ไขปริศนาตัวอะไรชักใยอยู่ที่เปรู?
ใยรูปร่างประหลาดที่สร้างความงุนงงในโลกอินเทอร์เน็ตเมื่อ 6 เดือนก่อน (ภาพประกอบโดย Ariel Zambelich/WIRED)


เป็นเวลากว่าครึ่งปีที่ใยปริศนาในเปรูสร้างความงุนงงแก่ชุมชนในโลกออนไลน์ แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านแมลงยังให้คำตอบไม่ได้ว่าตัวอะไรชักใยดังกล่าว นักชีววิทยาขี้สงสัยจึงนำทีมนักกีฏวิทยาลงสำรวจป่าอเมซอน และพบสิ่งมีชีวิตต้องสงสัยตัวการสร้างใยรูปร่างประหลาดดังกล่าว

หลังจาก ทรอย อเล็กซานเดอร์ (Troy Alexander) นักศึกษาของจอร์เจียเทค (Georgia Tech) สหรัฐฯ โพสต์ภาพใยปริศนาที่พบบนเกาะเล็กๆ ลึกเข้าไปในป่าอเมซอน ใกล้ศูนย์วิจัยทัมโบพาตา (Tambopata Research Center) ศูนย์วิจัยในลุ่มน้ำอเมซอนในเขตเปรูลงอินเทอร์เน็ตเมื่อ 6 เดือนก่อน ก็ยังไม่มีตอบได้ว่าใยดังกล่าวเกิดจากการชักใยของสิ่งมีชีวิตชนิดใด

ผ่านไปครึ่งปี ฟิล ตอร์เรส (Phil Torres) นักชีววิทยาผู้หลงใหลการสำรวจป่าอเมซอนก็นำทีมนักกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา (University of Florida) สหรัฐฯ คือ ลารี รีฟส์ (Lary Reeves) และ กรีนา ฮิลล์ (Geena Hill) ลงพื้นที่สำรวจ พร้อมด้วย เจฟฟ์ ครีเมอร์ (Jeff Cremer) ช่างภาพที่รับหน้าที่บันทึกภาพขนาดใหญ่กว่าจริง (macrophotography) ไว้เป็นข้อมูล

ตอร์เรส จากศูนย์วิจัยทัมโบพาตา เผยเรื่องราวการเดินทางสู่เกาะเดียวกันในป่าอเมซอนเพื่อไขปริศนาดังกล่าวลงบล็อกเว็บไซต์เปรูเนเจอร์ (perunature.com) โดยระบุว่า ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงสร้างใยปริศนารูปโดมสีขาวตรงกลางที่รายล้อมด้วยโครงสร้างคล้ายรั้วรอบๆ นั้น อาจจะเป็นได้ทั้งราเมือก (slime mold) แมงมุม รา ผีเสื้อ บ้างก็คิดว่าเป็นเรื่องหลอกลวง แม้จะมีเพียงภาพและไม่มีข้อมูลโครงสร้างคล้ายๆ กันนี้ในตำรา แต่พวกเขาก็เปิดใจกว้าง และคาดเดาในเบื้องต้นว่าแมงมุมชักใยน่าจะเป็นต้นตอของโครงสร้างนี้

เป้าหมายในการเดินทางสำรวจของพวกเขาคือการค้นหาโครงสร้างแบบเดียวกันนี้ และค้นหาว่าตัวอะไรที่สร้างใยดังกล่าวขึ้นมา รวมถึงพยายามหาคำตอบว่า “หอคอย” ที่มี “รั้ว” อยู่ล้อมรอบนี้มีหน้าที่อะไร ซึ่งตลอดเส้นทางสำรวจ 200 เมตรในป่าอเมซอน พวกเขาได้พบใยปริศนาดังกล่าวถึง 45 รัง และหลังจากใช้เวลาสำรวจทั้งวันทั้งคืน พวกเขาก็ได้คำตอบว่า “แมงมุม” คือตัวการที่ชักใยดังกล่าว และในจำนวนใยที่พบนั้นมี 3 รังที่พวกเขาพบลูกแมงมุมฟักออกมา

