พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๔)
พระนอนและสิงห์คู่แบบล้านนาที่ด้านหน้าทางเข้าวัดพระธาตุสุโทน

“วัดพระธาตุสุโทน” งามล้ำจับจิต แฝงปริศนาธรรม

หากใครได้แวะเวียนไปเยี่ยมเยือน เมืองแพร่ ดินแดนแห่งหม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ (ส่วนหนึ่งของคำขวัญจังหวัด : หม้อห้อม สะกดตามคำขวัญจังหวัด) ก็จะรู้ว่า แพร่เป็นเมืองที่มีศิลปวัฒนธรรมแบบล้านนาตอนล่างอันเป็นเอกลักษณ์ และวิถีอันสงบงามที่น่าสนใจเมืองหนึ่งในภาคเหนือ แถมในความสงบงามของเมืองแพร่ที่หลายๆ คนมองเป็นเมืองผ่านนั้น ถ้าหากได้มองกันอย่างเพ่งพินิจแล้ว แพร่มีสิ่งชวนชมสวยๆ งามๆ แอบแฝงซ่อนเร้น ประหนึ่งพยัคฆ์ซุ่มมังกรซ่อนให้ชมกันหลายจุดทีเดียว

อย่างบนถนนหมายเลข 101 (เด่นชัย-ลำปาง) ที่เป็นทางผ่านจากตัวเมืองแพร่ไปลำปางหรือไปสุโขทัย ณ จุดห่างจากสามแยกเด่นชัยไปประมาณ 5 กิโลเมตร ริมถนนสายนี้จะมองเห็นพระนอนองค์โตและวัดหลังงามตั้งตระหง่านอยู่บนเนินย่อมๆ ที่เห็นแล้วรู้สึกสะดุดตาโดนใจในความโดดเด่นสวยงามของวัดแห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๔)
พระนอนและสิงห์ด้านหน้าทางเข้าวัด

วัดแห่งนี้ก็คือ “วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรีสามัคคีธรรม” หรือ “วัดพระธาตุสุโทน” ที่เพียงแค่แรกพบเห็น มนต์เสน่ห์ของวัดก็ดึงดูดให้เราออกจากรถมุ่งหน้าลงไปค้นหาในความงามแห่งพุทธศิลป์ของวัดแห่งนี้ในทันที

ปกติวัดทั่วๆ ไปในเมืองไทยที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องความงามนั้น ส่วนใหญ่ต้องก้าวข้ามพ้นกำแพงวัดไปก่อนถึงจะพบกับความสวยงามภายในกำแพง ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ วิหาร พระธาตุเจดีย์ พระประธาน หอไตร จิตรกรรมฝาผนัง ฯลฯ แต่สำหรับที่วัดพระธาตุสุโทนนี่มีความงามให้ยลกันตั้งแต่นอกกำแพงวัดเลยทีเดียว โดยสิ่งแรกที่พบเจอแล้วโดดเด่นชวนชมเป็นอย่างยิ่งก็คือ พระนอนองค์โต ที่ประดิษฐานอยู่ด้านซ้ายของประตูกลางทางเข้าวัด

พระนอนองค์นี้ สร้างด้วยศิลปะแบบพม่าอย่างละเมียดละไม มีพระพักตร์หวาน จีวรเป็นริ้วดูพลิ้วสวยงาม ฝ่าพระบาท 2 ข้างแกะสลักด้วยลวดลายมงคล และมีพุทธสรีระงดงามสมส่วน

ถัดมาช่วงกลางวัด ตรงบันไดทางขึ้นถูกขนาบข้าง 2 ฟากฝั่งด้วยสิงห์คู่สีทองยืนเด่นเป็นสง่า สมดังผู้พิทักษ์รักษาบันไดทางขึ้นสู่แดนแห่งธรรม ในขณะที่ขอบบันไดก็มี 2 ผู้พิทักษ์ธรรมอย่างพญานาค 7 เศียรที่ทอดตัวเลื้อยขนาบ 2 ข้างลงมาจากซุ้มประตูกลาง ซึ่งทางวัดพระธาตุสุโทนสร้างด้วยศิลปะปูนปั้นเปลือย โดยจำลองแบบมาจากวัดพระธาตุลำปางหลวง แห่งเมืองรถม้า จังหวัดลำปาง


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๔)
หนึ่งในของเก่าแก่ในพิพิธภัณฑ์สุวรรณหอคำ

