** รู้ทันโรค ... สมองเสื่อม **

" รู้ทันโรค .... สมองเสื่อม "

ภาวะสมองเสื่อม จริงๆ แล้วเป็นแค่อาการแสดงอย่างหนึ่งของโรคซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ความหมายโดยทั่วไปของสมองเสื่อม คือ การด้อยประสิทธิภาพในการทำงานของสมองทุกๆ ด้าน แบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น ความสามารถในการเรียนรู้ ความจำ การคำนวณ หรือการใช้ความคิดที่สลับซับซ้อน รวมถึงประสิทธิภาพทางการสื่อภาษา การแปลความหมาย


จะทราบได้อย่างไรว่ามีอาการสมองเสื่อม ?

ก่อนที่แพทย์จะบอกว่าคุณเป็นโรคสมองเสื่อม แพทย์จำเป็นต้องตรวจแยกโรคสมองเสื่อมเทียม ซึ่งพบได้บ่อย อันได้แก่ ภาวะที่เกิดจากความเครียด นอนไม่หลับ ความวิตกกังวล โรคซึมเศร้า และโรคจิตประสาทอื่นๆ ซึ่งมีผลทำให้ความคิดอ่านของสมองไม่ปกติ ส่วนใหญ่คนที่เป็นโรคสมองเสื่อมจริงๆ มักจะไม่ค่อยรู้ตัวว่าตัวเองเป็น แต่ญาติ หรือคนใกล้ชิดหลายๆ คน จะสังเกตอาการ และให้ข้อมูลแก่แพทย์ ทราบถึงความผิดปกติทางสมองที่ค่อยเป็นค่อยไป ตรงกันข้ามกับผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมเทียม ที่มักจะบอกกับแพทย์โดยตรงว่าตัวเองหลงลืมง่าย และวิตกกังวลว่าจะเป็นโรคสมองเสื่อม ในการตรวจแพทย์อาจต้องทดสอบความจำ การคำนวณ สังเกตการแก้ปัญหาง่ายๆ คนที่เป็นโรคสมองเสื่อมมักสูญเสียความจำที่เพิ่งเรียนรู้ใหม่ๆ แต่ความจำในอดีตมักจะยังดี ยกเว้นในกรณีที่เป็นมากหรือเป็นมานานๆ


สาเหตุของสมองเสื่อม

ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเกิดจากความเสื่อม ดังนั้นจึงพบได้บ่อยในคนสูงอายุ ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ และสังขาร ส่วนใหญ่ไม่สามารถแก้ไขให้ดีได้ดังเดิม สาเหตุใหญ่ๆ แบ่งได้ดังนี้

1.สมองเสื่อมจากวัยชรา มักพบในคนสูงอายุวัย 65-70 ปีขึ้นไป

2.โรคอัลไซเมอร์ เป็นภาวะสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นก่อนวัยอันควร คืออายุไม่เกิน 65 ปี โรคนี้พบบ่อยในประเทศแถบตะวันตก การวินิจฉัยที่แน่นอนต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อสมอง เราจะพบพยาธิสภาพของเซลสมองเสื่อมลงเหมือนคนแก่อายุ 70-80 ปี ในเมืองไทยยังมีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้น้อย จึงดูเหมือนว่าพบอุบัติการณ์โรคนี้น้อยกว่าความเป็นจริง

3.โรคสมองเสื่อมที่เกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ มักเกิดจากหลอดเลือดเส้นเล็กๆทั่วไปอุดตันซ้ำๆ มานาน ทำให้เซลสมองตาย และการทำงานของสมองโดยรวมเสื่อมลง โรคนี้พบอุบัติการณ์ในคนไทยได้บ่อยกว่าโรคอัลไซเมอร์ คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูงมานาน โดยไม่ควบคุมให้ดี มักมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้ง่าย

4. ภาวะเลือดคั่งในสมอง หรือเนื้องอกในสมอง เป็นโรคที่แพทย์ต้องพยายามมองหา เพราะคนไข้อาจมาด้วยอาการพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงคล้ายภาวะสมองเสื่อม บางรายสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัด
5.ภาวะขาดวิตามิน บี 12 พบได้น้อย มักพบในคนที่ได้รับการผ่าตัด กระเพาะลำไส้มานานๆ และขาดอาหาร

