หลอดเลือดขอดที่ขา เป็นโรคที่พบบ่อยในคนทั่วไป โดยเฉพาะในคนสูงอายุ ผู้หญิง หญิงตั้งครรภ์ คนอ้วน และผู้ที่นั่งหรือยืนนาน ๆ โรคนี้มักเป็นเรื้อรังตลอดชีวิต โดยไม่มีอันตรายร้ายแรงใด ๆ แต่บางรายที่เป็นรุนแรงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ ผู้ที่เป็นโรคนี้ ควรหมั่นปฏิบัติตัวเพื่อบรรเทาอาการและความรุนแรง หากจำเป็น แพทย์สามารถให้การบำบัดรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ให้หายขาดได้

หลอดเลือดขอดที่ขา โรคเรื้อรังของคนชอบนั่ง-ยืนนาน ๆ


ชื่อภาษาไทย : หลอดเลือดขอดที่ขา

ชื่อภาษาอังกฤษ : Varicose vein

สาเหตุ

หลอดเลือดดำที่บริเวณขา มีหน้าที่นำเลือดดำออกจากเท้ากลับสู่หัวใจ โดยอาศัยแรงบีบของกล้ามเนื้อบริเวณขาส่วนล่าง บีบเลือดต้านแรงโน้มถ่วงของโลกให้ไหลกลับขึ้นสู่หัวใจ โดยมีลิ้นเล็ก ๆ อยู่ภายในหลอดเลือดดำช่วยเปิดให้เลือดไหลขึ้นไปที่หัวใจ และปิดกั้นป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับลงไปที่เท้า

บางรายอาจมีความผิดปกติของลิ้นเล็ก ๆ ภายในหลอดเลือดดำดังกล่าว ไม่สามารถปิดกั้นการไหลย้อนกลับของเลือดได้ ทำให้เลือดไหลย้อนลงมาคั่งอยู่ในหลอดเลือดดำส่วนปลาย โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ใกล้ผิวหนัง ทำให้เห็นเป็นหลอดเลือดที่โป่งพอง สีคล้ำ ๆ เรียกว่า "หลอดเลือดขอด"

หลอดเลือดขอดที่ขา โรคเรื้อรังของคนชอบนั่ง-ยืนนาน ๆ


ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดขอด ได้แก่

อายุที่มากขึ้น ทำให้ผนังหลอดเลือดดำขาดความยืดหยุ่น (เกิดการยืดตัว) และลิ้นเล็ก ๆ ภายในหลอดเลือดเสื่อม ไม่สามารถปิดกั้นการไหลย้อนกลับของเลือดได้

เพศ ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ชาย 3 เท่า เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในผู้หญิงระหว่างการตั้งครรภ์ ระยะก่อนมีประจำเดือน หรือหลังวัยหมดประจำเดือน

การกินยาเม็ดคุมกำเนิด หรือฮอร์โมนเพศหญิงก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้

การตั้งครรภ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย และมดลูกที่โตขึ้น ส่งผลกระทบให้เกิดแรงดันภายในหลอดเลือดที่ขาสูงขึ้น จึงทำให้เกิดหลอดเลือดขอดที่ขา ซึ่งมักจะหายได้เองภายใน 3 เดือนหลังคลอด

น้ำหนักเกิน ทำให้เกิดแรงดันสูงขึ้นภายในหลอดเลือดที่ขา เป็นเหตุให้เกิดหลอดเลือดขอดที่ขาได้

การยืนหรือนั่งนาน ๆ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี เกิดแรงดันภายในหลอดเลือดดำ

การมีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้

หลอดเลือดขอดที่ขา

อาการ

อาการที่พบในระยะแรกเริ่ม จะเห็นหลอดเลือดโป่งพองสีคล้ำ ๆ ที่ขาเวลายืน โดยไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ บริเวณน่อง (แต่อาจพบตรงบริเวณใดก็ได้ ระหว่างตาตุ่มขึ้นไปถึงสะโพก)

