พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๒)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

หลวงพ่อทอง
วัดเขาตะเครา อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

“หลวงพ่อทอง” วัดเขาตะเครา เป็นพระพุทธรูปแบบนั่ง
พระพุทธลักษณะปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ หล่อด้วยสำริด ศิลปะเชียงแสน
มีขนาดหน้าตักกว้าง ๒๑ นิ้ว และสูง ๒๙ นิ้ว ปิดทองคำเปลวอร่ามทั้งองค์

ไม่มีหลักฐานระบุสร้างปีใด ใครเป็นผู้สร้าง มีเพียงตำนานเอ่ยถึง
โดยเรื่องที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด มีรายละเอียด ดังนี้
มีพระสงฆ์ ๒ รูป สามเณร ๑ รูป ทั้งหมดเป็นพี่น้องกัน
และมีฤทธิ์เดชเวทมนต์แรงกล้ามาก ทั้ง ๓ ได้ทดลองวิชา
โดยพระรูปแรกได้ทำน้ำมนต์ไว้ และสั่งพระรูปที่ ๒ ว่า
“เดี๋ยวจะกระโดดลงน้ำแล้วจะกลายเป็นพระพุทธรูปลอยขึ้นมา
แล้วให้ใช้น้ำมนต์รดลงไปก็จะกลับเป็นพระสงฆ์ตามเดิม”


แต่เมื่อพระรูปแรกกระโดดลงไปแล้วลอยขึ้นมาเป็นพระพุทธรูป
พระรูปที่ ๒ ก็ไม่รดน้ำมนต์ให้ โดยบอกว่า “เมื่อพี่ทำได้เราก็ทำได้”
และได้สั่งให้สามเณรรดน้ำมนต์ให้
แล้วก็กระโดดลงน้ำกลายเป็นพระพุทธรูปลอยขึ้นมาอีก

ด้านสามเณร เมื่อเห็นว่าพระทั้ง ๒ รูปทำได้ เราก็ทำได้เหมือนกัน
จึงกระโดดลงน้ำแล้วกลายเป็นพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์
โดยที่ไม่มีใครนำน้ำมนต์รดให้ จึงกลายเป็นพระพุทธรูปลอยน้ำอยู่เช่นนั้น

ต่อมาได้แสดงอภินิหารโดยลอยทวนน้ำไปขึ้นที่ ช.พัน ๒ ทหารช่างอยุธยา
ภายหลังเรียกว่า คุ้ง ๓ พระทวน ปัจจุบันเรียกเพี้ยนไปเป็น สัมประทวน

ช่วงเวลาต่อมา ได้ลอยน้ำโดยเอาเศียรวน ไปอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา
ชาวบ้านเห็นและมีผู้นำสายสิญจน์ไปผูก พร้อมปลูกศาลเพียงตา
อาราธนาอัญเชิญองค์กลางขึ้นไว้ได้ ๑ องค์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่
วัดโสธรวราราม มีชื่อเรียกว่า “หลวงพ่อโสธร” จ.ฉะเชิงเทรา

เหลืออีก ๒ องค์ ลอยมาโผล่ที่ชายทะเลแถบ จ.สมุทรสงคราม
ชาวบ้านจึงได้ใช้เชือกจำนวน ๓ เส้น ผูกพระพุทธรูปเพื่อดึงขึ้นฝั่ง
แม้จะใช้คนจำนวนมาก ก็ไม่สามารถดึงขึ้นได้ จนเชือกขาดทั้ง ๓ เส้น
พระพุทธรูปจึงจมน้ำหายไป ต่อมาชาวบ้านจึงได้เรียกบริเวณนั้นว่า
สามเส้น และต่อมาเรียกเพี้ยนไปเป็น สามเสน

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๒ สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงต่อพม่า
ชาวบ้านแหลม จ.เพชรบุรี ได้อพยพหนีพม่าไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่
ปากคลองแม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ใกล้กับวัดบ้านแหลม
หรือวัดเพชรสมุทรวรวิหาร ซึ่งวัดนี้ในอดีตมีชื่อว่าวัดศรีจำปา

ระหว่างที่ชาวประมงได้ออกเรือหาปลา ได้ลากอวนไปติดพระพุทธรูป ๒ องค์
โดยองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปแบบนั่ง และอีก ๑ องค์เป็นพระพุทธรูปแบบยืน
จึงได้ช่วยกันนำพระพุทธรูปปางยืน ไปประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านแหลม
ต่อมาชาวบ้านได้เรียกชื่อพระพุทธรูปว่า “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม”


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๒)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๒)

