พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๙)


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๙)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

หลวงพ่อพระใหญ่ หรือ “หลวงพ่อใหญ่”
พระประธานในอุโบสถ วัดโพธาราม (วัดท่าไคร้) จ.บึงกาฬ


“หลวงพ่อพระใหญ่” หรือ “หลวงพ่อใหญ่” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ศูนย์รวมจิตใจของชาวบึงกาฬ และชาวจังหวัดใกล้เคียง รวมไปถึงในฝั่งประเทศลาวที่อยู่ในลุ่มน้ำโขงแถบนี้ โดยประดิษฐานเป็น พระประธานในอุโบสถ วัดโพธาราม (วัดท่าไคร้) บ้านท่าไคร้ หมู่ที่ 5 ต.บึงกาฬ อ.เมือง จ.บึงกาฬ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะสมัยล้านช้าง ดั้งเดิมเป็นพระพุทธรูปทองสำริดที่มีความงดงาม แต่ต่อมามีการพอกปูนฉาบไว้ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นการอำพรางจากเหตุการณ์สงคราม มีขนาดหน้าตักกว้าง 2 เมตร, จากฐานถึงยอดพระเกศสูง 2.10 เมตร, จากพระชานุ (เข่า) ถึงพระศอ (คอ) สูง 0.90 เมตร, จากพระศอ (คอ) ถึงยอดพระเกศสูง 1.20 เมตร พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนหน้าตัก พระหัตถ์ขวาคว่ำวางทับพระชานุ (เข่า) นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 5 เหยียดลงอย่างมีระเบียบเหมือนพระพุทธรูปทั่วๆ ไป ประดิษฐานบนแท่น 4 เหลี่ยม ซึ่งได้บูรณะขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2537 นี้

ปัจจุบันอุโบสถวัดโพธาราม (วัดท่าไคร้) ที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อพระใหญ่” กำลังอยู่ในช่วงการบูรณะ อุโบสถแห่งนี้ให้เฉพาะผู้ชายเข้าได้เท่านั้น ส่วนผู้หญิงให้กราบไหว้บูชาสักการะที่หน้าอุโบสถ

ตามประวัติไม่มีหลักฐานระบุชัดว่า “หลวงพ่อพระใหญ่” สร้างขึ้นในสมัยใด มีเพียงตำนานและคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่หลายรุ่น หลายสมัยเล่าสืบต่อกันมาประมาณสองพันกว่าปีมาแล้ว จนถึงยุคสมัยหลังๆ ว่า แต่ก่อนคนเหล่านี้ส่วนมากได้อพยพครอบครัวมาจากเมืองยศ (บริเวณจังหวัดยโสธรในปัจจุบัน) มาตั้งถิ่นฐานริมฝั่งแม่น้ำโขง และร่นขึ้นมาทางเขตชัยบุรี (ปัจจุบันคืออำเภอเมืองบึงกาฬ) การตั้งถิ่นฐานอยู่นั้นก็เหมือนกันทุกยุคทุกสมัย คือที่ใดไม่เหมาะสมในการดำรงชีวิต ต้องประสบกับภัย และมีการระบาดของโรคร้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคอหิวาตกโรค โรคไข้ทรพิษ (ฝีดาษ) ถูกรบกวนจากสัตว์ร้ายหรือภูตผีปีศาจต่างๆ ก็พากันหลบหนีภัยย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ เพื่อหาที่เหมาะสมต่อไป ชนกลุ่มนี้ก็เหมือนกันต่างย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ เพื่อหาที่เหมาะสม จนกระทั่งถึงบ้านท่าไคร้ในปัจจุบัน เมื่อเห็นเป็นที่เหมาะสมดีก็ตกลงใจกันตั้งหลักฐานที่ทำมาหากินในบริเวณนี้

