เผยแผนที่กรุงธนบุรี ฝีมือสายลับพม่า

ภารกิจสอดแนมที่มั่นของศัตรูในแวดวงสงครามมีมาช้านาน ล่าสุดนักประวัติศาสตร์เผยแผนที่โบราณจากแดนพม่าซึ่งก็คือแผนที่ "กรุงธนบุรี" นั่นเอง


ห้วงเวลาของการสัมมนาวิชาการ "จดหมายเหตุสยาม : จากกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร-จันทบูร" เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สร้างความตื่นตะลึงให้แก่ผู้เข้าฟังกว่า 300 คน เมื่อ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งขึ้นแสดงบนเวที มันเป็นม้วนแผนที่ขนาดเขื่องด้วยความกว้าง 3 ฟุต และยาวถึง 13 ฟุต จากสหภาพพม่า


เผยแผนที่กรุงธนบุรี ฝีมือสายลับพม่า

นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ใช้หลักฐานลายลักษณ์อักษรเป็นหลัก แต่ที่จริงแผนผัง แผนภูมิ ลายแทง เป็นสิ่งสำคัญที่คนโบราณใช้สื่อความเข้าใจกัน" อาจารย์สุเนตร เล่าถึงครั้งที่ได้ชมนิทรรศการ "แผนผัง แผนภูมิ และลายแทง" ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยย่างกุ้งแห่งสหภาพพม่าเมื่อหลายปีก่อน มี อาจารย์อูหม่อง หม่องทิน เป็นวิทยากร ทั้งได้นำแผนที่เส้นทางเดินทัพพม่าฉบับหนึ่งมาให้ชมด้วย

อาจารย์อูหม่องผู้ถือกรรมสิทธิ์แผนที่ฉบับดังกล่าว เชื่อว่าเป็นแผนที่เดินทัพของพระเจ้าปดุงหรือโบดอพะยา (พ.ศ.2325-2362) ภายหลังมีนักวิชาการชาวตะวันตกท่านหนึ่งได้รับอนุญาตให้ทำพิมพ์เขียวขนาดเท่าของจริง นักวิชาการชาวตะวันตกท่านนั้นได้ส่งมอบพิมพ์เขียวให้แก่อาจารย์สุเนตรเพื่อทำการศึกษา หลายปีต่อมาอาจารย์อูหม่องเสียชีวิตปรากฏว่าแผนที่ต้นฉบับกลับสูญหายไป

ผู้ครอบครองพิมพ์เขียวแผนที่สำคัญคืออาจารย์สุเนตรนั้นได้ให้รายละเอียดว่าแผนที่ต้นฉบับเป็นงานเขียนสีลายเส้นบนกระดาษพื้นขาวซึ่งพับได้เป็นทบ เมื่อพับได้ที่จะเหลือขนาดเล็กพกพาสะดวก "ภาพที่ปรากฎบนแผนที่เป็นภาพแสดงเมืองขนาดย่อม มีแม่น้ำสายใหญ่ตัดผ่านเป็นแนวตรง เวียงหรือวังตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำ มีกำแพงรายรอบ มีป้อมปืนสองด้านแน่นหนา มีเรือนแพเรียงราย สองฟากแม่น้ำมีชุมชนบ้านเรือนแน่นหนา บางช่วงยังแสดงกระบวนเรือของเจ้าเมือง ตลอดไปถึงแนวคลองท้ายวัง ผมก็เกิดความสงสัยว่าที่เห็นนี่คือเมืองอะไร"

ความสงสัยของนักประวัติศาสตร์เริ่มคลี่คลายหลังจากแกะแผนที่มาระยะหนึ่ง พบคำอธิบายใต้ภาพลายเส้นแทบทุกตำแหน่งอันแสดงถึงความพิถีพิถันและความรอบรู้ของผู้ทำแผนที่ อาจารย์สุเนตรจึงได้ข้อยุติเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นแผนที่แสดงเมืองบางกอกและปริมณฑล

