พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๑)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระพุทธชินราช
พระประธานในพระวิหารใหญ่ หรือพระวิหารหลวง
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร อ.เมือง จ.พิษณุโลก


“พระพุทธชินราช” ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารใหญ่
(พระวิหารหลวง) ด้านทิศตะวันตกของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร
หรือวัดใหญ่ ริมถนนพุทธบูชา ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก
ซึ่งเป็นด้านหน้าของวัด ผินพระพักตร์ไปทางด้านริมแม่น้ำน่าน
องค์พระพุทธชินราชนั่งขัดสมาธิอยู่บนฐานชุกชีบัวคว่ำบัวหงาย
เป็นพระพุทธรูปที่มีส่วนสัดเหมาะสมตามแบบประติมากรรม
โดยมีพระพุทธลักษณะงดงามมากที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย

ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ได้ทรงตรัสยกย่องสรรเสริญพระพุทธชินราช แห่งเมืองสองแคว ว่า
“งามหาพระพุทธรูปองค์ใดเปรียบมิได้ เป็นพระพุทธปฏิมากรดีล้ำเลิศ
ประกอบไปด้วยพุทธลักษณะอันประเสริฐ มีสิริอันเทพยดา
หากอภิบาลรักษา ย่อมเป็นที่สักการบูชานับถือแต่โบราณ”


พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย
ขนาดหน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว (หรือ ๒.๘๗๕ เมตร)
มีส่วนสูงตั้งแต่หน้าตักถึงพระเกศ ๗ ศอก (หรือ ๓.๕ เมตร)
พระพักตร์ทรงรูปไข่ หรือเรียกว่า รูปหน้านาง
ที่แสกพระพักตร์มีเครื่องหมายศูลประดับด้วยเพชร แสดงให้เห็นเป็นอุณาโลม

การสร้างใช้วิธีหล่อเป็นท่อนๆ ด้วยทองสัมฤทธิ์ตลอดทั้งองค์
นิ้วพระพักตร์และพระบาทเสมอกัน แต่แรกสร้างนั้นยังไม่ได้ปิดทอง
คงขัดเงาเกลี้ยงแบบทองสัมฤทธิ์เท่านั้น

ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างพระพุทธชินราชในปีใด
แต่มีการสันนิษฐานโดยอ้างอิงตามพงศาวดาร
คาดว่าน่าจะสร้างพร้อมกับ ‘พระพุทธชินสีห์’ และ ‘พระศรีศาสดา’
ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท)

จากนั้นจึงมีการลงรักปิดทององค์พระเป็นครั้งแรก
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ปีพุทธศักราช ๒๑๗๔
สมเด็จพระเอกาทศรถ โปรดให้นำทองเครื่องราชูปโภคไปแผ่เป็นทองแผ่น
แล้วนำมาปิดพระพุทธชินราชด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองจนแล้วเสร็จ

ต่อมาในคราวที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
เสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ ได้โปรดเกล้าฯ
ให้ปฏิสังขรณ์และลงรักปิดทององค์พระพุทธชินราชอีกครั้ง
พระพุทธชินราชจึงงดงามยิ่งดังที่เห็นในปัจจุบัน

พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปที่มีเรือนแก้วหรือที่เรียกว่า พระรัศมี
แกะสลักด้วยไม้สักลงรักปิดทอง มีลวดลายเป็นรูปนาค
วงขนานไปตามทรงขององค์พระ ขึ้นไปบรรจบกันที่เหนือพระเกศ
มีลักษณะเป็นลายรักร้อยและลายทองสร้อยสลับกัน
มีสายสังวาลทำด้วยทองเนื้อนพเก้า หรือทองสีดอกบวบ
คือ ตรานพรัตน์ราชวราภรณ์ ประดับด้วยบุศย์น้ำเพชร
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงสร้างถวายเป็นพุทธบูชา


