พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๔)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๔)



พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศ
พระประธานพุทธมณฑล ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม


พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์’ นามของพระประธานประจำพุทธมณฑล ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม มีศัพท์ทางพุทธศาสตร์ 2 คำปรากฏอยู่ในนามนี้ “ศรีศากยะ” มาจากคำว่า ศากย, ศากยะ ความหมาย [สากกะยะ] น. ชื่อวงศ์กษัตริย์วงศ์หนึ่งในเมืองกบิลพัสดุ์ เรียกว่าศากยวงศ์, เรียกกษัตริย์ในวงศ์นี้ว่า ศากยะ. (ส. ศากฺย; ป. สกฺย). สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าโอกากราช ซึ่งเป็นผู้สร้างและครองกรุงกบิลพัสดุ์ พระพุทธเจ้าเป็นกษัตริย์วงศ์นี้ ศากยะ เป็นคำสันสกฤต เรียกอย่างบาลีเป็น สักกะบ้าง, ศากยะ หรือสักกะนี้ ใช้เป็นคำเรียกชื่อถิ่นหรือแคว้นของพวกเจ้าศากยะด้วย

“ทศพลญาณ” พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) อธิบายไว้ว่า (บาลีเรียก ตถาคตพลญาณ 10 คือ พระญาณอันเป็นกำลังของพระตถาคต 10 ประการ ที่ทำให้พระองค์สามารถบันลือสีหนาท ประกาศพระศาสนาได้มั่นคง)

1. ฐานาฐานญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและอฐานะ คือ รู้กฎธรรมชาติเกี่ยวกับขอบเขตและขีดขั้นของสิ่งทั้งหลายว่า อะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ และแค่ไหนเพียงไร)

2. กรรมวิปากญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม คือ สามารถกำหนดแยกการให้ผลอย่างสลับซับซ้อน ระหว่างกรรมดีกับกรรมชั่ว ที่สัมพันธ์กับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ)

3. สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง คือ สุคติ ทุคติ หรือพ้นจากคติ หรือปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่อรรถประโยชน์ทั้งปวง กล่าวคือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ หรือ ปรมัตถะ คือรู้ว่าเมื่อปรารถนาจะเข้าถึงคติหรือประโยชน์ใด จะต้องทำอะไรบ้าง)

4. นานาธาตุญาณ (ปรีชาหยั่งรู้สภาวะของโลกอันประกอบด้วยธาตุต่างๆ เป็นอเนก คือ รู้สภาวะของธรรมชาติ ทั้งฝ่ายอุปาทินนกสังขารและฝ่ายอนุปาทินนกสังขาร เช่น รู้จักส่วนประกอบต่างๆ ของชีวิต สภาวะของส่วนประกอบเหล่านั้น พร้อมทั้งลักษณะและหน้าที่ของมันแต่ละอย่าง)

5. นานาธิมุตติกญาณ (ปรีชาหยั่งรู้อธิมุติ คือ รู้อัธยาศัย ความโน้มเอียง ความเชื่อถือ แนวความสนใจ เป็นต้น ของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปต่างๆ กัน)


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๔)
พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๔)
พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๔)

6. อินทริยปโรปริยัตตญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย คือ รู้ว่าสัตว์นั้นๆ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แค่ไหน เพียงใด มีกิเลสมาก กิเลสน้อย มีอินทรีย์อ่อน หรือแก่กล้า สอนง่ายหรือสอนยาก มีความพร้อมที่จะตรัสรู้หรือไม่)

7. ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว การออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติทั้งหลาย)

8. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ปรีชาหยั่งรู้อันทำให้ระลึกภพที่เคยอยู่ในหนหลังได้)

9. จุตูปปาตญาณ (ปรีชาหยั่งรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายอันเป็นไปตามกรรม)

10. อาสวักขยญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย)

‘พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์’ เป็นนามพระราชทาน ประดิษฐานใจกลางพุทธมณฑล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ทรงเททองพระเกตุมาลา เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2524 ระหว่างกำลังดำเนินการสร้างอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการสร้างองค์พระพุทธรูปด้วย

