมีกำแพงแก้วล้อมรอบ ด้านหลังมีประตูออก ๑ ประตู ก่อประตูโค้งแบบศิลปะสมัยรัชกาลที่ ๔ ออกไปสู่บริเวณเขตสังฆาวาสที่มีถนนคั่นอยู่ข้างนอก ระหว่างพระวิหารใหญ่กับพระวิหารเล็ก มี “หอระฆัง” คั่นกลาง มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดความกว้าง ๙ เมตร ความสูง ๓๐ เมตร พระสุนทรสมาจาร (พรหม อินฺทโชติ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร เป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ด้านล่างของหอระฆังได้ติดตั้ง “ระฆังใบใหญ่ที่สุดในประเทศไทย” ส่วนด้านบนประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติ

ศาลาการเปรียญ ๕ ห้อง ตั้งอยู่มุมวัดด้านตะวันออก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานช่วยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร)

ด้านข้าง ศาลาการเปรียญ ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ มีพระเจดีย์ประดับหินอ่อน สร้างขึ้นโดยเจ้าพระยารัตนบดินทร์ (รอด กัลยาณมิตร) เมื่อครั้งยังเป็นพระยาราชวรานุกูล เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๗ โดยท่านได้นำอัฐิของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ผู้เป็นบิดา มาบรรจุไว้

พระอุโบสถ สร้างขึ้นตรงบริเวณบ้านเดิมของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดกว้าง ๒๐.๘๘ เมตร ยาว ๓๐.๙๐ เมตร ลักษณะสถาปัตยกรรมจีน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ประดับ หน้าบันปั้นลายดอกไม้ประดับกระเบื้องเคลือบสลับสีลายจีน ซุ้มประตูหน้าต่างปั้นลายดอกไม้ประดับกระจก

ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติ และภาพเครื่องบูชา เป็นโต๊ะลดหลั่นกันแบบจีน เสาเขียนลายทรงข้าวบิณฑ์ หันหน้าไปทางเหนือ

พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหล่อปางป่าเลไลยก์ (ป่าเลไลย์) มีขนาดสูงแต่พระบาทจนถึงพระเกศ ๕.๕๖ เมตร ซึ่งถือเป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ อันเป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่งบนก้อนศิลา พระบาททั้งสองวางอยู่บนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุหรือเข่า พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุ มักนิยมสร้างช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำ อีกด้านหนึ่งมีลิงถือรวงผึ้งถวาย มีเรื่องเล่าขานกันว่า แต่เดิมเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ดำริจะสร้างพระพุทธรูปปางอื่นเป็นพระประธาน หากยังมิทันได้จัดการสร้าง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปประธานปางป่าเลไลยก์พระราชทานช่วยเสียก่อน

นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิหล่อสำริด หน้าตักกว้าง ๕๗ เซนติเมตร สร้างโดย เจ้าพระยารัตนบดินทร์ (รอด กัลยาณมิตร) ซึ่งมีเหตุมาจาก พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (เปีย) ได้ปรารภกับเจ้าพระยารัตนบดินทร์ (รอด กัลยาณมิตร) ว่า พระประธานปางป่าเลไลยก์ก็เห็นจะมีเฉพาะวัดนี้วัดเดียว ดูเหมือนวัดอื่นไม่มี ท่านเห็นควรสร้างพระพุทธรูปปางอื่นเป็นรองพระประธานอีกองค์หนึ่ง เจ้าพระยารัตนบดินทร์ (รอด กัลยาณมิตร) เห็นชอบด้วย จึงจัดสร้างพระพุทธรูปหล่อปางสมาธินี้ขึ้น

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “หอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๘ แทนหอไตรหลังเดิม เพื่อเป็นที่เก็บพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ เป็นอาคารสองชั้นก่ออิฐถือปูน มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศใน พระบรมราชมาตามหัยยิกา กรมพระศรีสุดารักษ์ ผู้เป็นพระเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ พระบรมราชมาตามหัยยิกาธิบดี (เจ้าขรัวเงิน พระภัสดาในสมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งเป็นพระชนกในสมเด็จกรมพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ พระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ผู้ซึ่งแต่เดิมเคยประทับในบริเวณวัดกัลยาณมิตรมาก่อน และเพื่อประกอบพระราชกุศลตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมเชษฐาธิราช กับทั้งเป็นการปูนบำเหน็จเชิดชูเกียรติของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ด้วย

นอกจากนี้ ด้านหน้าของวัดยังมี “ศาลาท่าน้ำ” พุทธศาสนิกชนที่มาทำบุญที่วัดก็มักจะนิยมมาให้อาหารปลาและนกพิราบที่มีอยู่มากมายบริเวณศาลาท่าน้ำ นอกจากนี้บริเวณนี้ยังสามารชมวิวทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างกว้างขวางสวยงามอีกด้วย


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๑๔)
“พระพุทธไตรรัตนนายก” หรือ “พระโต” หรือ “หลวงพ่อโต”

กล่าวกันว่า “พระโต” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ตามคำเล่าขานของชาวบ้านว่าได้เห็นอภินิหารของ “พระโต” หลายอย่าง