ทางด้านเว็บไซต์ Wired.com เล่าถึงการเดินทางของตอร์เรสและทีมว่าเริ่มขึ้นเมื่อเช้าตรู่เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2013 หลังฟ้าเริ่มสว่างและหมอกจางลงพวกเขาก็เดินลึกเข้าไปป่าของเกาะเล็กในอเมซอน และเพียงครึ่งชั่วโมงพวกเขาก็ได้พบใยหอคอยเล็กๆ จุดแรกบนเปลือกของต้นไม้ ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวเล็กกว่าที่ตอร์เรสคาดไว้มาก และภายใน 20 นาทีจากนั้นพวกเขาก็เจอโครงสร้างแบบเดียวกันอีกมาก และจากการเฝ้าสังเกตอยู่หลายวันหลายคืน พวกเขาพบกว่าครึ่งของโครงสร้างดังกล่าวสร้างอยู่บนต้นเซอโครเปีย (cecropia tree) อีกจำนวนมากสร้างบนต้นไผ่ และมีเล็กน้อยที่สร้างบนใบไม้ และมักจะอยู่เป็นกลุ่ม 2-6 รัง

ระหว่างสำรวจพวกเขาต่างถกเถียงและสันนิษฐานไปต่างๆ นานา และพวกเขาได้นำรังแมงมุมกลับมาจำนวนหนึ่งกลับไปยังศูนย์วิจัยในป่าอเมซอน เผื่อจะมีตัวอะไรฟักออกมา ซึ่งจากการถ่ายภาพขยายขนาดโดยช่างภาพผู้เชี่ยวชญการถ่ายภาพความละเอียดสูง ก็พบว่ามีถุงไข่เล็กๆ อยู่ภายในฐานของใยรูปหอคอย ขณะพวกเขารอให้ไข่ฟักออกมาอยู่นานจนถอดใจและเตรียมออกจากศูนย์วิจัย ก็มีแมงมุมฟักออกมาจากไข่ 2 ใบ แล้วก็วิ่งไปรอบๆ รัง จากนั้นลูกแมงมุมอีกตัวจากรังที่ 3 ก็ฟักออกมา

ตอร์เรสอธิบายในบล็อกเปรูเนเจอร์ว่า พวกเขาพยายามระบุชนิดแมงมุม ซึ่งมีหลายอย่างที่ทำให้เรื่องนี้ไม่เรื่องธรรมดา อย่างหนึ่งคือไม่ใช่เรื่องปกติที่แมงมุมจะวางไข่แล้วทิ้งไป โดยทั่วไปแมงมุมจะวางใยถุงไข่ไว้ในใยของตัวเองเพื่อคอยปกป้อง และแปลกประหลาดยิ่งกว่านั้นถุงไข่ในแต่ละรังนั้นมีไข่แค่ฟองเดียว ซึ่งน่าจะเป็นแมงมุมชนิดเดียวเท่าที่รู้จักที่วางไข่เพียงฟองเดียวต่อถุงไข่ อย่างไรก็ดี พวกเขาเห็นเพียงแมงมุมโตเต็มวัยที่อยู่รอบๆ รังปริศนา แต่ไม่ได้เห็นตอนแมงมุมกำลังสร้างรัง ดังนั้น โครงสร้างรังและการชักใยก็ยังคงเป็นเรื่องลึกลับ

นอกจากนี้ทีมสำรวจยังพบเห็บอยู่รอบๆ รังใยประหลาด ซึ่งทำให้พวกเขาอดสงสัยไม่ได้ว่าเห็บอาจเป็นตัวการในการสร้างรังปริศนานี้ เพราะมีเห็บบางกลุ่มที่สามารถชักใยได้ แต่เมื่อเห็นลูกแมงมุมฟักออกมา พวกเขาก็โยนความสงสัยนั้นทิ้ง และหลายครั้งที่พวกเขาได้เห็นตัวเห็บติดกับดักใยประหลาด และบางครั้งก็เห็นตัวเห็บคลานขึ้นไปยังใยหอคอยที่อยู่ตรงกลางโดยตรง

