100 พรรษา สมเด็จพระสังฆราช หลายคำถามมีคำตอบ

100 พรรษา สมเด็จพระสังฆราช หลายคำถามมีคำตอบ

เนื่องในโอกาส สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ฉลองพระชนมายุ 100 พรรษา 3 ตุลาคม 2556 เราในฐานะ พุทธศาสนิกชนชาวพุทธตัวน้อยๆ อาจจะมีข้อสงสัยว่า ปัจจุบันนี้ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระอาการประชวรเป็นอย่างไร เพราะเราไม่เคยเห็นพระองค์ท่านเสด็จออกมาให้พุทธศาสนิกชนได้ชื่นชมพระบารมีมานานกว่า 4 ปีแล้ว แล้วพระวรคติธรรม หรือพระโอวาท ออกมาได้อย่างไรในช่วงเทศกาลสำคัญ

หลายคำถามเหล่านี้ มีคำตอบ จากหนังสือ 99 คำถามเกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้จัดทำขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติเมื่อครั้ง ฉลองพระชนมายุ 99 พรรษา โดยให้ประชาชนที่มีข้อสงสัยต่างๆเกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช ส่งคำถามเข้ามา โดยมี พระดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย และคณะ เป็นผู้ให้คำตอบ แล้วรวบรวมคัดเลือกคำถามที่ควรรู้ออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ ถึงผ่านไป 1 ปีแล้วยังใช้ตอบคำถามต่างเกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราชได้เป็นอย่างดี

100 พรรษา สมเด็จพระสังฆราช หลายคำถามมีคำตอบ

ปุจฉา ? เรามาเริ่มจากคำถาม ที่พุทธศาสนิกชนควรรู้เป็นอันดับแรก “อยากทราบว่าตำแหน่งพระสังฆราชถูกเลือกโดยผู้ใด”

วิสัชนา ตอบ การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้น เป็นไปตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 7 ความว่า
“พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนาม สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุด โดยสมณศักดิ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดในสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรี
โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนาม สมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นลำดับรองลงมา และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้า ดังนั้น การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช จึงเป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และย่อมแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาตามพระราชอัธยาศัย

ปุชฉา ? คำถามต่อมา “ตามที่สมเด็จพระสังฆราช ทรงพระประชวรและได้ประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นั้น ท่านประชวรโดยโรคอะไร ปัจจุบัน นี้มีพระอาการอย่างไรบ้าง”

วิสัชนา ตอบ สมเด็จพระสังฆราชประชวรโดยโรคชราภาพ ตามพระอายุขัย ซึ่งแทรกซ้อนตามมาด้วยเบาหวาน ไต เป็นต้น เข้าประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่เมื่อปี 2543 ปัจจุบันนี้มีพระอาการเป็นปกติตามพระอัตภาพ

100 พรรษา สมเด็จพระสังฆราช หลายคำถามมีคำตอบ

ปุจฉา ? คำถาม“สมเด็จพระสังฆราช ประทับที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตลอดเวลา แสดงถึงอาการประชวรของพระองค์เป็นที่น่าวิตก แต่เมื่อมีวันสำคัญทางศาสนา พระองค์จะเสด็จมาวัดบวรนิเวศวิหารทุกครั้ง ทรงสามารถสนทนาปราศรัยกับผู้เข้าเฝ้าเสมอ ฉะนั้น จะอนุญาตให้พุทธศาสนิกชนเข้าเฝ้าเยี่ยมพระองค์ได้หรือไม่”