พระศรีศากยะทศพลญาณฯ เป็นพระพุทธรูปยืนปางลีลาขนาดใหญ่ พุทธลักษณะทรงยกพระบาทขวาจะก้าว ห้อยพระหัตถ์ขวาท่าไกล พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระป้องไปเบื้องหน้าเป็นกิริยาเดิน หล่อด้วยทองสำริดหนัก 17,543 กิโลกรัม โดยแบ่งหล่อเป็นชิ้นต่างๆ ขององค์พระ รวม 137 ชิ้น แล้วจึงนำไปประกอบกับโครงเหล็กบนฐานพระพุทธรูป เพื่อเชื่อมรอยต่อและปรับแต่งให้เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นพระพุทธรูปสูง 15.875 เมตร ถือเป็นพระพุทธรูปลีลาหล่อด้วยทองสำริดที่มีลักษณะงดงาม และมีขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์

ทั้งนี้ พุทธลักษณะดังกล่าวได้ประยุกต์มาจากพระพุทธรูปปางลีลาสมัยสุโขทัย โดยมี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ครูศิลป์ชาวอิตาลี สัญชาติไทย เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งในตอนแรกที่ออกแบบไว้นั้น พระพุทธรูปมีความสูงเพียง 2.14 เมตร แต่เพื่อให้สอดคล้องกับโอกาสที่พระพุทธศาสนาอายุครบ 2,500 ปี จึงได้มีการขยายขนาดเพื่อให้ได้เป็น 2,500 กระเบียด (1 กระเบียด เท่ากับ 1/4 นิ้ว) ดังนั้น พระศรีศากยะทศพลญาณฯ ในปัจจุบัน จึงมีความสูงถึง 15.875 เมตร ใหญ่กว่าขนาดต้นแบบ 7.5 เท่า

ความเป็นมาของพระพุทธรูปปางนี้มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา ณ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภายใต้ไม้ปาริฉัตตกะ ณ ดาวดึงส์เทวโลก เมื่อออกพรรษามหาปวารณาแล้ว จึงเสด็จลงจากเทวโลก ในการเสด็จลงจากเทวโลกนั้นเรียกกันว่า “เทโวโรหณสมาคม”

พระพุทธรูปองค์นี้ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธสืบเนื่องมาจวบกาลปัจจุบัน


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๔)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๔)




พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๔)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

หลวงพ่อวัดไร่ขิง
วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) อ.สามพราน จ.นครปฐม

“วัดไร่ขิง” หรือ “วัดมงคลจินดาราม”
เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดฝ่ายมหานิกาย
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
โดยมี “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” เป็นพระประธานในพระอุโบสถ
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ๒ นิ้ว สูง ๔ ศอก ๑๖ นิ้ว
ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ๕ ชั้น มีผ้าทิพย์ปูทอดลงมา ผินพระพักตร์สู่ทิศเหนือ
องค์พระงดงาม เป็นการผสมผสานงานพุทธศิลป์ ๓ สมัย
คือ เชียงแสน อู่ทอง และสุโขทัย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานใครสร้างขึ้นเมื่อไหร่

จากหนังสือประวัติของวัด ระบุว่าเรื่องราวของหลวงพ่อวัดไร่ขิงซึ่งไปเกี่ยวข้องกับ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมราชานุวัตร
ตั้งแต่ครั้งเป็นวัดศาลาปูนวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) นั้น พื้นเพของท่านเป็นชาวนครชัยศรี
เล่ากันเป็นสองนัยว่า ท่านเป็นผู้สร้างวัดไร่ขิง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๔
แล้วอาราธนาพระพุทธรูปจากพระนครศรีอยุธยามาเป็นพระประธาน
กับอีกความหนึ่งว่า วัดไร่ขิงเดิมมีพระประธานอยู่แล้วแต่องค์เล็ก
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) จึงบอกให้ไปนำพระพุทธรูปจากวัดของท่าน
ซึ่งผู้คนจากวัดไร่ขิงก็พากันขึ้นไปรับ เชิญลงแพไม้ไผ่ล่องลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา
เข้าแม่น้ำท่าจีนจนถึงวัด ก่อนอัญเชิญขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถ
ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันสงกรานต์ในปีนั้นพอดี


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๔)