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๑)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๑)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ รัชกาลปัจจุบัน
ได้ถวายตรานพรัตน์แด่พระพุทธชินราช เมื่อคราวเสด็จภาคเหนือ
ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ ซึ่งยังไม่เคยมีพระพุทธรูปองค์ใด
ได้รับเครื่องราชสักการะสูงส่งถึงเพียงนี้ และมีรูปยักษ์ทั้งซ้ายขวา
คือ ท้าวเวสสุวรรณ และท้าวอาฬวกยักษ์ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์

พระพุทธรูปองค์นี้แสดงออกซึ่งความสงบเย็น ความมีสติปัญญา
ความเมตตาอันหาที่เปรียบไม่ได้ ถือเป็นความอัศจรรย์
ที่คนไทยเมื่อประมาณพันปีล่วงมาแล้ว มีความสามารถอย่างสูงส่ง
ที่สามารถนำเอาพุทธจริยาทั้งสามประการ คือ พระมหากรุณาคุณ
พระวิสุทธิคุณ และพระปัญญาคุณ ซึ่งเป็นนามธรรมมาถ่ายทอด
เป็นรูปลักษณะของมนุษย์ที่ปั้น หล่อ ให้มองเห็นในความรู้สึกส่วนลึก
ของผู้ที่ได้ประสบพบเห็นได้เช่นที่ปรากฏในพุทธลักษณะของพระพุทธชินราชนี้

พระพุทธชินราช นอกจากเป็นพระปฏิมากร ที่มีลักษณะงดงามอย่างยอดเยี่ยมแล้ว
ยังเป็นพระพุทธรูปที่ทรงมีพระปาฏิหาริย์เป็นอัศจรรย์อีกมากมายหลายอย่าง
ซึ่งหลายๆ คนได้เคยเล่าสืบต่อกันมา ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ก็มีเช่น
เมื่อคราวเมืองพิษณุโลกถูกเผาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ตอนอื่นๆ ไฟไหม้หมด แต่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
ซึ่งเป็นที่สถิตของพระพุทธชินราช หาได้ไหม้ไฟไม่


ปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่นิยมกราบไหว้ขอพรให้ประสบแต่สิ่งที่ดีงามในชีวิต
ประสบความสำเร็จในทุกกิจการงาน
รวมถึงการสักการะวัตถุมงคลที่มีพระพุทธชินราชเป็นองค์ประกอบหลัก

สำหรับคาถากราบไหว้มีอยู่ว่า “นะ ชาลีติ ปะสิทธิลาภา ปะสันนะจิตตา
สะทา โหติ ปิยัง มะมะ สัพเพ ชะนา พะหู ชะนา สัพเพ ทิสา
สะมาคะตา กาละโภชะนา วิกาละโภชะนา อาคัจฉันติ ปิยัง มะมะ”


เนื่องจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นพระอารามหลวง (วัดหลวง)
แต่เดิมวัดนี้มีงานฉลองกันตามโอกาส หลังจากในการสร้างพระพุทธรูปขึ้นมา
หรือเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จมานมัสการพระพุทธชินราช จึงจะโปรดเกล้าฯ
ให้มีการฉลองสมโภช ๓ วันบ้าง ๕ วันบ้าง ๗ วันบ้างแล้วแต่ความเหมาะสม

ปัจจุบันนี้ ทางวัดได้จัดงานประจำปีขึ้นมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗
กำหนดเอาวันพระกลางเดือน ๓ เป็นต้นไป มีการฉลองใหญ่ถึง ๗ วัน ๗ คืน
กลายเป็นงานประจำปีของทางวัด จัดขึ้นในราวเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้นมัสการกราบไหว้
พระพุทธชินราชหรือหลวงพ่อใหญ่ได้อย่างทั่วถึง


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๑)
ป้ายชื่อวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร (วัดใหญ่)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๑)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๑)
พระวิหารใหญ่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร (วัดใหญ่)




พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๑)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระเหลือ หรือ “พระเสสันตปฏิมากร”
พระประธานในพระวิหารพระเหลือ หรือพระวิหารหลวงพ่อเหลือ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร (วัดใหญ่) อ.เมือง จ.พิษณุโลก


