พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๔)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด



หลวงพ่อพุทโธ
พระประธานในวิหารหลวงพ่อพุทโธ วัดศรีบุรีรตนาราม
หรือวัดปากเพรียว ต.ปากเพรียว อ.เมือง จ.สระบุรี


คำว่า “ปากเพรียว” หมายถึง ตั้งอยู่ปากคลองเพียว และคำว่า “เพรียว” หมายถึง ยาว หรือเพียวลม วัดปากเพรียว ต.ปากเพรียว อ.เมือง จ.สระบุรี นี้ ตั้งอยู่ปากคลองเพรียว เยื้องกับวัดหนองโสนซึ่งอยู่ตรงข้าม สันนิษฐานว่าสร้างราวปี พ.ศ.2092 มีนามเดิมว่า “วัดม่วงงาม” เมืองสระบุรีนั้นเดิมเรียกว่า เมืองปากคลองเพรียว โดยเอาปากคลองเพรียวมาเป็นชื่อเมือง ไว้เป็นที่รวมพลสำหรับกองทัพ เรียกขานกันมาแต่สมัยพระเจ้าจักรพรรดิ์แห่งกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานกันว่า “วัดปากเพรียว” สร้างขึ้นไว้เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองในสมัยนั้น เพื่อทำพิธีทางศาสนาของกองทัพ ตัวเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเสาไห้นั้นน่าจะเป็นการตั้งครั้งหลัง เพราะเทียบปูชนียวัตถุและปูชนียสถานที่ก่อสร้างแล้ว ไม่มีสิ่งก่อสร้างใดๆ เก่าเท่ากับวัดปากเพรียวเลย

“วัดปากเพรียว” หรือ “วัดพระศรีบุรีรตนาราม” เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองสระบุรี ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ครั้งหนึ่งองค์พระแก้วมรกตเคยมาประดิษฐานพักอยู่ที่วัดแห่งนี้ ก่อนที่จะอัญเชิญเข้าสู่กรุงเทพฯ ตลอดจนมีพระพุทธรูปนามว่า “หลวงพ่อพุทโธ” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่ชาวสระบุรีให้ความเคารพสักการะประดิษฐานอีกด้วย ทางวัดมีพระภิกษุ-สามเณรมาอยู่จำพรรษาสืบต่อกันมาเป็นร้อยๆ ปี แต่ไม่สามารถสืบทราบได้ว่าท่านใดเป็นสมภารองค์แรกๆ ของวัด ทราบก็แต่เพียงว่ามีสมภารเจ้าวัดรูปหนึ่ง กับน้องชายหนีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึกพม่า แล้วมาเป็นสมภาร ณ วัดแห่งนี้ เรียกกันว่า “หลวงพ่อใหญ่” เมื่อหลวงพ่อใหญ่มรณภาพลง หลวงพ่อเล็ก น้องชายก็เป็นสมภารสืบแทน

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ยังดำรงตำแหน่งเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เข้าตีเมืองเวียงจันทร์ ประเทศลาว ได้อัญเชิญองค์พระแก้วมรกตล่องเรือมาถึงเมืองสระบุรี แล้วมาพักที่วัดปากเพรียวเป็นเวลา 1 เดือน มีการจัดงานฉลองสมโภช 3 วัน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระมหาอุปราช เสด็จมารับองค์พระแก้วมรกตอัญเชิญลงเรือที่หน้าวัดปากเพรียว เพื่อนำกลับสู่กรุงธนบุรี (หนังสือพงศาวดารกรุงธนบุรี)

นอกจากนี้แล้ว ครั้งตอนสร้างกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ.2325 มีการลำเลียงเสาไม้ตะเคียนล่องมาตามลำน้ำป่าสัก เพื่อเอาไปสร้างเป็นเสาหลักเมือง ก็ได้มาพักที่หน้าวัดปากเพรียว แต่เสาไม้ตะเคียนต้นนี้คดจึงไม่ได้เอาไป ภายหลังไปจมอยู่ที่เมืองใหม่ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ต่อมาได้มีการอัญเชิญเสาไม้ตะเคียนต้นนี้ขึ้นไปเก็บไว้ที่วัดสูง อ.เสาไห้ จ.สระบุรี เรียกกันว่า เสาร้องไห้แม่นางตะเคียน

เหตุการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัดปากเพรียวในอดีต


[พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๔)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๔)
“หลวงพ่อพุทโธ” วัดศรีบุรีรตนาราม (วัดปากเพรียว)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๔)
รูปหล่อเหมือนพระศีลวิสุทธิดิลก (หลวงพ่อหนู สุวณฺณโชโต)

สมัยที่ พระศรีสุทัสสมุนี เจ้าคณะจังหวัดสระบุรี ในขณะนั้น ได้มาจำพรรษาอยู่วัดปากเพรียว ได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า “วัดศรีบุรีรตนาราม” ซึ่งก็ใช้เรียกกันมาตราบทุกวันนี้

วัดปากเพรียว ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อสมัยหลวงพิริกิจเกษม มีการก่อสร้างเสนาสนะบูรณะซ่องแซม ปูชนียวัตถุสถานที่ต่างๆ มากมาย เช่น ศาลาการเปรียญ ถนนหนทาง รวมทั้งวิหารหลวงพ่อพุทโธ

วัดปากเพรียว มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนชาวสระบุรีให้ความเคารพนับถือกันมากนั้นก็คือ “หลวงพ่อพุทโธ” เป็นพุทธปฏิมากรมีความศักดิ์สิทธิ์มาก ความเป็นมาของหลวงพ่อพุทโธนั้น สร้างขึ้นเมื่อครั้งพระครูวัตตโสภณ (สิน) เป็นเจ้าคณะจังหวัดสระบุรี และเจ้าอาวาสวัดปากเพรียว ปี พ.ศ.2470 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 องค์พระพุทธรูปนั้นทางชาวบ้านสระบุรีเป็นผู้ร่วมกันสร้าง ส่วนเศียรพระพุทธรูป พระครูวิหารกิจจานุการ หรือหลวงพ่อปาน โสนนฺโท พระผู้ทรงอภิญญาแห่งวัดบางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ท่านเป็นผู้สร้าง แล้วให้ชาวสระบุรีมานำเอาเศียรและองค์พระไปประกอบเข้าด้วยกัน

หลวงพ่อพุทธโธ เมื่อนำเศียรมาประกอบเข้าด้วยกันแล้วมีลักษณะงดงาม พระพักตร์อิ่มเอิบ ยิ้มแย้ม แสดงถึงความมีเมตตาอันควรแก่การเคารพ พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปแบบสมัยสุโขทัย อยุธยา จนมาถึงสมัยกรุงรัตโกสินทร์ ขนาดหน้าตักกว้าง 2 เมตร 30 เซนติเมตร ส่วนสูงนับจากพระเกศมายังฐานที่ประทับสูง 3 เมตร 60 เซนติเมตร ปางมารวิชัย ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในวิหารข้างอุโบสถ

ชาวสระบุรีนิยมมากราบไหว้บนบานศาลกล่าวหลวงพ่อพุทโธ ด้วยพวงมาลัย 3 พวง หรือ 9 พวง พร้อมด้วยมะพร้าวหอมอ่อน ส่วนใหญ่จะบนด้วยพวงมาลัย 9 พวง มะพร้าว 1 ลูก อธิษฐานในใจขอในสิ่งที่เป็นไปได้จากหลวงพ่อพุทโธ ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จไปหลายราย

ในปี พ.ศ.2512 ได้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ใน จ.สระบุรี ครั้งนั้นว่ากันว่าเป็นไฟไหม้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมาในประเทศไทย เพลิงเผาผลาญบ้านเรือนของประชาชนไปเป็นจำนวนมาก แม้แต่โรงเรียนวัดปากเพรียว และวิหารหลวงพ่อพุทโธ ก็ถูกเพลิงเผาไหม้จนหมดสิ้น แต่ด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง เพลิงไฟไม่ได้ทำให้องค์หลวงพ่อพุทโธเกิดความชำรุดเสียหายแต่อย่างใด