จากนั้นต่างก็จับจองพื้นที่ทำมาหากิน แล้วเริ่มขยายอาณาบริเวณไปเรื่อยๆ จนถึงบริเวณที่รกทึบที่สุดเป็นป่าดงดิบ มีไม้นานาพันธุ์ เช่น ไม้ยาง ไม้ตะแบก ไม้สัก ไม้ไผ่ป่า ขี้นอยู่อย่างหนาแน่น และเต็มไปด้วยสัตว์ป่าหลายชนิดที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าว เนื่องจากเป็นป่ารกทึบมากชาวบ้านที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่รอบๆ จึงได้ร่วมกันในการถากถางเพื่อจะได้มีพื้นที่มากขึ้น หลังจากที่ได้ทำการถากถางอยู่เป็นเวลาหลายวัน ก็พบพุ่มไม้ที่สูงและหนากว่าที่อื่นๆ เมื่อถางป่าดังกล่าวออกก็พบ “หลวงพ่อพระใหญ่” ที่เต็มไปด้วยเถาวัลย์พันรอบองค์อยู่ จึงได้นำเถาวัลย์ออก แล้วปัดกวาดบริเวณรอบๆ ก็พบว่าพระเกตุมาลาขององค์หลวงพ่อพระใหญ่หัก เพราะถูกช้างป่ากระชากเถาวัลย์ลงมาเพื่อหากินตามธรรมชาติของสัตว์ป่า และเห็นเป็นรูปร่างของสถานที่บำเพ็ญบุญ หรือสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังพบซากเครื่องปั้นดินเผา โอ่งโบราณ รวมทั้งเครื่องใช้อีกหลายอย่าง

องค์หลวงพ่อพระใหญ่นั้นตั้งแต่ได้ค้นพบมาจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีการเคลื่อนย้ายหรือต่อเติมแต่อย่างใด มีเพียงต่อพระเกตุมาลาที่หักให้คงสภาพเดิม และแท่น 4 เหลี่ยมที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อพระใหญ่ได้สร้างโอบแท่นเดิม เพื่อให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้นเท่านั้น และมีผู้ที่มาขอพรจากองค์หลวงพ่อพระใหญ่ เมื่อได้สมความปรารถนาแล้วก็ได้นำสีทองมาทาสมโภชพระพุทธรูป จึงทำให้องค์หลวงพ่อพระใหญ่เหลืองอร่ามเป็นสีทองทั้งองค์

บางความเชื่อก็ว่า “หลวงพ่อพระใหญ่” ท่านลอยน้ำมาติดที่ริมน้ำโขง


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๙)

ปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อพระใหญ่

1. เมื่อครั้งสงครามอินโดจีน ปรากฏว่ามีแสงสว่างจ้ากว่าแสงตะเกียงเจ้าพายุ ลอยมาจากอุโบสถวัดโพธาราม (วัดท่าไคร้) ข้ามไปยังบ้านปากบึง ฝั่งประเทศลาว จากนั้นข้ามกลับมาที่เดิมแล้วดับลงที่อุโบสถ

2. เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2490 ได้รื้อซากอุโบสถเก่าของวัดโพธาราม (วัดท่าไคร้) เพื่อสร้างใหม่ ช่างและคนงานล้วนเป็นคนญวนพากันขุดเพื่อลงรากเสาเข็ม พอขุดลงไปพบพระพุทธรูปองค์เล็กจำนวนมากหลายพันองค์ พวกช่างและคนงานเหล่านั้นเห็นว่าเป็นของเก่าก็พากันเอาไปโดยมิได้บอกใคร หลังจากนำเอาพระพุทธรูปเหล่านั้นไปยังไม่ทันข้ามคืน เกิดเป็นบ้าบ้าง เกิดท้องร่วงอย่างรุนแรงบ้าง เกิดเป็นไข้อย่างฉับพลันบ้าง จนต้องนำเอาพระพุทธรูปกลับคืนมาไว้ที่เดิมในตอนกลางคืน และอาการที่ป่วยต่างๆ ได้หายไปเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

3. เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2496-2497 เด็กหญิงชาวบ้านท่าไคร้ไปอาศัยอยู่กับญาติที่ชลบุรี ได้ขี่จักรยานไปซื้อของ ถูกรถสิบล้อชนจนจักรยานหักป่นปี้ ส่วนเด็กหญิงคนนั้นตกกระเด็นไปตกฟากถนนอีกฝั่งหนึ่ง ลุกขึ้นได้ปัดฝุ่นแล้วก็เดินได้สบายไม่มีอาการบาดเจ็บแม้แต่น้อย แต่รถสิบล้อคันที่ชนกลับมีไฟลุกใหม้ท่วมเสียหายทั้งคัน ที่หนูน้อยคนนี้รอดตายอย่างปาฏิหาริย์เพราะมีรูปถ่ายของหลวงพ่อพระใหญ่อัดกรอบพลาสติกห้อยคอ

4. เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2511 เด็กสาวบ้านท่าไคร้กับน้องสาวไปธุระที่บ้านดงหมากยาง ขากลับจวนค่ำถูกคนร้ายจี้เอาสร้อยคอทองคำหนัก 3 บาทไป จึงต้องครึ่งวิ่งครึ่งเดินกลับบ้าน บอกเล่าเหตุการณ์ให้พ่อ-แม่ฟัง แล้วรีบไปบอกหลวงพ่อพระใหญ่ ขอให้ติดตามเอาสร้อยกลับคืนมา เวลาล่วงมา 3 วัน คนในบ้านหลังนั้นแทบจะไม่เชื่อสายตา เพราะสร้อยคอเส้นที่ถูกจี้เอาไปทิ้งอยู่ระเบียงหน้าบ้าน โดยสร้อยคออยู่ในสภาพเดิมทุกประการ

5. เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2512-2513 ก่อนสร้างอุโบสถวัดโพธาราม (วัดท่าไคร้) หลังปัจจุบัน ได้มีแสงสว่างออกมาจากต้นโพธิ์ข้างอุโบสถ แล้วข้ามไปบ้านปากบึง ฝั่งประเทศลาวอีก แสงสว่างเช่นนี้จะปรากฏในวันพระ 2-3 เดือนต่อครั้ง และมักจะมีผู้พบเห็นเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยครั้ง

6. ร.อ.คำม้าว จันทวงศ์ เป็นคนบ้านปากบึง ฝั่งประเทศลาว ซึ่งอยู่ตรงข้ามหมู่บ้านท่าไคร้ ก่อนที่จะไปราชการสงครามก็ได้มาบนหลวงพ่อพระใหญ่ไว้ทุกครั้ง ซึ่ง ร.อ.คำม้าว ได้เกิดอุบัติเหตุทางเครื่องบินถึง 3 ครั้ง แต่ก็รอดชีวิตมาทุกครั้ง จึงศรัทธาต่อหลวงพ่อพระใหญ่และได้บริจาคเงินจำนวน 2 หมื่นบาทสร้างอุโบสถหลังปัจจุบัน

7. เมื่อปี พ.ศ. 2528 ชาวบ้านประชุมตกลงกันเอาช่างภาพมาถ่ายรูป หลวงพ่อพระใหญ่ เพื่ออัดกรอบพลาสติกให้ญาติโยมผู้ศรัทธาได้บูชาสักการะไว้ประจำตัว ก่อนช่างภาพจะถ่ายรูปได้ตกแต่งขันข้าว ดอกไม้เพื่อสักการะและขอขมาแล้วจึงลงมือ ช่างภาพถ่ายรูปหลวงพ่อพระใหญ่ประมาณ 10 กว่ารูป เมื่อนำเอาไปล้างแล้วไม่มีรูปหลวงพ่อพระใหญ่ติดเลยแม้แต่น้อย ฟิล์มมืดดำ ชัตเตอร์ไม่ลั่น กดก็ไม่ลงเหมือนมีอะไรมาขัดไว้

8. มีผู้ถือเหรียญหลวงพ่อพระใหญ่ จำนวนไม่น้อยที่ต้องประสบอุบัติเหตุ แต่ก็ปลอดภัยทุกคน

ผู้ที่มากราบไหว้องค์หลวงพ่อพระใหญ่ มีความเชื่อว่าจะทำให้มีความเจริญรุ่งเรือง มีตำแหน่งการงานที่ใหญ่ขึ้น มีโชคลาภ แคล้วคลาดปลอดภัย ซึ่งชาวบ้านที่นี่หลังบนบานสมหวังแล้ว มักนิยมแก้บนด้วยการจุดบั้งไฟน้อย (บั้งไฟลูกเล็ก) 9 ลูก ยิงข้ามไปยังฝั่งโขง นับเป็นการแก้บนที่มีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นอึกแห่งหนึ่ง


