สุขภาพตากับอายุ

ในขณะที่ผู้สูงอายุและคนดูแลรอบข้างมุ่งมั่นป้องกันและดูแลรักษาสุขภาพให้ห่างไกลโรคสุดฮิตอย่างโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงหรือโรคกระดูกพรุน เป็นต้น แต่อวัยวะที่ร่างกายต้องใช้ทุกวันอย่างดวงตากลับได้รับความสนใจน้อยกว่า จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เมื่อ The International Agency for the Prevention of Blindness (IAPB) สำรวจเกี่ยวกับสุขภาพตาของคนที่มีอายุ 50 ปีทั่วโลกกว่า 45 ล้านคนพบว่า 80% จากจำนวนคนทั้งหมดมีปัญหาสายตาจนถึงขั้นตาบอด!

โรคของสายตาที่สัมพันธ์กับอายุ
ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เข้าใจว่าสายตาที่แย่ลงกับอายุมากเป็นของคู่กัน จากคำพูดนี้ถูกเป็นบางส่วน เพราะเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นกล้ามเนื้อตาก็จะหย่อนคล้อยตามธรรมชาติ ทำให้จุดรับภาพในตาเปลี่ยนส่งผลให้สายตายาวขึ้น ซึ่งถ้าไม่นับเรื่องนี้ คุณอาจมองเห็นได้ชัดปกติดีจนถึงอายุ 80 เลยทีเดียว! อย่างไรก็ตามความผิดปกติทางสายตาที่มีความสัมพันธ์กับอายุที่ผู้สูงวัยควรระวัง ได้แก่
* ต้อกระจก สามารถเยี่ยมเยียนคุณได้ตั้งแต่อายุขึ้นเลขสี่ต้นๆ การเกิดต้อกระจกเปรียบเสมือนฝ้าที่เกิดขึ้นบนกระจกใส ทำให้คุณมองเห็นไม่ชัดหรือเห็นเป็นภาพซ้อน อาการน่าสงสัยของต้อกระจกคือ ตาสู้แสงได้ไม่ดี โดยเฉพาะเวลาขับรถ แต่เวลาอ่านหนังสือต้องอาศัยไฟส่องสว่างมากๆ ต้อกระจกเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น เป็นผลกระทบจากโรคเบาหวาน การรับประทานยาต้านภูมิแพ้ (prednisone) การจ้องมองแสงด้วยตาเปล่าเป็นเวลานานและการสูบบุหรี่
* ต้อหิน ไม่ใช่โรคที่พบหินหรือเศษแข็งๆ คล้ายหินภายในลูกตา แต่เกิดจากความดันภายในดวงตาที่สูงกว่าปกติ ทำให้ดวงตาแข็งเหมือนหิน เมื่อมองจะเห็นภาพที่อยู่ตรงกลางชัดแต่กลับมองภาพบริเวณรอบๆ ไม่ได้ ต้อหินที่มักพบในผู้สูงอายุแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ต้อหินมุมปิดและมุมเปิด มุมที่ว่านี้ก็คือ มุมกระจกตาที่ทำมุมกับม่านตา โดยเฉลี่ยจะอยู่ในเกณฑ์ 10-40? ถ้ามุมมีค่าน้อยกว่า 20? เรียกว่ามุมแคบหรือมุมปิด แต่ถ้ามากกว่า 20? เรียกว่ามุมเปิด
เรามักพบต้อหินมุมปิดหรือต้อหินเฉียบพลันในหญิงสูงอายุ เนื่องจากหญิงมักมีดวงตาเล็กกว่าชาย การเป็นต้อหินเฉียบพลันทำให้ปวดเมื่อยตามากเมื่อใช้สายตามาก และมีอาการตาแดงก่อนตามัว ตาพร่าในเวลาเย็น-ค่ำ แต่พอได้นอนพักผ่อนอาการต่างๆ จะหายไป สามารถใช้ชีวิตได้ปกติแต่อีกไม่กี่วันกลับมีอาการใหม่ ในทางตรงกันข้ามต้อหินมุมเปิดหรือต้อหินเรื้อรัง พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงมาจากโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคหลอดเลือด ภาวะสายตาสั้นหรือครอบครัวมีประวัติเป็นโรคต้อหิน ทั้งนี้ต้อหินแบบเรื้อรังอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพตาได้มากกว่า เพราะจะไม่แสดงอาการปวดหรือเจ็บใด ดังนั้นจึงมักตรวจพบได้โดยบังเอิญ หรือกว่าจะมารักษาก็เป็นมากจนสายเกินแก้และรุนแรงถึงขั้นตาบอด!
* การเสื่อมของตาเนื่องจากสูงอายุ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุสูญเสียการมองเห็น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุเชื้อชาติคอเคเซียน (ผิวขาว) คนที่อาศัยในเมืองอุตสาหกรรมใหญ่ คนสูบบุหรี่ มีน้ำหนักเกินหรือมีประวัติสมาชิกในครอบครัวจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นได้มากกว่าคนทั่วไป อาการเตือนเบื้องต้นของการเสื่อมของตาเนื่องจากอายุคือ มองเห็นภาพรอบๆ ชัดแต่มองจุดภาพตรงกลางไม่ชัด ซึ่งเกิดมาจากเซลล์เยื่อชั้นในดวงตาที่อยู่กึ่งกลางของเรตินามีความผิดปกติ และส่วนหนึ่งเกิดมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โรคความดันโลหิตสูง โคเลสเตอรอลสูง ภาวะน้ำหนักเกินหรือสูบบุหรี่ เป็นต้น แม้จะยังไม่สามารถรักษาอาการนี้ให้หายขาดได้ แต่จักษุแพทย์สามารถยับยั้งไม่ให้ดวงตาได้รับความเสียหายมากขึ้น
* จุดหรือเงาดำในตา ผู้สูงอายุจะเห็นเป็นจุดหรือเงาดำเล็กๆ วิ่งผ่าน คล้ายกับว่ามีแมลงหรือยุงบินผ่าน แต่เมื่อกรอกตาไปมาสัก 2-3 ครั้ง ก็จะหายไปเอง สาเหตุเกิดจากน้ำวุ้นลูกตาที่อยู่ในตาระหว่างเลนส์กับเรตินาไม่จับตัวแน่นเหมือนเดิม ซึ่งเป็นไปตามอายุที่มากขึ้น และที่สำคัญอาการนี้สามารถเกิดกับคนที่เพิ่งทำเลเซอร์หรือผ่าตัดต้อกระจกด้วย แม้การมองเห็นจุดหรือเงาดำในตาจะไม่มีอันตรายต่อสุขภาพตา แต่หากหลับตา และยังเห็นจุดหรือเส้นแสง แถมยังมองเห็นไม่ชัดร่วมด้วย คุณจำเป็นต้องปรึกษาจักษุแพทย์ทันที
แม้อาการผิดปกติของตาที่ยกนำเสนอเบื้องต้นจะสัมพันธ์กับวัยที่มากขึ้น แต่คุณสามารถบรรเทา รักษาหรือป้องกันได้ทั้งสิ้นด้วยความใส่ใจและสังเกตอาการผิดปกติของตาตนเอง และไม่รีรอที่จะพบจักษุแพทย์ ซึ่งจะตรวจพิจารณาและให้คำแนะนำได้อย่างถูกต้องตั้งแต่การใช้ยา การหยอดตา การสวมแว่นตาแบบพิเศษ การทำเลเซอร์และการผ่าตัด เป็นต้น