วันพระหรือวันบุญวันใด เมื่อพุทธศาสนิกชนมาทำบุญที่วัดปากเพรียว หลายท่านไม่ลืมที่จะแวะไปกราบไหว้สักการะรูปหล่อเหมือนพระศีลวิสุทธิดิลก (หนู สุวณฺณโชโต) หรือที่เซียนพระรู้จักกันดีในนาม “หลวงพ่อหนู” อดีตเจ้าอาวาส ซึ่งประดิษฐานอยู่หน้าวิหารหลวงพ่อพุทโธ


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๔)
วิหารหลวงพ่อพุทโธ วัดศรีบุรีรตนาราม (วัดปากเพรียว)








พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๔)

ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี หรือ “หลวงพ่อใหญ่”
พระพุทธรูปนั่งปางประทานพรองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย]
วัดพิกุลทอง (พระอารามหลวง) ต.พิกุลทอง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี


“พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี” หรือ “หลวงพ่อใหญ่”
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดสิงห์บุรี
ประดิษฐาน ณ วัดพิกุลทอง ต.พิกุลทอง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี
เป็นพระพุทธรูปนั่งปางประทานพรองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

มีความสง่างาม ศิลปะสมัยสุโขทัย ภายในองค์พระผูกเหล็กเป็นโครง
หล่อคอนกรีตด้วยปูนซีเมนต์ ทรงประทับนั่งบนพื้นฐานบัวและชุกชี
ประดับด้วยโมเสดทองคำธรรมชาติ ๒๔ เคจากประเทศอิตาลี
มีขนาดหน้าตักกว้าง ๑๑ วา ๒ ศอก ๗ นิ้ว สูง ๒๑ วา ๑ คืบ ๓ นิ้ว
ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ ๒๐ ล้านบาท
นำพาการก่อสร้างโดย พระธรรมมุนี (หลวงพ่อแพ เขมังกโร)
อดีตเจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง และอดีตเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี (มหานิกาย)


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลปัจจุบัน
ทรงพระราชทานพระนามว่า “พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี”
แต่ชาวบ้านมักเรียกกันโดยทั่วไปว่า “หลวงพ่อใหญ่”

บริเวณรอบ “พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี” หรือ “หลวงพ่อใหญ่”
สร้างเป็น พระวิหารคด เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ
รวมทั้ง พระปางประจำวัน ปางประจำเดือน และปางประจำปี เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้ปลูกพันธุ์ไม้ต้นและไม้ดอกนานาชนิด ให้ความร่มรื่นสวยงาม
มีลานหินขนาดใหญ่ให้นั่งพักผ่อน โดยใช้ชื่อว่า “พุทธวนอุทยาน”

สำหรับ วัดพิกุลทอง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
ตั้งอยู่ห่างจากวัดพระนอนจักรสีห์ วรวิหาร ไปประมาณ ๙ กิโลเมตร
ชาวบ้านเรียกชื่อกันทั่วไปว่า “วัดหลวงพ่อแพ”
ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อแพ เขมังกโร จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับ
ประวัติและเครื่องอัฐบริขารของหลวงพ่อแพ ตั้งแต่อดีตกระทั่งถึงปัจจุบัน


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๔)
“พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี” หรือ “หลวงพ่อใหญ่”

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๔)
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งพระธรรมมุนี (หลวงพ่อแพ เขมังกโร)
ณ พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อแพ เขมังกโร วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๔)
รูปหล่อพระธรรมมุนี (หลวงพ่อแพ เขมังกโร)
ณ พระวิหารหลวงพ่อแพ เขมังกโร วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี


พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔๔)
พระวิหารหลวงพ่อแพ เขมังกโร วัดพิกุลทอง







เครดิต : หนังสือไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด
กองบรรณาธิการข่าวสด สำนักพิมพ์มติชน
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=38909
http://www.baanmaha.com/community/newthread.php?do=newthread&f=35