"สีของสมุนไพร"


"สีของสมุนไพร" ...... บอกสรรพคุณ

เคยรู้ไหมว่าสีสันสดใสสวยงามของสมุนไพรไทยแต่ละชนิดที่ปลูกริมรั้วบ้านของเรา สามารถบ่งบอกสรรพคุณที่แตกต่างเหลือเชื่อ เรายังมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้จากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี มาฝากพร้อมเมนูเก๋ๆ ด้วยค่ะ

หลักความสัมพันธ์สีบอกสรรพคุณ....

แววใจ พิมพิลา แพทย์แผนไทยประยุกต์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้อธิบายหลักความสัมพันธ์ระหว่างสีสันของสมุนไพรไทยและสรรพคุณไว้น่าสนใจดังนี้

๑. สีแดงเป็นสีโทนร้อน หมายถึง สีแห่งอำนาจ แสดงถึงการมีพลัง เป็นสีที่กระตุ้นระบบประสาทได้รุนแรงที่สุดให้ความรู้สึกเร้าใจ ตื่นเต้นท้าทาย ในทางจิตวิทยามีความเชื่อมโยงกับสุขภาพอย่างชัดเจน

สมุนไพรที่มีสีแดง อาทิ กระเจี๊ยบแดง มะเขือเทศ ฝาง ฯลฯ มีสรรพคุณส่วนใหญ่ใช้บำรุงร่างกายและปรับสมดุลธาตุไฟ นอกจากนี้ยังพบว่า ผัก ผลไม้สีแดง ยังเป็นแหล่งวิตามิน บี12 ทองแดง เหล็ก ซึ่งเป็นสารอาหารช่วยบำรุงระบบประสาท สอดคล้องกับพลังของสีแดงที่ช่วยกระตุ้นพลังชีวิตให้เข้มแข็ง มีความกระตือรือร้น ทำให้มีชีวิตชีวาขึ้น

๒. สีเหลืองหมายถึง สีแห่งสติปัญญา ความเบิกบาน ร่าเริง มีชีวิตชีวา แจ่มใส ความคิดสร้างสรรค์ การมองโลกในแง่ดี สรรพคุณของสมุนไพรสีเหลืองส่วนใหญ่มีฤทธิ์ช่วยในการขับลม ช่วยให้น้ำดีในลำไส้ทำงานได้ดี อาทิขมิ้นชัน ดาวเรือง ขิง

๓. สีเขียวเป็นสีแห่งการพัฒนาและสื่อถึงความสงบเยือกเย็น ผ่อนคลาย สรรพคุณสมุนไพรสีเขียวส่วนมากมีฤทธิ์เย็น ช่วยให้ผ่อนคลาย สร้างสมดุล ช่วยในการลดความดันโลหิต บำรุงหัวใจ ป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด อาทิ ใบเตย บัวบก ย่านาง เป็นต้น

๔. สีม่วงถือว่าเป็นสีแห่งจิตวิญญาณ การหยั่งรู้ สื่อถึงความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจมีความคิดและการมองเห็นกว้างไกล พัฒนาการเรียนรู้เร็ว สมุนไพรสีม่วงมีสรรพคุณช่วยในการเพิ่มการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดฝอย เพิ่มความจำ ช่วยในการบำรุงสายตา อาทิ องุ่นแดง มะเขือม่วง มันต่อเผือก ดอกอัญชัน ลูกหม่อน

๕. สีขาวหมายถึง สีแห่งความบริสุทธิ์ สะอาด สมุนไพรสีขาวช่วยทำให้ภายในร่างกายสะอาด ขับปัสสาวะ ขับของเสียออกจากร่างกาย เป็นยาบำรุงปอด ฟอกเลือด อาทิ หญ้าดอกขาว บานไม่รู้โรยดอกขาว เป็นต้น

เมนูสุขภาพจากสมุนไพร...

๑. เมนูสีแดง "กระเจี๊ยบกวนใจ" ประกอบด้วย ดอกกระเจี๊ยบ 500 กรัม น้ำเปล่า 2 ถ้วยตวง น้ำตาลทราย 2 ถ้วยตวง และเกลือ 1 ช้อนชา เคล็ดลับเมนูนี้อยู่ที่การกวนกระเจี๊ยบหากผสมกล้วยสุกในอัตราส่วนเท่ากับดอกกระเจี๊ยบจะทำให้ได้รสชาติกลมกล่อมและกวนได้ง่ายขึ้น

วิธีทำ นำดอกกระเจี๊ยบต้มกับน้ำเปล่าจนกระทั่งดอกกระเจี๊ยบนั้นเริ่มนิ่ม แล้วทำการบดให้เป็นเนื้อละเอียดผสมน้ำตาลทราย เกลือ และกระเจี๊ยบที่บดแล้วเข้าด้วยกันกวนจนเหนียว เสร็จแล้วนำกระเจี๊ยบที่กวนแล้วเทใส่ถาดเกลี่ยเป็นแผ่นบางพอสมควร นำไปตากแดดให้แห้งใช้แม่พิมพ์รูปหัวใจ หรือตัดกระเจี๊ยบแผ่นที่ทำไว้เป็นรูปหัวใจ เป็นของฝากคนรักในครอบครัวได้

๒. สีขาว"ชาบานไม่รู้โรยดอกขาว" วิธีทำ ล้างบานไม่รู้โรยให้สะอาดแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำมาคั่วหรืออบแห้งแล้วเก็บใส่ขวดปิดฝาให้มิดชิด รับประทานโดยใช้ดอกบานไม่รู้โรยประมาณ 1-2 ดอกใส่ในแก้วน้ำ เทน้ำร้อนที่เดือดแล้วลงไป ทิ้งไว้ให้ตัวยาละลาย หรือประมาณ 15-20 นาที จึงดื่มหรือจะใช้วิธีการต้มเดือดก็ได้ สรรพคุณบำรุงตับ แก้อาการเจ็บตา แก้ไอระงับอาการหอบหืด ขับปัสสาวะ แก้ปวดศีรษะ บิด ไอกรน และแผลผื่นคัน

๓. สีเหลือง "ชาชงดอกดาวเรือง" ทำง่ายๆ โดยนำดอกดาวเรืองมาล้างให้สะอาดแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำมาคั่วหรืออบแห้งเพื่อสามารถเก็บไว้ได้นาน เก็บใส่ขวดให้มิดชิดปิดฝาให้แน่น รับประทานโดยใช้ดอกดาวเรือง 1-2 ดอก หรือ 1 หยิบมือ ใส่ในแก้วน้ำเทน้ำร้อนที่เดือดแล้วลงไปทิ้งไว้ 15-20 นาที ดื่มร้อนหรือเย็นได้ตามใจชอบ

สรรพคุณดอกดาวเรืองตามตำรายา คือ บำรุงสายตาได้ดี ฟอกเลือด ละลายเสมหะ ขับลม ขับร้อน แก้ไอหวัดไอกรน เต้านมอักเสบ คางทูม แก้เวียนศีรษะ

นอกจากนี้ ดาวเรืองยังนำรับประทานเป็นผักได้ด้วยโดยเลือกดอกดาวเรืองที่ยังตูม นำมาลวกจิ้มกับน้ำพริกดอกบานนำมาปรุงแบบยำผสมเนื้อสัตว์ได้ตามใจชอบอาจนำไปผัดหรือชุบแป้งทอดก็จะได้อาหารที่มีประโยชน์และอร่อยไปอีกแบบ

๔. สีเขียว "ชาเตยหอม" เริ่มด้วยการล้างใบเตยให้สะอาดนำมาหั่นให้ละเอียด แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำมาคั่วหรืออบแห้ง เก็บใส่ขวดปิดฝาให้มิดชิด สามารถรับประทานโดยการนำชาใบเตยประมาณหนึ่งหยิบมือใส่ในแก้วน้ำ เทน้ำร้อนลงไป ทิ้งไว้ให้ตัวยาจากใบเตยละลายแล้วจึงดื่ม

สรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจขอแนะนำผู้ป่วยที่หัวใจไม่ค่อยแข็งแรงให้พกชาใบเตยติดกระเป๋า ดื่มเป็นประจำ นอกจากนี้ยังช่วยแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ดับพิษ และช่วยชูกำลังได้

๕. สีม่วงแนะนำ "ชาอัญชัน" เริ่มด้วยการล้างดอกอัญชันให้สะอาด นำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำมาคั่วหรืออบแห้ง เก็บใส่ขวดปิดฝาให้มิดชิด รับประทานโดยใช้ดอกอัญชัน 4-5 ดอก หรือหนึ่งหยิบมือใส่แก้วน้ำ เติมน้ำร้อน ทิ้งไว้ให้ตัวยาละลาย หรือประมาณ 15-20 นาทีจึงดื่ม

ดอกอัญชันมีสารแอนโทไซยานิน เพิ่มการไหลเวียนของหลอดเลือดเล็ก ทำให้เลือดไปเลี้ยงรากผมและนัยน์ตามากขึ้น มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ และบรรเทาอาการผมร่วงได้






ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์