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๔)
มัคนารีผลในพิพิธภัณฑ์สุวรรณหอคำ

หากใครเมื่อเดินขึ้นบันไดกลางนี้ แล้วพบว่าประตูทางกลางทางเข้าวัดปิดก็อย่าได้แปลกใจไป เพราะวัดนี้มีความเชื่อว่า ประตูทางกลางทางเข้าวัดมีไว้สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน เชื้อพระวงศ์ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ และผู้มีบุญบารมีเท่านั้น ส่วนปุถุชนคนธรรมดาก็ให้เดินเข้าวัดทางประตูฝั่งซ้าย-ขวาตามความสะดวก

งานนี้เราเลือกเข้าประตูทางฝั่งขวาที่ซุ้มประตูฝั่งนี้จำลองแบบมาจากวัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ (ส่วนซุ้มประตูด้านซ้ายอีกฝั่งจำลองมาจากวัดพระธาตุหลวง เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว) ที่เมื่อเดินก้าวข้ามกำแพงวัดเข้าไปก็ได้พบกับความงามมากมายรออยู่

จุดแรกที่ไปชมคือ “พิพิธภัณฑ์สุวรรณหอคำ” ที่เป็นอาคารทรงล้านนาสร้างด้วยไม้สักทอง มีเสาทั้งหมด 101 ต้น เป็นจำนวนเท่ากับหมายเลขถนน (สาย 101) ที่ผ่านหน้าวัด ส่วนข้างในพิพิธภัณฑ์เต็มไปด้วยโบราณวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่หายากมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปปางต่างๆ จำนวนมากเ ครื่องดนตรีโบราณ รูปเคารพโบราณต่างๆ หม้อไหเก่า เครื่องทองเหลือง เครื่องกระเบื้อง เครื่องเขิน เครื่องสังคโลก อาวุธโบราณ ฯลฯ รวมถึงภาพถ่ายโบราณต่างๆ นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์กฎหมายมังรายศาสตร์ ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกของเมืองแพร่อันว่าด้วยการปกครองและการพิจารณาคดีความต่างๆ

ส่วนที่สะดุดตา “ผู้จัดการท่องเที่ยว” เป็นพิเศษ เห็นจะเป็นวัตถุเล็กๆ คล้ายรากไม้แห้งที่ทางวัดระบุว่าเป็น มัครีผล (มัคนารีผล) ซึ่งมีรูปร่างคล้ายคนไม่น้อยเลย หลังเดินชมของล้ำค่าในพิพิธภัณฑ์กันพอสมควรแก่เวลาแล้ว เรามุ่งหน้าเข้าสู่เขตโบสถ์ของวัดแห่งนี้ทันที


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๔)
ยักษ์คู่ 2 ตน ยืนเฝ้าหน้าทางเข้าเขตโบสถ์

สำหรับในเขตโบสถ์วัดพระธาตุสุโทน “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ยกให้เป็นอีกหนึ่งดินแดนแห่งความงามของงานพุทธศิลป์ในลำดับต้นๆ ของเมืองไทย โดยเริ่มตั้งแต่ปากทางเข้ากำแพงโบสถ์ที่มีทวารบาลยักษ์คู่ตัวเขียวและตัวน้ำตาลยืนถือขวานยาวเฝ้าปากประตูท่าทางขึงขัง

จากนั้นเมื่อก้าวข้ามเขตกำแพงโบสถ์เข้าไป ภาพความงามในงานสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และงานพุทธศิลป์ต่างๆ ที่เห็นนั้น ช่างงามจับจิตจับใจ งามไปแถบทุกจุดที่เราพบเจอ ทั้งงานแกะสลัก งานปูนปั้น พระพุทธรูป และลวดลายประดับต่างๆ

ที่สำคัญคือในความงามที่พบเห็นแทบทุกอณูของเขตโบสถ์นั้น ล้วนแฝงไว้ด้วยปริศนาธรรมทั้งสิ้น ซึ่งหากเดินดูผ่านๆ คงจะไม่รู้หรอก โชคดีอย่างล้นเหลือ เมื่อได้ไปพบกับ ท่านพระครูบามนตรี ธมฺมเมธี (พระครูวิฑิตพิพัฒนาภรณ์) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุสุโทน แห่งนี้เข้าโดยบังเอิญ