“พระเหลือ” อีกหนึ่งความน่าสนใจ ณ วัดใหญ่ เมืองสองแคว

หากพูดถึงเมืองสองแคว จังหวัดพิษณุโลกแล้ว สิ่งหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนหลายๆ คนมักจะนึกถึง รวมทั้งยังถือเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองสองแควนี้ก็คือ พระพุทธชินราช พระพุทธรูปสำคัญที่ประดิษฐาน ณ พระวิหารใหญ่ (พระวิหารหลวง) ด้านทิศตะวันตก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร หรือวัดใหญ่ นั่นเอง

พระพุทธชินราช ถือเป็นพระพุทธรูปที่ได้รับยกย่องว่ามีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศไทย พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือพญาลิไทย กษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วงสมัยสุโขทัย หรือเมื่อประมาณปี พ.ศ.1900 ในครั้งนั้นได้มีพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในคราวเดียวกันอีก 2 องค์ คือ พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา (พระศาสดา) ซึ่งอีกสององค์นั้น ขณะนี้ได้ประดิษฐานอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ส่วนที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร แห่งนี้เป็นองค์จำลอง

ตำนานการสร้างพระพุทธชินราชนี้ก็น่าสนใจมากทีเดียว เพราะเมื่อได้กระทำพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปทั้งสามองค์แล้ว ปรากฏว่า พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดามีน้ำทองแล่นติดตลอดเสมอกันทั้งองค์ แต่พระพุทธชินราชนั้นทองแล่นไม่ติดเต็มพระองค์ จึงได้มีการหล่อขึ้นใหม่อีกถึงสามครั้งสามครา แต่ก็ยังคงเททองไม่สำเร็จอยู่นั่นเอง จนในครั้งหลังสุดนั้น ได้มีตาปะขาวคนหนึ่งที่ไม่มีผู้ใดทราบชื่อและที่มา เข้ามาช่วยปั้นหุ่นและเททองทั้งกลางวันกลางคืนจนเสร็จลง คราวนี้น้ำทองที่เทหล่อก็แล่นเต็มตลอดทั่วทั้งองค์ และเมื่อแกะพิมพ์ออกมาก็พบว่าองค์พระนั้นงดงามสมบูรณ์ไม่มีที่ติ ราวกับเทวดามาช่วยสร้าง ส่วนตาปะขาวที่มาช่วยเททองนั้นก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย หลายคนเชื่อกันว่าตาปะขาวคนนั้นน่าจะเป็นเทพยดาที่แปลงกายมาเพื่อช่วยหล่อพระพุทธชินราชขึ้น ทำให้ชาวบ้านร่ำลือกันไปต่างๆ นานา จนความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธชินราชมีมากขึ้น

แต่นอกจากพระพุทธรูปทั้งสามองค์ที่กล่าวมานี้แล้ว หากใครที่เคยไปยังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร มาก่อน คงจะสังเกตเห็นว่า ด้านหน้าพระวิหารใหญ่พระพุทธชินราชนั้น จะมีพระวิหารหลังเล็กๆ อีกหลังหนึ่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์ต้นใหญ่ พระวิหารที่ว่านั้นมีขนาดเล็กจริงๆ ขนาดที่ว่าบางคนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นศาลพระภูมิได้ แต่ที่แท้จริงแล้ว พระวิหารหลังน้อยนั้นเป็นพระวิหารของ “พระเหลือ” นามว่า “พระวิหารพระเหลือ” นั่นเอง