ในหญิงตั้งครรภ์อาจพบหลอดเลือดขอดที่บริเวณช่องคลอด

เมื่อเป็นมากขึ้นอาจมีอาการปวดหน่วงหรือปวดเมื่อยในบริเวณนั้น หรือเท้าบวมหลังจากยืนได้สักพัก อาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นในผู้หญิงขณะมีประจำเดือน หรือก่อนมีประจำเดือน 2-3 วัน

ถ้าเป็นรุนแรงอาจมีผื่นคันขึ้นในบริเวณที่เป็นหลอดเลือดขอด โดยเฉพาะตรงบริเวณใกล้ ๆ ข้อเท้า ผิวหนังในบริเวณนั้นอาจออกเป็นสีคล้ำ ๆ

การแยกโรค

ถ้ามีอาการปวดหน่วงที่บริเวณขา อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

หลอดเลือดแดงที่ขาตีบ เกิดจากผนังหลอดเลือดแดงแข็ง (ตกตะกรัน) ซึ่งมักพบในคนสูงอายุ หรือเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือคนอ้วน สูบบุหรี่ หรือขาดการออกกำลังกาย มักมีอาการปวดน่องเป็นพัก ๆ หลังจากเดินได้พักหนึ่ง และทุเลาได้ทันทีเมื่อหยุดเดิน

หลอดเลือดดำอักเสบมีลิ่มเลือด ถ้าเกิดที่ส่วนผิวจะพบลักษณะหลอดเลือดเป็นเส้นแข็ง ออกแดง ร้อน และเจ็บ แต่ถ้าพบที่ส่วนลึก จะพบว่ามีอาการปวดหน่วง ๆ ตึง ๆ หรือเจ็บบริเวณน่องหรือขาข้างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดินซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันอาจมีอาการบวมที่ข้อเท้าหรือต้นขาร่วมด้วย

ถ้ามีอาการเท้าบวม อาจต้องแยกสาเหตุจากโรคไต โรคตับหรือโรคหัวใจ

ถ้ามีแผลเปื่อยที่บริเวณขา อาจต้องแยกสาเหตุจากแผล เบาหวาน หรือโรคเกาต์

การวินิจฉัย

แพทย์มักจะวินิจฉัยจากอาการแสดงและการตรวจพบลักษณะหลอดเลือดขอด ในบางรายแพทย์อาจทำการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ดูว่าลิ้นเล็ก ๆ ภายในหลอดเลือดทำหน้าที่ได้เป็นปกติหรือไม่ หรือทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ

ไขว่ห้าง

การดูแลตนเอง

ผู้ที่เป็นหลอดเลือดขอดที่ขา ควรปฏิบัติตัว เพื่อบรรเทาความรุนแรงและอาการปวด ดังนี้

ออกกำลังกาย การเคลื่อนไหวขา (เช่น การเดิน) จะช่วยให้การไหลเวียนเลือดดี ช่วยลดหรือป้องกันหลอดเลือดขอดได้

ลดน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักเกิน

ลดอาหารเค็ม ป้องกันหรือลดอาการบวม

หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้ารัดเอวหรือขา (ลดแรงดันของหลอดเลือดดำที่ขา) และรองเท้าส้นสูง (รองเท้าส้นต่ำ ช่วยให้กล้ามเนื้อขาบีบตัวดีกว่า ซึ่งมีผลดีต่อหลอดเลือดดำ)

ยกขาสูง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดที่ขา โดยหมั่นนั่งหรือนอนพัก และยกเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจ วันละหลาย ๆ ครั้ง

อย่ายืนหรือนั่งติดต่อกันนาน ๆ อย่างน้อยทุก ๆ 30 นาที ควรเปลี่ยนอิริยาบถโดยการเดิน เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด

ถ้าเป็นมาก ให้หมั่นดูแลตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การใส่ถุงเท้ายืด (compression stocking) ระหว่างที่ต้องยืนทำงานนาน ๆ

