วันสตรีสากล International Women's Day
วันสตรีสากล International Women's Day
วันสตรีสากล International Women's Day



วันนี้ 8 มีนาคม วันสตรีสากล International Women's Day

....วันที่เหล่าสตรีจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนา อาชีพใด จะร่วมเฉลิมฉลอง ความเสมอภาค ที่ได้รับมา และเป็นการแสดงให้เห็น ถึงความเท่าเทียมกันในสังคมอีกด้วย

ประวัติความเป็นมา ของวันสตรีสากล เกิดขึ้นจากกรรมกรหญิง ในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ค สหรัฐฯได้พากันลุกฮือประท้วง ให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิสตรี แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คนต้องเสียชีวิต จากลอบวางเพลิง เผาโรงงานที่เหล่าสตรีนั่งชุมนุมกันอยู่ โดยเหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม 1857

จากนั้นในปี 1907 กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า ที่เมืองชิคาโก ทนไม่ไหวต่อการเอารัด เอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานสตรี เยี่ยงทาส ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใดๆ เป็นผลให้เกิดความเจ็บป่วย ล้มตายตามมา ในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก

Clara Zetkin นักการเมืองสตรี สายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมันตัดสินใจปลุกระดม เหล่ากรรมกรสตรี ด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม 1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้าง ลดเวลาการทำงานลง เหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิอ อกเสียงเลือกตั้งด้วย

แม้การเรียกร้องครั้งนี้ จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิง หลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลก สนับสนุนการกระทำของ "Clara Zetkin" และเป็นการจุดประกาย ให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนัก ถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น

วันที่ 8 มีนาคม 1908 มีแรงงานหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวน ทั่วเมืองนิวยอร์ค เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า"We Want Bread and Roses Too" ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหาร ที่พอเพียงพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง

จนกระทั่ง 8 มีนาคม ค.ศ.1910 ความพยายามของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชา สตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศ รับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8 คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรง ของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรี และแรงงานเด็กอีกด้วย

ทั้งนี้ยังได้รับรองข้อเสนอของ Clara Zetkin ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล

ในวันสตรีสากล บรรดาผู้หญิงในหลายๆ ประเทศจากทุกทวีป รวมทั้งองค์กรที่ทำงานด้านสตรี จะรวมตัวกันเพื่อร่วมฉลอง วันสำคัญนี้ และร่วมรำลึกถึง การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิสตรี หลายประเทศเห็นความสำคัญ ของวันสตรีสากลจึงได้กำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันหยุดประจำชาติ และวันสตรีสากล ก็ถือเป็นอีกวันหนึ่งที่องค์กรสหประชาชาติ จะได้ร่วมเฉลิมฉลอง ด้วยด้วย

ปี ค.ศ.1957 องค์การสหประชาชาติ ได้เข้ามามีบทบาท ในการเชิญชวนให้ทุกประเทศในโลก กำหนดวันใดวันหนึ่ง เป็นวันฉลองแห่งชาติว่าด้วยสิทธิของสตรีและสันติภาพสากล โดยให้พิจารณา ตามขนบธรรมเนียมประเพณี และสภาพทางประวัติศาสตร์ ของแต่ละประเทศ ซึ่งมีหลายประเทศสนับสนุน และได้กำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากลเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีการประกาศเกียรติคุณ ยกย่องสตรีที่ ทำคุณประโยชน์ให้กับโลก ทั้งที่เสียชีวิตไปแล้ว หรือมีชีวิตอยู่ เช่น เจ้าหญิงไดอาน่า แห่งอังกฤษ แม่ชีเทเรซา แห่งประเทศอินเดีย ประธานาธิบดี เมกาวตี แห่งอินโดนีเซีย และนางอองซานซูจี ของพม่าที่ พยายามเรียกร้องประชาธิปไตย ให้กับประเทศ

วันสตรีสากลในประเทศไทย เริ่มขึ้น วันที่ 8 มีนาคม 2532 ก่อตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของผู้หญิงในสังคม รวมทั้งระลึกถึงความเป็นมาแห่งการต่อสู้เพื่อให้ได้ซึ่งความเสมอภาค ยุติธรรม สันติภาพ และการพัฒนา นับตั้งแต่นั้นมาวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ประเทศไทยจะมีการจัดกิจกรรม เพื่อฉลองเนื่องในวันสตรีสากลด้วย

การถือกำเนิดของวันสตรีสากลนี้ เป็นเสมือนจุดเริ่มต้น ในการขจัดการแบ่งแยกและการเหยียดเพศ ให้หมดไป โลกในยุคใหม่นี้ แต่ละแห่งให้ความสำคัญ และยอมรับผู้หญิงมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงในปัจจุบันมีบทบาท อย่างแพร่หลาย ต่อการขับเคลื่อนของสังคม








เครดิต : https://www.facebook.com/siriwanna.jill/posts/440315306102710