2 นักวิจัยหญิงไทยถึงขั้วโลกแล้ว
รศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ (ขวา) และ ผศ.ดร. อรฤทัย ภิญญาคง (ซ้าย) ถึงแอนตาร์กติกาแล้ว
2 นักวิจัยหญิงไทยถึงขั้วโลกแล้ว
นักวิจัยไทยและคณะนักวิจัยจีน



คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ - 2 นักวิจัยจุฬาฯ เดินทางถึงแอนตาร์กติกาอย่างปลอดภัยแล้ว แจงเหตุเรือจีนติดน้ำแข็งอาจกระทบงานวิจัยบ้าง พร้อมอัพเดทการทำงานสื่อสารถึงประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

หลังจากออกเดินทางจากประเทศไทยเมื่อคืนวันปีใหม่ วันพุธที่ 1 ม.ค.57 ขณะนี้ 2 นักวิทยาศาสตร์หญิงไทย รศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ และ ผศ.ดร. อรฤทัย ภิญญาคง จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางมาถึงสถานีวิจัยเกรทวอลล์ (Great Wall Station) ทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งเป็นสถานีวิจัยของสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งอยู่บนเกาะคิงส์จอร์จ (King George Island) ทางตอนเหนือของคาบสมุทรแอนตาร์กติก (Antarctic Peninsula) เมื่อวันอังคารที่ 7 ม.ค.57 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยการเดินทางในครั้งนี้ อยู่ภายใต้ “โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” และเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศไทยภายใต้โครงการดังกล่าว

รศ.ดร.สุชนา กล่าวว่า หลังจากเดินทางโดยเครื่องบินมาถึง เมืองพุนต้า อารินัส (Punta Arenas) ซึ่งอยู่ใต้สุดของสาธารณรัฐชิลี และพบกับคณะนักวิจัยจีนเรียบร้อยแล้ว ก็ใช้เวลา 2-3 วัน เพื่อเตรียมความพร้อมขั้นสุดท้าย และรอสภาพอากาศก่อนนั่งเครื่องบินเช่าเหมาลำร่วมกับนักวิจัยอื่นๆ ต่อไปยังเกาะคิงส์จอร์จ เพื่อเข้าสู่ทวีปแอนตาร์กติกา และขณะนี้ เธอพพร้อม ผศ.ดร.อรฤทัย ได้เดินทางถึงสถานีวิจัยเกรทวอลล์ อย่างปลอดภัย แม้ที่ผ่านมาจะมีข่าว เรือสำรวจขั้วโลกของจีน (MV. Xuelong หรือ มังกรหิมะ) ติดธารน้ำแข็งระหว่างการช่วยเหลือเรือสำรวจขั้วโลกของรัสเซีย (MV. Akademik Shokalskiy) ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับการทำงานวิจัยของตนบ้างเนื่องจากความล่าช้าของเรือมังกรหิมะในการเดินทางมายังสถานีวิจัยเกรทวอลล์

“เราทั้งสองคนได้เดินทางถึงสถานีวิจัยอย่างปลอดภัยและจะพยายามส่งข้อมูลข่าวสารกลับมาอย่างประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนที่สนใจข้อมูลและติดตามการทำงานวิจัยที่ขั้วโลกใต้ แม้จะมีข้อจำกัดทางการส่งข้อมูลต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ตบ้าง ด้านงานวิจัยของเรานั้นได้เตรียมศึกษาผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมในทะเล และผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อความหลากหลายและกิจกรรมของจุลินทรีย์ โดยคาดว่าจะใช้เวลาสำรวจและเก็บตัวอย่างเหล่านั้นบริเวณสถานีวิจัยเกรทวอลล์และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่งรวมถึง การดำน้ำลึก (Scuba Diving) ซึ่งจะเป็นปฏิบัติการดำน้ำครั้งแรกที่สถานีวิจัยเกรทวอลล์ด้วย อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานบางส่วนอาจมีการล่าช้าออกไปบ้าง เนื่องจากเรือมังกรหิมะซึ่งบรรทุกเครื่องมือและอุปกรณ์วิจัยหลักๆ ไม่สามารถมาถึงสถานีเกรทวอลล์ได้ตามเวลาที่กำหนด จากการเข้าช่วยเหลือเรือสำรวจขั้วโลกของรัสเซีย” รศ.ดร.สุชนา กล่าว

ทั้งนี้ การสำรวจทวีปแอนตาร์กติกของสาธารณประชาชนจีน โดยคณะสำรวจทวีปแอนตารก์ติกแห่งชาติ (CHINARE: Chinese National Antarctic Research Expedition) นับเป็นการเดินทางครั้งที่ 30 (CHINARE-30) ประกอบด้วยคณะสำรวจทั้งหมด 256 คน ในจำนวนนี้มีนักวิจัยต่างชาติซึ่งเป็นคนไทยเท่านั้น 2 คน ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ไทยที่ได้ร่วมเดินทางไปศึกษาวิจัย ณ ทวีปแอนตาร์กติกา เริ่มต้นเป็นครั้งแรก ระหว่างเดือน พ.ย.47 ถึง เดือน มี.ค.48 ซึ่งเ)็นช่วงฤดูร้อนของแอนตาร์กติกา โดย รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ณ สถานีวิจัยโชว์วะ (Syowa Station) ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้นอีก 5 ปีต่อมา รศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ ได้เป็นคนไทยคนที่ 2 ที่เดินทางไปวิจัยที่แอนตาร์กติกาในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 - 2553 ณ สถานีวิจัยโชว์วะเช่นกัน

ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ของการเดินทางไปทวีปแอนตาร์กติกของไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะบริหารงานอาร์กติกและแอนตาร์กติกแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CAA: Chinese Arctic and Antarctic Administration) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัทในกลุ่มเครื่องดื่มกระทิงแดง และบริษัทลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด




เครดิต : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9570000007212