พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๗)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

หลวงพ่อใหญ่ หรือ “พระใหญ่บ้านโพน”
พระประธานในวิหาร วัดพุทธประดิษฐ์ (วัดบ้านโพน)
บ้านโพน ต.โพนทอง อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม


“หลวงพ่อใหญ่” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกองค์หนึ่ง
ที่ได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากพุทธศาสนิกชน
ชาวเมืองมหาสารคาม มานานนับกว่า ๑๐๐ ปี
ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหาร วัดพุทธประดิษฐ์ (วัดบ้านโพน)
บ้านโพน หมู่ที่ ๑๑ ตำบลหนองซอน อำเภอเชียงยืน
จังหวัดมหาสารคาม สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย
พุทธศิลปะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากหินศิลาแลง
มีขนาดหน้าตักกว้างเกือบ ๒ เมตร ยาว ๕๐ เมตร สูง ๒ เมตร
นับว่าเป็นพระพุทธรูปโบราณที่มีขนาดใหญ่มาก

ชาวบ้านจึงเรียกกันติดปากว่า “หลวงพ่อใหญ่” หรือ “พระครูขาใหญ่”
หรือ “พระใหญ่บ้านโพน” สืบต่อกันมาจวบจนปัจจุบัน
และด้วยความที่พุทธศาสนิกชนทั้งใกล้และไกล
ได้ให้ความเคารพศรัทธาในองค์พระพุทธรูป หลวงพ่อใหญ่ สูงมาก
ผู้ที่มาสักการบูชาจึงมักจะทำบุญปิดทององค์หลวงพ่อ
จนกระทั่งในปัจจุบันไม่สามารถมองเห็นเนื้อหินศิลาแลงข้างในได้

ผศ.สมชาติ มณีโชติ รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดี กล่าวว่า
เชื้อสายดั้งเดิมของชาวไทยอีสานและชาวเมืองมหาสารคาม
รกรากมาจากประเทศล้านช้าง
ซึ่งมีกรุงศรีสัตนาคณหุต หรือเวียงจันทน์ เป็นราชธานี
เริ่มมีการอพยพเคลื่อนย้ายตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๒๓๑
ช่วงนั้นเกิดความวุ่นวายภายในราชสำนักเวียงจันทน์
เชื้อพระวงศ์บางองค์พร้อมผู้นำทางศาสนาได้อพยพประชาชนจำนวนหนึ่ง
หนีภัยการเมืองมาอยู่ที่เมืองจำปาสัก
ต่อมาได้อพยพเข้ามาอยู่ที่เมืองสุวรรณภูมิ
หรืออำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ในปัจจุบัน

จากนั้นก็อพยพแยกย้ายกันไปหาพื้นที่ทำกิน
ที่เห็นว่าอุดมสมบูรณ์ในเขตเมืองมหาสารคามปัจจุบัน
และบางพื้นที่ของจังหวัดขอนแก่น และส่วนอื่นๆ ในภาคอีสาน
แต่ช่วงที่มีชุมชนเกิดขึ้นหนาแน่นในภาคอีสาน
จะอยู่ระหว่างรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓
มีการอพยพเข้ามามากโดยเฉพาะหลังเกิดกรณีเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์
ขณะนั้นไทยได้กวาดต้อนประชาชนเข้ามาตั้งบ้านเรือน
ในพื้นที่ภาคอีสานจำนวนมาก
บางพื้นที่ในเขตจังหวัดมหาสารคามกลายเป็นชุมชนใหญ่ระดับเมือง
เช่น เมืองท่าขอนยาง ปัจจุบันคือ ตำบลท่าขอนยาง

ในการอพยพเข้ามาสมัยนั้นก็จะมีบรรดาช่างที่มีฝีมือเข้ามาด้วย
ภายหลังการตั้งชุมชนเป็นหมู่บ้านที่มั่นคงแล้ว
ก็มีการสร้างวัดเพื่อเป็นศูนย์กลางยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชน
และสร้างพระประธานประดิษฐานไว้ในอุโบสถ
อายุการสร้างอุโบสถและอายุการสร้างพระประธานจึงใกล้เคียงกัน
สำหรับหลวงพ่อใหญ่ ที่วัดพุทธประดิษฐ์ องค์นี้เช่นกัน
จากพุทธศิลปะบ่งชี้ว่าเป็นการสร้างโดยช่างพื้นเมืองอิทธิพลศิลปะลาว
ดูจากพระพักตร์ ใบหู และยอดเศียร อายุการสร้างไม่น่าจะเกิน ๒๐๐ ปี
อยู่ช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
พระพุทธรูปลักษณะนี้จะพบเห็นอยู่หลายแห่งในภาคอีสานและทั่วไปในประเทศลาว