พระครูบามนตรีท่านนี้แหละ คือผู้รังสรรค์ผลงานปานเนรมิตต่างๆ ของวัดพระธาตุสุโทนแห่งนี้ ซึ่งท่านได้เล่าให้ฟังว่า ด้วยความที่เป็นผู้สนใจในงานศิลปะมาก ชอบปั้นพระมาตั้งแต่เด็ก พอบวชก็ได้ไปเรียนวิชาปั้นพระสร้างวิหารจากครูบาคัมภีระปัญญา ที่วัดเฟือยลุง จังหวัดน่าน


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๔)
โบสถ์งานศิลปกรรมล้านนาผสมผสานอันกลมกลืนลงตัว

หลังจากนั้นท่านได้ออกเดินทางไปศึกษางานพุทธศิลป์ระดับมาสเตอร์พีชตามวัดวาอารามที่ต่างๆ ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ (จีน, พม่า และลาว) ก่อนจะนำเอาจุดเด่นของงานศิลปกรรมตามวัดต่างๆ โดยเฉพาะวัดทางภาคเหนือมาสร้างเป็นวัดพระธาตุสุโทน ในปี พ.ศ. 2527 วัดแห่งนี้ไม่ได้เน้นในการสร้างงานแบบใหญ่โตอลังการอย่างที่หลายๆ วัดทำกัน แต่เน้นไปที่การสร้างงานพุทธศิลป์อันงดงามสมส่วน โดยระดมช่างฝีมือชั้นยอดที่เรียกว่า “สล่า” ของภาคเหนือมาสร้างงานร่วมกัน

แม้งานส่วนใหญ่จะจำลองหรือได้แนวทางมาจากหลากหลายที่ แต่พระครูบามนตรีท่านได้นำมาประยุกต์เข้าไว้ด้วยกันอย่างผสมกลมกลืน ลงตัวสวยงาม ออกมาเป็นงานพุทธศิลป์ในระดับสุดยอดของเมืองไทยเลยทีเดียว ไม่เพียงเท่านั้นผลงานหลายชิ้น สิ่งก่อสร้างหลายอย่าง พระครูบามนตรีท่านได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ทั้งการแกะสลัก ปั้นปูน ฯลฯ รวมไปถึงการออกแบบที่เขียนแบบงานกันอย่างสดๆ ชนิดที่ไม่ต้องมีแบบร่างแต่อย่างใด

เมื่อรับรู้ที่มาที่ไปคร่าวๆ ของวัดแห่งนี้แล้ว ทีนี้ก็ได้เวลาชมสิ่งน่าสนใจมากมายในเขตโบสถ์ โดยมีพระครูบามนตรีเป็นผู้นำชมและเล่าความเป็นมาของงานชิ้นต่างๆ พร้อมอธิบายปริศนาธรรมที่แอบแฝงอยู่ในงานจำนวนมากด้วยตัวท่านเอง ซึ่งนี่คือโชคดีความอย่างล้นเหลือเป็นครั้งที่ 2 ของ “ผู้จัดการท่องเที่ยว”


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๔)
พระบรมธาตุ 30 ทัส ตั้งโดดเด่นสวยสง่าในเขตพื้นที่โบสถ์

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๔)
พระบรมธาตุ 30 ทัส

สำหรับจุดเด่นระดับไฮไลท์ของวัดจุดแรกที่พระครูบามนตรีนำชมก็คือ พระบรมธาตุ 30 ทัส ที่เจดีย์องค์ประธานและเจดีย์รายรอบหุ้มทองจังโก้สีทองเหลืออร่ามงดงามนัก

พระครูบามนตรีบอกเราว่า พระบรมธาตุ 30 ทัส เป็นศิลปะเชียงแสนยุคต้น จำลองมาจากวัดพระธาตุนอ (หน่อ) แห่งแคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน องค์พระธาตุมี 8 เหลี่ยม แทนมรรค 8 และมี 3 ชั้น แทน 3 ภพ คือ นรก-โลก-สวรรค์ ส่วนฐานขององค์พระธาตุมีช้างรองรับโดยรอบ 32 ตัว ซึ่งท่านได้จำลองช้างเหล่านี้มาจากวัดช้างต่างๆ อาทิ วัดช้างค้ำ จังหวัดน่าน วัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น