ควรรีบไปพบแพทย์ ถ้ามีอาการปวดมากบวมมาก หลอดเลือดอักเสบ (เส้นแข็ง ออกแดง ร้อน และเจ็บ) เป็นแผล หรือมีเลือดออก

การรักษา

เมื่อตรวจพบว่าเป็นหลอดเลือดดำขอด แพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัวดังกล่าว (ดูหัวข้อ "การดูแลตนเอง")

แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยสวมใส่ถุงเท้ายืด (compression stocking) ตลอดทั้งวัน ช่วยให้กล้ามเนื้อและหลอดเลือดทำงานได้ดีบีบให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น

ในรายที่เป็นมาก หรือรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วยังไม่ได้ผล แพทย์อาจเลือกให้การบำบัดรักษาเพิ่มเติม เช่น

การฉีดยาเข้าไปในหลอดเลือดดำที่ขอด ทำให้เกิดการแข็งตัว และตีบตัน ตัดการไหลเวียนของเลือด เรียกวิธีบำบัดนี้ว่า "sclerotherapy" มักจะได้ผลภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่บางครั้งอาจจำเป็นต้องฉีดซ้ำ

การบำบัดด้วยเลเซอร์ (laser surgery) ทำให้หลอดเลือดขอดถูกทำลาย ค่อย ๆ จางหายไปในที่สุด

การบำบัดตามความร้อนผ่านสายสอด (Catheter assisted procedure) โดยการแยกสายสอดเข้าไปในหลอดเลือดขอด แล้วใช้ความร้อนที่ปลายสายสอด ทำให้หลอดเลือดขอดถูกทำลาย

การผ่าตัดดึงหลอดเลือดขอดออกไป (vein stripping) หลอดเลือดที่ถูกดึงทิ้งมักจะเป็นส่วนผิว ไม่กระทบต่อการไหลเวียนเลือดที่ขาด เนื่องเพราะการไหลเวียนส่วนใหญ่ อาศัยหลอดเลือดดำส่วนลึก

ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน นอกจากอาการปวดน่องหรือบวม

ในรายที่เป็นรุนแรง ผิวหนังในบริเวณในบริเวณหลอดเลือดขอดอาจแตก กลายเป็นแผลเรื้อรัง เรียกว่า "แผลจากหลอดเลือดขอด (varicose ulcer)" ส่วนใหญ่มักเกิดที่บริเวณข้อเท้า

บางรายอาจเกิดการอักเสบของหลอดเลือดดำ (thrombophlebitis)

ถ้าหกล้ม หรือถูกของมีคมบาดตรงบริเวณที่มีหลอดเลือดขอด อาจทำให้เกิดแผลเลือดออกรุนแรงได้

หลอดเลือดขอดที่ขา โรคเรื้อรังของคนชอบนั่ง-ยืนนาน ๆ

การดำเนินโรค

โรคนี้มักเป็นเรื้อรังตลอดชีวิต

ยกเว้นเป็นเฉพาะขณะตั้งครรภ์ ก็มักจะหายไปได้เอง ภายใน 3 เดือนหลังคลอด

ในรายที่เป็นรุนแรง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้

การป้องกัน

โรคนี้มักจะไม่มีหนทางป้องกันได้เต็มที่ แต่ก็อาจลดความเสี่ยง หรือความรุนแรงลงด้วยการปฏิบัติตัว ดังนี้

หมั่นออกกำลังกาย

ควบคุมน้ำหนัก

กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ ลดอาหารเค็ม

หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้ารัดเอว และขา และรองเท้าส้นสูง

หมั่นยกเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจ

อย่านั่งหรือยืนนาน ๆ ควรเดินสลับบ่อย ๆ

ความชุก

โรคนี้พบได้บ่อยในคนทั่วไป

พบมากในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิง หญิงตั้งครรภ์ คนอ้วน ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องยืนหรือนั่งนาน ๆ

แหล่งที่มา http://110.164.64.137/beautylala