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๗)
พระครูประดิษฐ์วิริยาภรณ์ (หลวงพ่อแฉล้ม วิริโย)
เจ้าอาวาสวัดพุทธประดิษฐ์ (วัดบ้านโพน) จ.มหาสารคาม


พระครูประดิษฐ์วิริยาภรณ์ (หลวงพ่อแฉล้ม วิริโย)
เจ้าอาวาสวัดพุทธประดิษฐ์ (วัดบ้านโพน)
กล่าวว่า

หลวงพ่อใหญ่จะสร้างในปีใดไม่ปรากฏ
แต่คนเฒ่าคนแก่เล่ากันสืบต่อๆ มาว่า
เดิมหลวงพ่อใหญ่ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลังเล็กๆ
ที่ทรุดโทรมกลางป่ารกร้าง ซึ่งเป็นบริเวณวัดบ้านโพนในปัจจุบัน
บริเวณนี้มีหลักฐานบ่งชี้ว่าเป็นวัดมาก่อน
เนื่องจากมีการขุดพบเสมาหินและศิลปะโบราณวัตถุหลายชิ้น
ต่อมาเมื่อมีประชาชนเข้ามาตั้งบ้านเรือนในแถบนี้มากขึ้นก็กลายสภาพเป็นหมู่บ้าน
จากนั้นชาวบ้านก็ได้ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดเก่าแห่งนี้ขึ้นใหม่
พร้อมกับสร้างวิหารให้หลวงพ่อใหญ่

นับแต่นั้นมาตราบจนปัจจุบันเป็นเวลานับร้อยปี
หลวงพ่อใหญ่ได้กลายเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกองค์หนึ่ง
ที่พุทธศาสนิกชนชาวมหาสารคามให้ความเคารพศรัทธามาก
ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อเล่าลือกันมาก
จะพัฒนาวัดพัฒนาหมู่บ้าน หรือชุมชนจะทำอะไรก็ตาม
จะต้องมาจุดธูปเทียนบอกกล่าวหลวงพ่อใหญ่ก่อน
งานนั้นจึงจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
แต่หากใครผิดคำสาบานที่ให้ไว้
ไม่กลับมาขอขมาต่อหลวงพ่อจะมีอันเป็นไปทุกราย
เช่น ที่วัดมีการเปิดรักษาผู้ติดยาเสพติด นอกจากจะกินสมุนไพรแล้ว
ทุกคนที่เข้ารับการรักษาจะต้องสาบานต่อหน้าหลวงพ่อใหญ่
ว่าจะเลิกยาเสพติดอย่างสิ้นเชิง
แต่ก็มีบางคนที่ผิดคำสาบานกลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก
ก็เกิดความกระวนกระวายอยู่ไม่เป็นสุข
สุดท้ายต้องกลับมาขอขมาหลวงพ่อใหญ่ อาการนั้นจึงหายไป

หากใครมีเรื่องเดือดร้อนก็มาขอพรจากท่านได้ทุกเรื่อง
สิ่งสักการบูชาก็เป็นดอกไม้ธูปเทียนขันธ์ ๕ ขันธ์ ๘ ก็ได้
และในรอบหนึ่งปีจะมีการทำพิธีสรงน้ำหลวงพ่อใหญ่ขึ้น
การกำหนดวันหลวงพ่อใหญ่จะกำหนดเองโดยทำพิธีเซียงข้อง
หากเซียงข้องบอกให้จัดวันใดก็จะจัดขึ้นในวันนั้น
เชื่อว่าเป็นความประสงค์ของหลวงพ่อใหญ่
การทำพิธีเซียงข้องส่วนใหญ่จะทำปีละครั้ง
แต่หากเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติในชุมชนก็จะทำพิธีเซียงข้อง
เพื่อให้หลวงพ่อใหญ่ช่วยชี้แนะแก้ปัญหาให้กับชุมชนผ่านเซียงข้อง

หากพุทธศาสนิกชนท่านใดผ่านเข้ามาในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม
จึงไม่ควรพลาดที่จะหาโอกาสไปสักการะหลวงพ่อใหญ่
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกองค์หนึ่งของเมืองมหาสารคาม
เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
เส้นทางคมนาคมสะดวก เดินทางจากตัวเมืองมหาสารคาม
ถึงอำเภอกันทรวิชัยแล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนมุ่งสู่อำเภอเชียงยืน
ก่อนถึงอำเภอเชียงยืน ๑๐ กิโลเมตร

ด้านขวามือจะมีป้ายบอกไว้ว่า “วัดบ้านโพน”
เลี้ยวเข้าไปอีก ๒ กิโลเมตร จะถึงวัดหลวงพ่อใหญ่พอดี


