นิ่วในถุงน้ำดี เกิดได้อย่างไร ป้องกันยังไง เมื่อเป็นแล้วรักษาอย่างไร

หมู่นี้เห็นหลายๆท่าน ที่รู้จักมักคุ้น เป็นโรค นิ่วในถุงน้ำดี
ก็เลยไปรวบรวมมาอ่านเอง และแบ่งปัน ทุกท่าน ได้อ่านเป็นความรู้ และจะได้คอยระมัดระวังสุขภาพกัน นะครับ นิ่วในถุงน้ำดี เกิดได้อย่างไร ป้องกันยังไง เมื่อเป็นแล้วรักษาอย่างไร
อันนี้จาก นิตยสารชีวจิต ฉบับ 133 จากเว็บ www.cheewajit.com
นิ่วในถุงน้ำดีเกิดขึ้นได้อย่างไร
นิ่วในถุงน้ำดี (gallstones) เกิดจากการตกผลึกของหินปูน (แคลเซียม) หรือคอเลสเทอรอลที่มีอยู่ในน้ำดี ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการตกผลึกของสารเหล่านี้ เชื่อว่าเกี่ยวกับการติดเชื้อของทางเดินน้ำดี และความไม่สมดุลของส่วนประกอบในน้ำดี การตกผลึกของสารเหล่านี้ อาจทำให้เกิดเป็นก้อนนิ่วเพียงก้อนเดียว หรือก้อนเล็ก ๆ หลายๆ ก้อนก็ได้ รวมทั้งคนที่มีระดับคอเลสเทอรอลในเลือดสูง หญิงที่มีบุตรแล้ว ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ทาลัสซีเมีย โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก จะมีโอกาสเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าคนทั่วไป
อาการ
เราอาจแบ่งอาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดีออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ไม่มีอาการกับประเภทที่มีอาการ


ประเภทที่ไม่มีอาการ - นิ่วในถุงน้ำดี ส่วนใหญ่ (มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์) ไม่มีอาการ และในกลุ่มนี้ จะมีโอกาสเกิดอาการขึ้นได้ ประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย จะไม่มีอาการผิดปกติแสดงให้เห็นแต่อย่างใด และมักจะตรวจพบโดยบังเอิญ จากการตรวจเช็คร่างกายด้วยโรคอื่น


ประเภทมีอาการ - สามารถลำดับอาการตั้งแต่น้อยไปหามาได้ดังนี้


1.
ท้องอืด แน่นท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังรับประทานอาหารมัน ซึ่งอาการแบบนี้ อาจเกิดจากโรคระบบทางเดินอาหารอื่น เช่น โรคกระเพาะอาหารหรือโรคของลำไส้ใหญ่ ก็ได้

2.
ปวดเสียดท้อง อาการปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา หรือลิ้นปี่ ซึ่งมักเป็นหลังรับประทานอาหารมัน แต่อาการอาจเป็นอยู่นานหลายชั่วโมง (แต่มักไม่เกิน 8 ชั่วโมง) แล้วค่อยกลับเป็นปกติ อาจร้าวไปสะบักขวา หรือที่หลัง

3.
ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน จะมีอาการปวดท้องบริเวณชายโครงขวามากขึ้น และมีการตรวจพบการกดเจ็บบริเวณนี้ ร่วมกับมีไข้ และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนด้วย