เล่ากันว่า ขณะที่อัญเชิญหลวงพ่อวัดไร่ขิงขึ้นจากน้ำสู่ปะรำพิธี
เกิดความมหัศจรรย์ แสงแดดที่แผดจ้ากลับพลันหายไป
ความร้อนระอุในวันสงกรานต์กลางเดือนห้า บังเกิดมีเมฆดำทะมึน
ลมปั่นป่วน ฟ้าคะนองก้องในนภากาศ บันดาลให้ฝนโปรยลงมา
ทุกคนในที่นั้นเกิดความยินดี พากันอธิษฐานจิต
“ขอหลวงพ่อจักทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข
ดับความร้อนคลายความทุกข์ให้หมดไป
ดุจสายฝนที่เมทนีดลทำให้ชุ่มฉ่ำ เจริญงอกงามด้วยธัญญาหาร”


จึงถือเป็นวันสำคัญ จัดให้มีงานเทศกาลนมัสการปิดทองประจำปี
หลวงพ่อวัดไร่ขิง สืบต่อมาถึงทุกวันนี้

เรื่องราวความเป็นมาของหลวงพ่อวัดไร่ขิง
ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับน้ำอยู่ตามสมควร
ในประวัติพระพุทธรูปหลายสำนวนก็นับท่านรวมอยู่ใน
พระพุทธรูปห้าองค์พี่น้องที่ลอยน้ำมาจากทางเหนือ
ประกอบด้วย หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวราราม จ.ฉะเชิงเทรา,
หลวงพ่อบ้านแหลม วัดเพชรสมุทร วรวิหาร จ.สมุทรสงคราม
บางแห่งก็เพิ่มหลวงพ่อวัดเขาตะเครา จ.เพชรบุรี
และหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน จ.สมุทรปราการ
และขึ้นประดิษฐาน ณ ที่ต่างๆ กันด้วย

หลวงพ่อวัดไร่ขิง มีเสียงเล่าลือกันจากปากต่อปากของประชาชนทั่วไป
จากเหนือสู่ใต้ว่าหลวงพ่อมีอิทธิฤทธิ์และอภินิหารต่างๆ มากมายเป็นอเนกประการ
แต่ละคนที่มีศรัทธาต่อองค์หลวงพ่อวัดไร่ขิง
มีเรื่องที่น่าอัศจรรย์ปรากฏแก่ตนเองเกือบทุกคน


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๔)

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสไร่ขิง ได้นำอภินิหาร
และอิทธิฤทธิ์บางส่วนจากผู้ศรัทธาหลวงพ่อ
มาบันทึกไว้ในหนังสือประวัติวัดและหลวงพ่อวัดไร่ขิง อาทิ

- หลวงพ่อวัดไร่ขิง มีอภินิหารปิดทองไม่ติด
ทั้งที่ในแต่ละปีมีประชาชนมาปิดทองหลวงพ่อเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน


- หลวงพ่อวัดไร่ขิง มีความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหาร
ในการป้องกันสิ่งต่างๆ ตามความรู้สึกของแต่ละคนที่ตั้งใจปรารถนา

- น้ำมันและน้ำมนต์ของหลวงพ่อ รักษาโรคภัยต่างๆ ได้สมใจปรารถนา

- หลวงพ่อวัดไร่ขิง ช่วยให้รอดพ้นจากความตาย เพียงแค่ตั้งจิตถึงหลวงพ่อ

- หลวงพ่อวัดไร่ขิง ปิดตาขโมยได้ ป้องกันไฟไหม้

- หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นทุกอย่างได้ตามแรงอธิษฐานของคนอยากให้เป็น

หลวงพ่อวัดไร่ขิง ประดิษฐานเป็นที่เคารพกราบไหว้อยู่ ณ วัดไร่ขิง
มาเป็นเวลานานเป็นที่รู้จักเรียกขานในนามหลวงพ่อวัดไร่ขิง
คนในท้องถิ่นต่างเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์
และมักกราบไหว้บนบานเมื่อมีทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ


สำหรับคาถาบูชาหลวงพ่อวัดไร่ขิง ตั้งนะโม ๓ จบ
“กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา มะเหสักขายะ เทวะตายะ
อะธิปาถิตัง อิทธิปาฏิหาริกัง มังคะละจินตารามพุทธะปะฏิมากะรัง
ปูชามิหัง ยาวะชีวัญจะ สุกัมมิโก สุขะปัตถิตายะ”


ชาวบ้านเชื่อศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อวัดไร่ขิง
ว่าสามารถปัดเป่าทุกข์โรคภัยไข้เจ็บทั้งปวงได้อย่างอัศจรรย์
ทั้งยังอำนวยโชคลาภให้แก่ผู้ที่เดินทางมาสักการะ