หนึ่งในข้อสันนิษฐานคือใยประหลาดนี้อาจสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นกับดักล่อเห็บ เพื่อเป็นอาหารแก่แมงมุมที่เพิ่งฟักออกจากไข่ หรือเป็นไปได้ว่าแมงมุมอาจปล่อยสารเคมีล่อใส่ไข่ไว้ เพื่อเห็บมาติดกับดัก ซึ่งตอร์เรสระบุว่า การใช้สารเคมีเพื่อลวงนี้ก็มีรายงานว่าพบในแมงมุมอยู่หลายครั้ง และมากกว่าแค่ล่อเห็บ โครงสร้างใยคล้ายรั้วนี้ก็อาจทำหน้าที่ในป้องกันมด เพราะใยแมงมุมนั้นมีศักยภาพในการดักมดได้ อีกทั้งระยะห่างระหว่าง “รั้ว” กับ “หอคอย” ที่อยู่กลางก็มากพอที่จะกันไม่ให้มดเข้าถึงไข่แมงมุมได้ง่าย

ตอร์เรสระบุว่า พวกเขาพบแมงมุมชนิดนี้ในถิ่นอาศัยที่มีลักษณะเฉพาะโดยเฉพาะในพื้นที่ป่าที่เต็มไปด้วยต้นเซอโครเปียและไผ่ ซึ่งพวกเขาจะออกค้นหาถิ่นอาศัยอื่นที่สภาพเดียวกันนี้ เพื่อสำรวจหารังประหลาดนี้ต่อไป นอกจากนี้เขายังอยากได้ยินข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องแมงมุม ซึ่งจะสามารถให้ข้อมูลเป็นแนวทาง รวมถึงเรื่องวิวัฒนาการของกำเนิดโครงสร้างใยปริศนา ซึ่งยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องสำรวจต่อไปในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ เพื่อให้เข้าใจในเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง แต่อย่างน้อยสิ่งที่ทำให้พวกเขาพอจะนอนหลับได้แล้วก็คือ ใยปริศนานี้สร้างขึ้นโดยแมงมุม


ไขปริศนาตัวอะไรชักใยอยู่ที่เปรู?
ตอร์เรส, รีฟส์ และ ฮิลล์ (ซ้ายไปขวา) เก็บตัวอย่างรังแมงมุมบนใบไม้แห้งกลับไปศึกษา (ภาพประกอบโดย Ariel Zambelich/WIRED)
ไขปริศนาตัวอะไรชักใยอยู่ที่เปรู?
ใยปริศนาของจริงมีขนาดเล็กมาก (ภาพประกอบโดย Ariel Zambelich/WIRED)
ไขปริศนาตัวอะไรชักใยอยู่ที่เปรู?
รีฟส์ (กลาง) วิเคราะห์ใยที่เกาะบนกิ่งไม้ (ภาพประกอบโดย Ariel Zambelich/WIRED)

ไขปริศนาตัวอะไรชักใยอยู่ที่เปรู?
"หอคอย" ตรงกลางใยปริศนา (ภาพประกอบโดย Ariel Zambelich/WIRED)
ไขปริศนาตัวอะไรชักใยอยู่ที่เปรู?
ใต้ "หอคอย" พบไข่ 1 ฟอง (ภาพประกอบโดย Ariel Zambelich/WIRED)
ไขปริศนาตัวอะไรชักใยอยู่ที่เปรู?
แมงมุมที่ฟักออจากรังตัวอย่าง (Jeff Cremer/เปรูเนเจอร์)


ตามต่อ... ใยปริศนาที่เปรู...นักวิทย์ยังไม่รู้คืออะไร?
เครดิต : http://www.manager.co.th/science/viewnews.aspx?NewsID=9560000159446