นกดุเหว่า
นกดุเหว่า
นกดุเหว่า

นกดุเหว่า ไข่ให้อีกาฟัก

นกดุเหว่ามีถิ่นกำเนิดในอินเดีย อันดามันส์ นิโคบารส์ จีน ไต้หวัน ไหหลำ ซุนดาส์ ฟิลิปปินส์ โซโลมอน ออสเตรเลีย และประเทศต่างๆ ทางแถบตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเซีย ในประเทศไทยมีทั่วไปทุกภาค

นกดุเหว่าตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะไม่เหมือนกัน ตัวผู้ขนทั่วตัวมีสีดำเหลือบน้ำเงิน หางค่อนข้างยาว ตามีสีแดงสด

ตัวเมียขนด้านบนตัวและบนปีกมีสีนํ้าตาลแก่ บนหัวบนหลังและบนปีกมีจุดสีขาว หางมีลายขวางสีขาวหรือสีเนื้อ ด้านใต้ท้องมีสีขาวหรือสีเนื้อ ตรงคอมีจุดสีขาว หน้าอกและตลอดใต้ท้องมีลายขวางเป็นสีน้ำตาลแก่

นกดุเหว่าอาศัยอยู่ทั้งป่าต่ำและป่าสูง บริเวณที่ทำการกสิกรรม ตลอดจนตามหมู่บ้านและในเมือง เป็นนกซึ่งไม่สร้างรังเอง มักอาศัยรังของนกอื่นเป็นที่วางไข่ เช่น รังของอีกา สามารถบินได้เร็ว ชอบร้องในเวลาเช้าตรู่ และเวลาเย็นจวนพลบค่ำ

อาหารส่วนใหญ่ได้แก่ผลไม้และเมล็ดพืชบางชนิด บางครั้งก็กินแมลงด้วยเหมือนกัน ฤดูผสมพันธุ์มีระยะกว้างนาน มักผสมพันธุ์พร้อมกับอีกา

เมื่อจะวางไข่ จะแอบไปวางไข่ไว้ในรังของอีกาเพื่อให้แม่กาฟักไข่ให้ ลักษณะไข่ของนกดุเหว่า มีลักษณะคล้ายไข่ของอีกา

กาเหว่าเอย ไข่ไว้ให้แม่กาฟัก
แม่กาก็หลงรัก คิดว่าลูกในอุทร
คาบเอาข้าวมาเผื่อ ไปคาบเอาเหยื่อมาป้อน
ถนอมไว้ในรังนอน ซ่อนเหยื่อมาให้กิน
ปีกเจ้ายังอ่อนคลอแคล ท้อแท้จะสอนบิน
แม่กาพาไปกิน ที่ปากน้ำพระคงคา
ตีนเจ้าเหยียบสาหร่าย ปากก็ไซ้หาปลา
กินกุ้งแลกินกั้ง กินหอยกระพั้งแมงดา
กินแล้วก็โผมา จับที่ต้นหว้าโพธิ์ทอง
ยังมีนายพราน เที่ยวเยี่ยมเยี่ยมมองมอง
ยกเอาปืนขึ้นส่อง จ้องเอาแม่กาดำ
ตัวหนึ่งว่าจะต้ม อีกตัวว่าจะยำ
กินนางแม่กาดำ ค่ำวันนี้อุแม่นา






ที่มา : facebook.com/Thai Kasetsart


..........................................................................







นกกาเหว่า

ชื่อท้องถิ่น: นกกาเหว่า
ชื่อสามัญ: นกกาเหว่า
ชื่อวิทยาศาสตร์: Eudynamys scolopacea
ชื่อวงศ์: Cuculidae
ประเภทสัตว์: สัตว์ปีก
ลักษณะสัตว์: รูปร่างลักษณะ คนไทยโดยทั่วไป มักเข้าใจว่า นกกาเหว่ามีอยู่ 2 ชนิด คือ นกกาเหว่าดำ และ นกกาเหว่าลาย ทั้งนี้เพรา นกตัวผู้ มีสีดำ และ นกตัวเมียมีสีน้ำตาลลายๆ ทั้งตัว และ ยังมีเสียงร้องแตกต่างกันด้วย แต่เป็นตัวผู้ และ ตัวเมีย นกกาเหว่า เป็นนกขนาดเล็ก - กลาง ความยาวจากปลายปากจด หาง 43 ซม. ลำตัวค่อนข้างยาว ในเวลาเกาะกิ่งไม้ ลำตัวจะอยู่ในแนวนอน

นกกาเหว่าเป็นนกในวงศ์คัคคู (Cuculidae) มีขนาดใกล้เคียงกับอีกา ลำตัวเพรียวยาว ตาสีแดง หางยาวและแข็ง เท้าจับกิ่งไม้มีลักษณะพิเศษต่างจากนกชนิดอื่น คือสามารถจับกิ่งไม้ได้รอบโดยใช้นิ้วหน้า 2 นิ้ว และนิ้วหลัง 2 นิ้ว ตัวผู้มีสีดำ ปากสีเขียวเทา ส่วนตัวเมียสีน้ำตาลแก่ มีลายเป็นจุดขาวทั่วตัว

แหล่งอาศัยหากิน มักพบในพื้นที่หลายแบบ โดยพบทั้งในป่าโปร่ง สวนผลไม้ บนที่ราบต่ำ แต่ ในต่างประเทศ พบขึ้นไปหากินถึงระดับสูง 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล นอกจากจะพบในป่าโปร่ง และ สวนผลไม้แล้ว นกกาเหว่า ยังอาจพบได้ ในป่าละเมาะ ป่าชายเลน ไร่ สวนสาธารณะ หรือตามสุมทุมพุ่มไม้ รอบๆหมู่บ้าน และ ภายในตัวเมือง ที่มีต้นไม้สูงๆ ขึ้นกระจัดกระจายทั่วไป บางครั้ง ก็พบบนต้นไม้สูงที่ขึ้นเดี่ยวๆ กลางทุ่งโล่ง จัดเป็นนกในเมืองด้วย เพราะอาจพบ เกาะตาม ต้นไม้สูงๆ ในสวนสาธารณะ ใจกลางตัวเมือง หรือตาม สถานที่ราชการ เอกชน ที่พอมีไม้ใหญ่ปลูกไว้ รวมทั้งบริเวณวัดต่างๆ ที่มักมีต้นไม้สูงๆขึ้นอยู่ แต่เรามักได้ยินเสียง มากกว่า จะมองเห็นตัว เนื่องจากมันชอบหลบซ่อนตัว อยู่ภายใน ร่มใบ หนาทึบ ของ ต้นไม้สูงๆ จนแลเห็นตัวได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นกตัวเมีย ซึ่งมีลายสีน้ำตาล เข้ากับสภาพแวดล้อม แต่ สีดำของ นกตัวผู้ จะกลมกลืนไปกับร่มเงาของต้นไม้ ได้ดีกว่า
ปริมาณที่พบ: น้อย
การใช้ประโยชน์: อื่นๆ

อธิบายวิธีการใช้ประโยชน์: พฤติกรรม, การสืบพันธุ์
นกกาเหว่ามีนิสัยดุ ไม่ชอบเปลี่ยนที่นอน ชอบอยู่เป็นคู่ตัวผู้มีเสียงร้องดังกังวานในตอนใกล้รุ่งหรือใกล้ค่ำ จะร้องมากในฤดูหนาวและฤดูแล้งซึ่งเป็นฤดูผสมพันธุ์ มักจะร้องว่า "กา เว้า" ส่วนตัวเมียไม่มีเสียงร้อง
นกชนิดนี้จับคู่ราวต้นเดือนพฤศจิกายน ออกไข่ราวเดือนมีนาคม ออกไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง มักออกไข่ในรังกา ไข่คล้ายไข่นกกามาก ไข่แล้วให้แม่กาฟัก เคยปรากฏพบไข่ในรังกาถึง 8 ฟอง เมื่อไข่ฟักออกมาลูกนกมีสีดำคล้ายกันหมด แต่เมื่อโตขึ้น ลูกนกกาเหว่าตัวผู้มีสีดำเช่นเดิม ส่วนตัวเมียขนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแก่ มีลายเป็นจุดขาวทั่วตัว
แหล่งที่พบ: ป่าคลองปอม,ป่าเทือกเข้าแก้ว

ข้อมูลอื่นๆเพิ่มเติม: ถิ่นอาศัย, อาหาร
พบตามสวนหรือป่าโปร่งทุกภาคในประเทศไทย
นกกาเหว่าชอบกินแมลงต่าง ๆ งูบางชนิด กิ้งก่า จิ้งเหลน กบ เขียด นกเล็ก ๆ และผลไม้บางชนิด

ฤดูกาลที่ใช้ประโยชน์ได้: ทุกฤดูกาล
แหล่งที่มาของข้อมูล: สัมภาษณ์
คำช่วยค้นหา(keyword): http://www.moohin.com/animals/birds-37.shtml
ผู้บันทึกข้อมูล: อนงค์นาฏ ศรีบุญแก้ว



ปล.เรื่องนี้จะไปซ้ำกับที่เคยนำเสนอมาแล้วเพียงแต่เพิ่มข้อมูลรายละเอียดมากขึ้น
http://www.baanmaha.com/community/thread26760.html