6.โรคติดเชื้อที่มีผลทางสมอง เช่น ซิฟิลิส ปัจจุบันพบน้อย ไวรัสสมองอักเสบ ซึ่งมีหลายชนิด และโรคยุคใหม่มาแรง คือ ไวรัสเอดส์ ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้

7. สมองเสื่อมจากการติดสุราเรื้อรังนานๆ

8. ภาวะที่เกิดตามหลังการขาดออกซิเจน เช่น มีอาการชักซ้ำติดต่อกันนานๆ หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นเวลานานๆ

นอกจากนี้ยังมีบางโรคทำให้เกิดสมองฝ่อบางส่วน เช่น โรคพาร์กินสัน ซึ่งทำให้เกิดอาการสั่น เคลื่อนไหวช้าลง เป็นต้น


อัลไซเมอร์ เป็นโรคสมองเสื่อม

เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุด โดยจะมีการเสื่อมของเซลล์สมองทุกส่วนเป็นแล้วไม่มีวันหาย ผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเอง ไม่สามารถแยกทุกผิด มีปัญหาในเรื่องการใช้ภาษา การประสานงานของกล้ามเนื้อเสียไป ความจำเสื่อม ในระยะท้ายของโรคจะสูญเสียความจำทั้งหมด ในสหรัฐประมาณว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคนี้กว่า3-4 ล้านคน และจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก เนื่องจากประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 2-4 % ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้มากขึ้น กล่าวคือจะพบเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุก 5 ปี หลังอายุ 60 ปี

แม้ว่าโรคนี้จะไม่สามารถป้องกัน และไม่สามารถรักษา ญาติสามารถช่วยผู้ป่วยโดยการศึกษาโรคนี้และช่วยผู้ป่วยอย่างถูกวิธี

อาการเด่นของโรคอัลไซเมอร์

ความจำเสื่อมหรือ หลงลืม เรื่องที่ลืมก็จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ลืมปิดเตารีด ลืมกินยา หรือใครมาพบวันนี้ ลืมชื่อคน ลืมของ หาของใช้ส่วนตัวไม่พบ ชอบพูดซ้ำ ถามคำถามซ้ำ เพราะจำคำตอบไม่ได้ มีปัญหาเรื่องการพูดและการใช้ภาษา คือจะคิดคำศัพท์บางคำไม่ออก ใช้คำใกล้เคียงแทน สติปัญญาความเฉลียวฉลาดลดลง ทักษะต่างๆ จะเริ่มสูญไป อารมณ์หงุดหงิด และอาจท้อแท้ เพราะอาการดังกล่าว


การดำเนินโรค

อาการจะเริ่มเป็นตอนอายุ 65 ปี แต่บางรายเป็นเร็วกว่านั้นอาจจะเริ่มตอนอายุ 40 ปีอาการเริ่มเป็นใหม่ๆจะมีอาการขี้ลืม และสูญเสียสมาธิ ซึ่งอาการแรกๆอาจจะวินิจฉัยยากเพราะอาการนี้ก็เป็นกับผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ การดำเนินโรคจะค่อยเป็นค่อยไป และทรุดลงในช่วงระยะ 1-3 ปี มีปัญหาเรื่องวันเวลาสถานที่ และอาจหลงทางกลับบ้านไม่ถูก ลืมชื่อญาติสนิท หวาดระแวง สับสน โดยเฉพาะกลางคืนอาจไม่นอนทั้งคืน จะออกนอกบ้าน และมีพฤติกรรมก้าวร้าว บางคนก็กลับเปลี่ยนไป เป็นไม่สนใจสิ่งแวดล้อม งดงานอดิเรกที่เคยทำ เช่น เก็บกวาดต้นไม้ หรือดูทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ ส่วนหนึ่งเพราะดูและอ่านไม่ค่อยเข้าใจ คิดคำนวณไม่ได้ ใช้จ่ายทอนเงินไม่ถูก เมื่อเวลาผ่านไปอีก 2-3 ปี อาการยิ่งทรุดหนัก ความจำเลวลงมาก จำญาติไม่ได้ เคลื่อนไหวช้าลง ไม่ค่อยยอมเดิน หรือเดินก็เหมือนก้าวขาไม่ออก ลังเล ทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง เช่นอาบน้ำ แปรงฟัน รับประทานอาหารไม่ได้ พูดน้อยลง ไม่เป็นประโยค ที่สุดก็ไม่พูดเลย กลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่ได้ ต้องมีคนดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลา 2-10 ปี โดยเฉลี่ย 10 ปี ด้วยโรคแทรก เช่น ติดเชื้อจากปอดบวม หรือแผลกดทับ