ดังเช่นเมื่อครั้งทำพิธียกช่อฟ้า “พระวิหารหลวง” อันเป็นที่ประดิษฐาน “พระโต” ผู้คนทั้งหลายได้เห็นนิมิตดีอันหนึ่ง ปรากฏเป็นสายยาวมีรัศมีพวยพุ่งจากท้องฟ้า ตกลงมาจรดช่อฟ้าสว่างไสวไปทั่วอาณาบริเวณวัด เป็นที่อัศจรรย์แก่สายตาพุทธศาสนิกชนที่มาร่วมในงานพิธียกช่อฟ้าพระวิหารหลวงยิ่งนัก ในหนังสือ “นิทานโบราณคดี” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึง “พระโต” เมื่อครั้งทำการปราบปรามอั้งยี่ในสมัยต้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ว่า

“ส่วนการควบคุมพวกอั้งยี่นั้น สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็อนุโลมเอาแบบอย่างอังกฤษ “เลี้ยงอั้งยี่” ที่ในแหลมมลายูใช้ ปรากฏว่าให้สืบเอาตัวจีนเถ้าแก่ที่เป็นหัวหน้าอั้งยี่ได้ ๑๔ คน แล้วตั้งข้าหลวง ๓ คน คือ เจ้าพระยาภาณุวงศ์ เมื่อครั้งยังเป็นพระยาเทพประชุน (ซึ่งเคยไปปราบอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ต) คนหนึ่ง พระยาโชฏึกราชเศรษฐีคนหนึ่ง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (เนียม) ซึ่งเป็นผู้บังคับการกองตะเวณ (โปลิศ) ในกรุงเทพฯ คนหนึ่ง พร้อมด้วยขุนนางจีนเจ้าภาษีอีกบางคน พาพวกหัวหน้าอั้งยี่ ๑๔ คนนั้นไปทำพิธีถือน้ำกระทำสัตย์ในวิหารพระโต ณ วัดกัลยาณมิตร ซึ่งคนจีนนับถือมาก รับสัญญาว่าจะไม่คิดประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัว และจะคอยระวังพวกอั้งยี่ของตนมิให้คิดร้ายด้วย แล้วปล่อยตัวไปทั้ง ๑๔ คน”

ธรรมเนียมของคนจีนทั่วไป มักนิยมเข้าไปกราบนมัสการพระพุทธรูปขนาดใหญ่ตามวัดต่างๆ อาทิเช่น วัดพนัญเชิง วรวิหาร และวัดมงคลบพิตร จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น วัดกัลยาณมิตรก็เช่นเดียวกัน “พระโต” ชาวจีนเรียกกันว่า “ซำปอกง” หรือ “ซำปอฮุดกง” นิยมไปเสี่ยงทาย ดังเช่น การเสี่ยงเซียมซี เป็นต้น ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ มีงิ้ว และงานทิ้งกระจาด เป็นประจำทุกปีในวันสิ้นเดือน ๙

ชื่อ “ซำปอกง” นั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับ “เจิ้งเหอ” แม่ทัพเรือผู้กลายมาเป็นเทพเจ้า “ซำปอกง” อันศักดิ์สิทธิ์ เจิ้งเหอได้ชื่อว่าเป็นนักเดินเรือผู้เกรียงไกรที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศจีนและของโลก ผู้ใช้ชีวิตอยู่บนผืนมหาสมุทรและดินแดนต่างถิ่นเป็นระยะเวลาถึง ๒๒ ปี

เจิ้งเหอ (Zheng He หรือ Cheng Ho) เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๑๔ ที่ตำบลคุนหยาง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน มีชื่อเดิมว่า “หม่าเหอ” พื้นเพครอบครัวเป็นชาวมุสลิม มีปู่และบิดาเป็นผู้นำฮัจญ์ของเมืองคุนหมิงและคุนหยาง ครั้นอายุได้ ๑๐ ปี เมื่อกองทัพแห่งราชวงศ์หมิงยกทัพมากวาดล้างกองทัพมองโกลที่ยังปกครองมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของประเทศ ได้กวาดต้อน “หม่าเหอ” เป็นเชลย โดยในปี พ.ศ. ๑๙๒๖ หม่าเหอถูกจับตอนเป็นขันที และได้เข้าไปรับใช้ในราชสำนักของเจ้าชายจู้ตี้ พระราชโอรสองค์ที่ ๔ ของจักรพรรดิหงหวู่

ในบันทึกของครอบครัวได้กล่าวถึง “หม่าเหอ” ไว้ว่า “หม่าเหอมีความสูงถึงเจ็ดฟุต (หนึ่งฟุต (ฉื่อ) ของจีน มีขนาดความยาวเท่ากับ ๑๐.๕-๑๑ นิ้วฟุตของอังกฤษ) มีเส้นรอบเอวถึง ๕ ฟุต มีแก้มและหน้าผากสูง แต่มีจมูกค่อนข้างเล็ก มีดวงตาที่เปล่งประกาย มีฟันที่ขาวสะอาด มีเสียงที่ดังกังวานดุจระฆังใบใหญ่ มีความรอบรู้ในเรื่องงานการศึกสงคราม เพราะเขาได้อยู่ใกล้ชายแดนที่เมืองเป่ยผิงกับองค์เจ้าชาย”








(มีต่อ)
เครดิต : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=73&t=41086&sid=792bf457aa93c09fc64251b98a6aa87d
http://www.baanmaha.com/community/newthread.php?do=newthread&f=35