กำลังแสดงผล 1 ถึง 4 จากทั้งหมด 4

หัวข้อ: วิถีประมงเก่าแก่บนเส้นด้าย ปลาบึก

  1. #1
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63

    วิถีประมงเก่าแก่บนเส้นด้าย ปลาบึก

    วิถีประมงเก่าแก่บนเส้นด้าย    ปลาบึก

    สี่พันดอน : วิถีประมงเก่าแก่บนเส้นด้าย


    -1-

    “ปลาใหญ่…ปลาใหญ่…ปลาใหญ่”

    เสียงตะโกนดังใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ที่บ้าน "พ่อขัน" ผู้ใหญ่บ้านหางสะดำ ไม่ถึงนาที "พร้าว" เด็กหนุ่มก็วิ่งมาถึงรั้วบ้าน ที่ล้อมรอบด้วยทุ่งนาเขียวขจี พร้าวที่ยังตื่นเต้นไม่หาย พยายามรวบรวมสติ เล่าว่า เขาเห็นปลาตัวใหญ่ตกลงในหลี่คล้อยหลังไม่นาน ชายห้าคนพร้อมด้วยเรือเครื่อง ต้องใช้เวลาร่วม 3 ชั่วโมง กว่าจะเอาปลาตัวนี้ออกจากหลี่ที่อยู่ท่ามกลางกระแสน้ำเชี่ยวกรากของฮูสะโฮงได้

    เมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ชาวบ้านแห่กันมาดูปลา มันคือ ปลาบึก ซึ่งมีน้ำหนักราว 150 กิโลกรัม ในช่วงเวลา 2 วัน ที่ปลายังมีชีวิตอยู่ แต่อ่อนแรงเต็มที ชาวบ้านพากันมาลูบคลำ บ้างลองยกปลาเพื่อคะเนน้ำหนัก ต่อมาเมื่อปลาตัวนี้ตายลง มันถูกนำไปแล่เพื่อแบ่งกันในหมู่บ้านหางสะดำ

    ปลาบึก เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตามสถิติปลาบึกที่จับได้ใน อ.เชียงของ จ.เลย เมื่อปี พ.ศ.2548 มีน้ำหนักถึง 293 กิโลกรัม และยาวร่วม 3 เมตร...>>>




    วิถีประมงเก่าแก่บนเส้นด้าย    ปลาบึก

    -2-


    ที่สำคัญ ปลาบึก เป็นปลาที่พบได้เฉพาะในแม่น้ำโขงเท่านั้น โดยพบตั้งแต่จีนตอนใต้ถึงเวียดนาม เป็นปลาที่เสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุ เพราะสูญเสียถิ่นอาศัยและการล่าเป็นอาหาร แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะพันธุ์ปลามากที่สุดสายหนึ่งของโลก เป็นรองก็แต่แม่น้ำแอมะซอนเท่านั้น

    หลายเดือนผ่านไปหลังฤดูฝน เมื่อน้ำเต็มฝั่งในเทศกาลออกพรรษา ชาวบ้านสี่พันดอน ก็ร่วมกันจัดประเพณีไหลเรือไฟ เริ่มจากการทำบุญที่วัดในตอนเช้า แต่ช่วงสำคัญอยู่ที่ตอนกลางคืน แต่ละหมู่บ้านจะจัดเรือไฟของตัวเอง เพื่อประกวดประชันความสวยงาม พวกเขาร่วมแรงร่วมใจกันประดิษฐ์เรือไฟ ตัวเรือทำจากต้นกล้วยเพื่อให้ลอยน้ำได้ แล้วขึ้นโครงเป็นรูปต่าง ๆ ตามต้องการด้วยไม้ไผ่ ส่วนแสงไฟเกิดจากขี้ไต้ หรือเทียนที่มัดไว้ตามโครง บางหมู่บ้านอาจสร้างมากถึงสามลำ

    หากเป็นหมู่บ้านใหญ่ๆ ตกพลบค่ำ แสงแพรวพราวของเรือไฟสว่างไสวไปทั่วลำน้ำหลายสายในสี่พันดอน อย่างเช่นที่บ้านหางคอนและหางสะดำ ที่นี่เรือไฟแล่นจากหางดอนคอน ผ่านท่าน้ำหน้าหมู่บ้านหางคอน และบ้านหางสะดำเป็นที่งดงามยิ่งนัก