ข้างอาจารย์อูหม่องเองเคยสันนิษฐานไว้ว่าเป็นแผนที่เส้นทางเดินทัพที่พระเจ้าปดุงใช้บุก "โยธยา" (คำที่พม่าใช้เรียกกรุงศรีอยุธยา แม้กระทั่งกรุงแตกใน พ.ศ.2310 และย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงธนบุรีแล้วก็ตาม) ทำโดยสายลับหรือจารชนข้างพม่า ในแผนที่ระบุที่ตั้งบ้านและนามของเหล่าผู้นำมอญคนสำคัญที่หลบหนีราชภัยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้แก่ บ้านพระยาเจ่ง (เจ้าพระยามหาโยธา ต้นตระกูลคชเสนี) และราชาเทวะ

จากการตีความศัพท์ที่ปรากฏบนแผนที่ อาจารย์สุเนตรวิเคราะห์ว่าผู้ทำแผนที่น่าจะตั้งใจมอบให้ผู้สูงศักดิ์ ตั้งแต่ชั้นขุนนางหรือเจ้านายชั้นสูงหรือแม้กระทั่งพระมหากษัตริย์ เพราะคำอธิบายแผนที่หลายจุดลงท้ายด้วยคำที่ใช้กับผู้สูงศักดิ์กว่าคือคำว่า "พะยา"

ในทัศนะของนักประวัติศาสตร์ อาจารย์สุเนตรยอมรับว่าแผนที่จารชนสงครามฉบับนี้ถือเป็นแผนที่เมืองธนบุรีและบางกอกที่เก่าแก่สุดฉบับหนึ่ง ที่สำคัญเป็นการเขียนโดยคนร่วมภูมิภาคที่ไม่ใช่ชาวตะวันตก

เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกทัพพม่าตีแตกในปี 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้รวบรวมไพร่พลกอบบ้านกู้เมืองสำเร็จภายในเวลาไม่กี่เดือน ในจำนวนนั้นมีกลุ่มชาวมอญอาสาร่วมทัพด้วย ต่อมาพม่าเปิดศึกอะแซหวุ่นกี้ด้วยระบบการจัดการทัพที่สมบูรณ์ ทว่าเวลานั้นกษัตริย์มังระหรือเซงหยูเชงสิ้นพระชนม์ อะแซหวุ่นกี้แม่ทัพใหญ่จึงต้องรีบถอยทัพกลับไปหนุนให้เขยของตนได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ พระนามว่าพระเจ้าปดุง

พระเจ้าปดุงเตรียมวางแผนเปิดศึกกับกรุงธนบุรีอีกครั้ง ระหว่างนั้นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเมื่อเกิดเหตุผลัดแผ่นดินจากกรุงธนบุรีสู่กรุงรัตนโกสินทร์ พม่าอาศัยจังหวะดังกล่าวเดินแผนสงครามโดยใช้จารชนสงครามแฝงตัวปะปนในหมู่ราษฎรหลากลายเชื้อชาติ เตรียมทำแผนที่เส้นทางเดินทัพโดยแสดงสภาพเมืองและปริมณฑล (ต่อมาในปี พ.ศ.2328 พม่าจึงเปิดสงครามเก้าทัพอย่างเป็นทางการ)

รายละเอียดของแผนที่สำคัญฉบับนี้แสดงส่วนที่เป็นหัวใจของเมืองคือบริเวณฝั่งน้ำอันเป็นที่ตั้งของวังเจ้าเมืองหรือพระบรมมหาราชวัง และเรือนแพที่ตั้งอยู่ตรงกันข้ามโดยมีคำอธิบายใต้ภาพว่า "เรือนแพของชาวจีน" มีอาคารหลังหนึ่งระบุว่าเป็นเคหะสถานหรือบ้านของหัวหน้าชาวจีน

อาจารย์สุเนตร ยกข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ตอนหนึ่งที่ว่า ...พระราชวังใหม่ให้ตั้งในที่ซึ่งพระยาราชาเศรษฐีและพวกจีนอาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่แต่ก่อน โปรดให้พระยาราชาเศรษฐีและพวกจีนย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่สวน ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงคลองสามเพ็ง แล้วจึ่งได้ฐาปนาสร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถาน ล้อมด้วยปราการระเนียดไม้ไว้ก่อน พอเป็นที่ประทับอยู่ควรแก่เวลา...