แนวทางป้องกันไม่ให้ตาโรยราตามวัย
* ควรตรวจสายตา ร่วมกับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันโรคเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สายตาผิดปกติ
* สวมแว่นตากันแดดทุกครั้งเมื่อขับรถ เดินกลางแจ้งแดดจัดๆ หรือลมแรง
* ติดตั้งหลอดไฟหรือโคมไฟให้สว่างเพียงพอ
* รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะวิตามินที่เกี่ยวข้องกับการถนอมสายตา เช่น
-วิตามินเอ ที่มีอยู่มากในตับหมู ตับไก่ ไข่ น้ำนม พืชผักที่มีสีเขียวเข้มและผลไม้ที่มีสีเหลืองส้ม เพราะวิตามินเอที่อยู่ในรูปแคโรทีนอยด์และเบต้าแคโรทีนช่วยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความเสื่อมของตาที่สัมพันธ์กับอายุ เช่น ต้อกระจก นอกจากนี้ยังช่วยปรับการมองเห็นในที่แสงสลัว และเสริมความแข็งแรงของเยื่อบุต่างๆ การขาดวิตามินเอรุนแรงจะทำให้ความเสื่อมของจุดภาพชัดบริเวณตาดำเป็นแผลมากขึ้น และทำลายเลนส์ตาอาจทำให้ตาบอดได้
-สังกะสี พบได้มากในอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ในหอยนางรม เนื้อ ตับ ไข่ นม ไก่ ปลาและธัญญาหาร พวกเมล็ดพืชที่ผ่านการขัดสีน้อย เช่น ข้าวซ้อมมือ การขาดสังกะสีทำให้การปรับตามองเห็นในที่มืดช้าลง เนื่องจากสังกะสีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนวิตามินเอให้อยู่ในรูปแบบที่จะทำงานได้ที่ตา

อ้างอิง :
-สุขภาพคนไทย 2550. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หอมกลิ่นลำดวนเตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุ หน้า 88
- Vision 2020.The International Agency for the Prevention of Blindness. Age Related macular degeneration. (http://www.v2020.org/page.asp?section=0001000100020007)
-National Eye Institute. Fact about macular degeneration. (http://www.nei.nih.gov/health/maculardegen/armd_facts.asp)