โดยเฉพาะในงานประจำปี ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕
มีมหรสพ ๙ วัน ๙ คืน พุทธศาสนิกชนแห่นมัสการสักการะ
และบนบานศาลกล่าวด้วย “ว่าวจุฬา”
เชื่อว่าหลวงพ่อชอบเป็นพิเศษ รองลงมา คือ ประทัดและละครรำ



พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๔)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๔)





พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๔)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระร่วงโรจนฤทธิ์
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครปฐม

“พระร่วงโรจนฤทธิ์” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดนครปฐม
เป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป มีนามพระราชทานว่า
“พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร”
ตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖
แต่ประชาชนทั่วไปเรียกขานว่า “หลวงพ่อพระร่วง” หรือ “พระร่วงโรจนฤทธิ์”

เป็นพระพุทธรูปประทับยืนศักดิ์สิทธิ์ ปางห้ามญาติ (ปางประทานอภัย)
ทำด้วยทองเหลืองหนัก ๑๐๐ หาบ ศิลปะสุโขทัย สูง ๑๒ ศอก ๔ นิ้ว
ประทับยืนบนฐานโลหะทองเหลืองลายบัวคว่ำบัวหงาย ทำวงพระพักตร์ตามยาว
พระหนุเสี้ยม นิ้วพระหัตถ์พระบาทไม่เสมอกัน ห้อยพระหัตถ์ซ้ายลงข้างพระวรกาย
แบฝ่าพระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้นยื่นไปข้างหน้า มีพระอุทรพลุ้ยบ่ายพระพักตร์สู่ทิศเหนือ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช
เสด็จฯ ประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๑
ได้ทอดพระเนตรพระพุทธรูปโบราณเป็นอันมาก
แต่มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่ เมืองศรีสัชนาลัย (สุโขทัย)
กอปรด้วยพระลักษณะงามเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย
แต่ชำรุดมาก เหลืออยู่แต่พระเศียร พระหัตถ์และพระบาท


จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นั้นลงมากรุงเทพฯ
แล้วให้ช่างปั้นสถาปนาขึ้นมาบริบูรณ์เต็มพระองค์
และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีเททองหล่อ
เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖
ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ โดยมีผู้ออกแบบคือ
กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ (พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร)

จากนั้นได้อัญเชิญมาสู่จังหวัดนครปฐม เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๗
ทางรถไฟ ประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านทิศเหนือ
ขององค์พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จนถึงปัจจุบัน


เมื่อครั้งอัญเชิญพระร่วงโรจนฤทธิ์มาประดิษฐานยังองค์พระปฐมเจดีย์
จำเป็นต้องแยกชิ้นมาประกอบเข้าด้วยกันที่จังหวัดนครปฐม
เสร็จเป็นองค์สมบูรณ์ เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๘

หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต
ตามความในพระราชพินัยกรรมของพระองค์ระบุว่า
ให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ ไว้ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์
ที่องค์พระปฐมเจดีย์ ในวันที่ ๓๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๙
จึงได้ทำพิธีบรรจุพระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ ๖

ณ ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ตามพระราชประสงค์


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๔)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๔)

มีความเชื่อว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์ โปรดหรือชอบลูกปืน
โดยต้องแก้บนด้วยการยิงปืน
แต่ต่อมาเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จึงใช้จุดประทัดแทน
และอีกอย่างที่เป็นของโปรด (ตามความเชื่อของชาวบ้าน)
คือ ไข่ต้ม และไม่ใช่ไข่ต้มธรรมดา
แต่ต้มสุกแล้วต้องชุบสีแดงที่เปลือกไข่หลังต้มแล้ว ก่อนนำมาแก้บน

ในการบนบานขอพรหรือขอความสำเร็จต่างๆ จากองค์พระร่วงโรจนฤทธิ์
ชาวบ้านทั้งชาวไทยชาวจีนในนครปฐมเป็นที่ทราบกันทั่วไป
ที่ผ่านมาเคยเห็นมีผู้มาแก้บนด้วยไข่ต้มนับร้อยนับพันใบก็มี