จากนั้นพระครูบามนตรีได้พาชมสิ่งน่าสนใจต่างๆ รอบโบสถ์ ซึ่งที่เด่นๆ ก็มี ตัวมอมสัตว์ในตำนานล้านนารูปร่างคล้ายแมวผสมสิงโต ที่สามารถปั้นได้อย่างมีชีวิตชีวาดูทีเล่นทีจริง พระพุทธรูปตามทางเดินบนระเบียงคต ศิลปะเชียงรุ้งอันเหลืองทองงามอร่ามตา ใบเสมาที่รูปทรงเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๔)
“ยักษ์ตื่น” หน้าปากประตูทางเข้าโบสถ์
ที่สื่อสัญลักษณ์ถึงความไม่ประมาท-การตื่นตัว


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๔)
“ยักษ์หลับ” หน้าปากประตูทางเข้าโบสถ์
ที่สื่อสัญลักษณ์ถึงความประมาท-ขี้เกียจ


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๔)
ซุ้มประตูโบสถ์มองเข้าไปเห็นพระพุทธชินเรศนวราชบพิตร
พระประธานในโบสถ์ ประดิษฐานอย่างสวยงาม


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๔)
พระพุทธชินเรศนวราชบพิตร

หลังชื่นชมปนอมยิ้มกับแนวคิดแฝงปริศนาธรรมของยักษ์หลับยักษ์ตื่น เราก็ตามท่านพระครูบามนตรีเข้าสู่ภายในโบสถ์หลังงามที่ได้รวบรวมสุดยอดศิลปกรรมล้านนากว่า 10 วัด มาสร้างเป็นโบสถ์งามหลังนี้ ในขณะที่ภายในโบสถ์นั้นประดิษฐานพระประธานคือ “พระพุทธชินเรศนวราชบพิตร” (นามพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ) ที่จำลองแบบมาจากพระพุทธชินราช อย่างงดงามวิจิตรดูเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งศรัทธา

ส่วนจิตรกรรมฝาผนังนั้นเล่าก็งดงามประณีตด้วยเรื่องราวนิทานชาดกพื้นบ้านและภาพไตรภูมิ ซึ่งนอกเหนือจากนี้ในโบสถ์ยังมีสิ่งชวนชมอีกมากมาย อาทิ งานไม้แกะสลักเกี่ยวกับพุทธชาดก พระแก้วมรกตจำลอง และบุษบกทรงสวยงาม เป็นต้น เรียกว่าถ้าใครเมื่อมาวัดแห่งนี้แล้วรับรองไม่ผิดหวังในความงามที่ได้พบเจอ นอกจากนี้ในงานพุทธศิลป์ส่วนใหญ่ยังแฝงไว้ด้วยปริศนาธรรมที่เป็นดังเครื่องเตือนใจปุถุชนคนทั่วไป ซึ่งท่านพระครูบามนตรีได้เล่าให้ฟังที่เหตุของการสร้างวัดพระธาตุสุโทนว่า

“ทุกวันนี้โรงพยาบาลทางโรคมีมาก แต่โรงพยาบาลทางใจมีน้อยมาก การสร้างวัดให้สวยงามสง่า ถือเป็นโรงพยาบาลรักษาโรคทางใจอย่างหนึ่ง เพราะอาตมาใช้ศิลปะเป็นหนึ่งในเครื่องกระตุ้นคนเข้าวัด เมื่อคนเข้าวัดก็จะได้ศึกษาเรียนรู้ธรรม แถมยังได้อิ่มเอิบใจจากงานศิลปะกลับไปด้วย”

พระครูบามนตรีอธิบายให้ฟังก่อนกล่าวทิ้งท้ายว่า ขอให้ชาวพุทธอย่าเข้าวัดเพราะติดพระ อย่าเข้าวัดเพื่อหาวัตถุมงคลของขลัง แต่จงเข้าวัดเพื่อหาธรรมมะ ความขลังไม่ได้อยู่ที่ตัวพระ แต่อยู่ที่ธรรมมะของพระพุทธเจ้า สาธุ


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๔)
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวชาดกพื้นบ้านและภาพไตรภูมิ

[COLOR="RoyalBlue"]“วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรีสามัคคีธรรม” หรือ “วัดพระธาตุสุโทน” บ้านห้วยพริก หมู่ที่ 5 ต.เด่นชัย อ.เด่นชัย จ.แพร่ อยู่ริม ถ.หมายเลข 101 (เด่นชัย-ลำปาง) ห่างจากแยกเด่นชัยประมาณ 5 กม. (ใกล้ๆ กับค่ายทหาร ม.พันสิบสองหรือค่ายพญาไชยบูรณ์) เป็นวัดบนเนินของดอยม่อนโทน มีเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่