งานประจำปีเพื่อสักการะหลวงพ่อพระใหญ่

ประชาชนในสมัยก่อนได้มาขอพรจากหลวงพ่อพระใหญ่ ให้ช่วยเมตตาปกปักษ์รักษาและป้องกันอันตรายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นให้หมดไป และก็ได้สมดังความปรารถนา ดังนั้น จึงได้ร่วมกันจัดให้มีการน้อมระลึกถึงพระคุณที่หลวงพ่อพระใหญ่ได้เมตตากรุณาตลอดมา โดยจัดงานสมโภชปีละ 2 ครั้ง ซึ่งปฏิบัติสืบต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน คือ

ครั้งที่ 1 ประเพณีบุญเดือน 3 หรือบุญข้าวจี่ มีการถวายปราสาทผึ้ง 2 หลังเพื่อสักการะหลวงพ่อพระใหญ่ด้วย

ครั้งที่ 2 ประเพณีสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ จัดขึ้นหลังช่วงเทศกาลวันสงกรานต์หนึ่งสัปดาห์ของทุกปี โดยจะจัดงานให้ตรงกับวันเสาร์-วันอาทิตย์ งานประเพณีนี้ถือเป็นงานใหญ่ประจำปีของวัดโพธาราม (วัดท่าไคร้) และชาวอำเภอเมืองบึงกาฬ มีพุทธบริษัทจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก



สิ่งปลูกสร้างภายในวัดโพธาราม

วัดโพธาราม (วัดท่าไคร้) เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในเขตอำเภอเมืองบึงกาฬ และมีงานเทศกาลประจำทุกปี ซึ่งประชาชน-พุทธบริษัทต่างก็ให้ความสนใจและเคารพนับถือเป็นอย่างมาก วัดโพธาราม (วัดท่าไคร้) เป็นวัดราษฎร์ สังกัดการปกครองคณะสงฆ์มหานิกาย มี น.ส.3 มีทะเบียนวัดถูกต้องตามระเบียบของทางคณะสงฆ์ แต่ก็พึ่งจะได้รับการพัฒนามาเมื่อประมาณ 20 ปีกว่า โดยมีสิ่งปลูกสร้างภายในวัดตามศรัทธา ดังนี้

1. อุโบสถ (หลังปัจจุบัน) ซึ่งมีหลวงพ่อพระใหญ่ประดิษฐานเป็นพระประธาน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ 2513 กว้าง 8 เมตร ยาว 15 เมตร ก่อด้วยอิฐถือปูน สิ้นเงินค่าก่อสร้างประมาณ 150,000 บาท สร้าง 5 ปีจึงแล้วเสร็จ

2. ศาลาการเปรียญ 1 หลัง 2 ชั้น ครึ่งปูนครึ่งไม้ กว้าง 15 เมตร ยาว 18 เมตร สิ้นเงินค่าก่อสร้างประมาณ 350,000 บาท

3. กุฏิ 2 ชั้น ครึ่งปูนครึ่งไม้ 3 ห้องพร้อมห้องน้ำ สิ้นเงินค่าก่อสร้างประมาณ 200,000 บาท

4. กุฎิชั้นเดียวพื้นสูง 1 เมตร 1 ห้อง สิ้นเงินค่าก่อสร้างประมาณ 800,000 บาท

5. โรงครัวหนึ่งหลังชั้นเดียว 2 ห้อง พื้นคอนกรีต สิ้นเงินค่าก่อสร้างประมาณ 30,000 บาท

6. แท้งค์น้ำฝน แบบ ฝ.33 ของกรมอนามัย 6 แท้งค์

7. บ่อน้ำตื้น 1 บ่อ ลงท่อคอนกรีตเสริมเหล็กประมาณ 6 เมตร

8. กำแพงวัด 3 ด้าน ก่อด้วยอิฐบล็อก สิ้นเงินค่าก่อสร้างประมาณ 200,000 บาท

เนื้อที่ของวัดโพธาราม (วัดท่าไคร้) มีทั้งหมดประมาณ 5 ไร่เศษ เป็นพื้นที่ราบ 3 ส่วน อีกส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม ทางวัดมีโครงการถมที่ดินให้เสมอกัน งานประจำปีของวัดอีกงานหนึ่งที่สำคัญคือ งานบุญมหาชาติ จะจัดให้มีใน 4 เดือนข้างขึ้นของทุกปี นอกจากนี้แล้วในวันพระ 8 ค่ำ และ 14-15 ค่ำ ชาวบ้านท่าไคร้จะพร้อมใจกันลงรวมกันที่วัด เพื่อไหว้พระ






พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๙)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

หลวงพ่ออภัยวงศ์ หรือ “หลวงพ่อปางอภัยทาน”
วัดแก้วพิจิตร ต.บางบริบูรณ์ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี


“วัดแก้วพิจิตร” เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๒
ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ ๔ ตำบลบางบริบูรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี
บนริมฝั่งขวาของแม่น้ำปราจีนบุรี ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออก
ประมาณ ๒ กิโลเมตร สร้างขึ้นโดยนางประมูลโภคา (นางแก้ว ประสังสิต)

เพื่อให้วัดเป็นสถานที่ในการทำบุญตักบาตร ถือศีลฟังธรรม
โดยมีผู้ร่วมกันบริจาคที่ดิน แรงงาน และทุนทรัพย์ในการก่อสร้าง
สิ่งก่อสร้างภายในวัด ระยะแรกประกอบด้วย ศาลาการเปรียญ
หอสวดมนต์ กุฏิสงฆ์ อุโบสถ ศาลาท่าน้ำ และเรือนแพ ฯลฯ
ภายในอุโบสถแต่เดิมประดิษฐานรอยพระพุทธจำลอง


ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๔ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)
ซึ่งอพยพครอบครัวมาจากพระตะบอง ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาแม่น้ำปราจีนบุรี
ได้เกณฑ์ช่างชาวเขมรมาด้วย
และได้สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมและหนังสือไทย
เป็นอาคารตึกชั้นเดียวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง ๑๑ เมตร
ยาว ๔๐ เมตร ชั้นบนเป็นดาดฟ้ามียอดโดม ๓ ยอด
ตรงกลางดาดฟ้าเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสมียอดหลังคาเป็นโดม
อาคารหลังนี้ได้รับพระราชทานนามว่า โรงเรียนอภัยพิทยาคาร

เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๑ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)
เห็นว่าอุโบสถหลังเดิมของวัดชำรุดทรุดโทรมมาก
จึงได้รื้อและก่อสร้างใหม่เป็น อุโบสถก่ออิฐถือปูน
ลักษณะสถาปัตยกรรม เป็นศิลปกรรมผสมผสาน ๔ ชาติ
คือ ศิลปะไทย จีน ตะวันตก และเขมร โดยก่อสร้างบนที่เดิม
ขนาดอาคารจำนวน ๕ ห้อง กว้าง ๑๗ เมตร ยาว ๒๑.๓๐ เมตร
ได้รับการผูกพัทธสีมา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๔


ภายใน “อุโบสถ” วัดแก้วพิจิตร เป็นที่ประดิษฐาน
พระประธานในท่านั่งขัดสมาธิทำปาง ซึ่งเรียกกันว่า
“หลวงพ่อปางอภัยทาน” หรือ “หลวงพ่ออภัยวงศ์”

นอกจากนี้ ยังมีภาพเขียนบนผืนผ้าเล่าเรื่องพระพุทธประวัติ
ใส่กรอบแขวนไว้ในอุโบสถ ๑๓ ภาพ แต่ได้ถูกโจรกรรมไป

พระพุทธรูปปางอภัยทาน เป็นศิลปะกรุงรัตนโกสินทร์
ตามแบบพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๔ หล่อด้วยโลหะทองแดง
มีขนาดหน้าตักกว้าง ๑ เมตร ๗ เซนติเมตร


พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชร
พระหัตถ์ขวายกขึ้น หันฝ่าพระหัตถ์ออกด้านนอก
พระองค์วางตั้งฉากอยู่บนพระเพลา
พระหัตถ์ซ้ายวางหงายฝ่าพระหัตถ์ขึ้นอยู่บนพระเพลา
พระเนตรและพระอุมาฝังด้วยอัญมณี อยู่ภายใต้ฉัตรเงิน ๕ ชั้น
เป็นพระพุทธรูปที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงออกแบบและทรงประทานพระนามว่า “ปางอภัยทาน”