คำกล่าวบูชาพระร่วงโรจนฤทธิ์ที่แปลแล้วมีว่า
“พระพุทธรูปพระองค์ใด ซึ่งมีอภินิหารไม่น้อย มีพระพุทธลักษณะอันงดงามผุดผ่อง
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทร มหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงถวายพระนามว่า
“พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร”
เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติ แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้ประดิษฐานมาอยู่ ณ วิหารมณฑลด้านทิศเหนือ แห่งองค์พระปฐมเจดีย์
ควบเวลาถึงกว่า ๙๒ ปี (ปัจจุบัน) ได้แผ่พระบารมีปกเกล้าไปยังพุทธศาสนิกชนทั่วทุกทิศ
ปานประหนึ่งว่า พระพุทธองค์ ทรงสถิตประทับยืนอยู่ ณ นิโรธาราม
ริมฝั่งแม่น้ำโรหิณี ใกล้เมืองกบิลพัสดุ์ ทรงโปรดพระประยุรญาติ
ทั้งสองฝ่ายให้คลายจากมานะทิฐิอยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข”

“ข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าวันทาพระร่วงโรจนฤทธิ์พระองค์นี้
ซึ่งเป็นที่นำบุญมาให้แก่ข้าพระพุทธเจ้า ผู้นมัสการอยู่ แม้พระปฐมเจดีย์ใหญ่ใด
ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเป็นที่ประดิษฐานองค์พระร่วงโรจนฤทธิ์
ซึ่งมีปาฏิหาริย์ไม่น้อย งดงามดุจพระจันทร์ในยามราตรี
ข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าวันทาพระปฐมเจดีย์นี้ ซึ่งเป็นที่นำบุญมาให้แก่ผู้ทัศนาอยู่เสมอ
ข้าพระพุทธเจ้าขอนมัสการพระร่วงโรจนฤทธิ์ พระบรมสารีริกธาตุ
และองค์พระปฐมเจดีย์ที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งควรนมัสการอยู่โดยส่วนเดียว
ด้วยเครื่องสักการะคือดอกไม้ไฟอันตั้งอยู่ ณ ทิศทั้งสี่
ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ ได้แล้วซึ่งบุญอันใด ด้วยอานุภาพแห่งบุญนั้น
ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุข เป็นผู้ไม่มีเวร ปราศจากอันตราย
เจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมเป็นนิตย์เทอญ”


สำหรับ วัดพระปฐมเจดีย์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร
ซึ่งอาณาจักรที่ตั้งสองสิ่งสำคัญอยู่คือ องค์พระปฐมเจดีย์ และพระร่วงโรจนฤทธิ์
วัดพระปฐมเจดีย์ตั้งอยู่ในตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๕๖ กิโลเมตร เป็นปูชนียสถานเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในไทย

ทั้งนี้ องค์พระปฐมเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
มีลักษณะโครงสร้างเป็นพระเจดีย์ใหญ่รูประฆังคว่ำปากผายมหึมา
โครงสร้างชั้นในเป็นไม้ซุงรัดด้วยโซ่เส้นมหึมา ก่ออิฐถือปูน
ประดับด้วยกระเบื้องปูทับ ประกอบด้วยพระวิหาร ๔ ทิศ กำแพงแก้ว ๒ ชั้น


องค์พระปฐมเจดีย์ สูงจากพื้นดินถึงยอดมงกุฏ ๑๒๐.๔๕ เมตร
ฐานโดยรอบวัดได้ ๒๓๕.๕๐ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๕๖.๖๕ เมตร
จากปากระฆังถึงสี่เหลี่ยมสูง ๑๘.๓๐ เมตร สี่เหลี่ยมด้านละ ๒๘.๑๐ เมตร
ปล้องไฉน ๒๗ ปล้อง เสาหาร ๑๖ ต้น คตพระระเบียงรอบกำแพงแก้วชั้น ๕๖๒ เมตร
กำแพงแก้วชั้นในโดยรอบ ๙๑๒ เมตร ซุ้มมีระฆังบนลานองค์พระปฐมเจดีย์ ๒๔ ซุ้ม

พระปฐมเจดีย์ถือว่าเป็นพระสถูปเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
และจังหวัดนครปฐมได้ใช้ “พระปฐมเจดีย์” เป็นตราประจำจังหวัด

ส่วน งานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
เพื่อให้พุทธศาสนิกชนชั่วไปในจังหวัดนครปฐมและทั่วราชอาณาจักร
ได้ร่วมกันบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และร่วมกันบริจาคทรัพย์
เพื่อบำรุงรักษาองค์พระปฐมเจดีย์ให้มั่นคงสืบเป็นประเพณี