    ปีนี้เรือไฟมีทั้งรูปพญานาคยอดนิยมและรูปเรือ เมื่อเรือชุดสุดท้ายแล่นผ่านไป ความมืดมิดก็กลับมาเยือน มีเพียงแสงจันทร์บางๆ และแสงตะเกียงริบหรี่ วิถีชีวิตเรียบง่ายและวัฒนธรรมอันเหนียวแน่นเช่นนี้ จะคงอยู่ต่อไปอีกนานเท่าไร เราไม่อาจล่วงรู้...>>>






    วิถีประมงเก่าแก่บนเส้นด้าย    ปลาบึก

    -3-

    ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวันมาฆบูชา ในโบสถ์ที่สร้างขึ้นอย่างเรียบง่าย และเปิดโล่งทั้งสี่ด้าน ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ พร้อมกับลมเย็นๆ ที่พัดมาจากวังปลาข่า คนลาวทุกเพศทุกวัยทั้งหมู่บ้าน มารวมตัวกันอย่างพร้อมเพรียง เพื่อพิธีสำคัญในวันนี้ แต่ดูเหมือนว่า ผู้เฒ่าผู้แก่จะมีจำนวนมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ

    ขณะที่พระเริ่มสวดแล้ว แต่ยังมีคนเข้าสู่เดินเข้าสู่โบสถ์อย่างไม่ขาดสาย แม้คนหนุ่มๆ จะดูบางตาไปสักหน่อย นั่นเป็นเพราะคนหนุ่มส่วนใหญ่ต้องคอยเฝ้าอู่จับปลาในแก่งของฮูสะโฮง ช่วงเวลานี้เป็นฤดูการอพยพของฝูงปลาสร้อย ปลาแตบ เพื่อไปวางไข่ตอนเหนือของสี่พันดอน

    "ปลาสร้อย" จัดว่ามีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวลาวมาก เพราะเป็นปลาที่ถูกนำมาแปรรูปเป็นปลาร้ามากที่สุด และปลาร้าก็ถือเป็นส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ของอาหารลาว สี่พันดอนเป็นแหล่งจับปลาสร้อยที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของลาว หลังจากพิธีทางศาสนาเสร็จสิ้นลง ผู้เฒ่าผู้แก่ยังอ้อยอิ่งอยู่ในโบสถ์ ขณะที่เด็กๆ วิ่งเล่นกันบนลานวัด

    หมู่ บ้าน หางสะดำ ไม่แตกต่างจากหมู่บ้านลาวทั่วไป ที่ศาสนาพุทธยังคงมีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิต แม้จะผ่านการปกครองในระบอบสังคมนิยมมากว่า 30 ปี หากจะมีสิ่งที่แตกต่างจากหมู่บ้านลาวริมฝั่งโขงทั่วไปบ้าง ก็คงจะเป็นอาชีพหลักอย่างการจับปลา อันเป็นแหล่งที่มาของรายได้อันดับ 1 และดูจะมีความสำคัญมากกว่าการปลูกข้าวเสียอีก

    ปลาเป็นสินค้าหลักของสี่พันดอน ทั้งส่งขายเพื่อบริโภคภายในประเทศ โดยมีปากเซและเวียงจันทน์เป็นตลาดหลัก ส่วนปลาที่มีราคาสูงจำพวกปลาหนัง เช่น ปลานาง ปลาคัง มักถูกจับจองไว้ขายให้ลูกค้าชาวไทย โดยนำเข้าผ่านด่านช่องเม็ก เพื่อนำไปขายต่อให้ภัตตาคารใน จ.อุบลราชธานี...>>
    >




    วิถีประมงเก่าแก่บนเส้นด้าย    ปลาบึก


    -4-

    ภายในโบสถ์ พ่อขัน ผู้ใหญ่บ้านหางสะดำ พูดคุยกับกลุ่มผู้เฒ่าของหมู่บ้าน ที่เริ่มเป็นห่วงว่านับวันคนหนุ่มสาวจะจากหมู่บ้านไปทำงานที่เมืองอื่น โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศเพื่อนบ้าน แม้หากเทียบกับถิ่นฐานอื่นในลาวด้วยกันแล้ว หนุ่มสาวสี่พันดอนตอนล่าง เช่น ดอนเดด ดอนคอน ดอนสะดำ และดอนสะโฮง ยังประกอบอาชีพอยู่ในหมู่บ้านมากกว่าที่อื่น

    นั่นเป็นเพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการจับปลายังทำรายได้ค่อนข้างดีอยู่ แต่ทุกปีที่ผ่านไป จำนวนหนุ่มสาวที่จากหมู่บ้านกลับเพิ่มขึ้นเป็นก้าวกระโดด อาจเป็นเพราะความต้องการรายได้มากขึ้น เพื่อสนองความต้องการสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นรถจักรยานยนต์ โทรศัพท์มือถือ หรือโทรทัศน์ รวมไปถึงการสร้างบ้านหลังใหม่ และคนหนุ่มสาวเหล่านี้ก็มีความฝันส่วนตัวที่อยากจะเห็นเมืองใหญ่อันมีสิ่งเย้ายวนมากมายอย่างกรุงเทพฯ