ส่วนพระพุทธรูปอีก ๑ องค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางนั่งสมาธิ
ได้มอบให้ชาวบางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
เนื่องจากเป็นพี่น้องในย่านน้ำเดียวกัน ชาวบางตะบูนจึงได้นำมาประดิษฐาน
ไว้ที่ วัดเขาตะเครา และเรียกชื่อว่า “หลวงพ่อวัดเขาตะเครา”

พระมงคลวชิราจารย์ (หลวงพ่อสุข) เจ้าอาวาสวัดเขาตะเครา
ได้เล่าถึงที่มาของชื่อหลวงพ่อทองแห่งวัดเขาตะเครา ว่า
เดิมชาวบ้านจะเรียกพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ว่า หลวงพ่อวัดเขาตะเครา
เป็นที่เคารพบูชาของชาวประมงเป็นอย่างมาก แต่ได้มาเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น
“หลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา” หลังจากที่เกิดปรากฏการณ์ปาฏิหาริย์ขึ้น
เมื่อตอนกลางคืนของวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๗
ขณะที่อาตมาจำวัด ได้ฝันว่า มีพระอายุมากรูปหนึ่งนำถุงบรรจุทองคำยื่นให้
พร้อมกับพูดว่า ‘เอาไป’ หลังจากนั้นท่านก็หายไป

ต่อมาเวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น. เศษ ของวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีชวด
ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๗ ได้เกิดไฟลุกไหม้ท่วม
องค์หลวงพ่อวัดเขาตะเครา
ขณะนั้นประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ
ขณะไฟลุกไหม้ทำให้ทองคำหลอมไหม้ไหลออกมาจากองค์หลวงพ่อทอง
เมื่อนำทองคำทั้งหมดมาชั่งน้ำหนัก ปรากฏว่าได้น้ำหนักถึง ๙ กิโลกรัม ๙ ขีด

หลวงพ่อจึงได้นำเอาทองไปจัดทำเป็นลูกอมทองไหลหลวงพ่อทอง
แล้วแจกจ่ายให้พุทธศาสนิกชนนำไปติดตัวและบูชา
ได้ปัจจัยมาทั้งหมด ๑๑ ล้านบาท เพื่อนำมาสร้างมณฑป
โรงเรียน และศาสนสถานอื่นๆ สำหรับลูกอมหลวงพ่อทอง

ต่อมาได้เกิดปาฏิหาริย์มากมาย โดยเฉพาะทางด้านแคล้วคลาด
ทำให้ประชาชนเคารพศรัทธามากขึ้น
และเรียกหลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา ตลอดมาถึงปัจจุบัน

สำหรับ วัดเขาตะเครา ก็ไม่ปรากฏหลักฐานระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อใด
แต่เดิมพระอุโบสถอยู่บนยอดเขา ต่อมาย้ายพระอุโบสถลงมาเชิงเขา
เพื่อความสะดวกเวลาปฏิบัติศาสนกิจ แล้วอัญเชิญองค์หลวงพ่อทอง
ลงมาประดิษฐานที่ศาลาการเปรียญ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนกราบสักการะ

หลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยึดเหนี่ยวทางจิตใจชาวเพชรบุรี
และพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ เล่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์เรื่องโชคลาภ
ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ที่สมัครเรียน สมัครงาน ฯลฯ
มักจะมาบนบานขอให้ได้ตามประสงค์ ผู้เจ็บไข้ได้ป่วยก็มักมาบนบานขอให้หาย

สำหรับคาถาบูชาหลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา
“นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ” (๓ จบ)

“กาเยนะ วาจายะ มะยะเจตะสา มาระวิชะยัง สุวัณณะมานัง
มะหาเตชัง มะหาลาภัง พุทธะปะฏิมัง เมตตาจิตตัง นะมามิหัง
โอมะ ศรี ศรี ชัยยะ ชัยยะ สัพพะทุกขา อุปัททะวา สัพพันตะรายา
สัพพะโรคา วินาสสันติ สะทาโสตถี ภะวันตุ เม” (แล้วอธิษฐาน)


หากบนแล้วได้สัมฤทธิ์ตามที่ขอ จะต้องแก้บน
โดยเป็นชายจะบนบวชพระแก้ ถ้าเป็นหญิงจะบนบวชชีพราหมณ์
บ้างจุดประทัดถวาย หรือไม่ก็เลี้ยงอาหารแก้บน
โดยเฉพาะในวันหยุดหรือวันสำคัญต่างๆ วัดเขาตะเคราจะคลาคล่ำ

