จาก"อนาล็อก"สู่ "ดิจิตอล" - โฉมใหม่ทีวีไทยประชาชนได้อะไร ?

ภาพของการเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์ไทยจากอนาล็อกไปสู่ดิจิตอลเริ่มส่อแววดีเลย์เมื่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่สามารถทำได้ตามประกาศที่ได้กำหนดวันดีเดย์ออกอากาศ "ทีวีดิจิตอล" อย่างเป็นทางการครั้งแรกของประเทศไทยในวันที่ 5 ธ.ค.นี้

เนื่องจากกรอบเวลาภารกิจของกสทช. ที่กำหนดขึ้นมาใหม่ต้องเป็นไปอย่างรอบคอบในประเด็นต่างๆ ให้มีความชัดเจน ตามหลักกฎหมายและโปร่งใสเป็นธรรมสำหรับทุกคน

สำหรับการจำหน่ายเอกสาร (ซอง) การประมูลจะมีขึ้นในวันที่ 10-12 ก.ย.นี้ และในวันที่ 28-29 ต.ค. กำหนดให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ส่วนวันประมูลจะมีขึ้นในช่วงเดือนธ.ค.2556 ถึงกลางเดือนม.ค.2557

และคาดว่าตามกรอบเวลาใหม่จะทำให้การออกอากาศเกิดขึ้นได้ไม่เกินมี.ค.2557 โดยจะเริ่มออกอากาศ 30 ช่อง หรือ 36 ช่อง แบ่งเป็นช่องบริการธุรกิจ 24 ช่อง และที่เหลือเป็นช่องบริการสาธารณะ ซึ่งประชาชนจะได้รับชมในปีแรกสัดส่วน 50% ของประชากรทั้งประเทศ หรืออยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และในปีที่ 2 สัดส่วน 80% ปีที่ 3 สัดส่วน 90% และปีที่ 4 ที่ 95% ตามลำดับ

ล่าสุดกสทช.ได้เปิดตัวมาสคอต ทีวีดิจิตอล คือ "น้องดูดี" เป็นสัญลักษณ์ให้ประชาชนรับทราบถึงการเปลี่ยนผ่านจากการรับชมในระบบออกอากาศอนาล็อก สู่ทีวีดิจิตอล และเดินหน้าทำกิจกรรมเพื่อให้ความรู้ กับประชาชนพร้อมรับชมทีวีดิจิตอลในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศเมื่อการประมูลเสร็จสิ้นลง

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับทีวีระบบดิจิตอลให้กระจ่างเสียก่อน

ทีวีดิจิตอลคือ ทีวีที่ทำงานในรูปแบบดิจิตอล ส่งสัญญาณภาพและเสียงในรูปแบบของดิจิตอลมีคุณภาพที่ดีกว่าอนาล็อก ซึ่งเป็นระบบโทรทัศน์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน อนาล็อกเป็นระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ส่งสัญญาณภาพแบบคลื่นวิทยุเอเอ็ม เอฟเอ็ม โดยดิจิตอลจะให้ภาพและเสียงมีความคมชัดกว่ามาก อีกทั้งยังมีการถูกรบกวนในอัตราที่น้อยกว่า

ข้อดีของทีวีดิจิตอลคือ ในหนึ่งช่องสัญญาณจะสามารถนำมาส่งได้หลายรายการโทรทัศน์ กสทช.จึงมีมติสรุปช่องรายการดิจิตอลทีวีของไทยไว้ 48 ช่อง ดังนี้ ช่องบริการทีวีสาธารณะ 12 ช่อง ช่องบริการธุรกิจ 24 ช่อง และช่องบริการชุมชน 12 ช่อง ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามแผนแม่บท ของกสทช. ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2559) จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการดำเนินการเปลี่ยนผ่านไปสู่การแพร่ภาพโทรทัศน์ด้วยระบบดิจิตอลของไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า สิ่งที่ประชาชนจะได้รับคือ การรับชมที่มีคุณภาพที่ดีกว่า และยังมีความหลากหลาย จากเดิมที่มีฟรีทีวีแค่ 6 ช่อง แต่หลังจากมีดิจิตอลจะมีฟรีทีวีได้ถึง 48 ช่อง ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและสุดท้ายประชาชนจะได้รับเนื้อหาสาระที่ดีขึ้น พร้อมกันนี้ยังเป็นเรื่องเปลี่ยนผ่านในแง่ประกอบกิจการจากระบบสัมปทานไปสู่ใบอนุญาตด้วย