ตามความข้างต้นนี้ อาจารย์สุเนตรจึงได้ข้อยุติว่าขณะที่จารชนนิรนามทำแผนที่นี้ขึ้น พื้นที่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยายังเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวจีนและมีบ้านของหัวหน้าชาวจีนตั้งอยู่ซึ่งน่าจะเป็นพระยาราชาเศรษฐี พระบรมมหาราชวังยังไม่ได้ย้ายจากฝั่งกรุงธนบุรีไปยังฝั่งบางกอก ดังนั้นแผนภูมิแสดงวังเจ้าเมืองบางกอกด้านฝั่งขวาของแม่น้ำย่อมต้องเป็นพระบรมมหาราชวังของพระเจ้ากรุงธนบุรีนั่นเอง

วังธนบุรีจากแผนที่นี้ประกอบด้วยประตูทั้งสิ้น 21 ประตู ทิศใต้มีประตูทางเข้า 2 ประตู นอกกำแพงวังมีปืนใหญ่ตั้งประจำการอยู่ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ส่วนนี้มีการป้องกันแน่นหนา ส่วนทิศเหนือของพระนครมีประตูทางเข้า 3 ประตู นอกกำแพงวางปืนใหญ่ไว้แต่ไม่หนาแน่นเท่าด้านทิศใต้ ด้านตะวันออกติดแม่น้ำเจ้าพระยามีประตูทั้งสิ้น 8 ประตู และด้านตะวันตกก็มีประตูในปริมาณเท่ากัน ประตูบางด้านมีชื่อกำกับชัดเจน

ภายในวังมีอาคารโรงกษาปณ์ โรงทำปืนใหญ่ บ้านช่างทอง โรงทำทอง พระคลังหลวง และบ้านเจ้าพระยาพระคลัง นอกจากนั้นมีกองกำลังระวังรักษา เรือนเก็บข้าวสาร 3 หลัง และโรงเก็บข้าวเปลือก 6 หลัง โรงเก็บช้างสำคัญ คลังแสงเก็บปืนใหญ่ พระอารามหลวง ป้อมเฉลิมพระเกียรติ

ในบรรดาหมู่อาคารนี้มีจุดสำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ เจดีย์หรือสถานที่เก็บพระพุทธรูปที่ใช้ในการพิธีถือน้ำสาบานซึ่งตั้งอยู่หลังประตูถือน้ำสาบาน และบ้านพระยาจักรีซึ่งตั้งอยู่ใจกลางวังธนบุรี

"ผมคิดว่าพระพุทธรูปสำคัญที่ใช้ในการถือน้ำสาบานนี้น่าจะเป็นพระแก้วมรกต" อาจารย์สุเนตร ยืนยันหนักแน่น ส่วนสถานที่สำคัญอีกแห่งคือบ้านพระยาจักรีนั้นแสดงให้เห็นว่าแผนที่ถูกทำขึ้นในช่วงของการเปลี่ยนแปลงรัชกาล ย่างเข้าสู่ช่วงต้นของยุคจักรีวงศ์ ที่ประทับของเจ้าพระยาจักรีเดิมจึงยังตั้งอยู่ฝั่งธนบุรี เมื่อย้ายพระบรมมหาราชวังจึงย้ายมาอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา

นอกจากเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว แผนที่ฉบับนี้ยังแสดงให้เห็นแง่มุมในเชิงธรรมชาติวิทยาและชาติพันธุ์ ด้วยภาพที่ปรากฏในแผนที่แสดงป่าละเมาะ สัตว์น้ำประเภทต่างๆ เช่น จระเข้ ฯ สัตว์บกประเภทต่างๆ เช่น สมัน