ไปด้วยพุทธศาสนิกชนที่หลั่งไหลมากราบสักการะ


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๒)






พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๒)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

หลวงพ่อหกนิ้ว หรือ “พระหิ้วนก”
วัดใหญ่สุวรรณาราม วรวิหาร อ.เมือง จ.เพชรบุรี

หลวงพ่อหกนิ้ว พระพุทธรูปมหัศจรรย์ เป็นเรื่องราวที่เล่ากันมานาน
หากจะนับระยะเวลากันแล้ว ก็คงไม่ต่ำว่า ๑๐๐ ปีขึ้นไป
ณ วัดใหญ่สุวรรณาราม วรวิหาร ถ.พงษ์สุริยา ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.เพชรบุรี
มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอันมาก
นามที่เรียกขานพระพุทธรูปองค์นั้นก็คือ “หลวงพ่อหกนิ้ว”
เพราะนิ้วพระบาทเฉพาะข้างขวามี ๖ นิ้ว ไม่เหมือนพระพุทธรูปโดยทั่วไป
แต่ชาวบ้านบางคนเรียกพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวว่า “พระหิ้วนก”
ซึ่งเป็นคำผวนมาจากคำว่า “พระหกนิ้ว” นั่นเอง
ปัจจุบันประดิษฐานอยู่เบื้องหลังองค์พระประธานในพระอุโบสถ

วัดใหญ่สุวรรณาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
มีเรื่องราวประวัติความเป็นมาน่าสนใจมากมาย
จากพระราชหัตถ์เลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ได้บันทึกเอาไว้ว่า “ผู้ใดออกมาเที่ยวเมืองเพชรบุรี
มีน้ำใจที่จะดูการช่าง จะหาที่อื่นดูให้ดียิ่งกว่าวัดใหญ่เป็นไม่มี”

แสดงให้เห็นว่าฝีมือช่างที่ปรากฏอยู่ ณ วัดแห่งนี้มีความงดงามเป็นอันมาก

วัดใหญ่สุวรรณาราม มีชื่อเดิมเรียกว่า วัดน้อยปากใต้
ต่อมาเมื่อ สมเด็จพระสังฆราชแตงโม (ทอง)
ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระสุวรรณมุนี
ได้มาทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดน้อยปากใต้
ท่านมีความเห็นว่าควรที่จะเปลี่ยนชื่อวัดแห่งนี้เสียใหม่
จากชื่อเดิมมาเป็นชื่อใหม่นามว่า “วัดใหญ่สุวรรณาราม”

พระอุโบสถของวัดใหญ่สุวรรณาราม
มีความโดดเด่นอยู่ตรงที่ไม่มีการเจาะช่องหน้าต่าง
ตามความนิยมของสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นและตอนกลาง
แต่ที่น่าสังเกตก็ตรงบริเวณประตูซึ่งมีทางเข้าอยู่ ๓ ช่อง
และประตูช่องกลางอยู่สูงกว่า โดยที่ไม่มีบันไดทางขึ้นจากด้านนอก
คนสมัยก่อนได้เล่าขานกันต่อๆ มาว่า การที่ประตูช่องกลางอยู่สูงกว่า
และไม่มีบันไดสำหรับขึ้น เป็นเพราะว่าประตูช่องนั้นสร้างสำหรับเทวดา
ใช้เหาะเข้ามาเพื่อถวายนมัสการองค์พระประธานที่อยู่ภายใน

ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน พระประธาน
เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย
ที่มีความงดงามตามพุทธลักษณะของการสร้างพระพุทธรูป
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นและตอนกลาง
และยังมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก

หลวงพ่อหกนิ้ว ตามตำนานได้มีการบันทึกเป็นหลักฐานเอาไว้ว่า
แต่เดิมหลวงพ่อหกนิ้วได้ประดิษฐานอยู่ ณ วัดหัวสนาม
ซึ่งมีสภาพเป็นวัดร้าง อยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดใหญ่สุวรรณาราม
โดยย้ายการประดิษฐานมาเมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด

ชาวจังหวัดเพชรบุรีเป็นจำนวนมากต่างมีความเชื่อว่า
หลวงพ่อหกนิ้วมีความศักดิ์สิทธิ์และมีอิทธิฤทธิ์
สามารถช่วยดลบันดาลปัดเป่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับพวกชาวบ้าน
อีกทั้งยังให้โชคลาภกับพวกชาวบ้านที่มากราบมนัสการท่านอยู่เนื่องๆ
บางคนมีคดีความถูกคดโกงไม่ได้รับความเป็นธรรม
เมื่อมากราบไหว้ท่านก็จะช่วยเหลือให้พ้นจากความทุกข์ดังกล่าว
ซึ่งเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์เหนือคำบรรยายยิ่งนัก