สําหรับสิ่งที่ประชาชนอย่างเราต้องเตรียมตัว คือ การหาอุปกรณ์รับสัญญาณในระบบดิจิตอล หรือ เซ็ต ท็อป บ็อกซ์ (Set-Top-Box) โดยไม่จำเป็นต้องซื้อทีวีใหม่ที่เป็นทีวีที่รับสัญญาณดิจิตอลได้ทันที เพราะอาจมีราคาสูงกว่าทีวีปัจจุบัน ซึ่งกสทช.คาดว่าจะอนุญาตให้จำหน่ายเซ็ต ท็อป บ็อกซ์ช่วงปลายเดือนก.ย.นี้

โดยจะเริ่มทดลองออกอากาศของช่องสาธารณะในส่วนของช่อง 5 (กองทัพบก), ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ และไทยพีบีเอส ในฐานะผู้ประกอบการรายเดิมที่เป็นหน่วยงานของรัฐ หากประชาชนต้องการรับชมก่อนก็สามารถหาซื้อได้เลย แต่หากไม่รีบร้อนก็สามารถรอคูปองส่วนลดที่มีมูลค่าประมาณ 700 บาทสำหรับการซื้อเซ็ต ท็อป บ็อกซ์ หรือทีวี จากกสทช.ที่คาดว่าจะแจกให้กับประชาชนทุกครัวเรือนในช่วงต้นปี 2557 หลังจากการประมูลทีวีดิจิตอลเสร็จสิ้นแล้ว

หรือใครจำเป็นต้องซื้อทีวีใหม่ช่วงนี้ สามารถซื้อทีวีที่มีเครื่องรับดิจิตอลได้แล้ว เนื่องจากที่ประชุมบอร์ด กสท.เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ได้อนุมัติให้ 5 บริษัท ขายโทรทัศน์ที่มีเครื่องรับดิจิตอลได้ ประกอบด้วย พานาโซนิค เอวีซี เน็ตเวิร์คส (ประเทศไทย) พานาโซนิค ซิว เซลล์ (ประเทศไทย) โซนี่ไทย แอลจี อีเลคทรอนิกส์ (ประเทศไทย) และ ไทยซัมซุงอิเลคโทรนิคส์ รวม 54 รุ่น

การประมูลทีวีดิจิตอล ช่องบริการธุรกิจ 24 ช่องจะเกิดขึ้นในเดือนธ.ค.2556-ม.ค.2557 กสทช.ได้แบ่งการประมูลเป็นช่องรายการประเภทคมชัดสูง หรือเอชดี (ไฮเดฟิเนชั่น) 7 ช่อง ราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 1,510 ล้านบาท ช่องรายการทั่วไป (วาไรตี้) 7 ช่อง ราคาเริ่มต้น 380 ล้านบาท ช่องรายการข่าว 7 ช่อง เริ่มต้นที่ 220 ล้านบาท และช่องรายการเด็ก 3 ช่อง ราคาเริ่มต้น 140 ล้านบาท

ในขณะที่ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. ....ผ่านการเห็นชอบพร้อมจะนำไปใช้ใน การประมูลแล้ว

ปัจจุบันมีเอกชนหลายรายประกาศตัวประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลล้วนเป็นยักษ์ใหญ่ในแต่ละวงการ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการวงการโทรทัศน์รายเดิม ทั้ง ช่อง 3 ช่อง 7 และอสมท , ผู้ประกอบการวงการโทรคมนาคม ประกอบด้วย กลุ่มอินทัช (ชินคอร์ป), กลุ่มทรู, กลุ่มสามารถ และกลุ่มจัสมิน