ระยะของโรคได้ 3 ระยะได้แก่

-ระยะเริ่มแรกผู้ป่วยจะรับรู้ว่าขี้ลืม ลืมปิดเตารีด ลืมปิดประตู ลืมชื่อคน ลืมรับประทานยา ต้องให้คนช่วยเขียนรายการที่จะทำ

-ระยะที่สองผู้ป่วยจะสูญเสียความจำโดยเฉพาะความจำที่เพิ่งเกิดใหม่ๆโดยอาจจะจำเรื่องราวในอดีต เริ่มใช้คำพูดไม่ถูกต้อง อารมณ์จะผันผวน

-ระยะที่สาม ผู้ป่วยจะสับสน ไม่รู้วันรู้เดือน บางรายมีอาการหลงผิด หรือเกิดภาพหลอน บางรายอาจจะก้าวร้าวรุนแรง ปัสสาวะราด ไม่สนใจตนเอง

อันที่จริงโรคนี้มีมานานแล้วโดย Dr. Alois Alzheimer เป็นแพทย์ชาวเยอรมันเป็นผู้บรรยายไว้ตั้งแต่ปี คศ.1906 ที่นำมากล่าวขานกันระยะหลังนี้มากขึ้น ด้วยเหตุมีผู้ที่เคยเป็นผู้นำประเทศอย่าง Ronald Reagan ป่วยเป็นโรคนี้ และ วงการแพทย์ค้นพบปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและอาจเป็นสาเหตุของโรคนี้มากขึ้น ที่สำคัญคือ สามารถผลิตยาที่ช่วยทำให้อาการของอัลไซเมอร์ดีขึ้น

ปัจจัยเสี่ยง

-อายุ ยิ่งอายุมากยิ่งมีโอกาสเป็นมากดังกล่าว พบว่าร้อยละ25ของผู้ป่วยอายุ 85ปี เป็นโรคนี้

-โรคความดันโลหิตสูงเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูงทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความจำ การรักษาความดันจะทำให้ความจำดีขึ้น

-เรื่องของกรรมพันธุ์ ถ้ามีบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์

โอกาสที่จะเป็นก็มากขึ้น เรื่องพันธุกรรมนี้มีความก้าวหน้าขึ้นมาก เช่น ทราบว่าความผิดปกติของยีน (gene) ที่สร้าง amyloid precursor protein จะทำให้ได้โปรตีนที่ผิดปกติ ก่อให้เกิดตะกอนที่เรียกว่า amyloid plaques ในเนื้อสมอง และผู้ที่มี gene บนโครโมโซมที่ 19 ชนิด Apolipoprotein E4 จะมีโอกาสเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้มากกว่าคนปกติ นอกจากนี้ ยังพบโปรตีนที่ผิดปกติอื่นๆ เช่น Tau protein ที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดกลุ่มใยประสาทที่พันกัน (Neurofibrillary tangles) ที่พบเป็นลักษณะจำเพาะของพยาธิสภาพของโรคอัลไซเมอร์


การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์

การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ต้องให้ความเข้าใจ เห็นใจ ว่าผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจที่จะก้าวร้าว หงุดหงิดอย่างที่เราเห็น แต่เป็นจากตัวโรคเอง ไม่ควรทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่มั่นใจ อาย หรือหงุดหงิด เช่น ถ้าคุยอะไรแล้วผู้ป่วยนึกไม่ค่อยออกหรือจำไม่ได้ ควรเปลี่ยนเรื่อง เอาเรื่องที่คุยแล้วมีความสุข ผู้ป่วยไม่สามารถคิดเลขได้ ไม่สามารถเล่นดนตรีแต่สามารถร้องเพลงพร้อมกับวิทยุ เล่นหมากรุกไม่ได้ แต่สามารถเล่นเทนนีสได้ หรือถ้ามีความคิดอะไรผิดๆ ไม่ควรเถียงตรงๆ ถ้าไม่จำเป็นก็อาจไม่ต้องอธิบายมาก เนื่องจากจะทำให้หงุดหงิด และหมดความมั่นใจ