พระพุทธรูปมีลักษณะเหมือนมนุษย์สามัญ
และเลียนแบบพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ของอินเดีย
พระพักตร์เป็นแบบประติมากรรมกรีกโรมัน
พระเกศาหยักศกรวบเป็นมวยกลางพระเศียร
ครองจีวรเป็นริ้วแบบธรรมชาติ


พระพุทธรูปองค์นี้มีลักษณะรูปแบบใกล้เคียงกันกับพระพุทธรูปปางขอฝน
ซึ่งเป็นแบบพระราชนิยมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ต่างกันตรงที่พระพุทธรูปนี้เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งเท่านั้น

สาธุชนที่มานมัสการมักมาขอพร ๓ ประการ ที่ประสบความสำเร็จ คือ

พรข้อที่ ๑ ถ้าท่านเป็นผู้ใจร้อน เมื่อได้นมัสการแล้วใจจะเย็นลงสงบขึ้น

พรข้อที่ ๒ ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีคำพูดไม่มีความหมาย
พูดแล้วไม่ประทับใจผู้รับฟัง พูดแล้วเหมือนขวางหูผู้รับฟัง
เมื่อได้นมัสการแล้วจะเป็นผู้ที่พูดแล้ว
มีความหมายติดตรึงใจผู้รับฟัง ประทับใจผู้ร่วมสนทนา


พรข้อที่ ๓ จะล่วงเกินผู้ใดก็ตามจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว
เมื่อได้นมัสการแล้วจะได้รับการให้อภัยจะไม่มีการโกรธไม่มีศัตรู

ในปี พ.ศ.๒๔๖๔ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)
ได้จัดสร้างหอไตร ๑ หลัง ขนาดกว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๒ เมตร
บริเวณที่เคยเป็นศาลาการเปรียญ
เป็นสถาปัตยกรรมผสมศิลปะตะวันตกกับศิลปะไทย
และสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ขึ้น
เป็นอาคารขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๒ เมตร
ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของหอไตร


สิ่งสำคัญนอกจากการนมัสการหลวงพ่ออภัยวงศ์
คือ อุโบสถ ๔ ชาติ กล่าวคือ ฝรั่งเศส เขมร จีน และไทย
ซึ่งเป็นที่ร่ำลือกล่าวขวัญอย่างมากว่าเป็นการสร้างที่แปลก
ด้วยการผสมผสานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม
อันงดงามไว้ได้ถึง ๔ ชาติในอุโบสถหลังเดียวกัน
โดยอุโบสถหลังนี้จำลองแบบมาจากวัดพระเจ้าช้างเผือก
เมืองพระตะบอง ประเทศกัมพูชา (ราชอาณาจักรกัมพูชา)

ด้วยความสำคัญของวัดแห่งนี้ ทางด้านศิลปกรรม ประวัติศาสตร์
ความเป็นมา และการเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาที่สำคัญ
ของจังหวัดปราจีนบุรี กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียน
วัดแก้วพิจิตรให้เป็นโบราณสถานของชาติ ในปี พ.ศ.๒๕๓๓
และในปี พ.ศ.๒๕๓๕ จังหวัดปราจีนบุรีจึงได้ดำเนินการบูรณะ
วัดแห่งนี้อีกครั้ง โดยใช้รูปแบบวิธีการบูรณะของกรมศิลปากร

อนึ่งในการเยี่ยมชมและนมัสการ จะมีคุณวารินทร์ คุ้มกาญจน์
วิทยากรบรรยายพิเศษของกรมศิลปากร นำชมให้ความรู้โดยตลอด

หากสาธุชนท่านใดมีโอกาสเดินทางไปแถบภาคตะวันออก
ใกล้จังหวัดปราจีนบุรีแล้ว ควรแวะไปที่วัดแก้วพิจิตร
ชมลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นศิลปกรรมผสมผสาน ๔ ชาติ
พร้อมนมัสการหลวงพ่ออภัยวงศ์ หรือ “หลวงพ่อปางอภัยทาน”
เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๙)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๙)




พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๙)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ “หลวงพ่อโต”
พระประธานในพระวิหารหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง วรวิหาร
ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา


“วัดพนัญเชิง วรวิหาร” เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร
ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก และแม่น้ำป่าสัก
ตำบลกะมัง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เป็นวัดที่สร้างขึ้นมาก่อนรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง
ก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง

ตามหนังสือพงศาวดารเหนือได้กล่าวไว้ว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้ง
กษัตริย์ไทยก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นผู้สร้างวัดและหลวงพ่อโต
เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระมเหสี พระนางสร้อยดอกหมาก
ณ บริเวณที่พระราชทานเพลิงศพพระนางสร้อยดอกหมาก
ส่วนที่มาของคำว่า พนัญเชิง นั้น ตามตำนานมูลศาสนา กล่าวว่า
เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า พะแนงเชิง ซึ่งแปลว่า การนั่งพับเพียบ
ซึ่งเป็นอาการที่พระเจ้าสายน้ำผึ้ง
และพระนางสร้อยดอกหมากใช้ในวาระสุดท้ายของเรื่อง

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ศัพท์ที่ใกล้เคียงพบว่า
คำว่า พะแนงเชิง ทางภาษาปักษ์ใต้ หมายถึง อาการนั่งแบบขัดสมาธิ

พระประธานในพระวิหาร มีชื่อเรียกกันว่า “พระโต” หรือ “หลวงพ่อโต”
หรือ “หลวงพ่อพนัญเชิง” ชาวจีนเรียกว่า “ซำปอกง”
โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก”

เป็นพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองตอนปลาย ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ
มีพัดยศขนาดใหญ่ตั้งอยู่เบื้องหน้า องค์พระปั้นด้วยปูนลงรักปิดทอง
มีขนาดหน้าตักกว้างประมาณ ๒๐ เมตร สูงประมาณ ๑๙.๒๐ เมตร

ในหนังสือพงศาวดารเหนือดังกล่าว ระบุว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้ง เป็นผู้สร้างไว้
และทรงพระราชทานนามว่า วัดพระเจ้าพระนางเชิง
เข้าใจว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นพร้อมกับวัด และสร้างไว้กลางแจ้ง

ในจดหมายเหตุของแคมเฟอร์เขียนครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า
หลวงพ่อโต พระพุทธรูปองค์นี้เป็นของมอญ
ในหนังสือภูมิสถานอยุธยาว่าเป็นของพระเจ้าสามโปเตียน
ซึ่งน่าจะเพี้ยนมาจากภาษาจีนว่า ซำปอกง แปลว่า รัตนตรัย

พระพุทธรูปองค์นี้ คนไทยเรียกทั่วไปว่า หลวงพ่อโตหรือหลวงพ่อพนัญเชิง
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงซ่อมครั้งหนึ่ง
และต่อมาพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาคงจะซ่อมแซมกันต่อมาอีกหลายพระองค์

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระปฐมบรมราชจักรีวงศ์ รัชกาลที่ ๑
ได้ทรงปฏิสังขรณ์และได้รับการบูรณะต่อมาหลายพระองค์
โดยเฉพาะ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะใหม่ทั้งองค์ เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๓๙๗
แล้


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๙)

ปี พ.ศ.๒๔๔๔ เกิดเพลิงไหม้ผ้าห่มหลวงพ่อพนัญเชิง
ทำให้องค์พระพุทธรูปชำรุดร้าวแตกรานหลายแห่ง
จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมกลับคืนดังเดิม
เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปิดทองแล้วมีสมโภช

ต่อมาในสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
องค์พระส่วนพระหนุ (คาง) พังทลายลงมาจนถึงพระปรางค์ทั้งสองข้าง
ได้ซ่อมแซมจนเสร็จเรียบร้อยภายในเวลา ๑ ปี
ครั้งนั้นได้เปลี่ยนพระอุณาโลมจากทองแดงเป็นทองคำด้วย