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๔)
“พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร”

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๔)
องค์พระปฐมเจดีย์

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๔)
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม



พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๔)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระพุทธรูปศิลาขาว หรือหลวงพ่อประทานพร
พระประธานในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ถนนขวาพระ ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม

“พระพุทธรูปศิลาขาว” หรือ “หลวงพ่อประทานพร”
เป็นพระพุทธรูปปางประทานปฐมเทศนา หรือปางประทานเอหิภิกขุ
โดยประดิษฐานเป็น พระประธานในพระอุโบสถ
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม
สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี (ระหว่างปีพุทธศักราช ๑๑๐๐-๑๖๐๐)
ชาวบ้านมักจะเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อประทานพร”

พระพุทธรูปศิลาขาว ทำจากศิลาสีขาวขนาดใหญ่
มีพุทธลักษณะทั่วไปเป็นพระพุทธรูปศิลปะทวารวดี
ประทับนั่งบนบัลลังก์ห้อยพระบาททั้งสอง (ปรลัมพปาทาสนะ)
ลงบนฐานทำเป็นกลีบบัวบานรองรับ
ซึ่งมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า “ภัทรอาสน์” หรือ “ภัทราสนะ”
พระหัตถ์ซ้ายของพระพุทธรูปวางหงายอยู่เหนือพระเพลาซ้าย
ส่วนพระหัตถ์ขวายกอยู่ในระดับพระอุระ หันฝ่าพระหัตถ์ออกปลาย
พระอังคุฐ (นิ้วหัวแม่มือ) กับพระดัชนี (นิ้วชี้) งอโค้งจรดกันเป็นวงกลม
ส่วนอีกสามนิ้วพระหัตถ์กางออก พระพุทธรูปในรูปท่าแบบนี้
เรียกว่า “ปางประทานปฐมเทศนา” หรือ “ปางประทานเอหิภิกขุ”
ขนาดความสูงจากพระเกตุถึงพระบาท ๓.๓๖ เมตร

พระพุทธรูปศิลาขาว องค์ที่ประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถ
เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะและขนาดเช่นเดียวกันกับ
พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร
หรือพระพุทธนรเชษฐ์ฯ หรือ “หลวงพ่อขาว”
องค์ที่ประดิษฐาน ณ ลานชั้นลด (กะเปาะ) ด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์

ประวัติจากบันทึกของ พระธรรมวโรดม (โชติ ธมฺมปฺปโชติกเถระ)
อดีตเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร กล่าวเอาไว้ว่า

“...ท่านพระปลัดทอง พระอธิการวัดกลางบางแก้ว (วัดคงคา)
ได้มาเห็นวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ซึ่งเวลานั้นว่างจากเจ้าอาวาส
กุฏิเสนาสนะชำรุดมาก ท่านจึงพร้อมกันกับ “สามเณรบุญ”

(ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระพุทธวิถีนายก
ตำแหน่งพระราชาคณะชั้นสามัญ เจ้าอาวาสวัดบางแก้ว) ผู้เป็นศิษย์
ได้มาช่วยบอกบุญขอแรงพระเณรและชาวบ้าน ต.พระปฐมเจดีย์
ไปช่วยกันขนอิฐจากวัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้าง
(ครั้นมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ได้ทรงพระราชทานนามวัดทุ่งพระเมรุ จ.นครปฐม ใหม่ว่า สวนนันทอุทยาน)
เพื่อนำมาใช้ในการบูรณปฏิสังขรณ์บริเวณวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร

ปรากฏว่าพบเห็นจอมปลวกขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในบริเวณสถานที่นั้น
โดยมีพระเกตุมาลาของพระพุทธรูปโผล่พ้นยอดจอมปลวกขึ้นมา
คณะของท่านพระปลัดทองจึงได้ช่วยกันทำลายจอมปลวกนั้นออก
ก็พบ พระพุทธรูปศิลาขาวขนาดใหญ่ องค์นี้ มีรอยต่อเป็นท่อนๆ
จึงถอดรอยตามรอยต่อนั้นออก แล้วนำมาประดิษฐานเป็นพระประธาน
ในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๔
(ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔)
ก่อนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ครองราชสมบัติ ๗ ปี...”