4.
มีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง
วิธีการรักษา
ในปัจจุบันไม่มียาที่รับประทานแล้วนิ่วหายไปได้ทันที คนที่รับประทานยารักษาโรคนิ่ว ต้องรับประทานยาไปตลอดชีวิต ที่สำคัญยาที่ใช้รักษามีราคาแพง วิธีนี้จึงไม่เป็นที่นิยมมากนัก นิ่วในถุงน้ำดีที่ไม่มีอาการ ส่วนใหญ่ไม่ต้องผ่าตัด เพราะอาจไม่มีอาการเลยตลอดชีวิต ยกเว้นในคนไข้บางกลุ่ม ที่แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัด เช่น อายุน้อย (เพราะมีโอกาสเกิดอาการขึ้นมาได้ในอนาคต) โรคโลหิตจางบางชนิด เป็นต้น
ส่วนนิ่วในถุงน้ำดีที่มีอาการ หรือมีภาวะแทรกซ้อนแล้วควรได้รับการผ่าตัด การรักษานิ่วในถุงน้ำดีในกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าว คือการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก ซึ่งวิธีมาตรฐานดั้งเดิมใช้วิธีการ ผ่าตัดเปิดหน้าท้อง บริเวณใต้ชายโครงขวา แต่ปัจจุบันมีการผ่าตัดอีกวิธีคือ การผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกโดยใช้กล้องส่องผ่านหน้าท้อง
การป้องกัน
โรคนี้อาจป้องกันได้ ด้วยการควบคุมระดับคอเลสเทอรอลในเลือด และรักษาโรคเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมทั้งดูแลในเรื่องอาหารการกิน
อาหาร ยาดีป้องกันโรค
ส่วนอาหารที่ช่วยป้องกันการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี ได้แก่ อาหารจำพวกแป้งที่ไม่ขัดสี , ผักและผลไม้สด , รำข้าวโอ๊ต และถั่ว
อาหารที่ควรงดเว้น ได้แก่ อาหารทอด และอาหารมันๆ
อีกอันนำมาจาก เว็บของคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล : http://www.si.mahidol.ac.th
นิ่วในถุงน้ำดี
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ ดรินทร์ โล่ห์สิริวัฒน์
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
นิ่วในถุงน้ำดี เกิดจากภาวะไม่สมดุลของสารประกอบในน้ำดี ซึ่งเมื่อมีนิ่วเกิดขึ้นแล้ว อาจมีอาการตั้งแต่ ท้องอืด อาหารไม่ย่อย บางครั้งนิ่วไปอุดท่อถุงน้ำดี ทำให้มีอาการปวดแบบปวดดิ้น หรือถ้านิ่วตกลงไปอุดท่อน้ำดีใหญ่ จะทำให้มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ในบางรายอาจตรวจพบนิ่วในถุงน้ำดีแต่ไม่มีอาการได้เช่นกัน แต่อาการดังกล่าวข้างต้นจะเกิดเมื่อใดก็ได้ ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งถุงน้ำดี พบว่ามีนิ่วร่วมด้วยเป็นส่วนใหญ่ นิ่วในถุงน้ำดี ไม่สามารถรักษาได้โดยใช้เครื่องสลายนิ่ว การรักษาโดยใช้ยาละลายนิ่วใช้ได้เฉพาะนิ่วบางชนิดเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ต้องรับประทานยาเป็นเวลานาน และเมื่อหยุดยาก็อาจเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้อีก อีกทั้งนิ่วของคนไทยส่วนมากมักไม่ละลายโดยใช้ยา ดังนั้นการรักษาที่ดีที่สุด คือการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก ซึ่งการตัดถุงน้ำดี ไม่มีผลต่อการย่อยอาหาร เพราะน้ำดีสร้างมาจากตับ ถุงน้ำดีเป็นเพียงที่เก็บพักน้ำดีเท่านั้น
อาการ
ผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดี อาจไม่มีอาการเลย หรือมีอาการบางอย่าง ดังต่อไปนี้ โดยไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ ได้แก่
- ท้องอืด
- แน่นท้องหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก
- ปวดท้องใต้ชายโครงขวาเป็นครั้งคราว
- ปวดท้องรุนแรง และปวดร้าวไปถึงสะบักด้านขาว
- ไข้สูงเฉียบพลัน ถ้ามีการอักเสบของถุงน้ำดีอย่างเฉียบพลัน
- ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม
จะตรวจพบว่าเป็นนิ่วถุงน้ำดีได้อย่างไร?
วิธีที่ดีที่สุด ที่จะวินิจฉัยว่ามีนิ่วในถุงน้ำดี คือการตรวจอัลตร้าซาวด์
การรักษา
การผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกเป็นการแก้ปัญหาที่ถาวร เพื่อไม่ให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีขึ้นได้อีกต่อไป และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่างๆ
การผ่าตัดถุงน้ำดีในปัจจุบัน มี 2 วิธี
1. ผ่าตัดแบบเดิม โดยการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Open Cholecystectomy) ปัจจุบันจะเลือกใช้ในการผ่าตัดถุงน้ำดีที่มีอาการอักเสบมากหรือแตกทะลุในช่องท้อง
2. ผ่าตัดภายใต้กล้อง โดยการเจาะรูเล็กๆ ที่หน้าท้อง (Laparoscopic Cholecystectomy) ถ้าผู้ป่วยไม่มีถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน สามารถทำได้สำเร็จถึงร้อยละ 95 ถ้าถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันเกิน 3 วัน โอกาสผ่าตัดโดยวิธีนี้ได้สำเร็จจะน้อยลง
วิธีการผ่าตัดภายใต้กล้อง
- เจาะรูเล็กๆ บริเวณหน้าท้อง 4 แห่ง ด้วยเครื่องมือที่ออกแบบเฉพาะสำหรับการเจาะหน้าท้องอย่างปลอดภัย ขนาดของรูประมาณ 0.5 ซม. 3 ตำแหน่ง และขนาด 1 ซม.ที่สะดืออีก 1ตำแหน่ง
- ใส่กล้องที่มีก้านยาวๆ และเครื่องมือต่างๆผ่านรูที่ผนังหน้าท้องลงไป ศัลยแพทย์จะสามารถมองเห็นถุงน้ำดีและอวัยวะต่างๆจากจอโทรทัศน์ซึ่งกล้องส่งสัญญาณภาพมา
- ศัลยแพทย์สามารถเลาะแยกถุงน้ำดีออกจากตับ และใช้คลิปหนีบห้ามเลือดแทนไหมเย็บแผล ก่อนตัดขั้วของถุงน้ำดี แล้วเลาะส่วนที่เหลือให้หลุดออก
- เมื่อตัดถุงน้ำดีได้แล้ว บรรจุใส่ถุงที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ แล้วดึงออกจากร่างกายบริเวณรูสะดือ จากนั้น ศัลยแพทย์จะสำรวจความเรียบร้อยเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนดึงเครื่องมือและกล้องออกแล้วเย็บปิดแผล
- ในผู้ป่วยบางรายถ้ามีการอักเสบมาก อาจต้องมีการใส่ท่อระบายไว้ 2-3 วัน
ผลดีของการผ่าตัดถุงน้ำดีภายใต้กล้อง
- อาการปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่า เพราะแผลมีขนาดเล็กกว่า
- อยู่โรงพยาบาล ประมาณ 1-2 วัน ซึ่งถ้าผ่าตัดแบบเดิม อยู่โรงพยาบาล ประมาณ 7-10 วัน
- การพักฟื้นหลังผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ทำให้กลับไปทำงานตามปกติได้เร็วกว่า ถ้า ผ่าตัดแบบเดิม ใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 1 เดือน
- แผลขนาดเล็กดูแลง่ายกว่า และมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าแผลขนาดใหญ่
- เมื่อแผลหายจะเป็นรอยเล็กๆบนหน้าท้องเท่านั้น

แหล่งที่มา http://www.gracezone.org