วิสัชนา ตอบ ในระยะแรกที่เข้าประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาล ได้เสด็จกลับมาวัดเป็นครั้งคราว แต่ระยะหลังนี้ไม่สามารถเสด็จออกจากโรงพยาบาลได้ เนื่องจากคณะแพทย์เห็นว่า ต้องได้รับการรักษาพระองค์อย่างใกล้ชิด ปัจจุบันนี้ทรงไม่สามารถสนทนาได้ เพราะเจาะพระศอ พุทธศาสนิกชนที่ประสงค์เข้าเฝ้าสามารถทำได้ แต่ต้องติดตามข้อมูลข่าวสารที่โรงพยาบาลอนุญาต มาดูในส่วนคำถามของการปฏิบัติหน้าที่กันบ้าง

ปุจฉา ? คำถาม “การดำเนินงานในระหว่างที่สมเด็จพระสังฆราชประชวร มีการแบ่งงานของคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชอย่างไร”

วิสัชนา ตอบ มติมหาเถรสมาคมครั้งที่ 20/2547 มีมติเลือกคณะผู้ปฏิบติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช โดยอาศัยอำนาจตามวรรค 5 ของมาตรา 10 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 ให้สมเด็จพระราชาคณะ ทั้งหมด 8 รูป เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ งานทางคณะสงฆ์ทั้งหมด ส่วนงานส่วนพระองค์ ให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เป็นผู้สนองงานถวาย

100 พรรษา สมเด็จพระสังฆราช หลายคำถามมีคำตอบ

ปุจฉา ? คำถาม “หลังจากที่สมเด็จพระสังฆราชอาพาธแล้ว ยังมีวรธรรมคติของสมเด็จพระสังฆราช ออกมาทุกเทศกาล ได้แก่ วันมาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา มีเนื้อหาข้อความเป็นที่ประทับใจ ขอเรียนถามว่า มีกระบวนการทำงานอย่างไร”

วิสัชนา ตอบ สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เรียบเรียงขึ้นโดยอาศัยพระนิพนธ์ ของสมเด็จพระสังฆราช ทั้งนี้ โดยถือว่าตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช มิใช่ตัวบุคคล แต่เป็นสถาบัน เพราะฉะนั้นแม้ตัวบุคคลจะอาพาธ แต่จุดยืนของสถาบันสมเด็จพระสังฆราชต้องดำเนินไปตามปกติ เพราะฉะนั้นวรธรรมคติต่างๆนั้น ก็นำเสนอสู่สายตาประชาชน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจของชาวพุทธศาสนิกชน พร้อมทั้งเป็นการรักษาสถาบันสมเด็จพระสังฆราชด้วยเมื่อได้รู้ข้อมูลส่วนพระองค์ว่าประทับที่ใด พระอาการเป็นเช่นไร

ปุจฉา ? แล้วใครเป็นผู้เขียนวรธรรมคติกันไปแล้ว มาดูคำถามที่เกี่ยวกับ การขอคำแนะนำหลักธรรมจาก สมเด็จพระสังฆราช โดยมีคำถามที่น่าสนใจเข้ากับยุคสมัยว่า “ขอแนวคิดการใช้ชีวิตและมุมมองวิธีคิดในการใช้ชีวิต ในยุคสมัยบ้านเมืองไม่สงบสุขด้วยภัยร้ายรอบด้าน การแตกแยกทางความคิดสูง ..เราควรครองตน ท่ามกลางความคิดที่แตกแยกอย่างมากเช่นนี้ ด้วยธรรมะข้อใด”

วิสัชนา ตอบ สถานการณ์บ้านเมืองที่รู้สึกกันว่าไม่สงบแบ่งแยกเป็นฝ่ายนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ในเมืองไทย เมื่อครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่นิสิตนักศึกษา ประชาชนต่อต้านผู้ปกครองในครั้งนี้ สมเด็จพระสังฆราช เคยออกแถลงการณ์ในนามคณะสงฆ์ไทย ทำเป็นใบปลิวให้ลูกศิษย์นำไปแจกในที่ชุมนุม เพื่อเตือนให้ผู้ชุมนุมมีสัมมาสติ

ความตอนหนึ่งว่า จากคณะสงฆ์ไทย สัมมาสติ แปลว่า ความระลึกชอบ อันความระลึกนั้น เช่นระลึกถึง นึกขึ้นมาได้ถึงบุคคล เหตุการณ์ ความระลึกถึงในความไม่สงบต่างๆ ก่อให้เกิดภาวะ โกรธแค้นถึงใช้กำลังประหัตประหารกัน ความระลึกถึงเป็นไปในความสงบต่างๆ ก็จะเกิดภาวะ มิตรภาพมีไมตรีจิต ผ่อนปรนกัน เป็นสัมมาสติ คือ ความระลึกชอบ หมายถึงการใช้ปัญญาระลึกรอบคอบ ไม่ลุอำนาจหรือดึงดันด้วยอำนาจความโกรธหลง ซึ่งจะเป็นเหตุให้พบเครื่องแก้ไขเหตุการณ์ต่างๆ ขอให้น้อมจิตไปในทางสงบ โดยระงับจิตไม่ให้เร่าร้อน จะนำไปสู่สัมมาสติ มีแนวทางดังนี้

1. เราทั้งหลายเป็นอะไรกัน ถ้าคิดด้วยความโกรธ จะได้คำตอบว่า เป็นศตรูกัน ถ้าจิตที่สงบ จะได้คำตอบว่า เราเป็นพี่น้องกันร่วมชาติ ศาสนา ความระลึกได้อย่างนี้จะทำให้จิตใจอ่อนโยน เกิดความคิดปรองดองกัน
2. เราทั้งหลายกำลังจะทำอะไรให้แก่กัน ถ้าตอบด้วยความโกรธ จะได้คำตอบว่า เราต้องไม่ยอมกันเด็ดขาด ถ้ามองด้วยใจสงบ เราจะมองเห็นว่า เราทั้งหลายเป็นญาติกันไม่ใช่ใครอื่น ก็จะเกิดการผ่อนปรนกัน
3. เราทั้งหลายกำลังมุ่งอะไรเพื่ออะไร สิ่งที่มุ่งถ้าไม่ขัดกัน ก็ไม่เกิดปัญหาขัดแข้ง แต่ต้องมีจุดมุ่งหมายว่า เพื่ออะไร หากเพื่อชาติจุดหมายเดียวกัน การมาทำลายกันเอง เท่ากับเป็นการทำลายชาติ
แนวคิดทั้ง 3 ประการนี้ เป็นแนวคิดที่เสนอแนะขอให้ทุกคนพากันยับยั้ง คิดรำลึก พอจิตใจสงบและคิดรำลึกตามแนวที่เสนอแนะก็จะพบเหตุผลที่ดีกว่า อันนำไปสู่การแก้ไขผ่อนปรนสู่วัตถุประสงค์ที่ต้องการร่วมกัน

100 พรรษา สมเด็จพระสังฆราช หลายคำถามมีคำตอบ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อสงสัยที่ ประชาชนควรรู้ หากพวกเราอยากร่วมเทิดพระเกียรติ ฉลองพระชนมายุ 100 พรรษา ของพระองค์ท่านสามารถไปร่วมได้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่บัดนี้ถึง 7 ตุลาคม โดยวัดบวรฯ สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช จัดนิทรรศการ 4 มิติ นำบันทึกส่วนพระองค์ และพระนิพนธ์มาจัดแสดง

ผู้ที่เข้าชมนิทรรศการจะได้รับการประพรมน้ำพระพุทธมนต์ที่มีการนำหัวเชื้อน้ำพระพุทธมนต์ของทางวัดบวรฯอายุ 100 ปีมาผสมด้วย ส่วนวันที่ 3 ตุลาคม ผู้ที่ลงนามถวายพระพรที่ชั้น 6 จะได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช อย่างใกล้ชิด ตั้งแต่เวลาประมาณ16.00- 18.00น.ด้วย โดยดูรายละเอียดได้ที่ www.watbowon.com

แหล่งที่มา http://www.madchima.org