เหตุที่พระพุทธรูปในพระวิหารน้อยได้ชื่อว่า พระเหลือ ก็เนื่องมาจากว่าเมื่อครั้งที่หล่อพระพุทธรูปสำคัญทั้งสามองค์อันได้แก่ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา แล้ว ก็ยังคงมีเศษทองสัมฤทธิ์หลงเหลืออยู่ พระยาลิไทจึงมีรับสั่งให้ช่างนำเศษทองนั้นมาหล่อเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้างเพียง 1 ศอกเศษ และเรียกท่านว่า “พระเหลือ” หรือ “หลวงพ่อเหลือ” ถึงกระนั้นเศษทองก็ยังเหลืออยู่อีก จึงได้หล่อพระสาวกขึ้นมาอีกสององค์ยืนอยู่ด้านข้างของพระเหลือ

ส่วนอิฐที่ใช้ก่อเตาสำหรับหลอมทองที่หล่อพระพุทธรูปนั้น ได้นำมารวมกันแล้วก่อเป็นฐานชุกชีสูง 3 ศอกตรงตำแหน่งที่หล่อพระพุทธชินราช พร้อมกับปลูกต้นมหาโพธิ์ 3 ต้นลงบนชุกชีนั้น แสดงว่าเป็นมหาโพธิ์สถานของพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาทั้งสามองค์ จึงเรียกว่า ต้นโพธิ์สามเส้า และได้สร้างพระวิหารเล็กๆ ขึ้นมาระหว่างต้นมหาโพธิ์นั้น เพื่อเป็นที่ประดิษฐานของพระเหลือและพระสาวก จึงเรียกชื่อว่า “พระวิหารพระเหลือ” หรือ “พระวิหารหลวงพ่อเหลือ” กันต่อมา

เมื่อพูดถึงเรื่องชื่อ จริงๆ แล้วพระเหลือเองก็มีชื่ออย่างเป็นทางการฟังดูไพเราะว่า “พระเสสันตปฏิมากร” ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานตั้งชื่อให้ แต่ชาวบ้านก็ยังนิยมเรียกองค์พระว่าพระเหลืออยู่เช่นเดิม แต่ก็ด้วยชื่อขององค์พระนั่นเองที่ทำให้ผู้คนมักนิยมไปบูชาสักการะขอพรจากท่าน ด้วยเชื่อว่าจะทำให้มีเงินมีทองเหลือใช้เหมือนอย่างชื่อของท่านบ้าง

สำหรับผู้ที่ไปเที่ยวชมวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร นอกจากจะได้มานมัสการพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา และพระเหลือแล้ว ก็อย่าลืมไปชมพระวิหารพระพุทธเจ้าเข้านิพพาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางแปลกๆ ที่ไม่มีที่ไหนเหมือน รวมทั้ง พระอัฏฐารส (พระยืน) พระพุทธรูปสูง 18 ศอก ที่อยู่บริเวณเนินพระวิหารเก้าห้อง ก็ล้วนแล้วแต่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ท่านใดที่ต้องการจะมาชมรวมทั้งนมัสการพระพุทธรูปเหล่านี้ก็สามารถไปสัมผัสในความงามได้ที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร แห่งเมืองสองแคว จ.พิษณุโลก


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๑)
“พระวิหารพระเหลือ” หรือ “พระวิหารหลวงพ่อเหลือ”

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๑)
ต้นโพธิ์สามเส้า ต้นโพธิ์ประวัติศาสตร์

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๑)
พระวิหารใหญ่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร หรือวัดใหญ่


หมายเหตุ.*** วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร หรือวัดใหญ่ อันเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธชินราชและพระเหลือ รวมถึงพระพุทธรูปน่าสนใจอีกมาก เปิดตั้งแต่เวลา 06.30-18.00 น. ตั้งอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ริมถนนพุทธบูชา ต.ในเมือง อ.เมือง ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก ท่านใดที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร หรือวัดใหญ่, หลวงพ่อใหญ่ และพระพุทธรูปอื่นๆ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดพิษณุโลก สามารถสอบถามได้ที่ ททท. ภาคเหนือ เขต 3 โทรศัพท์ 0-5525-2742-3, 0-5525-9414







เครดิต : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=73&t=41050&sid=a25fec919978b5fcd7538f87d2f092c7
http://www.baanmaha.com/community/newthread.php?do=newthread&f=35