มีเรื่องเล่ากันเป็นประสบการณ์เหลือเชื่อหลายปีมาแล้วว่า
มีนักการเมืองคนหนึ่งเดินทางมาจากจังหวัดกาญจนบุรี
ด้วยกิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อหกนิ้ว
ทำให้นักการเมืองผู้นั้นต้องการมากราบมนัสการ
เพื่อให้ชีวิตหน้าที่การงานมีความเจริญก้าวหน้า
เมื่อมาถึงวัดใหญ่สุวรรณารามก็เป็นเวลาเย็นมากแล้ว
เจ้าหน้าที่ของวัดได้ปิดประตูพร้อมใส่กุญแจอย่างแน่นหนา
นักการเมืองผู้นั้นจึงเข้าไปภายในพระอุโบสถไม่ได้
ด้วยจิตที่เปี่ยมล้นไปด้วยความศรัทธาในองค์ของหลวงพ่อหกนิ้ว
นักการเมืองผู้นั้นจึงได้ก้มลงกราบที่หน้าประตูพระอุโบสถ
พอเงยหน้าขึ้นมาก็พบพระภิกษุรูปหนึ่งยืนอยู่
พระภิกษุรูปนั้นได้เอ่ยขึ้นว่า โยมมาที่นี่เพื่อจุดประสงค์ใด
นักการเมืองผู้นั้นตอบว่า กระผมต้องการมากราบหลวงพ่อหกนิ้วขอรับ
แต่น่าเสียดายที่มาช้าไป จึงเข้าไปภายในพระอุโบสถไม่ได้

พระภิกษุรูปนั้นได้กล่าวตอบว่า ด้วยดวงจิตอันแน่วแน่ของโยมที่มีอยู่
เพียงโยมกราบไหว้ด้วยใจศรัทธา
หลวงพ่อหกนิ้วท่านก็รับรู้การกระทำของโยมแล้ว
พูดจบพระภิกษุรูปนั้นก็เดินจากไป
นักการเมืองผู้นั้นสังเกตว่าที่เท้าข้างขวาของท่านมีนิ้วเท้า ๖ นิ้ว

วันรุ่งขึ้นเขาจึงเดินทางกลับมาที่วัดใหญ่สุวรรณารามอีกครั้ง
และได้สอบถามพระภิกษุภายในวัดว่า
มีพระภิกษุที่มีนิ้วเท้าข้างขวา ๖ นิ้วจำพรรษาอยู่ในวัดนี้บ้างหรือไม่
ปรากฏว่าไม่มีพระภิกษุดังกล่าวอยู่ในวัดใหญ่สุวรรณารามแม้แต่องค์เดียว
เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง เพราะมีหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับลงข่าวนี้
ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า พระภิกษุ ๖ นิ้วท่านมาจากไหน ?

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่ากันต่อๆ มาถึงการสร้างรูปหล่อเหมือนองค์จริง
ของสมเด็จพระสังฆราชแตงโม (ทอง) ซึ่งเป็นไปด้วยความยากลำบาก
แม้ว่าช่างผู้มีความสามารถจากในวัง ดำเนินการอย่างไรก็ไม่แล้วเสร็จ
ร้อนถึงเทวดาที่มีหน้าที่ปกปักษ์รักษาอยู่ภายในพระอุโบสถ
ได้ทำแปลงร่างเป็นตาแป๊ะแก่ๆ มาช่วยสร้าง
การหล่อรูปสมเด็จพระสังฆราชแตงโม (ทอง) จึงได้แล้วเสร็จ

ยามใดที่จังหวัดเพชรบุรีเกิดฝนแล้ง ชาวบ้านได้รับความทุกข์ยากลำบาก
ไม่มีน้ำท่ามาบริโภคใช้สอย พวกชาวบ้านจะทำการอัญเชิญ
รูปหล่อของสมเด็จพระสังฆราชแตงโม (ทอง) แห่รอบตัวเมืองเพชรบุรี
ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์ทันทีที่พิธีการแห่สิ้นสุดลง ฝนฟ้าก็จะตกกระหน่ำลงมาทันที
ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อหกนิ้ว พระพุทธรูปมหัศจรรย์
และความศักดิ์สิทธิ์ของรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราชแตงโม (ทอง)
ทำให้มีผู้คนหลั่งไหลมากราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคลอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๒)





เครดิต : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=39898 http://www.baanmaha.com/community/newthread.php?do=newthread&f=35