ตลอดแนวฝั่งแม่น้ำมีบ้านเรือนของกลุ่มชนต่างๆ เรียงราย นอกจากชุมชนจีนและบ้านหัวหน้าชาวจีนซึ่งน่าจะหมายถึงพระยาราชาเศรษฐีแล้ว ชุมชนหมู่บ้านแขกก็ถูกระบุชัด ปรากฎภาพตึกแขกซึ่งอาจหมายถึงมัสยิดกุฎีใหญ่หรือมัสยิดกุฎีต้นสน หมู่บ้านมะนีปุระหรือกะแซ หมู่บ้านเชียงใหม่ ชุมชนชาวมอญ (แถบนนทบุรี)ปรากฏในตำแหน่งปลายสุดของแผนที่ ผู้ศึกษาคาดว่าน่าจะเป็นเกาะเกร็ด ภาพกลุ่มบ้านเรือนเหล่านี้แสดงถึงการกระจายตัวของชุมชนที่ทอดตัวขนาบสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

"ลักษณะความหลากหลายของกลุ่มคนในแถบนี้เป็นลักษณะของ cosmopolitan ชัดๆ" อาจารย์สุเนตร ระบุ

อย่างไรก็ดี อาจารย์สุเนตรตั้งข้อสังเกตว่าแผนที่หรือแผนภูมินี้ให้ความสำคัญต่อที่ตั้งบ้านเรือนของชาวมอญโดยเฉพาะมอญใหม่ที่เข้ามาสวามิภักดิ์ในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นพิเศษ แผนที่ยังระบุลึกไปถึงชื่อของพระยารามัญแต่ละคน ได้แก่ พระยาเจ่ง ตะละเตงจี ตะละบาน และตำแหน่งเรือนของพวกเขา

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นปะปนอยู่กับกลุ่มมอญ เช่น ฉาน คนกลุ่มนี้ตั้งบ้านเรือนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา

การเน้นความสำคัญของหมู่บ้านชาวมอญในแผนที่ เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้อาจารย์สุเนตรและนักประวัติศาสตร์แผนที่บางคนเชื่อว่าจารชนนิรนามรายนี้น่าจะเป็นคนเชื้อสายมอญ

ต่อข้อถามว่าการเข้ามาแฝงตัวในพระนครธนบุรีเป็นระยะเวลานานกระทั่งเขียนแผนที่อย่างละเอียดได้เช่นนี้ ผู้ทำแผนที่น่าจะแฝงตัวเข้ามาในสถานะใด หรือควรประกอบอาชีพใด อาจารย์สุเนตรตอบว่าหลักฐานยังไม่มากพอที่จะระบุอาชีพของสายลับรายนี้

"ถ้าจะลองคิด ก็เป็นไปได้ว่าน่าจะปะปนในหมู่พ่อค้าเนื่องจากเป็นอาชีพอิสระไม่ต้องมีสังกัด ขณะเดียวกันจารชนนิรนามรายนี้จะต้องสร้างสมขุมข่ายในการสืบข้อมูลสถานที่ต่างๆ ได้มาก โดยเฉพาะภายในพระบรมมหาราชวัง"

หลักฐานประวัติศาสตร์ประเภทแผนที่หรือแผนภูมิในมุมมองของอาจารย์สุเนตรถือเป็นแหล่งความรู้ "นอกจารีต" ที่ควรค่าแก่การตระหนักถึง และใช้ประโยชน์ในการตีความร่วมกับหลักฐานเอกสารอื่นๆ ดังกรณีภาพสะท้อนของบางกอก-กรุงธนฯ ช่วงรอยต่อของการผลัดแผ่นดิน ผ่านการรับรู้ของช่างเขียนแผนที่โบราณจากแดนพม่า

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ จารชนสงครามที่ไม่ประสงค์เผยนาม ผู้ลักลอบแฝงตนบนแผ่นดินสยามเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อนอย่างแนบเนียน


เครดิต
bangkokbiznews.com