สุดท้ายผู้ประกอบการวงการสื่อและบันเทิง ทั้ง จีเอ็มเอ็มแกรมมี่, อาร์เอส, ไทยรัฐ, เดลินิวส์, วอยซ์ทีวี, เวิร์คพอยท์, อัมรินทร์พริ้นติ้งและกลุ่มโพสต์ พร้อมกันนี้ยังมีมือใหม่อย่าง นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส และโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่ยังสนใจเข้าร่วมประมูล

ลองมาดูความพร้อมของเอกชนกับ ศึกประมูลทีวีดิจิตอลที่จะระเบิดจอขึ้น ในช่วงเดือนต.ค.ถึงพ.ย.นี้

เริ่มจากยักษ์วงการโทรคมนาคม นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ อินทัช ประกาศไว้ว่า เตรียมร่วมประมูลทีวีดิจิตอล 2 ช่อง คือ ช่องรายการเด็กและครอบครัว และช่องวาไรตี้ โดยวางงบฯ ลงทุนเบื้องต้นไว้ 2,000 ล้านบาท สำหรับการประมูลและสร้างสตูดิโอ ผ่านการจัดตั้งบริษัทใหม่ ซึ่งอาจจะต้องมีการกู้เงินเพิ่ม เพื่อให้ธุรกิจมีความคล่องตัว

ด้าน ทรงศักดิ์ เปรมสุข กรรมการ ผู้อำนวยการ บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด กล่าวว่า ในเบื้องต้นบริษัทมองไว้อย่างน้อย 1 ช่อง เป็นช่องข่าว ส่วนช่อง รายการอื่นๆ กำลังศึกษาข้อมูลอยู่ แต่งบประมาณยัง ไม่ได้สรุป เพราะต้องนำราคาทั้งหมด อย่าง ราคาตั้งต้น และราคาโครงข่าย มาคำนวณก่อน

นายครรชิต ควะชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจดิจิตอลทีวี บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แกรมมี่ตั้งงบประมูลทีวีดิจิตอลไว้ที่ 4,000 ล้านบาท ซึ่งต้องการประมูลช่องเอชดี 1 ช่องรายการทั่วไป 1 ช่อง และช่องเด็ก 1 ช่อง

ส่วนรายใหญ่เคเบิลทีวี นายสมพันธ์ จารุมิลินท รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเตรียมพร้อมที่จะประมูลทีวีดิจิตอล เพราะถือเป็นโอกาสที่จะขยายธุรกิจให้ครอบคลุมทุกแพลตฟอร์ม และทีวีดิจิตอลเป็นแพลตฟอร์มที่ น่าสนใจมากจากการที่จะเข้ามาทดแทนฟรีทีวีในแบบเดิม โดยบริษัทสนใจที่จะเข้าประมูล 3 ช่องรายการ ประกอบด้วย ช่องเอชดี ช่องรายการทั่วไป และช่องรายการเด็ก

และ นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อาร์เอส เตรียมงบการประมูลทีวีดิจิตอลไว้หลักพันล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าจะประมูลเพียง 1 ช่อง จากเดิมที่เตรียมประมูล 2 ช่อง

สำหรับบริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ของนพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส และโรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุว่า มีความสนใจประมูลทีวีดิจิตอลในช่องรายการ เอชดีเพียงช่องเดียวเท่านั้น สำหรับทำเป็นช่องทาง การแพทย์ วางงบลงทุนเบื้องต้นไว้ 1,500 ล้านบาท

เมื่อเงินทุนของเอกชนพร้อมกันทั่วหน้า และการดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่โทรทัศน์ระบบดิจิตอลยังเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดทุกขั้นตอนของทางกสทช.กำหนดสุดท้ายจะมีรายใดบ้างเข้าเส้นชัยอีก 2 เดือนได้เห็นกัน

และอย่ากะพริบตากับภาพแห่งการพลิกโฉมครั้งสำคัญในวงการโทรทัศน์ไทยที่จะเกิดขึ้นปีหน้า

ขอให้เป็นหนึ่งเรื่องดีๆ ที่ทำเพื่อประชาชนไทย


แหล่งที่มา http://www.khaosod.co.th