    ทว่า ในอีกด้านหนึ่ง ชาวสี่พันดอนที่ยังคงอาศัยการจับปลาเป็นรายได้หลัก ก็หนีไม่พ้นการดำเนินชีวิตตอบสนองระบบการตลาดแบบตะวันตก ที่เน้นการผลิตเพื่อสังคมบริโภค พวกเขาจึงต้องจับปลาให้ได้มากขึ้นตามความต้องการของตลาด ทุกวันนี้กับดักปลามีจำนวนมากขึ้นทั้งในแง่ปริมาณและขนาด และเริ่มมีการนำวิธีการจับปลาสมัยใหม่มาใช้ ทั้งหมดนี้สวนทางกลับจำนวนปลาที่มีแต่จะที่ลดลง

    ล่าสุด รัฐบาลลาวประกาศเริ่มก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮงในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะกั้นระหว่างดอนสะโฮงและดอนสะดำ โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้า 260 เมกะวัตต์ ทางการลาวอ้างว่า เขื่อนนี้ไม่อยู่ในแม่น้ำโขงสายหลักจึงมีผลกระทบไม่มากนัก แต่นักอนุรักษ์แย้งว่า ฮูสะโฮงเป็นทางน้ำสำคัญ เนื่องจากเป็นช่องทางเดียวที่ปลาทุกชนิดสามารถว่ายขึ้นลงได้ ต่างจากฮูอื่นๆ ที่สูงชันเกินไป หากปิดกั้นทางน้ำนี้แล้ว การขยายพันธุ์ของปลาอาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

    ทว่า กรณีนี้ก็ไม่ต่างจากการเดินหน้าสร้างเขื่อนไซยบุรี ที่เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงคัดค้าน ทั้งจากประเทศปลายน้ำและองค์กรอนุรักษ์ อีกทั้งการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ มักมีบริษัทข้ามชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน ความที่ไม่ใช่ภาครัฐ บริษัทเหล่านี้จึงไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนรับทราบ โดยเฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

    ลาวกำลังอยู่บนทางสองแพร่ง ระหว่างการพัฒนาประเทศ และการรักษามรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของตนเอง ในที่สุดก็ขึ้นอยู่กับลาวเองที่จะตัดสินว่า สิ่งที่ได้มาคุ้มกับสิ่งที่จะสูญเสียไปหรือไม่.












    เรื่องและภาพถ่าย สุเทพ กฤษณาวารินทร์
    เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก, พฤศจิกายน 2556
    วิทยาศาสตร์ธรรมชาติและคณิตศาสตร์
    แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย lungyai1123; 02-11-2013 at 17:04. เหตุผล: ลบตัวหนังสือออก

  2. #2
    Moderators สัญลักษณ์ของ สาวชัยภูมิ ลูกพ่อขุน
    วันที่สมัคร
    Feb 2010
    ที่อยู่
    เกาหลี
    กระทู้
    750
    บล็อก
    30
    เคยดูสารคดีอยู่ค่ะ เป็นตาสะออนแท้ค่ะลุงใหญ่

  3. #3
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63
    น้องบีตอนที่นำเสนอนี่เป็นของจริงปลาโตใหญ่กว่าคนแต่ปัจจุบันลุงกะบ่แน่ใจ
    เพราะเหตการณ์มันเปลี่ยนไปหลายอย่างเช่นว่าภูมิประเทศของสองฝั่งเพราะมี
    การสร้างเขื่อนขึ้นเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งครับ

  4. #4
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ lungyai1123
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    กระทู้
    3,644
    บล็อก
    63

    วิถีประมงเก่าแก่บนเส้นด้าย ปลาบึก

    วิถีประมงเก่าแก่บนเส้นด้าย ปลาบึก
    วิถีประมงเก่าแก่บนเส้นด้าย ปลาบึก
    วิถีประมงเก่าแก่บนเส้นด้าย ปลาบึก
    วิถีประมงเก่าแก่บนเส้นด้าย ปลาบึก
    วิถีประมงเก่าแก่บนเส้นด้าย ปลาบึก
    วิถีประมงเก่าแก่บนเส้นด้าย ปลาบึก
    แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย lungyai1123; 11-11-2013 at 11:04.

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •