ลูกเบื่ออาหาร แก้ได้ง่ายนิดเดียว

พ่อแม่หลายคนมีปัญหาเรื่องลูกเบื่ออาหาร แล้วกลุ้มใจว่าจะทำอย่างไรดีลูกจึงยอมทานอาหาร เพราะกลัวว่าลูกจะขาดอาหาร ตัวไม่โต สมองไม่ดี เรียนหนังสือไม่เก่ง คิดมากจนแทบเป็นโรคเบื่ออาหารตามลูกไปเลย จริงๆแล้วปัญหานี้ส่วนใหญ่เกิดจากความวิตกกังวลมากเกินไปของพ่อแม่มากกว่าสาเหตุอื่น โดยเฉพาะพ่อแม่ที่มีลูกคนเดียวหรือมีลูกยาก หรือมีเมื่อตอนอายุมากแล้ว มักมีความวิตกกังวลมากกว่าปกติทั่วไป

ทำไมลูกถึงเบื่ออาหาร?

สาเหตุที่ทำให้ลูกเบื่ออาหาร

1.ส่วนใหญ่เกิดเนื่องจากวิธีการเลี้ยงดูให้อาหารไม่ถูกต้อง พ่อแม่ส่วนใหญ่เมื่อเห็นว่าลูกไม่ทานหรือทานช้า มักแก้ปัญหาโดยวิธีการต่างๆ เช่น บังคับหรือลงโทษลูก ดุด่า ว่ากล่าว หรือบางรายใช้วิธีตีลูก แต่ก็มีพ่อแม่บางรายใช้วิธีตรงกันข้าม คะยั้นคะยอให้ลูกทาน พยายามให้ลูกทานเร็วๆ ทานมากๆ (เท่าที่พ่อแม่ต้องการ) หรือบางรายใช้วิธีติดสินบน ถ้าลูกทานหมดคำนี้ จานนี้เดี๋ยวจะพาไปเที่ยวหรือซื้อของให้หรือแทบจะต้องกราบไหว้เกือบทุกคำที่ลูกทาน บางรายใช้วิธีทานไป เดินหรือวิ่งหรือนั่งรถไปด้วย ซึ่งที่จริงแล้วพ่อแม่เหล่านี้มักจะลืมนึกถึงธรรมชาติของลูกว่าเด็กแต่ละคนมีธรรมชาติแตกต่างกัน เช่น

1.1รูปร่างของลูก เด็กแต่ละคนจะมีรูปร่างไม่เท่ากัน จึงมีความต้องการสารอาหาร (รับประทาน) ไม่เท่ากัน เด็กที่เกิดมาตัวเล็ก น้ำหนักน้อยมักต้องการสารอาหาร (รับประทาน) น้อยกว่าเด็กที่มีรูปร่างโตกว่า เพราะฉะนั้นอย่าพยายามเปรียบเทียบการทานของลูกเรากับลูกคนอื่นจนลืมนึกถึงข้อนี้ไป

1.2ธรรมชาติของลูก เด็กในวัยตั้งแต่อายุ 9 เดือนถึง 3 ปี จะมีลักษณะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง มักอยากทำสิ่งต่างๆด้วยตนเอง ถ้าพ่อ แม่คะยั้นคะยอ หรือบังคับให้ลูกทานก็เท่ากับกระตุ้นให้ลูกต่อต้านและทำในสิ่งตรงข้าม โดยการไม่ทานเพื่อลองดูว่า ถ้าไม่ทานพ่อแม่จะทำอย่างไร ในที่สุดก็เกิดสงครามลองดีกันบนโต๊ะทานข้าว ยิ่งบังคับมากก็ยิ่งสร้างปัญหามาก ลูกบางคนต่อต้านโดยการทานช้า อมข้าวไว้ในปาก หรืออาเจียนอาหารที่ถูกบังคับให้ทานออกมา แล้วในที่สุดใครเป็นผู้แพ้ ถ้าไม่ใช่พ่อแม่ (จริงไหม?)

1.3ความอยากทานอาหารของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน เด็กบางคนมีความอยากทานมากกว่าเด็กอีกคน บางคนจึงทานอาหารมาก บางคนทานน้อย นอกจากนี้ในเด็กคนเดียวกัน บางวันก็อยากทานอาหารมาก บางวันก็ทานได้น้อย ซึ่งก็คล้ายๆ กับผู้ใหญ่อย่างเรา บางมื้อทานได้มาก บางมื้อก็ทานได้น้อย

1.4 เด็กแต่ละคนชอบอาหารที่มีลักษณะ หน้าตา หรือรสไม่เหมือนกัน ลางเนื้อชอบลางยา จึงมีบ่อยครั้งที่พ่อ แม่เตรียมอาหารที่คิดว่าวิเศษสุดมีคุณภาพครบถ้วนยอดเยี่ยมตามตำราที่อ่านมา แต่ลืมนึกไปว่าลูกไม่ชอบ ก็ทำให้ลูกไม่อยากทาน แต่ถึงแม้ว่าลูกจะชอบทานอาหารชนิดนั้นมาก แต่ถ้าทำให้ทานทุกมื้อทุกวันก็คงทานไม่ลงเหมือนกัน

2.เนื่องจากเด็กไม่สบาย เช่น มีไข้ เป็นหวัด ฟันกำลังขึ้นหรือมีอาการไม่สบายอย่างอื่นๆ ก็ทำให้เด็กทาน

อาหารได้น้อยลง ดังนั้นถ้าสงสัยว่าลูกไม่สบาย ควรพาไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา เมื่อโรคเหล่านั้นหาย เด็กก็จะกลับมาทานอาหารได้ตามปกติ

3.ยาบางตัว เช่น แอมเฟตามีน ยาปฎิชีวนะ ยากันชักบางตัว เช่น ไดแลนติน โซเดียมวาลโปรเอท การรับประทานไวตามินเอหรือดีมากเกินไป สามารถทำให้ความอยากรับประทานอาหารลดน้อยลงได้

ทำอย่างไรดี ถ้าลูกเบื่ออาหาร?

ถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจสาเหตุที่กล่าวมา ก็จะแก้ไขได้ไม่ยาก โดยพยายามแก้ไขสาเหตุดังกล่าว เช่น ต้องเข้าใจธรรมชาติของลูก ไม่คะยั้นคะยอ หรือบังคับลูกให้ทาน สนใจในการทานอาหารของลูก เช่น ชนิด ลักษณะและรสอาหารที่ลูกชอบ แต่ต้องไม่วิตกกังวลเกินไป ให้ลูกมีส่วนร่วมในการทำอาหาร เช่น ล้างหรือเด็ดผัก ตีไข่ ถือจานฯ พยายามทำบรรยากาศขณะทานให้มีความสุขและชวนทาน โดยให้เด็กทานเอง นั่งโต๊ะรับประทานร่วมกับผู้ใหญ่หรือเด็กคนอื่นๆ ไม่มีการดุด่า เคี่ยวเข็ญให้ทานอาหารมากๆ พยายามทำอาหารที่ลูกชอบ (คงต้องมีอาหารสักอย่างที่ลูกชอบมากที่สุดจนถึงชอบน้อยรองๆลงมา) ตักอาหารให้น้อยกว่าที่ลูกจะทานได้ หมดแล้วค่อยเติมใหม่จะเป็นการกระตุ้นให้ลูกอยากทานอาหารมากขึ้น ชื่นชมและให้กำลังใจเมื่อลูกทาน แต่ถ้าลูกยังไม่ทานอาหารมื้อนั้น ห้ามให้ขนมหรือนมหรืออาหารอื่นทดแทน และถ้าลูกยังไม่ทานอาหารมื้อต่อไปอีก ก็ให้เก็บอาหารแล้วปล่อยให้อดอีก ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆหลายมื้อรอจนลูกหิวได้ที่ก็จะยอมทานอาหารมื้อต่อไปเอง เพราะหมอยังไม่เคยเห็นเด็กคนไหนที่หิวจริงๆแล้วไม่ยอมทาน ก็เหมือนกับผู้ใหญ่ที่เวลาหิวอะไรก็อร่อย สำคัญตรงที่พ่อ แม่จะสามารถอดทนต่ออาการงอแง ร้องไห้ของลูกและรอจนลูกหิวจริงได้หรือไม่เท่านั้นเอง

ถ้าลูกไม่ทานอาหารบ่อยๆ จะรู้ได้อย่างไร ว่าลูกขาดอาหาร?

ข้อนี้ดูไม่ยาก ถ้าดูลูกทั่วไปปกติดี แข็งแรง วิ่งเล่น ร่าเริงตามปกติ ไม่เจ็บป่วยบ่อย ไม่ซึมเศร้า เหงาหงอย ร่างกายโตสมส่วนก็ถือได้ว่าลูกปกติ นอกจากนี้อาจดูได้จากการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงเทียบกับอายุจริงของลูก ค่านี้ควรอยู่ในเกณฑ์ปกติ วิธีนี้ทำได้เองไม่ยาก โดยเทียบน้ำหนัก ส่วนสูงของลูกกับอายุจริงลงในแผนภูมิแสดงมาตรฐานการเจริญเติบโตของเด็กไทย ซึ่งมีอยู่ในสมุดสุขภาพซึ่งทางโรงพยาบาลแจกให้เมื่อไปคลอดลูก หรือถ้าสงสัยลองสอบถามหมอที่ดูแลสุขภาพลูกอยู่ ก็คงได้คำตอบแน่นอน

ยากระตุ้นให้ทานอาหารจำเป็นหรือไม่?

โดยความเป็นจริงแล้วปัญหาส่วนใหญ่ที่พบไม่จำเป็นต้องใช้ยานี้ เนื่องจากสามารถแก้ไขได้โดยวิธีการที่กล่าวมาแล้ว อีกทั้งการบังคับให้เด็กทานยาก็อาจจะทำให้เกิดปัญหามากขึ้นอีก ยกเว้นบางรายที่ไม่ยอมทานอาหารมานานจนเป็นนิสัย อาจจะต้องใช้ยากระตุ้นให้ทานอาหารชั่วคราวพร้อมๆ กับเปลี่ยนแปลงวิธีการเลี้ยงดูและอุปโภคนิสัยไปพร้อมๆกัน ซึ่งยากระตุ้นนี้ เช่น เปอริแอคตินหรือไซโปรเฮพตาดีน ถ้าใช้นานเกินไปจะมีผลเสียต่อร่างกายเด็ก ทำให้ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของร่างกายเด็กลดลง จึงควรปรึกษาแพทย์จะดีกว่าซื้อยาใช้เอง

ท้ายนี้หวังว่าคุณพ่อ คุณแม่คงได้คำตอบบ้างว่าควรทำอย่างไรดีเมื่อลูกเบื่ออาหาร และควรจำไว้ว่า เด็กทุกคนมีธรรมชาติของตนเองไม่เหมือนกัน และตามธรรมชาติเด็กทุกคนย่อมมีความอยากทานอาหารอย่างเพียงพอที่จะทำให้สุขภาพของตนเองสมบูรณ์แข็งแรงอยู่แล้ว การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมจะทำให้การทานของเด็กไม่เป็นไปตามธรรมชาติของเด็กที่ควรเป็น การเอาใจใส่ดูแลลูกนั้นเป็นสิ่งทีดี แต่ต้องทำให้เหมาะสม ไม่วิตกกังวลมากเกินไปจนทำให้เกิดการเลี้ยงดูที่ฝืนธรรมชาติของลูก ก็จะเป็นผลดีต่อลูกและตัวท่านเอง และโปรดจำไว้เสมอว่า ลูกกินแน่ ถ้าพ่อแม่รู้ใจ

แหล่งที่มา http://home.truelife.com