นอกเหนือจากงานพุทธศิลปะที่กล่าวมาแล้ว วัดพระธาตุสุโทนยังมีสิ่งชวนชมอย่าง พระธาตุพนม (นครพนม) จำลอง (อนาคตจะสร้างพระธาตุประจำปีเกิด (จำลอง) ทั้ง 12 ราศีที่นี่) พระธาตุช้างค้ำ (น่าน) จำลอง, ศาลาหลวงพ่อเกษม เขมโก, วิหารพระมหาเมียะมุนี, วิหารพระเจ้าเก้าตื้อ, อนุสรณ์สถานทหารกล้า, หอระฆัง (จำลองจากวัดพระธาตุหริภุญชัย : ลำพูน), หอไตร (จำลองจากวัดพระสิงห์ : เชียงใหม่) ฯลฯ

วัดพระธาตุสุโทน เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลาประมาณ 09.00-16.00 นาฬิกา ไม่เก็บค่าเข้าชมแต่อย่างใด สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-5353-0138 [/COLOR]


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๔)
รูปหล่อบูรพาจารย์ครูบา

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๔)
รูปหล่อครูบาศรีวิชัย





พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๔)
พระประธานในวิหาร
วัดสระบ่อแก้ว (วัดจองกลาง) อ.เมือง จ.แพร่



พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๔)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระเจ้านั่งดิน
พระประธานในวิหาร วัดศรีดอก
ต.หัวฝาย อ.สูงเม่น จ.แพร่


“วัดศรีดอก” ตั้งอยู่ในท้องที่หมู่ที่ ๓ ต.หัวฝาย อ.สูงเม่น จ.แพร่
ถือว่าเป็นวัดที่เก่าแก่อีกวัดหนึ่งของจังหวัดแพร่
ปัจจุบันนี้มี พระอธิการสมบูรณ์ ประภากโร เป็นเจ้าอาวาส
เจ้าอาวาสวัดศรีดอกได้เล่าถึงความเป็นมาของวัดศรีดอกและพระเจ้านั่งดิน ดังนี้

วัดศรีดอก ไม่ได้มีการบันทึกประวัติไว้แต่มีการเล่าสืบกันต่อมา
จนถึงวันนี้ก็ไม่สามารถหาหลักฐานพบได้ แต่มีตำนานเล่ากันมาว่า
ณ กาลครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาทางทิศใต้
พระพุทธองค์ได้ทรงเสด็จประทับใต้ต้นโพธิ์


ในขณะนั้นก็ได้มีพวกลัวะพวกแจ๊ะได้มาหาปลาตามหนองแห่งนี้
จึงได้มาพบพระพุทธเจ้า เข้าใจว่าและสงสัยว่าเป็นยักษ์
เพราะไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้ามาก่อน
ก็พากันแตกตื่นวิ่งหนีกันไปคนละทิศละทาง
พระพุทธเจ้าก็ตรัสเรียกให้กลับคืนมาว่า เราไม่ใช่ยักษ์เราเป็นพระตถาคต

พวกลัวะพวกแจ๊ะบางพวกก็เชื่อ บางพวกก็ไม่เชื่อ
พวกที่เชื่อก็กลับมา พวกที่ไม่เชื่อก็ไม่กลับ บ้างก็กล้าๆ กลัวๆ
พวกที่ยังไม่เชื่อ พระพุทธเจ้าจึงได้แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ให้ดู
โดยทำให้ต้นโพธิ์ (ต้นศรี) บานดอกมีกลิ่นหอมตลบไปทั่ว มีสีที่สวยงามมาก
พวกลัวะพวกแจ๊ะได้เห็นแล้วก็พากันไปบอกพวกที่ยังอยู่บ้านให้ทราบ
ก็พากันมาดูพระพุทธเจ้าและดอกโพธิ์ (ดอกศรี) บาน
พากันหมดทั้งบ้าน เลยละทิ้งฆ้อง (ละฆ้อง) ไว้ที่บ้าน
สถานแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า ร่องละฆ้อง จนตราบเท่าทุกวันนี้