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๗)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๗)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๗)
ประตูหน้าวัดพุทธประดิษฐ์ (วัดบ้านโพน) จ.มหาสารคาม




พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๓๗)

พระโพธิญาณ วัดหนองเลา ตำบลหนองเม็ก อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม

พระประธานที่ประดิษฐานในอุโบสถนามว่า พระโพธิญาณ เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ทรงนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายและขวาวางบนพระเพลา หน้าตักกว้าง 2 เมตร ศิลปะแบบเชียงรุ้งทรงเครื่องมงกุฎ อายุมากกว่า 200 ปี

เป็นพระพุทธรูปที่ทรงความศักดิ์สิทธิ์ กล่าวกันว่ามีการบรรจุดวงแก้วกายสิทธิ์ มีชาวบ้านเห็นแสงดวงแก้วเสด็จอยู่เนืองๆ บางครั้งคนที่อยู่ต่างจังหวัดก็มีนิมิตฝันเห็นพระพุทธรูปองค์นี้ไปโปรดจึงตามมากราบถึงวัดหนองเลา


พระพุทธรูปปาง อนิมิตเจโตสมาธิ มีพุทธลักษณะอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางคว่ำอยู่บนพระชานุ(เข่า) ทั้งสองข้าง

วันหนึ่งในพรรษาที่ ๔๕ พรรษาสุดท้ายแห่งพระชนมายุ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปราศรัยเรื่องชราธรรมกับพระอานนท์ว่า "ดูก่อนอานนท์ บัดนี้เราชราภาพล่วงกาลผ่านวัยจนพระชนมายุล่วงเข้า ๘๐ ปีแล้ว กายของตถาคตทรุดโทรมเสมือนเกวียนชำรุดที่ต้องซ่อม ต้องมัดกระหนาบให้อยู่ด้วยไม้ไผ่ อันมิใช่สัมภาระแห่งเกวียนนั้น ดู ก่อนอานนท์ เมื่อใดตถาคตเข้าอนิมิตเจโตสมาธิ ตั้งจิตสงบมั่น คือ ไม่ไห้มีนิมิตใดๆ เพราะไม่ทำนิมิตทั้งหลายไว้ในใจ ดับเวทนาบางเหล่าเสียและหยุดยั้งอยู่ด้วยอนิมิตสมาธิ เมื่อนั้นกายแห่งตถาคตย่อมผ่องใส มีความผาสุก สบายตลอดกาย ดูก่อนอานนท์ เพราะธรรมคือ นิมิตสมาธิธรรมนั้นมีความผาสุก ฉะนั้นท่านทั้งหลายจงมีตนเป็นเกราะ มีธรรมเป็นที่พึ่งทุกอิริยาบถเถิด"

อนิมิตเจโตสมาธิ เป็นหนึ่งในสามของสมาธิขั้นสูง หรือ โลกุตรสมาธิ ได้แก่

1.สุญญตสมาธิ - สมาธิจิตว่างที่สุด

2.อนิมิตตสมาธิ - สมาธิจิตไม่มีอารมณ์

3.อปณิหิตสมาธิ - สมาธิจิตไม่จอดอยู่ในฌาน

พระอาจารย์เส็ง ปุสโส หรือ พระอริยคุณาธาร ได้กล่าวไว้ในเรื่องสุญญตาว่า สมาธิ3ประการนี้ก็เป็นภูมิพระนิพพานอันเดียวกันนั่นเอง พระพุทธรูปปางนี้จึงเป็นปางหนึ่งที่มีความสำคัญมาก เกี่ยวเนื่องกับพระนิพพาน หรือประหนึ่งปางที่เตรียมพร้อมเข้าสู่แดนพระนิพพาน

นอกจากนี้ยังมีคำกล่าวถึงพระอรหันต์ พระมหากัสสปเถระเจ้า ทรงนั่งเข้านิพพานมานาน สองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว สรีระของท่านไม่เน่าเปื่อย เพราะท่านทำความเพียรอย่างแรงกล้า ด้วยกำลังแห่งอนิมิตตเจโตสมาธิ ปธานสังขารอิทธิบาทภาวนา ส่วน ตา หู จมูก และ ฟัน ก็ยังสมบรูณ์อยู่อย่างอัศจรรย์ ตามตำนานได้กล่าวว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ศรีอาริยเมตไตร จะเป็นผู้เสด็จมาประทานการฌาปนกิจสรีระ ด้วยพระองค์พร้อมทั้งพระสงฆ์หมู่ใหญ่ในยุคภัทรกัลป์สุดท้าย






เครดิต : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=73&t=41043&sid=76cb020b467afc202c240e932520e8d3
http://www.baanmaha.com/community/newthread.php?do=newthread&f=35