ควรจัดห้องหรือบ้านให้น่าอยู่ สดใส ใช้สีสว่างๆ ถ้าในรายที่ชอบเดินไปมามากๆ ต้องใช้เทคนิคการเบี่ยงเบนความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรืออาจใช้การพาดเสื้อผ้า ไว้ที่ลูกบิดประตูเพื่อไม่ให้เห็นลูกบิด ต้องเก็บของมีคม หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มิดชิด ปิดวาวล์เตาแก๊สไว้เสมอ เป็นต้น

ในรายที่มีอาการที่เริ่มจะดูแลยาก เช่น ก้าวร้าวมาก เอะอะโวยวาย สับสนมาก หรือ เดินออกนอกบ้านบ่อยๆ ควรพาไปพบแพทย์ระบบประสาท เนื่องจากอาจจำเป็นต้องใช้ยาช่วยลดอาการดังกล่าว


วิธีป้องกันความจำเสื่อม

ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอสำหรับการป้องกันโรคสมองเสื่อมนี้ อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตัวบางอย่างอาจช่วยให้สมองมีความจำที่ดีได้
1.หลีกเลี่ยงยาหรือสารที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่สมอง เช่น การดื่มเหล้าจัด การรับประทานยาโดยไม่จำเป็น
2.การฝึกฝนสมอง ได้แก่ การพยายามฝึกให้สมองได้คิดบ่อยๆ เช่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือบ่อยๆ คิดเลข เล่นเกมตอบปัญหา ฝึกหัดการใช้อุปกรณ์ ใหม่ๆ เป็นต้น
3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง เช่น เดินเล่น รำมวยจีน เป็นต้น
4.การพูดคุย พบปะผู้อื่นบ่อยๆ เช่น ไปวัด ไปงานเลี้ยงต่างๆ หรือเข้าชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น
5.ตรวจสุขภาพประจำปี หรือถ้ามีโรคประจำตัว ก็ต้องติดตามการรักษาเป็นระยะ เช่น การ
ตรวจหา ดูแล และรักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น
6.ระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุต่อสมอง ระวังการหกล้ม เป็นต้น
7.พยายามมีสติในสิ่งต่างๆ ที่กำลังทำและ ฝึกสมาธิอยู่ตลอดเวลา
8.พยายามไม่คิดมาก ไม่เครียด หากิจกรรมต่างๆ ทำเพื่อคลายเครียด เนื่องจากความเครียดและอาการซึมเศร้าอาจทำให้จำอะไรได้ไม่ดี ลองนำไปปฏิบัติดูนะครับ จะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น


การรักษา

ขึ้นอยู่กับสาเหตุ และการวินิจฉัยแยกโรคที่ถูกต้อง ส่วนใหญ่จะแก้ไขให้ดีดังเดิมได้ยาก ยกเว้นภาวะเลือดออกในสมอง บางกรณีสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัด แพทย์อาจใช้ยาบำรุงสมองเพื่อหวังผลชะลอความรุนแรงของโรคให้เสื่อมช้าลง โดยทั่วไป การป้องกันในสิ่งที่ทำได้ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เราไม่สามารถหยุดยั้งความเสื่อมตามธรรมชาติได้ แต่เราสามารถดูแลสุขภาพของเราให้ดี เช่น ควบคุมความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมัน ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอย่างสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า หลีกเลี่ยงสารเสพติด ซึ่งจะมีผลทำลายสุขภาพในระยะยาว ไม่ส่ำส่อนทางเพศ เพื่อป้องกันโรคเอดส์ ทำจิตใจให้สดชื่น แจ่มใสอยู่เสมอ มีความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่นในครอบครัว ยอมรับสภาพตามความเป็นจริง ไม่เคร่งเครียดเกินไป เพียงเท่านี้ก็สามารถทำให้ชีวิตมีความสุขได้ระดับหนึ่ง




ที่มา : siamhealth.net
ข้อมูลสุขภาพโดย รพ.รามคำแหง
http://www.bloggang.com/
โดย.... บ้านต้นยาแพทย์แผนไทย