พวกลัวะพวกแจ๊ะได้รู้ว่าเป็นพระพุทธเจ้าคนวิเศษ ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส
พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า สถานแห่งนี้ต่อไปในภาคหน้าจะมีผู้มาสร้างรูปพระตถาคตไว้
ณ ที่นี่ ซึ่งเป็นป่าดงดิบหนาทึบ มีสัตว์ร้ายต่างๆ มากมาย

เวลาต่อมาก็มีพวกม่านพวกเงี้ยวได้มาสร้าง พระพุทธรูปขึ้นมาองค์หนึ่ง
ไว้ในป่าแห่งนี้ และได้สร้าง วิหาร ขึ้นหลังหนึ่งเล็กๆ
ซึ่งทำด้วยไม้ซาง (ไม่ไผ่) ทำเป็นฝาและเพดาน หลังคามุงด้วยหญ้าคา
พอได้อาศัยทำพิธีกรรมทางศาสนาในสมัยนั้นทิ้งไว้ในป่า

บางครั้งก็มีเสือได้มาอาศัยอยู่หลับนอนในวิหารหลังนี้เป็นประจำ
ลำดับต่อมาก็มีผู้คนมาสร้างบ้านเรือนอยู่เป็นปึกแผ่นแน่นหนา
จึงได้มี ประเพณีจุดบ้องไฟเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า
ขอน้ำฟ้าน้ำฝนในเดือน ๙ เหนือ แรม ๑๔ ค่ำ (เดือน ๙ ดับ)


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๔)
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)


ในครั้งหนึ่ง สมเด็จพระวันรัตน (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
(ซึ่งต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
ได้มีโอกาสเดินทางมาเยี่ยมเยือนวัดศรีดอก จ.แพร่
เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๔

สมเด็จพระวันรัตน (ปุ่น ปุณฺณสิริ) เห็นว่า
พระพุทธรูปองค์นี้แปลกกว่าพระพุทธรูปองค์ใดในประเทศไทย
เพราะว่าประดิษฐานต่ำ นั่งกับพื้นดิน
สมเด็จพระวันรัตน จึงให้นามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า

“พระพุทธรูปนั่งดิน” ตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ สมเด็จพระวันรัตน ได้กำชับกับคณะศรัทธาวัดศรีดอก
ห้ามโยกย้ายและยกฐานสูงกว่าเดิมเป็นอันขาด
จนถึงปัจจุบันนี้ยังอยู่ในลักษณะเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง

“พระเจ้านั่งดิน” วัดศรีดอก เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองสัมฤทธิ์
มีขนาดหน้าตักกว้าง ๖๐ นิ้ว สูง ๒ เมตร ปางสมาธิ
ถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่สวยงามมากอีกองค์หนึ่งในจังหวัดแพร่


ภายในบริเวณวัดศรีดอกนอกจากจะมีของดีๆ และวิเศษมายมาย
อาทิเช่น มี พระธาตุวิหาร หลังปัจจุบัน เป็นต้นแล้ว
ยังมีบ่อน้ำซึ่งภายในมีฆ้องทองคำลูกหนึ่งเสียงไพเราะมาก
และมีลูกแก้ววิเศษอีกลูกหนึ่ง วันดีคืนดี ยามดีจะออกมาปรากฏให้เห็น
มีแสงสีคล้ายกับหลอดนีออนสวยงามมาก

นอกจากนี้บริเวณรอบๆ วัดศรีดอกทั้ง ๔ ด้านมีต้นตาล โดย ครูบามหาเถร
หรือครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถร วัดสูงเม่น อ.สูงเม่น จ.แพร่ ได้นำมาปลูกไว้
และมีต้นลั่นทม (จำปาลาว) ที่มีอายุนับ ๑๐๐ กว่าปี
ซึ่งพ่อเจ้าคำลือ พ่อของแม่เจ้าคำป้อ ได้นำใส่หลังช้างมาจากตัวเมืองแพร่มาปลูก
ต้นไม้เหล่านี้ไม่มีใครที่จะกล้าตัด เนื่องจากผู้ปลูกได้สาปแช่งเอาไว้

จึงพบว่าภายในวัดศรีดอก มีต้นไม้ใหญ่ต้นโพธิ์ (ต้นศรี) และต้นไม้ใหญ่
ดำรงคงอยู่คู่กับวัด คอยให้ร่มเงาแก่ผู้มาเยี่ยมเยือนวัดไปตราบนานเท่านาน












เครดิต : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=20223
http://www.baanmaha.com/community/newthread.php?do=newthread&f=35