สำหรับประวัติความเป็นมาของ พระพุทธรูปศิลาขาวทั้ง ๔ องค์ นั้น
นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้กล่าวไว้ในหนังสือ
“พระพุทธรูปศิลาขาว สมัยทวารวดี” ว่าพระพุทธรูปศิลาเนื้อหินขาว ๔ องค์
ซึ่งเคยประดิษฐานอยู่ ณ วัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ จ.นครปฐม
โดยพบ สถูปโบราณ สมัยทวารวดีองค์ใหญ่ มีร่องรอยว่ามีมุขประจำ ๔ ทิศ
และในแต่ละมุขทิศเคยมีีพระพุทธรูปขนาดใหญ่นั่งห้อยพระบาทประจำอยู่นั้น

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราวรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑
หรือรัชกาลสมเด็จพระราเมศวร ได้ขนย้ายพระพุทธรูปศิลาขาวมาประดิษฐาน
ไว้ใน วัดพระยากง ต.สำเภาล่ม จ.พระนครศรีอยุธยา เกือบครบ ๓ องค์
คงทิ้งไว้ที่เดิม (วัดทุ่งพระเมรุ) ๑ องค์ กับชิ้นส่วนขององค์พระบางท่อน

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ได้นำองค์พระพุทธรูปศิลาขาวที่คงอยู่ ณ ที่เดิม (วัดทุ่งพระเมรุ) นั้น
ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร
กับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ได้นำชิ้นส่วนที่เหลือไปจัดตั้งไว้ ณ พระระเบียงคดด้านนอกองค์พระปฐมเจดีย์
ส่วนที่นำไปวัดพระยากงเกือบครบ ๓ องค์นั้น ต่อมาราวกว่า ๒๐ ปีมานี้
ได้มีผู้ศรัทธานำบางส่วนมาประกอบเป็นองค์ไว้ที่ วัดขุนพรหม จ.พระนครศรีอยุธยา

ส่วนที่ยังคงอยู่ที่วัดพระยากงก็มีคนใจร้ายทุบทำลายพระเศียร ๒ พระเศียร
ให้แตกแยกจากกันเพื่อสะดวกแก่การขนย้าย แล้วนำมาขายไว้ ณ
ร้านค้าของเก่าในเวิ้งนครเกษม ๒ ร้า่น ซึ่งกรมศิลปากรก็ได้ติดตามคืนมาได้

ครั้นต่อมา กรมศิลปากรด้วยความร่วมมือของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ได้นำพระพุทธรูปองค์ที่อยู่วัดขุนพรหม กับชิ้นส่วนที่มีอยู่ทั้งหมดที่วัดพระยากง
และชิ้นส่วนขององค์พระที่มีอยู่ ณ พระระเบียงคด ด้านนอกองค์พระปฐมเจดีย์
รวมทั้งพระเศียรองค์พระ ๒ พระเศียรที่ติดตามคืนมาได้จากร้านค้าของเก่าดังกล่าว
แล้วจึงนำมาประกอบกันขึ้นเต็มองค์และปฏิสังขรณ์เพิ่มเติม โดยถูกลดส่วนสัดได้ ๓ องค์
จัดตั้งแสดงไว้ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร หนึ่งองค์
แสดงไว้ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา หนึ่งองค์
และได้นำมาประดิษฐานไว้เป็นที่บูชาสักการะ ณ ลานชั้นลด (กะเปาะ)
ด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร อีกหนึ่งองค์
ซึ่งได้รับขนานนามโดยเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ในขณะนั้น (พ.ศ. ๒๕๑๐)
ว่า “พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร”
เมื่อรวมกับพระพุทธรูปศิลาขาวองค์ที่รัชกาลที่ ๔ ได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็น
พระประธานในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ด้วยกันก็เป็นครบ ๔ องค์

ทั้งนี้ พระพุทธรูปศิลาขาวองค์ที่พบอยู่ในจอมปลวกที่วัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ
แล้วนำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหารนั้น
เป็นองค์ที่สมบูรณ์ที่สุดในกระบวนพระพุทธรูปศิลาขาวทั้งหมด ๔ องค์


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๔)
พระพุทธรูปศิลาขาว หรือหลวงพ่อประทานพร พระประธานในพระอุโบสถ
วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม






เครดิต : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=39910
http://www.baanmaha.com/community/newthread.php?do=newthread&f=35