ในรัชกาลปัจจุบันมีการปฏิสังขรณ์ ลงรักปิดทองใหม่ทั้งองค์
๒ ครั้งแล้ว คือ ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ กับ ปี พ.ศ.๒๕๓๔-๒๕๓๖

ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อกรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่าครั้งที่ ๒ นั้น
พระพุทธรูปองค์นี้มีน้ำพระเนตรไหลออกมาทั้งสองข้าง

หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง ถือเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง
ที่ชาวกรุงเก่าให้ความเคารพนับถือมาช้านานหลายร้อยปี
เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโตนั้นต่างร่ำลือไกล
โดยเฉพาะในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เมืองกรุงเก่าได้เกิดโรคอหิวาตกโรคขึ้น
ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากจนวัดไม่มีที่จะเผาศพ
ชาวบ้านจึงได้ไปขอให้หลวงพ่อโตช่วยเมตตารักษาโรคภัย
พร้อมกับนำน้ำมนต์กับขี้ธูปบนพื้นพระวิหารไปทาตัว ไปอาบไปกินเพื่อป้องกันโรค
ปรากฏว่าหายจากโรคจริงๆ ซึ่งจากความเชื่อและเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมานี้
ทำให้ชื่อเสียงของหลวงพ่อโตโด่งดังไปทั่วทุกสารทิศ

ด้วยความนับถือหลวงพ่อโต ชาวไทยและชาวจีนมักจะมากราบไหว้
โดยเชื่อว่าจะทำให้ชะตาชีวิตดีขึ้น การงาน การค้าขายเจริญก้าวหน้า
พุทธศาสนิกชนส่วนมากจะนำผ้ามาห่มองค์พระ
ทั้งมักนิยมนำผลไม้ เครื่องเซ่นไหว้ อาหารคาวหวานมาสักการะ ฯลฯ

งานประจำปีใหญ่ๆ ๔ งาน ก็เป็นงานที่เนื่องด้วยประเพณีจีน ๒ งาน
คือ งานสงกรานต์ วันที่ ๑๓ เมษายน เป็นงานใหญ่
มีการนมัสการและเวียนเทียนประทักษิณรอบองค์พระติดต่อกันถึง ๕ วัน

งานสรงน้ำและห่มผ้าถวาย วันแรม ๘ ค่ำ เดือนเมษายน
มีการสรงน้ำและเปลี่ยนผ้าห่มผืนใหม่ ส่วนผืนเก่าที่ใช้มาตลอด ๑ ปี
จะฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ แจกจ่ายให้ผู้คนนำไปบูชา

งานทิ้งกระจาดหรืองานงิ้ว เดือน ๙
จะมีงิ้วและมหรสพอื่นๆ เล่นประชันกันอย่างครึกโครม
จะมีผู้คนนับหมื่นหลั่งไหลกันมานมัสการ
นับเป็นงานทิ้งกระจาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยทีเดียว

งานตรุษจีนเป็นงานใหญ่อีกงานหนึ่ง
จะมีการเปิดประตูพระวิหารหลวงไว้ทั้งวันทั้งคืนตลอด ๕ วันที่จัดงาน

คาถาบูชาพระพุทธไตรรัตนนายก (หลวงพ่อโต) วัดพนัญเชิง มีดังนี้
“ตั้งนะโม ๓ จบ อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง อะภิปูชะยามิ,
ทุติยัมปิ อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง อะภิปูชะยามิ,
ตะติยัมปิ อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง อะภิปูชะยามิ”


วัดแห่งนี้มีผู้เดินทางมาสักการะตลอดทั้งปี
ทางกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ และโบราณสถานแห่งชาติ

ปัจจุบันมี พระราชรัตนวราภรณ์ (นพปฎล (แวว) กตสาโร)
เป็นเจ้าอาวาส และเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พัฒนาวัดเพื่อให้เป็นศูนย์รวมทางการศึกษาของพระสงฆ์และสามเณร
รวมทั้ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ผู้มาชมและกราบไหว้องค์พระพุทธรูป
มากที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๙)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๒๙)









http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=45844
http://www.baanmaha.com/community/newthread.php?do=newthread&f=35
http://www.baanmaha.com/community/newthread.php?do=newthread&f=35